ล้านนาตะวันตก (บริบทลุ่มนํ้าสาละวิน ) หลากชาติพันธุ์ หลายศรัทธา : ข้อเขียนจากมลายูปาตานี ตอนที่ 1

 

  

ได้มีโอกาสติดตามทีมงาน Pattani Forum เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาติพันธุ์ต่างๆที่มีถิ่นพำนักบริเวณสองฝั่งแม่นํ้าสาละวิน รวมทั้งที่มีถิ่นอาศัยทางพื้นราบที่อำเภอแม่สะเรียง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทางทีมงานได้พูดคุยประสานกับ อาจารย์ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี เพื่อขอให้ท่านประสานกับผู้นำในระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ อาจารย์ ก็ได้รับปากและประสานกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยฮัจญีสุริยา (อุสมาน) อร่ามวงศ์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน  รับปากที่จะเป็นเจ้าภาพในการเชื้อเชิญบุคคลหลากชาติพันธุ์ หลายความศรัทธา ต่างอาชีพ มาร่วมวงพูดคุย ซึ่งได้จัดขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ณ มัสยิดญามิอฺตุลอิสลาม มัสยิดประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน พวกเราแยกย้ายการเดินทางกัน จุดรวมพลคือสนามบินเชียงใหม่ โดยมีจุดหมายปลายทางร่วมกันคือ อำเภอแม่สะเรียง เมื่อวันที่ 21 เมษายน. เช้าวันที่ 22 โดยการนำของคนในท้องที่ คณะของเราได้เดินทางไปยัง บ้านแม่สามแลบ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าสาละวิน อำเภอสบเมย ลงพึ้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับพึ้นที่ในหลายๆมิติ

แม่น้ำสาละวินชายแดนไทยพม่าฝั่งบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงหน้าแล้ง

ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตั้งรกรากอยู่ทั้งสองฝั่งแม่นํ้าสาละวินมาตั้งแต่ยังไม่เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อุตสาหกรรมป่าไม้ก็เกิดขึ้น จึงเกิดการ โยกย้ายของผู้คนจากส่วนต่างๆของดินแดนอนุทวีปเข้ามาทำการค้าขายในบริเวณนี้ มีทั้งแขกขาว แขกผิวสีหลากหลายศาสนาเข้ามายังพึ้นที่ ที่เป็นประเทศพม่าในปัจจุบัน บางส่วนเดินทางมายังบริเวณที่เป็นรัฐกะเหรี่ยงในปัจจุบัน ชาวอนุทวีปเหล่านี้ แต่งงานกับคนในพึ้นที่ จึงเกิดกะเหรี่ยงสายพันธุ์ใหม่ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า กะเหรี่ยงมุสลิม

ฮัจญีสุริยา (อุสมาน) อร่ามวงศ์ ให้การต้อนรับคณะจากปัตตานี

ชาวอนุทวีปบางชาติพันธุ์จะมีสีผิวที่คลํ้า ค่อนข้างดำ ลูกครึ่งกะเหรี่ยงกับชาวอนุทวีป จึงมีผิวดำคลํ้าตามไปด้วย จึงเป็นที่มาของการเรียกชนกลุ่มนี้โดยชาวพม่าทั่วๆไปว่า ชาว "กะลา" ซึ่งมาจากคำว่ากาลี หรือเบงกาลี ในภาษาบาลีที่แปลว่าดำ และคำนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศพม่ากับพม่ามุสลิม ในทำนองเดียวกับคำว่า "แขก" ในบริบทภาษาไทย ซึ่งในความหมายของสองคำดังกล่าวแสดงถึงการเหยียด โดยผู้ที่ถูกเรียกมักจะไม่ชอบใจนัก

ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีการโยกย้ายกันข้ามฝั่งแม่นํ้าสาละวินกันไปมา มาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พม่าได้รับเอกราช เกิดรัฐสมัยใหม่ที่มีพรมแดนชัดเจน แม่นํ้าสาละวินคือส่วนหนึ่งของเขตแเดนระหว่างประเทศที่ถูกกำหนดขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ เส้นแบ่งพรมแดนอันนี้ เป็นเส้นแบ่งความเป็นหนึ่งเดียวของชาติพันธุ์ตามภูมิศาสตร์ ทำให้ชาติพันธุ์ถูกแบ่งเป็นสองพวก คือกะเหรี่ยงไทย และกะเหรี่ยงพม่า เพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่งตามเส้นแบ่งเขตแดน ส่วนปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องการกำหนดสัญชาติให้กับคนเหล่านี้ หลายๆคนถูกปฏิเสธในเรื่องการมีสัญชาติตามระบบรัฐชาติใหม่ ทำให้คนเหล่านี้ถูกตัดสิทธิในหลายๆเรื่อง

อิหม่ามอับดุลญาลิล มัสยิดแม่สามแลบ อานนท์ วงศิรินทร์ กะเหรี่ยงมุสลิม หัวหน้ากลุ่มชาติพันธ์ผู้ประสานงานงานในท้องที่ และเด็กๆในชุมชน

บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพึ้นที่ ที่ชาวคณะได้ลงไปพูดคุยหาข้อมูลก็เป็นจุดหนึ่งที่เกิดปัญหานี้ ภายในหมู่บ้านจะเป็นหมู่บ้านพหุศรัทธา มีกะเหรี่ยงมุสลิม จำนวน 500 กว่าคน จากจำนวนกลุ่มชาติพันธ์ุทั้งหมด 1000 กว่าคน ทั้งกะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ ร่วมกันอยู่ปะปนกันไปแบบเครือญาติ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ศาสนสถานก็สร้างไม่ไกลจากกัน วันสำคัญของทุกศาสนาคือวันสำคัญร่วมกันของทุกศาสนิกชนในพึ้นที่ คนเหล่านี้ยังคงมีความสุขที่จะอยู่ร่วมกันไปอีกนานเท่านาน จนถึงวันหนึ่งเมื่อเกิดมีการเสี้ยมให้ทะเลาะกัน เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อทำลายล้างความผาสุขของเพื่อนร่วมโลก

 

บนซ้ายมัสยิด บนขวาโบสถ์ และล่างโรงเรียนรัฐ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้กันในชุมชน

ชาติพันธุ์อยู่แบบคร่อมชายแดนเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ในภูมิภาคนี้ ไทยคือประเทศหนึ่งที่มีปรากฏการเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งห้าภาค ซึ่งจริงๆแล้วเราจะถือว่ามันไม่ใช่ปัญหาอะไรสักนิดเดียว ถ้าหากเราเข้าใจและยอมรับว่า ชาติพันธุ์ต่างๆของมนุษย์นั้น เกิดขึ้นก่อนเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศอันเป็นสิ่งที่ถูกสมมุติให้เกิดขึ้น พรัอมกับการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ หลายชาติในเอเซีย เช่น อินเดีย จีน ปากีสถาน เป็นต้นยังคงประสพปัญหาในส่วนนี้ให้แก้กันต่อไป ในขณะที่หลายๆประเทศในยุโรปได้ผ่านจุดวิกฤตที่ต้องฆ่าฟันกันอันมีสาเหตุมาจากการมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน และได้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุข จนเกือบจะทั้งทวีปได้หยุดพูดถึงเส้นแบ่งเขตแดน จนก่อเกิดสหภาพยุโรปดังที่เราได้เห็นสภาพที่เป็นจริงเกิดขึ้นแล้วในในปัจจุบัน  ขอขอบคุณทีมงานทุกท่าน ตลอดจนคนในท้องที่ ที่ร่วมด้วยช่วยกันดันให้ภารกิจอันนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี

 


หมายเหตุ :

บทความชิ้นนี้เป็นข้อเขียนจากการลงพื้นที่ร่วมกับปาตานีฟอรั่ม ของ Muhammad Lazim Chekob

(محمد لاذم بن چئقوب)

ในเฟสบุ๊คเดิมชื่อ ล้านนาตะวันตก (บริบทลุ่มน้ำสาละวิน) หลากชาติพันธ์ุ หลายศรัทธา ตอนที่ 1 กะลา กะลาแลนด์ กะเหรี่ยง คนละเรื่องเดียวกัน  
ภาพโดย  : Najib Ahmad และ محمد لاذم بن چئقوب