ก้าวข้ามรายงานข่าวปรากฏการณ์:ความท้าทายสื่อทางเลือกชายแดนใต้

โครงสร้างของอุตสาหกรรมสื่อมวลชนในราชอาณาจักรไทยถูกควบคุมด้วยผลประโยชน์จากภาครัฐและเอกชนไม่ว่าด้วยผลกำไรทางทุนทรัพย์หรืออุดมการณ์กำกับแนวทางของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสังเกตได้จากข่าวเกี่ยวกับปัญหาของชาวบ้านรากหญ้าไม่ค่อยถูกนำเสนอนักในสื่อกระแสหลัก ทั้งสื่อของรัฐและสื่อธุรกิจเอกชน

Antonio Gramsci(1891-1937) นักทฤษฎีการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสายมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลี่ยนมองว่า สื่อมวลชน เป็นเครื่องมือสร้างอำนาจนำมุ่งครอบงำโดยสมัครใจ (hegemony) สร้างความเห็นร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่ให้คล้อยตามและเชื่อว่าการปกครองของชนชั้นสูงนั้นชอบธรรมโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงบังคับผ่านสื่อกระแสหลัก ทว่าเกิดแนวคิดต่อต้านการครอบงำโดยสมัครใจ (counter-hegemony)ในสื่อทางเลือก (Alternative media)ที่ไม่ใช่ของรัฐและธุรกิจเอกชน[1]

ในขณะที่ Graham Spencer นักวิชาการด้านสื่อมวลชนศึกษา มหาวิทยาลัยพอร์ธมัธแห่งสหราชอาณาจักร ผู้เขียนหนังสือ The Media and Peace: From Vietnam to the 'War on Terror พบปัญหาในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในพื้นที่ความขัดแย้ง คือรายงานข่าวไม่รอบด้าน และส่งผลทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ข่าวมุ่งรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำและผู้มีอำนาจ รายงานข่าวด้วยอคติ ทำให้การแสวงหาข้อมูลร่วมกันทำได้ยาก และทำให้เกิดความเข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นมีเพียงคน 2 กลุ่มเท่านั้น

“การรายงานข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งควรมุ่งเน้นไปที่การให้ความหมายของสันติภาพมากกว่าสงครามสิ่งสำคัญที่นักข่าวสันติภาพพึงจะทดลองทำก็คือ การนำเอาตัวแสดงอื่นๆ เข้ามาในการรายงานข่าว เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งจะทำให้ภาพของปัญหามีความลุ่มลึกมากกว่าเป็นเพียงแค่ความขัดแย้งสองขั้วแบบหยาบๆ การทำเช่นนี้จะนำไปสู่การก้าวข้ามการมองว่าใครกำลังได้เปรียบ ใครกำลังเสียเปรียบ ไปสู่การพิจารณาเรื่องราวว่าเป็นการพูดคุยเจรจาเพื่อหาจุดสมดุลซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง” Graham Spencer ระบุ[2]

สื่อทางเลือก (Alternative media) สื่อภาคพลเมือง (Citizen’s media) หรือสื่อภาคประชาชน (People’s media) อันหมายถึง สื่อมวลชนที่ไม่ใช่ของรัฐและธุรกิจเอกชน ในบริบทชายแดนใต้เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอข่าวจากมุมมองที่สื่อหลักไม่ค่อยนำเสนอ หลังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้นในปี 2548 ที่บ้านพักรับรองของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) โดยสำนักข่าวหลักส่วนกลางส่งนักข่าวร่วมทำข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ปะทุขึ้นรอบใหม่ในปี 2547 ร่วมกับนักข่าวท้องถิ่น และนักศึกษาฝึกงาน

ปลายปี 2549 มอ.ปัตตานีร่วมกับศูนย์ข่าวอิศราจัดตั้งโครงการศึกษาข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ขึ้น แล้วโครงการดังกล่าวก็พัฒนาเป็น ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DeepSouthWatch)’  ขณะที่สื่อทางเลือกอื่นๆ ในชายแดนใต้ก็ถือกำเนิดขึ้นอาทิ สำนักข่าวอามานนิวส์,สถานีวิทยุ MEDIA SELATAN ,สำนักข่าวบุหงารายา,กลุ่ม Southern Peace Media,กลุ่ม InSouth,กลุ่มสันกาลาคีรีฯลฯ

กระทั่งปลายปี 2553 มอ.ปัตตานี ร่วมกับอินเตอร์นิวส์ (องค์กรพัฒนาคุณภาพสื่อและผู้ผลิตสื่อ) ตั้งศูนย์ฝึกอบรมผู้ผลิตสื่อ (Media Training Centre: MTC) อบรมสื่อทางเลือกในชายแดนใต้ ผู้ร่วมเข้าร่วมอบรมส่วนหนึ่งพัฒนาการเป็น ‘โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalism School)’ เป็นปีกหนึ่งของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  ตามด้วยสำนักสื่อ WARTANI ในปี 2556 รวมถึงสำนักและองค์กรอื่นๆ

ทว่าไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่า คนทำสื่อทางเลือกในชายแดนใต้ส่วนใหญ่หาได้มีใครจบสายตรงจากวารสารศาสตร์เลย จากการระดมความคิดและถอดบทเรียนร่วมกันของสื่อทางเลือกชายแดนใต้โดยการอำนวยการของ‘PATANI FORUM’ ยังพบจุดอ่อนที่จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพอีกหลายด้าน

เช่น สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและเพิ่มพูนทักษะการทำงานของสื่อทางเลือก  รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสื่อกระแสหลัก สื่อส่วนกลาง และสื่อทางเลือกในภูมิภาคอื่นๆ ควรพัฒนาทักษะและความเฉียบคมในการทำงานทั้งในเชิงกระบวนการและเชิงประเด็น และควรตระหนักว่าสื่อมีบทบาทต่อการหนุนเสริมสันติภาพและการสื่อสารข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนควรเป็นผู้นำในเชิงประเด็นและสร้างเนื้อหาข่าวที่น่าสนใจน่าดึงดูดใจ อีกทั้งควรตระหนักถึงข้อได้เปรียบและจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของคนในระดับปฏิบัติการ และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาค

เมื่อ‘PATANI FORUM’ มีโอกาสจากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI)‘PATANI FORUM’  จึงดำเนิน‘โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรสื่อภาคพลเมืองเพื่อการสื่อสารสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’หวังมุ่งสร้างพื้นที่ความร่วมมือระหว่างสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ด้วยกันเอง เพื่อนำเสนอข่าวสาร พัฒนาศักยภาพ สร้างความร่วมมือ เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างจุดเริ่มต้นความร่วมมือของคนทำงานสื่อภาคพลเมืองที่มีทิศทางในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2558  ณ ห้องประชุมสำนักงานสถานีวิทยุ MEDIA SELATAN บริเวณถนนยะรัง ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี การประชุมเครือข่ายสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ใน‘โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรสื่อภาคพลเมืองเพื่อการสื่อสารสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’ครั้งแรกจึงเกิดขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 10คน จากPATANI FORUM,โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้,สำนักสื่อ WARTANI,สถานีวิทยุ MEDIA SELATAN,กลุ่ม AWAN BOOK และกลุ่มSAIBURI LOOKER

‘ปรัชญา โต๊ะอิแต’ ผู้จัดการ PATANI FORUM และหัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการฯ ว่าเพื่อส่งเสริมศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะการทำงานตลอดจนเสริมองค์ความรู้ในการสื่อสารสาธารณะของสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมการปฏิบัติงานของสื่อภาคพลเมืองในการวิเคราะห์และพัฒนาประเด็นการทำข่าว และพัฒนาความสัมพันธ์ของสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้

ปรัชญา ยังชวนสื่อทางเลือกที่มาร่วมประชุมวิเคราะห์การทำงานและประเด็นที่แต่ละองค์กรยังขาดและต้องการพัฒนาศักยภาพ เพื่อที่จะร่วมกันออกแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ (WORKSHOP)การวิเคราะห์ฐานคิดสำหรับคนทำงานด้านสื่อ และการวิเคราะห์ประเด็นทำข่าวสันติภาพ3 ครั้ง

จากการที่สื่อทางเลือกชายแดนใต้ ร่วมกันพบว่า 11 ปีกับสถานการณ์ชายแดนใต้ประเด็นข่าวที่ส่วนกลางทำยังย่ำกับที่คือความรุนแรงส่วนสื่อทางเลือกเองชายแดนใต้เองรายงานแค่เชิงปรากฏการณ์  รายงานสถานการณ์สารคดีข่าวที่ทำส่วนใหญ่มักเน้นสวยงามและเพ้อฝันนำเสนอแบบฉาบฉวยไม่ได้ลงลึกและวิเคราะห์ลงไปในระดับรากเหง้า ข่าวสืบสวนสอบสวนในเชิงวิเคราะห์ยังไม่ปรากฏมากนัก

รวมถึงสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบัน พบว่ามีความเป็นเผด็จการค่อนข้างสูง รัฐบาลที่นำโดยทหารมีอำนาจในการจัดการทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ กระบวนการที่จะนำไปสู่สันติภาพในระยะ 2 ปี นั้นมีความเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในชายแดนใต้ไม่มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่นำโดยทหาร

“อาจต้องใช้เวลา 10 ปี สถานการณ์ชายแดนใต้ถึงเดินไปสู่จุดที่ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมคนให้พร้อมโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะเข้ามาทำงานสันติภาพในอนาคต โดยสื่อจะต้องทำงานเชิงองค์ความรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม” วงประชุมสื่อวันนั้นสรุปร่วมกัน

จึงดูเหมือนว่าสื่อทางเลือกชายแดนใต้เจอกับความท้าทายหลายอย่างทั้งการถูกมองและตั้งคำถามจากภาครัฐว่าเป็นปากเป็นเสียงเข้าข้างขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีรวมถึงความท้าทายศักยภาพของตัวเองในการก้าวข้ามการรายงานข่าวปรากฏการณ์รายงานสถานการณ์ สู่การนำเสนอข่าวแบบสืบสวนสอบสวน แหลมคม และรอบด้าน

 

อ้างอิง

[1]พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์.(2547),รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “สื่อภาคประชาชน”(โครงการ “การปฏิรูประบบสื่อ: การกำกับดูแลเนื้อหาโดยรัฐ การกำกับดูแลตนเอง และสื่อภาคประชาชน”),สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.).

[2]สมัชชา นิลปัทม์และรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช.(2556), วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้2556 Media Discourse on Peace Process in Southern Thailand 2013,กลุ่มมีเดียอินไซต์เอ้าท์ โครงการสะพานโดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา.