ผู้หญิงมุสลิมกับความเปลี่ยนแปลง

ผู้หญิงมุสลิมกับการเปลี่ยนแปลง

เรื่องโดย ฏอริค รอมาฎอน

ผู้หญิงเป็นประเด็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของข้าพเจ้าเสมอ ข้าพเจ้าเฝ้าท้วงถามการตีความที่มีอยู่และเชิญชวนให้มุสลิมพูดให้ชัดตรงไปตรงมาและพินิจพิเคราะห์ให้ดีถึงสถานการณ์ของผู้หญิงทั้งในสังคมที่มุสลิมเป็นคนหมู่มากและสังคมมุสลิมในตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ให้เราโต้ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของตะวันตกโดยรับเอาทัศนคติชอบปกป้องตนเอง (หรือแก้ต่างไปด้วย) แต่เพื่อให้เราเดินมาถูกทางที่จะนำไปสู่ความซื่อสัตย์และความสอดคล้องเป็นแนวเดียวอันในการใช้สติปัญญา ข้าพเจ้าย้ำหลายต่อหลายครั้งว่า อิสลามไม่มีปัญหากับผู้หญิง แต่มุสลิมเองต่างหากที่ดูจะมีปัญหากับผู้หญิง แท้จริงแล้ว เหตุผลและวิธีการให้ความชอบธรรมที่น่าเคลือบแคลง ต่างๆ นาๆ ของกลุ่มมุสลิมที่มีปัญหากับผู้หญิง นั้นเราต้องค้นดูและตรวจสอบด้วยกันเอง 

 

กระบวนการก่อเกิดสังคมและระบบความเชื่อทุกแบบเป็นปรากฏการณ์ซ้อนทับอยู่เสมอ และมันนำไปสู่การตีความสิ่งต่างๆ แบบใดแบบหนึ่ง ผู้หญิงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกการตีความอัลกุรอานและอัลฮะดีษแบบเถรตรง  ไม่นำพาข้อเท็จจริงที่ว่าการเปิดเผยความจริงของพระผู้เป็นเจ้าอุบัติขึ้น ณ บริบทสังคมหนึ่งเท่านั้น และการส่งทอดพระวัจนะต่อๆ กันเป็นเวลาถึง 23 ปี ย่อมสร้างความโน้มเอียงอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคำสอนของพระเจ้า การอ่านพระคัมภีร์อย่างผิวเผินตามคำได้แยกอักษรออกจากบริบทของมัน จากพัฒนาการความคิดที่ซ่อนในตัวมัน ในจากเป้าประสงค์สากลที่มันต้องการบอกต่อโลก

 

การอ่านตามคำเป็น “การลดทอน” และบางครั้งกลับสนับสนุนการตีความที่ขัดแย้งอย่างชัดเจนกับใจความโดยรวมที่พัฒนามาอย่างแยบยล กับหลักปฏิบัติอันพึงปรารถนาซึ่งให้ไว้โดยมหาศาสดาแห่งอิสลาม เมื่อข้ามประเด็นความรุนแรงไปก่อน การตีความเชิงปฏิรูป (reformist interpretation) และ การตีความตามคำ (literalist interpretation) นั้นแตกต่างกันตั้งแต่แนวคิดเกี่ยวกับผู้หญิง อัตลักษณ์ของผู้หญิง และอำนาจเหนือตนเองของผู้หญิง การตีความตามคำดึงเอาบริบทแบบชายเป็นใหญ่ ณ เวลาหนึ่งเข้ามาเกี่ยวโดยไม่ทิ้งระยะห่างเพื่อใคร่ครวญ การมีอยู่และบทบาทของสตรีเพศจึงโยงใยอยู่กับความสัมพันธ์ต่อบุรุษเพศ ขณะที่นักอ่านเชิงปฏิรูปเอื้อมพ้นบริบททางวัฒนธรรมเพื่อสกัดเอาเป้าหมายในสาระสำคัญอันเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และสถานภาพของผู้หญิง ในฐานะมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีเหนือตนเอง

 

 

ในงานเขียนและการตีความคำสอนโดย ‘อุลามะฮ์’ (ผู้รู้) ยุคแรกๆ ตั้งแต่ ฎอบะรี ไปจนถึง อบู ฮามิด อัล-ฆอซาลี สังเกตเห็นได้ไม่ยากว่าเขาเหล่านั้นได้ “ทาบ” ความคิดของตนเองลงบนข้อความของพระคัมภีร์ บนแก่นสารและเป้าหมายของมันอย่างไม่รู้ตัวอยู่บ่อยครั้ง คณะนักตีความมุสลิมสมัยใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องตีความสองชั้น โดยข้อความจากพระคัมภีร์จะต้องอ่านร่วมกับบริบทในตัวมันเอง ในส่วนของคำอธิบายจากบรรดาผู้รู้จะต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเขาเหล่านั้น

 

การรื้อสร้างระบบคิดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันจะช่วยเปิดทางให้เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ปัจจัยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ฉาบอำพรางเนื้อหาที่แท้ วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มีผลอย่างมากต่อวาทกรรมเกี่ยวสตรีเสียจนธรรมเนียมปฏิบัติบางประการที่ไม่ใช่ “อิสลาม” กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ การขลิบในหมู่สตรี การคลุมถุงชน การลงโทษอย่างโหดร้าย เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ไม่ใช่อิสลามแม้จะมีนักวิชาการที่พยายามนำหลักฐานทางศาสนามาสนับสนุนมัน เป็นงานหนักที่หนทางยังอีกยาวไกล ต้องปลุกความตระหนักรู้ในหมู่มุสลิมและเพื่อนร่วมประชาชาติให้เห็นถึงความสับสนที่ส่งผลให้สารอันเที่ยงแท้ต้องถูกบิดเบือน 

 

มิติทางจิตวิทยาก็ไม่ควรถูกละเลยในการถกเถียงเกี่ยวกับสตรี ความสัมพันธ์(ระหว่างมุสลิม)กับโลกตะวันตกนั้นซับซ้อนนัก ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการล่าอาณานิคม ผู้หญิงเป็นประเด็นใหญ่ในการถกเรื่องการจัดสรรอำนาจระหว่างเพศ และ การโต้วาทะด้านวัฒนธรรมและความเชื่อศาสนา มันกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติชนิดหนึ่งในจิตใจของมุสลิมยุคใหม่ กล่าวคือ วาทกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงยิ่งอิงตามตะวันตกน้อย ยิ่งถูกมองว่ามีความเป็นอิสลาม ตรงกันข้าม หากจะให้ฟังดูเป็นอิสลามมาก มันต้องยิ่งเคร่งครัดจำกัดสิทธิ ยิ่งต่อต้านการให้เสรีในแบบยุโรปที่ถูกเชื่อว่ามีเป้าหมายทำลายศาสนาและศีลธรรม ทัศนคติเช่นนี้บ่อยครั้งทำให้นักคิดและนักวิชาการมุสลิมไม่ยอมวิพากษ์สังคมตนเองด้วยเหตุผลอันถ้วนถี่ด้วยหมายให้ชาวมุสลิมลงรอยกับสารและเป้าหมายที่แท้จริงของมัน ใช่ว่าเราควรจะซื่อใสไม่นำพากับการกุมอำนาจของตะวันตก สำคัญที่เราต้องกำจัดความกลัวและการกีดกันตนเองที่ทำให้ความคิดหยุดนิ่ง เพียงเพื่อจะรักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ เพียงเพื่อปฏิเสธอำนาจควบคุมของพวกเขา การปฏิเสธอำนาจ “ตะวันตก” โดยทรยศสาระสำคัญของศาสนาตนเป็นการกีดกันตนที่อันตรายเสียยิ่งกว่า เพราะในกระบวนการแข็งขืนนั้น ความสามารถในการใช้เหตุผล ความคำนึงเรื่องความสอดคล้อง และพลังสร้างสรรค์ของคนเราจะสูญหายไป กลับกลายเป็นว่าเราถูกนิยามด้วยคนอื่น ด้วยภาพลบที่เขาสะท้อน อิสรภาพต้องพ่ายให้กับกลไกจิต

 

สำคัญยิ่งที่เราจะต้องทำงานวิเคราะห์วิพากษ์เชิงลึก และส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าร่วมและได้รับการศึกษาทางศาสนาอันจะนำไปสู่การตีความเรื่องสตรีในแนวทางใหม่ ผู้หญิงจะต้องปรากฏตัวในวงประชุมตัดสินใจในชุมชนศาสนา ในองค์กรต่างๆ ในคณะกรรมการของมัสยิด ฯลฯ ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงทวงคืนที่ที่พวกตนควรอยู่ แต่ผู้หญิงเองก็ต้องร่วมมือกัน ทุกอย่างจะสูญเปล่าหากผู้หญิงยังคงมีระบบคิดแบบยอมตกเป็นเหยื่อ ทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่าเมื่อผู้หญิงได้เข้าเรียนในโรงเรียน ได้เรียนศาสนา หรือมีส่วนร่วมในระดับชุมชนและสังคม ผู้หญิงทำได้เหนือกว่าผู้ชาย บรรลุผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทุ่มเท รอบคอบ และเอาจริงเอาจังมากกว่า เราไม่อาจค้านหลักฐานข้อมูลและตัวเลข กระบวนการนี้จะต้องดำเนินต่อไป ประตูจะต้องเปิดกว้างเต็มที่ให้ผู้หญิงเข้าสู่ประชาสังคม สู่การจ้างงานที่ข้อกำหนดบางอย่างควรกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เช่น ทักษะและประสบการณ์เหมือนต้องได้เงินเดือนเท่ากัน และการกีดกันผู้หญิงในงาน (ด้วยเหตุผลเช่น เพราะเธอเด็กเกินไปและอาจมีลูก หรือ เพราะเธอแก่เกินไปไม่มี “ภาพ” ของความอ่อนเยาว์) จะต้องถูกแข็งขืนและต่อต้าน จะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เฟมินิสต์’ หรือไม่ก็ตาม สิทธิโดยชอบธรรมของสตรีจะเกิดขึ้นได้และจะต้องเกิดขึ้นจากภายในสังคมมุสลิมเรา

 

แหล่งที่มา  http://tariqramadan.tumblr.com/post/22467612688/the-issue-of-women