เจาะกระแสแฟชั่นมุสลิมที่กำลังมาแรง

เจาะกระแสแฟชั่นมุสลิมที่กำลังมาแรง

แปลและเรียบเรียงปาตานีฟอรั่ม

ผู้บริโภคมุสลิมใช้จ่ายไปกับเสื้อผ้าคิดเป็นเงิน 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่ามูลค่าตลาดเสื้อผ้าในสหราชอาณาจักร เยอรมัน และอินเดียรวมกัน [ภาพโดย โยเรย์ ลิเบอร์แมน จาก Getty Images]

 

อนาส ซิลวูด เดินทางจากสหราชอาณาจักร ไปยังจอร์แดนเพื่อเรียนภาษาอาหรับเมื่อปี 2000 หนุ่มวัย 20 กว่าปีผู้นี้ตั้งใจจะอยู่ที่จอร์แดนเพียงไม่กี่เดือน แต่ช่วงเวลาไม่นานเขากลับพบว่าอัมมานคือเมืองที่เขาอยากใช้ชีวิต อนาสเรียนภาษาอาหรับ เข้ารับอิสลาม และปักหลักอยู่ที่นั่น

 

“ทุกครั้งที่ผมกลับไปอังกฤษ ผมจะเจอปัญหาเดิมๆ” เขากล่าว “ผู้คนชอบมองผมด้วยสายตาขบขันเพราะเสื้อผ้าที่ผมสวมใส่ มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเหตุนี้ผมจึงตระหนักว่าจะต้องมีมุสลิมอีกมากมายที่ต้องการเสื้อผ้าที่ตัดเย็บและดีไซน์ที่ดีกว่านี้”

 

ความหยั่งรู้ของอนาสถูกแปลงเป็นธุรกิจอย่างรวดเร็ว ในปี 2002 เขาเปิดตัว Shukr เว็บไซต์ e-commerce ด้านแฟชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของมุสลิมในยุโรปที่อยากสวมใส่เสื้อผ้าตามวิถีทางของอิสลามแต่ก็ใส่ใจในสไตล์ด้วย

ธุรกิจประสบความสำเร็จ ยอดขายพุ่งสูง บริษัทของเขาขยายไปสู่ตลาดทั้งในสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

ย้อนไปในวันนั้น อนาสคือผู้บุกเบิกตลาดที่แทบไม่มีใครจับต้องมาก่อน

 

แต่ในวันนี้ ตามรายงานชื่อ State of the Global Islamic Economy Report ประจำปี 2015-2016 ผู้บริโภคมุสลิมจับจ่ายเสื้อผ้าเป็นมูลค่าถึง 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดการณ์กันว่าตัวเลขจะโตไปอยู่ที่ 327,000 แสนล้านเหรียญในปี 2019 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดเสื้อผ้าในปัจจุบันของสหราชอาณาจักร (107,000 ล้านเหรียญ) เยอรมัน (99,000 ล้านเหรียญ) และอินเดีย (96,000 ล้านเหรียญ) รวมกันเสียอีก

 

ธุรกิจแฟชั่นเพื่อมุสลิม

 

อย่างไรก็ตาม “การซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภคมุสลิมทั้งหมดไม่ได้หมายถึงแฟชั่นมุสลิมเสียทีเดียว” ราฟี-อัดดิน ชิโคห์ ซึ่งอยู่ในทีมสำรวจดังกล่าวชี้แจง “แต่ก็มีปัจจัยผลักดันมากมายที่ชี้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสไตล์ปกปิดรัดกุมกำลังจะเติบโต มีมูลค่าสูงตามตัวเลขที่คาดการณ์”

 

ปัจจัยผลักดันแรก คือ “ความสำคัญของศาสนา” ต่อชีวิตผู้คน ต่างจากในยุโรปที่คนเพียงหนึ่งในสามตอบว่าศาสนาสำคัญต่อชีวิต และในอเมริกาที่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรเห็นเช่นนั้น ในบรรดาประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ร้อยละ 88 ของประชากรระบุว่าศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ

 

ปัจจัยที่สอง คือ ปัจจัยด้านประชากร ประชากรในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมีอายุเฉลี่ยที่ราวๆ 30 ปี ในขณะที่ในยุโรปและอเมริกาอยู่ที่ 44 ปี

 

ปัจจัยนี้สำคัญเนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยเติบโตอย่างสูงในแต่ละปี 

 

แรงขับเคลื่อนที่สาม คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของกลุ่มประเทศที่มุสลิมเป็นประชากรหลักนั้นคาดว่าจะเติบโตที่ราวๆ 5.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เทียบกับในยุโรปและอเมริกาที่คาดว่าตัวเลขการเติบโตจะอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

ปัจจัยสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือการคาดการณ์ที่ว่าคนมุสลิมจะมีจำนวนถึงร้อยละ 29 ของประชากรโลกในปี 2030

 

"หลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อนๆ ของฉันถอดฮิญาบออก…ฉันไม่อยากทำเช่นนั้น และเพราะฉันมีพื้นเพด้านแฟชั่น ฉันจึงตัดสินใจออกแบบฮิญาบและเสื้อผ้าในสไตล์ของตัวเอง" (ราเบีย ซี, แฟชั่นดีไซเนอร์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

 

ยังมีตัวเลขอื่นๆ ที่ไม่อาจมองข้าม แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนัก นั่นคือตัวเลขของเหล่าสาวกแฟชั่น นักลงทุน และดีไซเนอร์ที่กรูกันเข้าหาโอกาสในอุตสาหกรรมแฟชั่นแนวมุสลิมที่กำลังเติบโตแบบวันต่อวัน

 

หนึ่งในธุรกิจที่คว้าโอกาสได้อยู่หมัดคือ Modanisa.com ของตุรกี ซึ่งเป็นเว็บช็อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งในตลาดแฟชั่นมุสลิมในปัจจุบัน

 

เว็บไซต์ Modanisa ก่อตั้งโดย เคริม ทัวเร ใน 2012 เป็นแหล่งค้าปลีกเสื้อผ้าแบบฉบับอิสลามสู่ตลาด 60 ประเทศ เป็นแหล่งรวมสินค้าแฟชั่นเพื่อมุสลิมกว่า 200 แบรนด์ ที่ผู้บริโภคสามารถคลิกเข้าไปชม มองหาสิ่งที่ตนต้องการ จากนั้นสั่งซื้อ และรอสินค้าจัดส่งถึงประตูบ้าน 

 

 “ผมยังจำได้ถึงตอนที่ได้ค้นพบว่ามีความต้องการมากมายขนาดไหน” ทัวเร เล่า “ผมไปทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ข้างๆ  ผมเห็นผู้หญิงอายุ 20 กว่าๆ กับแม่ของเธอซึ่งแต่งตัวเหมือนกันเปี๊ยบนั่งอยู่ ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะไม่ต้องการสิ่งที่แตกต่างกันเพื่อสะท้อนสไตล์ของตนเอง”

จากจุดนั้น ธุรกิจของเขาได้รับทุนหนุนหลังจำนวนห้าล้านดอลลาร์สหรัฐจากกองทุนร่วมลงทุน STC ventures ของซาอุดิอาระเบีย ทัวเรได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทั้งนักลงทุนและดีไซเนอร์มากมายในแวดวงแฟชั่นมุสลิมที่หมายมั่นจะเจาะเข้าสู่ตลาดใหม่แห่งนี้เพื่อสร้างชื่อให้แก่ตนเอง

 

เหล่าดีไซเนอร์


ราเบีย ซี  ดีไซเนอร์แฟชั่นมุสลิมแนวหน้าซึ่งมีฐานการทำงานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาจถือได้ว่าเป็นศิลปินแฟชั่นซึ่งเป็นที่รู้จักสูงสุดแล้วในโลกอาหรับ “ฉันเริ่มออกแบบแฟชั่นที่รัดกุมเรียบร้อยเมื่อปี 2001” เธอกล่าว

 

 “ก่อนหน้านี้ฉันเคยอาศัยอยู่ในอเมริกา หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 เพื่อนของฉันหลายคนถอดฮิญาบออกเพราะเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์นั้น ฉันไม่อยากทำเช่นนั้น และเพราะฉันมาจากพื้นเพที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น ฉันจึงตัดสินใจออกแบบฮิญาบและเสื้อผ้าในสไตล์ของตัวเอง ผู้คนชอบมัน ฉันจึงตัดสินใจนำผลงานของตัวเองขึ้นโพสต์ออนไลน์”

 

 “มีลูกค้าสั่งซื้อไม่ได้หยุดตั้งแต่นั้นมา และต้องยอมรับว่าฉันเองไม่อยากจะเชื่อเลยว่าไม่มีใครผลิตเสื้อผ้าให้กับผู้หญิงมุสลิมเป็นหลายล้านคน”

 

เนสลิฮาน เซวิค ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการแปรเปลี่ยนของบทบาทสตรีมุสลิมในโลกอิสลาม และเป็นผู้ก่อตั้งแฟชั่นแบรนด์ M-Line พยายามชี้ให้เห็นว่าภาพของผู้หญิงมุสลิมที่โลกรับรู้มักจะเป็นภาพของผู้หญิงในชุดทึมๆ ดูหมองหม่น ที่ไม่อาจเลือกอะไรด้วยตนเอง แต่ตอนนี้ ดูจากความต้องการของตลาดแล้ว ความจริงย่อมเป็นความจริง

 

 “ภายในกรอบมาตรฐานของความรัดกุมเรียบร้อย ผู้หญิงมุสลิมมีความต้องการนับร้อยพันที่แตกต่างกัน” เธอกล่าว “มันสำคัญเช่นกันที่จะชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของสิ่งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้หญิงในโลกมุสลิมเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ มีงานทำ และมีชีวิตนอกบ้านมากขึ้น”

 

การใส่ใจในบุคลิกภาพและความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าเป็นปัจจัยที่ทำให้ ดิลยารา ซาดรีวา นักลงทุนและดีไซเนอร์ชาวมุสลิมสัญชาติรัสเซียประสบความสำเร็จอย่าสูงกับแบรนด์ Bella Kareema ของเธอ

 

“ฉันเริ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแบบอิสลามเป็นงานอดิเรก เพราะฉันอยากได้เองน่ะค่ะ” เธอกล่าว “เสื้อผ้าฮาลาลส่วนใหญ่ที่มีขายในรัสเซียนำเข้าจากตุรกีหรือไม่ก็ตะวันออกกลาง แต่มันไม่เหมาะกับสภาพอากาศและรสนิยมของเรา ฉันเลยตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง”

 

สองปีถัดมา แบรนด์ Bella Kareema มีสินค้าออกจำหน่ายหลายร้อยรายการในแต่ละปี เข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ทั้งในลอนดอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี “เคล็ดลับของฉันคิดว่าคือความงามสง่า ที่ผสานเอาวัฒนธรรมและประเพณีเข้ากับความต้องการจำเพาะของบุคคล และตอนนี้ฉันมีความช่ำชอง ลูกค้าของฉันครึ่งหนึ่งเป็นสาวๆ ที่ไม่ใช่มุสลิมแต่ชอบในสไตล์และมองหาเดรสที่ไม่ดูฉูดฉาด”

 

มิได้มีเพียงนักลงทุนและดีไซเนอร์ท้องถิ่นเท่านั้นที่กระโดดเข้าสู่วิถีแฟชั่นที่สำรวมเรียบร้อย แฟชั่นแบรนด์ระดับโลกอย่าง    ก็ได้ออกคอเลคชั่นเอาใจตลาดมุสลิมเช่นกัน อย่างเช่น D&G ที่เพิ่งจะเปิดตัวคอเลคชั่นชุดยาวและผ้าคลุมผมสำหรับสาวมุสลิม สร้างความฮือฮาไม่น้อยในโลกแฟชั่นลักเชอรี่และยังช่วยนำร่องให้กับแฟชั่นเฮาส์รายอื่นๆ ที่คิดจะเดินตามรอย

นักลงทุนชาวอีตาลี เปาโล คอสตันโซ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท  

 

กำลังจะเปิดตัวเว็บไซต์แฟชั่นลักเชอรี่ที่รองรับความต้องการของผู้บริโภคมุสลิมกลุ่มไฮเอนด์

 

“เราได้ทำข้อตกลงร่วมกับผู้ผลิตรายย่อยในอิตาลีจำนวนมากที่สามารถป้อนสินค้าคุณภาพเยี่ยมให้กับเราได้” คอสตันโซ กล่าว “เรายังทำงานร่วมกับทีมดีไซเนอร์และบล็อกเกอร์ในประเทศเพื่อที่จะเข้าใจตลาดอย่างแท้จริง นานเหลือเกินแล้วที่ผู้บริโภคมุสลิมถูกปฏิบัติเหมือนเป็นของตาย ไม่สามารถที่จะเลือก แต่ตอนนี้พวกเขาตื่นตัวกว่าครั้งไหนๆ และเราจะต้องใส่ใจกับความต้องการอย่างเฉพาะเจาะจงของพวกเขาถ้าเราไม่อยากตกเทรนด์”

 

ราเบีย ซี เห็นด้วยกับความคิดนี้ “ฉันดีใจที่ได้เห็นแฟชั่นแบรนด์ต่างชาติเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นที่สำรวมเรียบร้อย” เธอบอก “มันหมายถึงผู้บริโภคจะได้มีตัวเลือกมากขึ้น แต่ฉันก็อยากให้บรรดาแบรนด์ดังไม่มองตลาดนี้เป็นเพียงโอกาสในการทำเงินเท่านั้น ฉันใส่จิตวิญญาณลงในงาน มันเป็นหนทางหนึ่งที่จะให้อำนาจแก่ผู้หญิงมุสลิมและให้ทางเลือกแก่พวกเธอ ช่วยให้พวกเธอได้สื่อสารตัวตนของตนเอง และมันควรจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป”

 

แหล่งที่มา http://www.aljazeera.com/indepth/features/2016/01/booming-muslim-fashion-industry-160124132747636.html