มอง ‘อัล-ฆอซาลี’ ในมุมใหม่ (พระเจ้า vs เหตุผล)

เมื่อการย้อนทบทวนงานของ อัล-ฆอซาลี มหาปราชญ์อิสลามผู้ตกเป็นเป้าถกเถียงสูงสุดในโลกยุคใหม่ ได้นำพาไปพบความรอบรู้และลุ่มลึก และนัยสำคัญต่อโลกปัจจุบันที่ถูกมองข้าม

 

เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2016 ที่ผ่านมา มีการจัดการประชุมชื่อว่า "Revisiting al-Ghazali: Reason and Revelation Conference" โดยวิทยาลัยเซย์ทูนา เมืองเบิร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย เพื่อทบทวนและแลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับงานเขียนและคุณูปการของนักวิชาการผู้ทรงอิทธิพลที่สุดท่านหนึ่งในโลกอิสลาม งานวิจัยและวงสนทนาต่างมุ่งไปที่ประเด็นร้อนอันเกี่ยวข้องกับท่าน อบู ฮามิด อัล-ฆอซาลี นักคิดและปรัชญามุสลิมซึ่งเป็นเป้าถกเถียงทั้งเชิงบวกและลบมาโดยตลอด เป้าหมายในครั้งนี้ คือเพื่อทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักในคุณค่าของแนวคิดอันโดดเด่นที่เขาทิ้งไว้แก่โลก โดยเฉพาะเรื่องของการบรรจบระหว่างเหตุผลและพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ในประชาคมมุสลิมร่วมสมัยชื่อของ อัล-ฆอซาลี ถูกเอ่ยถึงในการโต้วาทะเกี่ยวกับลัทธิซูฟีย์อยู่เสมอ ทั้งที่ อันที่จริงแล้วอิทธิพลและคุณูปการที่นักคิดผู้นี้มีต่อกฎหมายและหลักนิติธรรมในโลกอิสลามก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งยังส่งผลต่อโลกทุกวันนี้ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่  

 

อัล-ฆอซาลี มักถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ที่ต่อต้านเหตุผลและการตั้งคำถามอย่างเสรีในครรลองอิสลาม สิ่งนี้มีการตอบโต้หักล้างอย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการในงานประชุมครั้งนี้

 

หลายชิ้นมุ่งศึกษาการวิพากษ์วิจารณ์ศาสตร์แห่งปรัชญาของอัล-ฆอซาลี และ ความไม่ลงรอยระหว่างเหตุผลกับพระเจ้า ศาสตราจารย์ จอห์น วอลบริดจ์ ผู้เขียนหนังสือ "God and Logic in Islam: The Caliphate of Reason" เป็นคนหนึ่งที่ถกประเด็นดังกล่าว และได้ให้เหตุผลต่อต้านข้อกล่าวหาที่ว่างานเขียนของ อัล-ฆอซาลี นำพาโลกมุสลิมมาถึงจุดจบของการใช้เหตุผลและหลักวิทยาศาสตร์ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ในโลกอิสลามมาถึงจุดสูงสุดราว 100-150 ปี หลังจากที่ท่านอัล-ฆอซาลี ได้เสียชีวิตไป 

 

ปัญหาคือ ทุกวันนี้ง่ายมากที่ใครสักคนจะมักง่าย โยนให้ อบู ฮามิด อัล-ฆอซาลี เป็นผู้รับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นยุคหลังๆ ในโลกอิสลามด้วยการโจมตีการวิพากษ์ปรัชญาของเขาในมุมแคบๆ มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า อัล-ฆอซาลี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเชิงอภิปรัชญาของนักปรัชญาบางส่วนเท่านั้น หาได้โจมตีการใช้เหตุผล เมื่อนักวิชาการและนักศึกษาเกี่ยวกับโลกตะวันออกพยายามปะติดปะต่อภาพที่จะช่วยอธิบายความถดถอยของโลกมุสลิม มรดกตกทอดอเนกอนันต์และความเป็นศูนย์กลางของ อัล-ฆอซาลี ในโลกอิสลามกลับถูกโจมตีหนัก แต่ ฮัมซา ยูซุฟ อธิการบดีวิทยาลัยเซย์ทูนา เป็นนักวิชาการท่านหนึ่งที่ไม่ได้คล้อยตามแนวโน้มดังกล่าว “อัล-ฆอซาลี คืออัจฉริยะ” เขากล่าว “เขาเข้าใจดีว่าพวกยึดถือรูปแบบ (Formalist) เป็นกลุ่มคนที่ติดกับอยู่ในสิ่งตบแต่งฉาบฉวยของศาสนา อิหม่าม อัล-ฆอซาลี ต้องการข้ามพ้นสิ่งฉาบฉวยเหล่านั้นและเข้าใจความหมายที่แท้ หัวใจคือแกนกลางในวิถีของเรา(มุสลิม) และหัวใจคือแกนกลางของปัญญา นั่นคือสาเหตุที่อิหม่าม อัล-ฆอซาลี ยึดมั่นหนักแน่นในเหตุและผล”


แกนกลางของความรู้คือหัวข้อที่ ฮัมซา ยูซุฟ ใช้ในการสนทนาและเป็นข้อเสนอหลักในวันแรกของการประชุมครั้งนี้ เขากล่าวว่า “ความน่าเศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงในอารยธรรมมุสลิมยุคใหม่ คือการที่หัวใจถูกแยกออกจากปัญญา อิหม่าม อัล-ฆอซาลี เริ่มต้นงานเขียนชิ้นเอกชุด ‘The Revival of the Religious Sciences' ของเขาด้วยหนังสือที่ชื่อว่า ‘The Book of Knowledge' [กิตาบ อัล-อิลม์] ที่เป็นสิ่งพิสูจน์ว่า อิหม่าม อัล-ฆอซาลี เข้าใจเป็นอย่างดีว่าความรู้คือรากฐานของศาสนา’

 

เราต้องไม่ลืมว่า อัล-ฆอซาลี เปิดตัวในโลกแห่งความคิดในช่วงเวลาวิกฤติของประวัติศาสตร์พอดี ณ. เวลาที่การแตกเป็นฝักฝ่ายและการโต้เถียงทางความคิดกำลังร้อนระอุ แนวคิดด้านการเมืองและระบบเหตุผลขณะนั้นต่างก็ย้อนแย้งกันเอง สภาพอันหลากหลายเช่นนี้ กดดันให้สถาบันการศึกษาแนวหน้าอย่าง นิซามีย์ยะมาดราซา ของกรุงแบกแดด ต้องดิ้นรนหา ‘เสียง’ ทางความคิดที่สดใหม่ แบกแดดเป็นจุดนัดพบของความคิด การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศาสนากระแสต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโลก ได้สมญานามว่าเป็น ‘เมืองแห่งสันติ’ อันเป็นศูนย์กลางของอิสลามยุคคลาสสิกและอารยธรรมอิสลามชั้นสูง   แต่แล้วทั้งแบกแดดและโลกมุสลิมยุคนั้นก็ดำเนินมาถึงจุดแตกแยกและการแก่งแย่งอำนาจ ทำให้ นิซาม อัล-มุลก์ พยายามใช้สถาบันการศึกษามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ โดยที่ อัล-ฆอซาลี ถูกเลือกให้เป็นหมากสำคัญในการเยียวยาดังกล่าว 

 

ปี ค.ศ. 1095 อัล-ฆอซาลี เองเผชิญวิกฤติที่ทำให้เขาสละตำแหน่งงานสอนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับคณบดีผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัย ทิ้งอาชีพของตนขณะที่กำลังรุ่งโรจน์ และออกเดินทางเพื่อการค้นพบในทางจิตวิญญาณแทน  เป็นไปได้ว่าคำสอนแนวซูฟีย์ (แม้ตัวเขาจะเป็นซุนนี) กับความฝักใฝ่และภูมิรู้ในทางจิตวิญญาณของอาห์เหม็ดผู้เป็นน้องชายมีผลให้เกิดจุดเปลี่ยนอย่างกะทันหันในแนวทางชีวิตของ อัล-ฆอซาลี ทำให้เขาออกเดินทางไปยังกรุงดามัสกัสและเยรูซาเล็ม ตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการ แฟรงค์ กริฟเฟล การพยายามครอง “จริยธรรมและมาตรฐานของชีวิตที่บริสุทธิ์ยึดมั่นในศาสนาขณะที่ต้องรับใช้บรรดาสุลต่าน ขุนนาง และกาหลิบ นั้นทำให้อัล-ฆอซาลีต้องหนักใจเป็นอย่างมาก” 

 

มีหลักฐานที่ทำให้พออนุมานได้ถึงสาเหตุที่เขาหันหลังให้กรุงแบกแดด เช่น คำปฏิญาณหนึ่งที่ อัล-ฆอซาลี ให้ไว้ระหว่างที่ไปเยี่ยมเยือนเมืองอัล-คาลิล สถานที่ฝังศพของท่านนบีอิบรอฮีม โดยเขาได้สัญญาว่า “จะไม่ทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือสอนหนังสือในโรงเรียนที่รัฐสนับสนุนอีก” แฟรงค์ กริฟเฟล เขียนไว้ว่า อัล-ฆอซาลี “มีความเชื่อว่าการรับผลประโยชน์จากทรัพย์ศฤงคารของผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองและการทหาร ก็เหมือนสมรู้ร่วมคิดกับการปกครองอันกดขี่และฉ้อฉลของคนเหล่านั้น ซึ่งมันจะบั่นทอนความเกรงกลัวเรื่องการชดใช้บาปหลังความตายของบุคคล”

 

ด้วยเหตุนี้ การประชุมที่วิทยาลัยเซย์ทูนาจึงมุ่งทบทวนมรดกตกทอดที่นักปรัชญามุสลิมผู้นี้ได้ทิ้งไว้ เพื่อที่จะเห็นคุณค่าอันลุ่มลึก เกิดความเข้าใจในมุมใหม่ๆ ต่องานของเขา รวมถึงเล็งเห็นความสำคัญจำเป็นของเขาผู้นี้ต่อโลกยุคใหม่ การหยิบจับผลงานทางวิชาการของ อัล-ฆอซาลี ในกรอบคิดด้านสภาพการณ์ ประเด็นถกเถียง และปัญหาเฉพาะตัวในยุคของเขาจะช่วยให้ผู้อ่านยุคใหม่รับมือเนื้อหาส่วนที่เป็นประเด็นร้อนในงานของ อัล-ฆอซาลี ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และไม่ด่วนตัดสินด้วยมองเพียงผิวเผิน ถึงที่สุดแล้ว งานวิพากษ์ปรัชญาและการดึงเอาลัทธิฟูซีย์และอิสลามซุนนีที่เคร่งครัดมาบรรจบกันของ อัล-ฆอซาลี ในยุคคลาสสิกควรจะจุดประกายให้นักวิชาการยุคใหม่หันมาทบทวนวิธีการศึกษาของตน และเสาะแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ที่อาจช่วยรับมือกับความขัดแย้งที่อยู่ตรงหน้าในโลกยุคใหม่ได้

 

แหล่งที่มา http://www.dailysabah.com/columns/hatem-bazian/2016/03/10/revisiting-al-ghazali-revelation-and-reason