รัฐ-เอ็นจีโอ และ ประชาคมชายแดนใต้ "พื้นที่การเมืองชุมชนกลางความขัดแย้ง

“พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านก็มาชุมนุมมาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าวถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา ทางการเขาสั่งมาว่าให้ชาวนาเลี้ยงเป็ด และสุกรฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไรผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใดสุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดาหมาน่อยหมาน่อยธรรมดา....”

ถ้อยเนื้อเพลงผู้ใหญ่ลี ที่พิพัฒน์ บริบูรณ์ เป็นผู้แต่ง และขับร้องโดยศักดิ์ศรี ศรีอักษรถูกถ่ายทอดให้รู้จักการเรียกประชุมชาวบ้านในสังคมไทยณ ปี 2504  ซึ่งเป็นบริบทของการเริ่มต้นของรัฐทุนนิยมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และธนาคารโลก (WORLD BANK) ภายใต้ข้อสมมติฐานที่เชื่อว่าความยากไร้ ความขาดแคลน และความเหลื่อมล้ำจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาทุนนิยมเสรี

โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งถนน ไฟฟ้า และเขื่อน เริ่มกระจายสู่พื้นที่ชนบทของสังคมไทย ขณะที่บริบทเดียวกัน ณ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)ก็เริ่มก่อเกิดขบวนการปลดปล่อยปาตานีออกจากราชอาณาจักรไทย ในปี 2502 ของแนวร่วมแห่งชาติปลดปล่อยปาตานี (BNPP)และปี2503 ก็เกิดแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนจากชายแดนใต้ถูกปิดตายหลังหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์สูญหายอย่างลึกลับในปี2497

ปี 2559ในบริบทแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2555-2559) ท่ามกลางความขัดแย้งชายแดนใต้ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2547ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต่อมารัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 แล้วความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็คุกรุ่นและบรรยากาศทางการเมืองก็ยิ่งตึงเครียดมากขึ้นหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

ชายแดนใต้ ในความขัดแย้งโครงการพัฒนาต่างๆ ลงสู่หมู่บ้านมากขึ้นจากภาครัฐอาทิ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พนม.) โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(พนพ.)ภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ในหลักคิดสำคัญที่ต้องการให้ข้าราชการได้ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านในหมู่บ้าน ก่อเกิดความไว้วางใจต่อข้าราชราชการ เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในชายแดนใต้

รวมถึงโครงการจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ซึ่งสนับสนุนโดยแหล่งทุนต่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (WORLD BANK),สหประชาชาติ (UN),องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ,สหภาพยุโรป (EU) ,องค์กรสนับสนุนความช่วยเหลือระหว่างประเทศของรัฐบาลแคนาดา (CIDA),คณะกรรมการบรรเทาทุพภิกขภัยแห่งอ๊อกฟอร์ด(OXFAM),มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ (SPF)แห่งญี่ปุ่นฯลฯภายใต้ข้อสมมติฐานที่เชื่อว่าความยากไร้ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวของความขัดแย้งซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาทุนนิยมเสรี

โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.) เกิดขึ้นภายใต้การร่วมมือของธนาคารโลก (WORLD BANK)กระทรวงการคลังของไทย และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI)แผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD)เป็น 1 ใน 2 แผนงานของโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.) ส่วนอีกแผนงานหนึ่ง คือ แผนงานกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ (PPF)

แผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD) เน้นสนับสนุนกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆที่เกิดจากความต้องการของชุมชนผ่านกระบวนการร่วมคิดร่วมตัดสินใจและร่วมลงมือปฏิบัติโดยที่ชุมชนบริหารจัดการเอง แผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD)ดำเนินการใน 6 ตำบลของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน ตำบลห้วยกระทิง อำเภอกรงปินังจังหวัดยะลา ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ และตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

กระบวนการจัดเวทีประชาคมของชุมชน เป็นเรื่องหนึ่งที่แผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD) โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.) ให้ความสนใจ จึงประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั้ง 6 ตำบล และหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาชุมชน กรมปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน เป็นต้นเพื่อสร้างกระบวนการจัดเวทีประชาคมอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชนร่วมกัน

วันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่ห้อง VINTEGE โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท จังหวัดปัตตานี กลุ่มงานตำบล กลุ่มงานชุมชน แผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD) โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.)12 คนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้หลังเวทีประชาคมจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตำบล เจ้าหน้าที่กลุ่มงานชุมชน ของแผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD)

เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตำบล เจ้าหน้าที่กลุ่มงานชุมชนร่วมวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาพปัญหาของการประชาคมต่างๆ ที่ผ่านมา ว่าที่ผ่านมาไม่ใช่เป็นการประชาคม แต่เป็นเรื่องของการเรียกประชุมชาวบ้าน ชาวบ้านจะไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะผ่านผู้นำในท้องที่ ไม่มีการวางระเบียบในการเชิญชวน  ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่ระยะหลังๆ ชาวบ้านเริ่มถูกให้ความสำคัญ  การร่วมเวทีประชาคมของหน่วยงาน เวทีประชาคมอยู่ในลักษณะของการเอื้อประโยชน์ของเฉพาะกลุ่ม

ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าตนเองถึงสิทธิในเวทีประชาคม ใช้สิทธิไม่เต็มที่  มีผลประโยชน์ในการทำเวทีประชาคม อำนาจการต่อรองระหว่างชาวบ้านกับผู้นำอย่างเหลื่อมล้ำ  ชาวบ้านทำได้แค่เสนอความต้องการ แต่ไม่ค่อยได้รับจากสิ่งที่ชาวบ้านเสนอ ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยให้คุณค่า ให้ความสนใจ  เวทีประชาคม ที่ผ่านมาเป็นการทำประชาคมที่แยกส่วน ซับซ้อนในเรื่องของการระดมความต้องการของชาวบ้าน

กระบวนการในการระดมความต้องการของชาวบ้าน โดยบริบทของชาวบ้าน ก็ไม่ค่อยมีบทบาท แสดงความต้องการ ทำได้แค่ยกมือ ซึ่งไม่สามารถวัดได้ว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง รูปแบบการประชาคม เป็นไปอย่างเร่งรีบ เวทีประชาคมเป็นการยกมือ สนับสนุนที่มีอยู่แล้ว แต่โครงการใหม่ๆที่เกิดผลต่อชาวบ้านนั้น ไม่ค่อยมี  ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการของประชาคมที่มีประสิทธิภาพ สถานที่ไม่อำนวยให้เกิดความรู้สึกร่วมของชาวบ้าน

เวทีประชาคม เป็นพื้นที่ของคนไม่กี่กลุ่ม คนที่เป็นพรรค เป็นพวก ไม่ค่อยมีความหลากหลาย เวทีประชาคมเป็นเรื่องของเกมการเมืองของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น  เวทีประชาคมทำให้เกิดความขัดแย้งเมื่อมีการวิพากษ์ในเวที ซึ่งเป็นเวทีที่ชาวบ้านให้ความสำคัญของสิทธิตนเอง แต่ภาครัฐไม่มีกระบวนการจัดการรองรับ ความขัดแย้งในเวทีประชาคมนั้นๆ  ชาวบ้านไม่ค่อยได้รับผลงาน หรือ ข้อมูลคืนสู่ชุมชน หลังจากดำเนินโครงการไปแล้ว”

เป็นภาพที่เห็นปัญหาของการประชาคมของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตำบล และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานชุมชน ของแผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD) และร่วมสะท้อนถึงความแตกต่างของกระบวนการประชาคมของโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.) ที่พยายามดำเนินการ

กลุ่มงานตำบล และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานชุมชน ของแผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD)เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองดำเนินการนั้นมีเครื่องมือ กระบวนการที่ชัดเจน มีมาตรฐาน สอดคล้องกับวิถีชาวบ้านเป็นการลดเวลา ลดจำนวนความซ้ำซ้อนการจัดเวทีประชาคมของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ท้องที่ โดยดึงหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ มาร่วมในเวทีเดียวกัน มีกระบวน เครื่องมือดึงความต้องการของชุมชนที่มากกว่าการยกมือโดยการใช้บัตรคำที่เป็นภาษาที่ชาวบ้านถนัด หรือวาดภาพ โดยมีแกนนำชาวบ้าน หรือ เจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิบาย นอกจากนี้ทีมงานอาสาสมัครชาวบ้านก็ได้รับพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ขณะเดียวกันก็มีการทำความเข้าใจ และออกแบบกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ท้องที่

เวทีประชาคมโดย ชชต. มีกระบวนการ เครื่องมือดึงการมีส่วนร่วม ความต้องการของชาวบ้าน เช่น การใช้บัตรคำ ใช้สติ๊กเกอร์นับคะแนน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านคิดต่าง ตัดสินใจแตกต่างจากคนอื่นๆได้  มีการวางบทบาทหน้าที่ของทุกคนในเวทีประชาคมไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านเป็นโอกาสสำหรับการคืนข้อมูล หรือการติดตามโครงการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบสู่ชาวบ้าน หรือชี้ให้เห็นระยะต่างๆ ความคืบหน้า ข้อสงสัยต่อโครงการต่างๆที่กำลังดำเนินอยู่

ภาพรวมเวทีประชาคม โดย ชชต. เวทีประชาคม 3 ช่วง คือช่วงเตรียม เริ่มด้วยการเตรียมเป็นการเตรียมรายพื้นที่สอดคล้องตามบริบทตำบล สร้างทีมงานมีความเข้าใจ มีศักยภาพ ในการดำเนินกระบวนการเวทีประชาคม  ในระดับต่างๆ เตรียมทำความเข้าใจในระดับ อบต.รวม   ระดับ อบต. กลไกต่างๆใน และคณะทำงานชาวบ้านเตรียมเรื่องของการกำหนดบทบาท ของกลุ่มระดับต่างๆ

การเชิญชาวบ้านเข้าร่วมเวทีประชาคม จะเป็นบทบาทของคณะทำงานชุมชน และผู้ใหญ่บ้าน ด้วยวิธีการต่างเช่น การแห่รถ การประกาศเสียงตามสาย การส่งหนังสือเชิญ มีความแตกต่างจากกระบวนเวทีประชาคมทั่วไป คือ มีการให้บทบาทชาวบ้านในการประชาสัมพันธ์ ที่มีเหตุผล สร้างแรงจูงใจ สร้างคุณค่า ให้แก่ชาวบ้านที่อยากจะเข้าร่วม

ความสำคัญของการจัดเวทีเตรียม เป็นการทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงาน เห็นทีมทำงาน เห็นบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน มีการกระจายงานที่ช่วยพัฒนาศักยภาพแกนนำชาวบ้าน ทำให้การจัดทำเวทีประชาคมมีความพร้อม มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ช่วงจัดทำประชาคมแผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD)มีกระบวนการมีเครื่องมือที่ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม จับต้องได้ใช้การได้ มีการวางบทบาทคณะทำงานและ อบต. ที่ชัดเจนมากกว่าการประชาคมที่ผ่านมาเวทีประชาคมไม่ใช่แค่การทำแผนของ อบต. เป็นพื้นที่กลางที่ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึก มีสิทธิ มีเสียงในการจัดการปัญหาของชาวบ้านเวทีประชาคมเป็นพื้นที่รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เวทีประชาคมที่มีประสิทธิภาพ จะต้องนำไปสู่การสร้างความพันธ์ ความไว้วางใจของชาวบ้านและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และเป็นพื้นที่บูรณาการ สร้างเป็นเอกภาพของการทำแผนชุมชน

อุปสรรคและปัญหาที่พบเจอ คือ มีหน่วยงาน บางหน่วยงาน ไม่ยอมรับในการร่วมทำแผนบูรณาการแผนชุมชน ทั้งนี้สืบเนื่องจาก การไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่เข้าใจ หรือบางทีก็มองไม่เห็นผลประโยชน์ร่วม ที่จะร่วมบูรณาการแผนร่วมขณะที่ปัญหาหนึ่ง คือ เรื่องศักยภาพของบุคคลเกี่ยวกับ ความเข้าใจต่อกระบวนการ และบทบาทในเวทีประชาคม ชชต. ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการถอดบทเรียน และค่อยๆพัฒนาศักยภาพกันอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ความคาดหวัง คือ อยากให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา และแก้ปัญหาท้องถิ่น ท้องที่นำแผนที่เกิดจากเวทีประชาคม ชชต. ไปบรรจุอยู่ในแผนแม้นในระยะแรกจะไม่ได้มามีส่วนร่วมอยู่ในเวทีประชาคมก็ตาม

“ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจกับการประชาคมมากขึ้น เพราะเชื่อว่าความต้องการของตนเองจะได้รับการตอบสนองจาก อบต. เพราะโครงการส่วนใหญ่ที่ออกมาจากเวที จะถูกนำไปขับเคลื่อน ไม่ว่าโดย อบต. หรือ หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อการทำโครงการ”

เหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนของเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตำบล และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานชุมชนแผนงานทุนพัฒนาชุมชน (CDD)โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ชชต.)