ขบคิด ว่าด้วยเรื่องมนุษยธรรมในอิสลาม (2)

เรื่องราวการสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้าในอัลกุรอานนั้นน่าทึ่งยิ่งนัก บ้างใช้คำว่ามันเริ่มต้นจากการเป็นสักขีพยานและพันธสัญญา ในอัลกุรอานมีคำตรัสของพระผู้เป็นเจ้าว่าในยุคแรกของการสร้างมนุษย์นั้น พระองค์ได้ทรงเรียกมนุษย์ทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อเป็นสักขีพยาน “และเมื่อพระผู้อภิบาลของสูเจ้าได้นำบุตรหลานของอาดัมที่พระเจ้าองค์ทรงสร้างมาสดับเรื่องราวของหมู่ตน (ทรงตรัสว่า) ‘เรามิใช่หรือนายของพวกเจ้า’ คนเหล่านั้นตอบว่า ‘ใช่อย่างแน่แท้ พวกเราเห็นเป็นประจักษ์แล้ว’ นี่เองคือสิ่งเตือนไม่ให้มนุษย์กล่าวแก้ตัวในวันพิพากษาว่า “เพราะเราไม่รู้!”

 

และสักขีพยานแรกเริ่มนี้เองที่เป็นฐานสำคัญของแนวคิดเรื่องมนุษยชาติในทางอิสลาม ที่สอนเราว่าเบื้องลึกในหัวใจ ในสำนึกของทุกคนมีความหยั่งรู้อย่างลึกซึ้งและสัมผัสได้ถึงการมีอยู่ของ ‘ผู้ทรงอยู่เหนือกฎเกณฑ์’ ไม่ต่างจากดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ สายลม และหมู่นก สัตว์ทุกชีวิตล้วนแสดงความจำนนโดยธรรมชาติ

 

หากมองให้ดีมนุษย์เองก็เพรียกหา “มิติอันสูงกว่า” สิ่งที่ตามองเห็น นี่คือแนวคิดเรื่อง ‘ฟิตเราะฮ’ (ธรรมชาติของมนุษย์) ที่กระตุ้นให้เกิดการตีความทั้งในเชิงวิเคราะห์เจาะลึก เชิงเร้นลับ และเชิงปรัชญาอย่างกว้างขวาง สำคัญมากจนเป็นแกนกลางของแนวคิดเรื่องมนุษย์ ศรัทธา และพระเจ้าในทรรศนะอิสลาม

 

มีการกล่าวถึง ‘ฟิตเราะฮ’ ในอัลกุรอานไว้ว่า  “จงจำนนทั้งตัวและตนของสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธาอย่างแท้จริงและจงน้อมตามธรรมชาติ [ปรารถนาโดยธรรมชาติ] ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้มอบแด่มนุษย์เมื่อทรงสร้างพวกเขา การสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าจักไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือศาสนาที่มิอาจเปลี่ยนแปลง ทว่าคนหมู่มากหาได้รู้ถึงสิ่งนี้” ยืนยันโดยอัลหะดีษในท่อนความว่า “ทารกทุกคนล้วนกำเนิดในธรรมชาติ (ที่อัลลอฮ์ทรงกำหนด) บิดามารดาของพวกเขาดอกที่ทำให้เขาเป็นยิว คริสต์ หรือโซโรอัสเตอร์”

 

“สักขีพยานแรกเริ่ม” สลักอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคนในรูปของความทรงจำ แรงกระตุ้นภายใน และความต้องการในสิ่งที่เหนือกว่าโลกในลักษณะที่ใกล้เคียงมากกับที่นักปรัชญาโรมาเนีย เมอร์เซีย อีเลียต อธิบายว่าศาสนานั้น “ทำงานอยู่ในโครงสร้างของสำนึกมนุษย์” นี่คือรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าตั้งแต่ยุคแรก (ที่มนุษย์ได้ประกาศการรับรู้ถึงผู้สร้าง) มนุษย์มีพันธสัญญาของพระเจ้าเป็นพันธนาการ สำนึกของมนุษย์ยึดอยู่กับสิ่งนี้เพื่อให้ตนไม่สร่างศรัทธา บาปกำเนิด (original sin) ไม่มีในอิสลาม

 

มนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างบริสุทธิ์ไร้เดียงสาและจากนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบในศรัทธาของตนต่อพันธสัญญา ผู้ที่ไม่เชื่อ ก็คือผู้ไม่ศรัทธา (กาเฟร) ต่อพันธสัญญา คือผู้ที่หลงลืมและถูกบดบังตา ในหัวข้อเรื่องของการปฏิเสธ (กุฟฺร) ในภาษาอาหรับมีการกล่าวถึงการบดบังตาที่นำไปสู่การปฏิเสธความจริงอันเที่ยงแท้ พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินว่ามนุษย์ผู้ใดจะตื่นรู้และผู้ใดจะถูกบดบังตา ส่วนมนุษย์มีหน้าที่รับผิดชอบด้วยการประพฤติตนและพยายามกระตุ้นความทรงจำให้แจ่มชัดอยู่เสมอ

 

เรารู้สึกได้ว่าคำอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในแบบอิสลามเริ่มสอดประสานกันทีละน้อย หากว่าองค์ประกอบที่ก่อเกิดเป็นมนุษย์หาได้มีคุณลักษณะดี-ชั่วในตนเอง ตรงกันข้ามหากมันเป็นเรื่องของของสำนึกที่ตื่นรู้รับผิดชอบที่ (เมื่อผ่านการฝึกฝนควบคุมตน) จะช่วยชี้ทางให้บุคคลก้าวเดินไปในโลก

 

มนุษย์ย่อมมีสิทธิใคร่รู้โดยธรรมชาติว่าจะต้องทำเช่นไรจึงจะประคองตนอยู่บนเส้นทางตามเสียงเพรียกในใจ พูดง่ายๆ คือทำเช่นไรจึงจะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า จากการวิเคราะห์นี้ทำให้เราพบคำตอบที่ว่า เราผู้เป็นมนุษย์ทุกคนจะต้องกลับสู่ความเป็นเรา ค้นหาลมหายใจแรกของเรา คืนชีวิตแก่ความบริสุทธิ์แรกเริ่ม และยืนยันว่ามันมีอยู่จริง และเพื่อบรรลุภารกิจนี้ ‘พระผู้ทรงสร้าง’ ได้อำนวยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงสองประการ

 

ประการแรกคือสิ่งที่ประจักษ์ต่อตาในจักรวาลแห่งนี้ ทั้งหมดทั้งมวล อีกประการคือหลักฐานที่เผยตัวเป็นครั้งคราวในรอยทางแห่งประวัติศาสตร์ ความจริงที่ทรงเปิดเผยต่อมนุษย์สองประการนี้เองที่ “เตือน” และชักนำสำนึกของเราให้เข้าที่เข้าทาง “เราจักสำแดงสัญญาณต่อพวกเขา ณ เส้นขอบฟ้า และภายในจิตใจของพวกเขาเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้ประจักษ์ว่า [สาส์นนี้] คือความเที่ยงแท้”

 

การเดินทางสู่พระเจ้ามิอาจบรรลุได้โดยปราศจากสมอง ณ ที่แห่งนี้อาณาจักรแห่งศรัทธาและเหตุผลหาได้ขัดแย้งกันแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ‘ศรัทธา’ ซึ่งถือกำเนิดจากเกิดสักขีพยานแรกเริ่มจะถูกจุดขึ้นในใจของมนุษย์แต่ละผู้นามได้จำต้องใช้สติปัญญามาช่วยยืนยันว่าการเป็นสักขีพยานได้เคยเกิดขึ้น และช่วยให้เขาครองศรัทธาแน่วแน่ต่อพันธสัญญา ศรัทธาต้องการปัญญา และเมื่อใดที่มนุษย์ยอมรับการเปิดเผยของพระเจ้าทั้งสองประการแล้ว ศรัทธาจึงถือเป็นศรัทธาที่แท้จริง ที่หยั่งรากลึก เกาะเกี่ยวแน่นหนา และเติบโตจนบริบูรณ์ภายในหัวใจและสำนึกของเขา

 

และเช่นเคย ศรัทธา และสมองจะต้องสอดประสานและต่างก็มีบทบาทต้องแสดง ศรัทธาที่เบ่งบานเปิดทางให้สมองรับรู้ถึงสัญญาณต่างๆ ที่เหนือไปกว่าองค์ประกอบปกติธรรมดาของธรรมชาติ ขณะที่สมองที่เบ่งบาน(ด้วยเหตุผล)เปิดทางให้ศรัทธาได้เข้าใจ ได้ตระหนักรู้ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับตนเอง และเมื่อเป็นเช่นนั้น ในการจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า “ในหมู่ของบ่าวทุกคน ผู้ที่ตื่นรู้คือผู้ที่เปิดกว้าง [มากที่สุด] ต่อสัมผัสแห่งการมีอยู่ของพระเจ้า”

 

นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แบลส ปาสกาล มีคำกล่าวที่เข้ากันได้ดีกับบริบทนี้ “หัวใจมีเหตุผลที่เหตุผลมิอาจรู้” นั่นคือการแยกธรรมชาติของศรัทธาและเหตุผล (ที่มักถูกนิยามและอธิบายอย่างตื้นเขินเกินไปด้วยคำว่า ‘ความไม่ลงรอยของอารมณ์กับเหตุผล’) ในมุมมองของอิสลามความสัมพันธ์ของหัวใจ (จุดกำเนิดของความถวิลหาและแสงแรกแห่งศรัทธา) และปัญญา (ที่ขานรับคำวิงวอนของศรัทธาและตัดสินใจออกแสวงหา) อาจกล่าวได้อย่างน่าฟังยิ่งกว่าว่า “หัวใจมีเหตุผลที่เหตุผลจะเข้าใจ” และนี่คือคำอธิบายที่ดึงหัวใจเข้าใกล้สมองมากที่สุดแล้ว

 

ด้วยคำอธิบายเกี่ยวกับมนุษยชาติเหล่านี้ เราอาจสรุปได้เป็นคำสอนพื้นฐานสองประการที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชาติมุสลิมอย่างมากไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด มันคือสองปัจจัยพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่บนโลก เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องบริหารจัดการไม่ว่าจะอยู่ในโลกตะวันตกหรือตะวันออก

 

คำสอนแรก คือมนุษย์ไม่ได้เกิดจากองค์ประกอบที่ขัดแย้งกันทางศีลธรรม แต่วิญญาณและลมหายใจถูกเป่าเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ก่อเกิดเป็นนัฟซู หัวใจ เหตุผล และร่างกายที่สถิตของอารมณ์ เหล่านี้เป็น “องค์ประกอบที่เป็นกลาง” ที่เหนี่ยวนำให้แต่ละคนเกิดสำนึกรับผิดชอบ บุคคลจะระลึกรู้ก็ต่อเมื่อย้อนมองตนเอง ค้นหาเสียงเพรียกบริสุทธิ์ภายใน ซึ่งใกล้เคียงมากกับคำว่าการค้นหาความหมาย จักรวาลก็เหมือนมหาคัมภีร์ที่เรียกร้องให้เหตุผลช่วยค้นหาความหมาย ช่วยนำมาซึ่งความสอดประสานทางศีลธรรมและจริยธรรมของชีวิตโดยร่วมมือกับความตระหนักในหน้าที่และการฝึกฝนควบคุมตน  พิจารณาอย่างถ้วนทั่วแล้วมนุษย์คือการก้าวย่างกลับสู่ตนเองอย่างแช่มช้า เป็นการ “ไป” เพื่อ “กลับ” อย่างงดงามยิ่งกว่า ก็เหมือนกับความเชื่อแต่โบราณที่บอกว่า

 

เราล้วนอยู่บนหนทางกลับสู่จุดกำเนิด และเราจักพบพระเจ้าซึ่งไม่ไกลจากหัวใจ “และได้รู้ว่าพระเจ้านั้นทรงสถิตที่กึ่งกลางระหว่างมนุษย์และหัวใจของเขานั่นเอง” คำสอนที่สอง เป็นเรื่องลำดับขั้นของชีวิตมนุษย์ แรกเริ่มมนุษย์ไร้เดียงสาอย่างแท้จริง มนุษย์มีอยู่และขับเคลื่อนด้วยลมหายใจ และในไม่ช้าจำต้องออกค้นหา

 

เมื่อตระหนักถึงสภาวะดังกล่าวมนุษย์จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่รับผิดชอบและมีเสรีอย่างฉับพลัน ณ ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าและจิตสำนึกของตนเอง มนุษย์ทุกคนจะต้องควบคุมตนด้วยตระหนักว่า ‘ผู้ทรงเป็นหนึ่ง’ คาดหวังให้เขานั้นรู้จักพระองค์ ปลดปล่อยตัวเขาจากสิ่งตบแต่งและรูปเคารพจอมปลอมทั้งมวลที่หาใช่พระองค์ เพื่อรู้จักพระองค์อย่างแนบชิด แต่ก่อนถึงขั้นนั้น พระเจ้าได้ฝัง “ความต้องการในพระองค์” และ “สัญญาณ” แห่งการมีอยู่ของพระองค์เอาไว้ในกระแสแรกแห่งศรัทธา เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องหาทางอ่านสัญญาณเหล่านั้นและเติมเต็มความต้องการแห่งตน นั่นคือความรับผิดชอบของมนุษย์ในมิติแรก ในมุมมองนี้ความบกพร่องอันร้ายแรงของมนุษย์ผู้รับผิดชอบและมีเสรีมิได้ถือเป็นความบกพร่องทางศีลธรรมตามความเข้าใจทั่วไป และมันคือความหยิ่งผยองที่พยายามเก็บกด “ความต้องการพระผู้เป็นเจ้า” และคิดว่าลำพังสติปัญญาของตนจะสามารถอ่านจักรวาลได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เมื่อผนวกขั้นแห่งความไร้เดียงสาและความรับผิดชอบเข้าด้วยกันแล้ว เกิดเป็นความถ่อมตนอันเป็นภาวะที่นำพามนุษย์สู่มนุษยธรรม ความถ่อมตนคือที่มาของจริยธรรมอันดีงาม

 

คำสอนทั้งสองประการสำคัญยิ่งและส่งผลอย่างมหาศาลต่อชีวิตประจำวันของมุสลิมทุกคน ด้วยระลึกรู้ถึงการมีอยู่ของเบื้องบน ระหว่างที่ดิ้นรนในจักรวาล เหนือสิ่งอื่นใดมุสลิมแต่ละคนมองตนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรับผิดชอบ ศรัทธาและความถ่อมตนทำให้มนุษย์เข้าใจความหมายของภาระหน้าที่ของตน ก่อนตระหนักรู้ถึงสิทธิใดๆ นี่คือความหมายแรกของ ‘การสอดส่องแทน’ ในโลกแห่งอิสลาม “พระองค์นั่นเองที่ให้พวกเจ้าเป็นผู้สอดส่องแทนพระองค์ [คอลิฟะฮ] บนโลกนี้” เป็นหน้าที่ของมนุษยชาติที่จะต้องดูแลโลกด้วยจริยธรรมแห่งความเคารพต่อสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง มิใช่เพียงเพราะมนุษย์มิใช่เจ้าของสิ่งเหล่านั้น แต่ลึกไปกว่านั้นในทางจิตวิญญาณ สรรพสิ่งที่ทรงสร้างในตัวของมันเองคือคำสรรเสริญที่ไม่สิ้นสุดชั่วนิรันดร์ต่อผู้อยู่สูงสุด เรากำลังพูดถึงนิเวศวิทยาทางจิตวิญญาณที่แท้จริง นิเวศวิทยาที่เกิดก่อนนิเวศวิทยาที่เรารู้จัก ที่บังคับให้มนุษย์รู้ถึงข้อจำกัดของตน ก่อนที่จะเอื้อมถึงความหมายของเสรีภาพและสิทธิของตนอย่างสำรวม สง่างาม 

 

เราสามารถศึกษาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษย์ต่อไป แม้ว่าประเด็นความเป็นสากลของสิทธิมนุษย์จะมิได้สร้างปัญหาด้วยตัวมันเอง แต่วิธีการอธิบายและโครงสร้างของคำอธิบายของบุคคลมักจะเปิดช่องให้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้เสมอ ด้วยสำนึกของความเป็นมุสลิมเราสามารถเพิ่มเติมบทความอีกมากมายในหัวข้อเรื่องภาระรับผิดชอบอันเป็นกรอบของมนุษย์ ก่อนจะถึงบทประกาศสิทธิสากลเหล่านั้น

 

ที่มา: http://tariqramadan.com/english/the-humanity-of-the-being-22/