ขบคิด ว่าด้วยเรื่องมนุษยธรรมในอิสลาม (1)

ความคิดเรื่องเตาฮีด หรือความเชื่อในความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า (เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ) รวมถึงนามและคุณลักษณะของพระองค์ (เตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วัศฺศิฟาต) กำหนดให้ธรรมชาติของมนุษย์เป็นเหมือนภาพสะท้อนในกระจก ที่มี ‘อีกฟากฝั่ง’ ไปโดยปริยาย หากพระเจ้าเป็นหนึ่ง ทุกสิ่งที่ทรงสร้างย่อมมาเป็นคู่ คูณสอง ที่ต้องการเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความเป็นหนึ่งสำหรับพระเจ้าหมายถึงลักษณะอันสำคัญของพระองค์ ทว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชีวิตที่ถูกสร้างอย่างมนุษย์ บรรลุได้โดยการสมรส การผสมผสาน การเคลื่อนที่ มนุษย์ซึ่งถูกสร้างโดยผู้เป็นเอกะจะต้องออกแสวงหาความสอดประสานขององค์ประกอบในการมีอยู่ของตน นั่นคือหัวใจ วิญญาณ สติปัญญา และร่างกาย

ที่มาของภาพ https://www.sarmy.org.au/en/Social/JustSalvos/Issues/Refugees/No-Exceptions/ 

 

เมื่อกล่าวเช่นนั้น ดูเหมือนมิได้ต่างอะไรจากวิถีคิดของกรีก ยิว หรือคริสต์ เรารู้จักดีวิถีคิดที่มองวิญญาณและร่างกายเป็นสองสิ่งที่เป็นปรปักษ์ แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานในอัลกุรอานอย่างถี่ถ้วนกลับพบว่าอิสลามไม่มีข้อมูลใดที่จะใช้เป็นฐานยืนยันการแยกองค์ประกอบของมนุษย์เป็นฝ่าย “ดี-ชั่ว” มีคุณลักษณะทางศีลธรรมเป็น “บวก-ลบ” มาแต่กำเนิด อย่างการสื่อ (ไม่ว่าจะโดยนัยหรือชัดเจน) ว่า วิญญาณคือความดี ร่างกายคือความชั่ว ทั้งอัลกุรอานและอัลหะดีษไม่มีการเอ่ยถึงสิ่งเหล่านั้น บททดสอบทางศีลธรรมที่ยากสำหรับอิสลามหาได้เกิดจากการปะทะขององค์ประกอบของมนุษย์ที่ถูกแยกเป็นสองขั้วศีลธรรมเช่นนั้น ทว่ามันคือการที่เราต้องควบคุมและนำทางสิ่งทั้งสอง (กายและวิญญาณ) ให้บรรจบในจุดที่จำเป็น ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง 

 

การแบ่งกายและวิญญาณเป็นสองขั้วศีลธรรมเป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธมาแต่แรก อิสลามตั้งอยู่บนฐานของการวัดคุณธรรมในประเภทต่างๆ ของมนุษย์ที่ความสามารถในการควบคุมสติสัมปชัญญะของตนให้มุ่งมั่นแสวงหาความสมดุล ความสอดประสาน และความสันติ มนุษย์มีความรับผิดชอบโดยธรรมชาติ เตาฮีดผลักดันให้มนุษยธรรมเริ่มออกแสวงหา (ในหนทางของพระเจ้า) วิธีควบคุมตนท่ามกลางความผกผัน ขัดแย้ง อ่อนแอ และขาดตกบกพร่องของชีวิต การฝึกฝนที่จะควบคุมตนด้วยสำนึกรับผิดชอบเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนมนุษย์เป็นมนุษย์อย่างแท้จริง อาจเรียกได้ว่าเป็นวงจรแห่งการยกระดับอันดีงาม การหันเข้าหากันอันเป็นหัวใจของการมีชีวิตจะนำเราสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่มนุษย์ หนทางตรงกันข้ามนั้นคือการไร้ซึ่งขอบเขตและมนุษยธรรม ขาดความยับยั้งชั่งใจ อันจะดึงสำนึกของมนุษย์สู่ความหลับใหล สู่วงจรแห่งความล้นเกินอันชั่วร้าย ที่อาจก้าวล่วงถึงจุดที่มนุษย์ลงเกลือกกลั้วสมสู่กับสัตว์เดียรัจฉาน

 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีคุณลักษณะทางศีลธรรมที่เรียกว่า “ดีแท้” ติดมากับ “วิญญาณภายในกาย” ในหัวใจ ในสำนึก และไม่มีคุณลักษณะทางศีลธรรมที่เรียกว่า “ชั่วช้า” ที่มาพร้อมกับกาย กับประสาทสัมผัส กับอารมณ์ของมนุษย์ คุณภาพของศีลธรรมของมนุษย์ ของตัวตน(ที่ล้วนมีนัฟซู) ของหัวใจ ของร่างกาย ของอารมณ์ และการกระทำของแต่ละคนวัดกันที่ความสามารถในควบคุม สอดประสาน และนำพาตนของเขาเหล่านั้นต่างหาก นี่คือความสัมพันธ์รากฐานที่อิสลามเชิญชวนให้มุสลิมมีต่อโลกใบนี้ ที่ไม่ได้เลวร้ายในตัวของมันเอง (ต่างจากโลกหน้าหรือสวรรค์ที่เป็นความดีงามอันสมบูรณ์) เช่นเดียวกัน ความเป็นมารดาหรือบิดาก็หาได้ดีงามอยู่ในตัว ขณะที่ชีวิตโดยลำพังก็หาใช่ความชั่ว ความรู้มิได้ดีงามในตัวเอง และความไม่รู้ก็หาใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมัน

 

ไม่มีความชั่ว-ดีตายตัวเช่นนั้นในจักรวาลแห่งอิสลาม ความรู้สึกในทางเพศอาจเป็นบทสวดวิงวอน ขณะที่ความเป็นมารดาอาจเป็นอเวจี ล้วนตัดสินได้จากเจตนาทางมนุษยธรรมที่ขับเคลื่อนคนผู้นั้น อธิบายได้อีกทางว่า คุณลักษณะทางจริยธรรมของแต่ละองค์ประกอบที่กอปรเป็นเราทุกคน (นัฟซู หัวใจ ร่างกาย ฯลฯ) ของแง่มุมที่สร้างบุคลิกภาพของเรา (มุมมองต่อโลก ความเฉลียวฉลาด และจินตนาการ) และของการกระทำต่างๆ ของเรา ตัดสินชั่ว-ดีได้จากทิศทางที่จิตสำนึกของเราสั่งให้เราก้าวเดินไปเท่านั้น

 

คำสอนข้อนี้ชี้ให้ว่ามนุษย์ต้องมีมานะอุสาหะและมีความคิดบวกอย่างมหาศาลในขณะเดียวกัน ต้องมานะอุตสาหะเพราะมนุษย์ต้องใช้สติควบคุมตนอย่างรับผิดชอบเพียงลำพัง (“ไม่มีใครแบกรับภาระของใครได้”) ในโลกที่ความชั่วร้ายหาใช่รอยมลทินถาวร (อย่างแนวคิดบาปกำเนิดของศาสนาคริสต์) และหาใช่องค์ประกอบปรกติของมนุษย์ (ไม่ใช่ร่างกายและจินตนาการ) ที่สุดแล้วมันก็คือการมองโลกในแง่ดี เพราะคำสอนนี้บอกให้เราไม่ปฏิเสธส่วนใดส่วนหนึ่งในการมีอยู่ของตัวเรา ให้ความมั่นใจแก่เราว่าพระผู้อภิบาลได้ทรงมอบวิถีทางรับมือกับบททดสอบทางจริยธรรมในทุกสถานการณ์ “พระเจ้าทรงวางภาระให้แต่ละดวงวิญญาณ [มนุษย์] เท่าที่เขาจะสามารถแบกรับ” ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงสื่อสัญญาณ ชักชวน และมอบกำลังใจให้มนุษย์ตลอดเส้นทาง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นความผูกผันระหว่างภาระหน้าที่ในความเชื่อมั่น กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ต่อเมื่อมนุษย์ได้ก้าวข้ามธรณีประตูสู่อาณาจักรภายในจิตใจที่สุขสงบ

 

คำถามคือเรามองออกหรือไม่ว่ากำลังนำพาตนไปในทิศทางใด วิถีอิสลามยังให้แนวคิดเรื่องมนุษย์ที่ต่างไปจากลัทธิความเชื่อใดๆ เป็นสิ่งที่นักพรตซูฟีย์พยายามเน้นย้ำ และเราก็ได้เห็นแล้วในที่นี้ว่าอิสลามเชื่อในความเคลื่อนไหวและพลวัตรนิยม ซึ่งทำให้โลกทัศน์ของอิสลามแตกต่างอย่างโดดเด่น และเราประจักษ์ในที่สุดว่า การตระหนักถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าในโลกอิสลาม (ซึ่งห่างไกลจากความคิด “ดี-ชั่ว” ตายตัวที่ค้านทั้งศรัทธาและเหตุผล) จะขับเคลื่อนมนุษย์ให้ออกเดินทางกลับสู่ลมหายใจแรกโดยไม่อาจขาดซึ่งการขบคิดเหตุผลหากจะก่อเกิดศรัทธาอันมั่นคงที่เป็นทั้งเครื่องยืนยันและความลงรอยของชีวิต

 

ที่มา:  http://tariqramadan.com/english/the-humanity-of-the-being-12/