ทางนำ (อัล-ชารีอะฮ์)

ทางนำ (อัล-ชารีอะฮ์)

เรียบเรียงและแปล ปาตานีฟอรั่ม

 

ในโลกตะวันตก แนวคิดของกฎหมายชารีอะฮ์กระตุ้นภาพความมืดมนแห่งอิสลาม อย่างการกดขี่สตรีเพศ การลงโทษทางกาย การปาหินลงทัณฑ์ และอื่นๆ ภาพนั้นเข้มข้นเสียจนนักคิดชาวมุสลิมจำนวนมากไม่กล้าแม้แต่จะอ้างเอ่ยถึงแนวคิดหรือคำว่า ชารีอะฮ์ เพราะเกรงจะสร้างความแตกตื่นและสงสัยเคลือบแคลงในงานเพื่อศาสนาของตน

 

ภาพถ่ายโดย  อับดุลเล๊าะ หมัดอาด้ำ

ในความเป็นจริงทั้งนักกฎหมายและนักนิติศาสตร์ใช้ขอบเขตความหมายของชารีอะฮ์เพียงจำกัดอยู่ในขอบข่ายการศึกษาของตน นักปกครองเผด็จการใช้มันเพื่อกดขี่หรือเพื่อวัตถุประสงค์ที่เหี้ยมโหดอื่นๆ หัวใจของกฎหมายชารีอะฮ์จึงแทบจะเรียกได้ว่าถูกทรยศโดยมุสลิมเอง แต่ความเป็นจริงดังกล่าวก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคที่เราจะศึกษาต่อไปเกี่ยวกับความเชื่อแกนกลางนี้ในจักรวาลแห่งการอ้างอิงทางอิสลาม เพื่อทำความเข้าใจว่าชารีอะฮ์ยังคงเป็นรากฐานและขับเคลื่อนระบบนึกคิดของมุสลิมหลายชั่วอายุคนในลักษณะใด

หากว่า “การวางกฎเกณฑ์” เป็นความหมายหนึ่งในคำว่า ชารีอะฮ์  (ที่มาจากรากศัพท์ sha-ra-a) การแปลแค่ความหมายนั้น ย่อมไม่ครอบคลุมนัยยะที่ชารีอะฮ์เป็นที่เข้าใจทั่วไป หากไม่มีการอ้างถึงความหมายตามถ้อยคำที่กว้างและลึกกว่านั่นคือ “ทางนำไปสู่นำ” ร่วมด้วย  เราได้ชี้ให้เห็นแล้วถึงลักษณะการบัญญัติศัพท์ในอิสลามซึ่งอิงอย่างเป็นระบบอยู่บนคลังความคิดหนึ่ง คลังความคิดนี้เองเป็นเครื่องกำหนดแนวทางของมุสลิมในการพูดถึงพระจ้า การนิยามคำว่ามนุษย์ และความเข้าใจในความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งโดยอ้างอิงตามพระวัจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่เปิดเผยความจริงแห่งสรรพสิ่ง จะเห็นได้ว่าในจิตใต้สำนึกของมุสลิม

คลังความคิดดังกล่าวคือสูตรก่อเกิดของความเป็นสากลแห่งอิสลาม อันประกอบด้วยพระเจ้า ธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เป็นมนุษย์ได้ต้องหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตน โดยมีความต้องการพระผู้อภิบาล อีกสององค์ประกอบคือ เหตุผล ที่ขับเคลื่อนด้วยความถ่อมตน และพระวัจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่เปิดเผยความจริงแห่งสรรพสิ่ง ที่มายืนยัน แก้ไข และบังคับใช้อำนาจนำทาง

หากว่าชะฮาดะฮ์ตามความหมายทุกวันนี้คือการแสดงออกซึ่งศรัทธาของปัจเจกต่อพันธสัญญาของพระผู้อภิบาล ด้วยการยืนยันที่จะ “กลับไปสู่ผู้สร้าง” (กลับไปสู่ฟิตเราะฮ์ สู่ลมหายใจแรกที่เป่าเข้าสู่ร่างของเราโดยพระเจ้า) ชารีอะฮ์ ท้ายสุดแล้วย่อมเป็นการแสดงออกซึ่งศรัทธาทั้งแบบหมู่และแบบปัจเจกของหมู่มนุษย์ที่ (ในความตื่นรู้) พยายามเดินทางเข้าใกล้กับแหล่งกำเนิดอันประเสริฐนั่นคือพระผู้เป็นเจ้า พูดอีกอย่างได้ว่าชะฮาดะฮ์คือแนวคิดของการ “เป็นมุสลิม” ส่วนชารีอะฮ์บอกเราว่าจะ “เป็นและดำรงความเป็นมุสลิม” ได้อย่างไร

กล่าวอีกทางเพื่อขยายกรอบคิดของเราได้ว่า ชารีอะฮ์ไม่เพียงแต่เผยถึงชุดหลักการสากลของอิสลาม แต่ยังวางกรอบและระบบคิดที่ทำให้ชุดหลักการเหล่านั้นถือเป็นสิ่งจริงแท้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ จะไม่มีคำว่า ชารีอะฮ์ หากไร้ซึ่งคลังหลักการพื้นฐานที่กำกับให้มนุษย์มุ่งที่ความศรัทธาต่อเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าเหนือความผันเปลี่ยนของการเวลา คลังหลักการที่มุสลิมยึดถือเป็นความจริงมูลฐานในจักรวาลแห่งการอ้างอิงของอิสลามนี้เอง (ท่ามกลางยุคโลกหลังสมัยใหม่) เป็นสิ่งยืนยันว่าสรรพสิ่งมิได้เป็นเรื่องของปัจเจก แต่ความเป็นสากลมีอยู่จริง เพราะมีพระเจ้า และพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นผู้เปิดเผยชุดหลักการที่ไร้กาลเวลา ที่หาได้กีดกันการใช้เหตุผลอย่างตื่นตัวและสร้างสรรค์ แต่ได้คุ้มกันเหตุผลจากความชะงักชันในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและไม่เกี่ยวเนื่องในกรอบคิดที่ว่าสรรพสิ่งแท้จริงล้วนเป็นเรื่องปัจเจก

ในการพยายามชักชวนมุสลิมให้ยอมรับแนวคิดพหุนิยมโดยใช้เพียงวิธีการของเหตุผล ให้มุสลิมแสดงศรัทธาเพียงในแบบปัจเจกเฉพาะตน หรือให้นิยามตนเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย บ้างเห็นว่าจะต้องกำจัดทรรศนะสากลแบบอิสลามที่อันตราย ที่สำหรับมุสลิมมีอิทธิพลครอบคลุมเบ็ดเสร็จอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสีย นี่ไม่ใช่หรือเสียงเพรียกที่ผลักดันให้โลกตะวันตกบังคับให้มุสลิมยืนยัน “ศรัทธา” ด้วยเหตุและผลตามแต่ใจตน

หากจะพิสูจน์ความใจกว้างและการสนับสนุน “คุณค่าสากลของโลกตะวันตก” อย่างหนักแน่น นี่ไม่ใช่หรือเหตุที่ทุกวันนี้ตะวันตกพยายามแก้ต่างให้ลัทธิซูฟีย์ที่มุ่งเน้นทางในเสียจนไร้ซึ่งรูปฟอร์ม แทบมิอาจจับต้อง ให้ฉากหน้าผิวเผินที่หาได้เกี่ยวโยงชัดเจนกับอิสลาม และเช่นเคย นี่ไม่ใช่หรือเหตุแห่งการกล่าวโทษและกดดันไม่หยุดหย่อนให้มุสลิมยอมรับและตั้งรับตามวิถีจำกัดจำเขี่ยของชนกลุ่มน้อย ใส่ใจแค่สิทธิเดียวที่ตนมี (คือการมีชีวิตอยู่) และระลึกรู้ถึงความแปลกแยกแตกต่างของตน ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ราวกับว่าการจะกำจัดความเป็นสากลแห่งอิสลามที่ “มีเจตจำนงแผ่ขยายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้” อิสลามจะต้องถูกปฏิเสธหรือมิเช่นนั้นมุสลิมจะต้องยอมรับกระบวนทัศน์แยกโลกเป็นปัจเจกที่ตะวันตกพยายามยัดเยียดแบบยกโหล

นักคิดมุสลิมบางส่วนได้ยอมรับกฎแห่งเกมที่ถูกยัดเยียดให้เหล่านั้น หลายคนต่อต้านมัน บ้างเลือกที่จะต่อต้านโลกตะวันตกและผลผลิตทุกอย่างที่เกี่ยวข้องไปเสียเลย เพราะเป็นโลกที่หลงลืมพระเจ้า ดึงเอาบรรดาสิ่งที่ท้าทายพระอำนาจ (ถ้าไม่ถึงกับ “ชั่วร้าย”) มาแทนที่ กระนั้นระหว่างสองโลกที่สุดขั้ว ผมเองเชื่อว่ายังมีหนทางที่เกมการประชันความคิดจะเปลี่ยนโฉมไป

หากว่าเรื่องใหญ่สำหรับมุสลิมคือการต่อต้านกระบวนการคิดไม่ซื่อในการเปลี่ยนชุดคุณค่าสากลแห่งอิสลามให้เป็นเหตุและผลของปัจเจกละก็ มุสลิมมีภาระหน้าที่จะต้องอธิบายให้ชัดว่า ชุดคุณค่าแห่งอิสลามนั้นได้เคารพความหลากหลายและความเป็นปัจเจกในลักษณะใด หากหนทางสู่ศรัทธาที่เรียกว่า ชารีอะฮ์ เป็นคลังอ้างอิงที่มีประเด็นความเป็นสากลของอิสลามเขียนอยู่ด้วย เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่มุสลิมต้องอธิบายต่อโลกว่า ชารีอะฮ์ ถูกประกอบขึ้นด้วยโครงสร้างเช่นไร และมันได้พูดถึงความจริงแท้ เหตุผล เชื่อมโยงกับการเวลา พัฒนาการ และมนุษย์กลุ่มอื่นๆ พูดอย่างกว้าง คือความแตกต่างหลากหลายอย่างไร

ในมุมที่ลึกกว่านั้น องค์ความรู้ที่จะเข้ามาช่วยรองรับการปฏิเสธกระบวนการทำให้เป็นปัจเจก และช่วยสื่อสารหลักการพื้นฐานของอิสลาม ณ ใจกลางของโลกตะวันตก จะเป็นเครื่องแสดงความเชื่อมันว่านี่คือหนทางที่ถูกต้องหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่การถกเถียงอย่างแท้จริงระหว่างนานาอารยธรรม ซึ่งสำคัญกว่าครั้งไหนๆ

โลกาภิวัตน์ที่อยู่ตรงหน้าเรานำมาซึ่งความกริ่งเกรงที่ว่าโลกตะวันตก (กับกระบวนการทำให้เป็นตะวันตกที่มองไม่เห็นทั่วโลก) จะวุ่นวายอยู่กับการร่วมปาถกฐาทั้งแบบ “มีสคริป” และ “กึ่งด้นสด” ที่นานาอารยธรรมแตกต่างเพียงแค่ชื่อ แต่สูญเสียซึ่งเอกลักษณ์และหรือไม่ก็แปลกแยกจากกันเสียจนสมาชิกแห่งอารยธรรมเหล่านั้น (โดยเรียนรู้จากบทเรียนทั้งดีร้าย) ถูกบีบบังคับให้เหลือเพียงความอยู่รอดปลอดภัยเป็นประเด็นถกเถียง หาใช่เรื่องของความรุ่มรวยในความแตกต่าง ประชาชาติมุสลิมมีหนทางที่จะเข้าสู่วงถกเถียงด้วยแต้มต่อที่เท่าเทียม และควรจะทำ เราต้องเสาะหากลุ่มคนที่พร้อมจะขึ้นสู่เวทีการเผชิญหน้าทางความคิดและอุดมคติที่ทั้งสำคัญ ทั้งจุดประกายปัญญา และควรค่ายิ่งนี้

แหล่งที่มา http://tariqramadan.com/english/2016/01/05/the-way-al-sharia/