‘Islamophobia’ โรคร้ายที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา ?

Islamophobia’ โรคร้ายที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา ?

แปลและเรียบเรียงโดยปาตานีฟอรั่ม

 

รูปภาพ : www.todayszaman.com

เหตุการณ์สะเทือนขวัญในกรุงปารีส ตามมาติดๆ ด้วยเหตุกราดยิงในเมืองซานเบอร์นาร์ดิโน่ของสหรัฐฯ ที่ถูกประโคมเป็นข่าวพาดหัวช่วงใกล้ปีใหม่ได้ดึงดูดทุกความสนใจทั้งสื่อมวลชน นักการเมือง ไปจนถึงผู้นำศาสนาทั่วโลก ทำเอาผู้นำรัฐบาลในยุโรปบางประเทศต้องลุกขึ้นมาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายอีกครา บรรดานักวิจารณ์การเมืองบางส่วนถึงกับกริ่งเกรงว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามเลยทีเดียว

ในสหรัฐอเมริกา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคกรีพับลิกันหลายคน และผู้ว่าการรัฐอีกสามสิบกว่าราย เรียกร้องประเทศยุติการอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย ข้อเรียกร้องดังกล่าวดูจะยังไม่สาแก่ใจสำหรับตัวเก็งที่นั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ ที่เสนอว่าน่าจะระงับการย้ายถิ่นฐานเข้าสหรัฐฯ ของชาวมุสลิมต่างชาติไปเลยชั่วคราว ทั้งยังให้เฝ้าระวังหรือแม้กระทั่งสั่งปิดมัสยิดทั่วประเทศไปเสียเลย น่าสนใจที่ผลสำรวจความนิยมในตัวเขากลับพุ่งพรวดขึ้น อีกหนึ่งผู้สมัคร เบน คาร์สัน ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันประกาศกร้าวว่า “ถ้ามุสลิมจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาละก็…คุณต้องละทิ้งความเชื่อแบบอิสลามเสีย” ทางฝั่งยุโรปผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายขวาจัดกำลังทำแต้มยอดเยี่ยมในเกมการเมือง อย่าง มารีน เลอ แปง จากพรรค Front National ของฝรั่งเศสที่ได้คะแนนเสียงไปท่วมท้นเกือบ 30% ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งแม้ว่าพรรคของเธอจะมิได้ชนะคะแนนในทุกแค้วน แต่ปรากฏการณ์นี้ว่ากันว่ากรุยทางให้เธอได้กลายเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่นั่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในอนาคตอันใกล้

ในภาพรวมความเกลียดกลัวศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมโดยไม่จำกัดแค่กลุ่มสุดโต่งหรือกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติในวัฒนธรรมกระแสหลักทั้งในอเมริกาและยุโรป วาทะต่อต้านอิสลามและมุสลิม ความลำเอียง การเลือกปฏิบัติ และอาชญากรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังที่เรียกรวมๆ ว่า ‘Islamophobia' กำลังแพร่ระบาดหนัก คำว่าอิสลาม มุสลิม และคนมุสลิมเกือบทั้งหมดกำลังถูกป้ายสีและนิยามโดยภาพกลุ่มติดอาวุธสุดโต่งและเหตุก่อการร้ายของมุสลิมแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ในโลก จนต่างลืมไปว่ามีมุสลิมมากมายเพียงใดที่ตกเป็นเหยื่อก่อการร้ายเช่นกัน การเหมารวมแน่นอนได้นำมาซึ่งการแพร่ระบาดของโรคเกลียดกลัวอิสลาม และนโยบายต่างๆ ที่ลิดรอนเสรีภาพพลเมืองของชาวมุสลิม แต่ความเกลียดกลัวนั้นแท้จริงมาจากตัวการใดบ้าง

จริงหรือที่ศาสนาอิสลามคือสาเหตุและตัวเร่งปฏิกิริยาของการก่อการร้าย ?

มีผลโพลจากหลายสำนักดังชี้ว่าศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญต่ออัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศมุสลิมและชุมชนมุสลิมทั่วโลก ดังนั้นศาสนาจึงเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมสำหรับกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งที่จะใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่พวกตน และใช้ปลุกระดมมวลชนมุสลิม แต่แท้จริงแล้วตัวเร่งปฏิกิริยาหลักของความสุดโต่งและการก่อการร้ายคือความคับแค้นในทางการเมือง ที่มักจะมีการใช้หรือบิดเบือนหลักศาสนามารองรับต่างหาก

แกนนำก่อการร้ายอย่าง โอซามา บิน ลาเดน และอีกหลายรายมักจะชูประเด็นความคับแค้นเรื้อรังทางการเมืองในประชาคมมุสลิมทั่วโลก ทั้งในชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่ที่ไม่ใฝ่ความรุนแรงและพวกสุดโต่ง อย่างประเด็นของอิทธิพล การรุกราน และการยึดครองของตะวันตก การที่โลกตะวันตกสนับสนุนรัฐเผด็จการที่อ้างว่าเป็นปากเสียงให้มุสลิม อคติและการทุ่มการสนับสนุนให้อิสราเอลอย่างมืดบอดของอเมริกาในสมรภูมิระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล และยังมีประเด็นอื่นๆ มาเติมเชื้อไฟอย่างการกดขี่ของรัฐบาลอิรักและซีเรีย(ซึ่งเป็นชีอะฮ์) การล้มตายของพลเรือนผู้บริสุทธิ์หลายหมื่นชีวิต และอาชญากรรมน่าสะพรึงอื่นๆ

กลุ่มไอเอสยิ่งถือว่ามีพรสวรรค์โดดเด่นในการใช้งานประเด็นปัญหาเหล่านี้ ตามเนื้อหาวิดีโอเผยภาพการสังหารผู้คนซึ่งปล่อยออกมาในช่วงที่ไอเอสยังเรียกตัวเองว่ารัฐอิสลามแห่งอิรัก (Islamic State of Iraq) (ช่วงเดือนตุลาคม 2006 – เมษายน 2013 โดยเป็นผลงานของฝ่ายผลิตสื่อ Al-Furqan Media Foundation ของกลุ่ม) จะเห็นว่ากลุ่มไอเอสได้ชูนัยยะสำคัญของความคับแค้นทางการเมืองเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการกระทำของตน และเพื่อดึงดูดผู้คนเข้าร่วมขบวนการ

เครื่องมืออื่นๆ ที่ทรงประสิทธิภาพในการโน้มน้าวผู้คนของไอเอส ได้แก่ การแสดงออกถึงความเกลียดกลัวอิสลามอย่างโจ่งแจ้งของสังคมตะวันตกที่ปรากฏทั้งในวาทะทางการเมือง การเดินขบวน การสื่อภาพมุสลิมในแง่ลบของสื่อ ไปจนถึงอาชญากรรมหรือความรุนแรงอันเกิดจากอคติและความเกลียดชัง งานวิจัยสำคัญหลายชิ้นพบว่าคลื่น ‘Islamophobia’ มิได้ถูกโหมกระพือแค่ในช่วงที่มีเหตุก่อการร้ายในประเทศหนึ่งๆ แต่จะระบาดหนักในช่วงของการเลือกตั้ง เช่นที่สหรัฐอเมริกา ทั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 และ 2012 และการเลือกตั้งสภาคองเกรสปี 2010 ในช่วงที่ศึกทางการเมืองร้อนระอุนั้น นักการเมืองอย่าง นิวท์ กิงริช ริค ซานโตรัม และเฮอร์แมน เคน และคนอื่นๆ พยายามแย่งชิงสปอตไลท์ด้วยคำปราศรัยที่สุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับมุสลิม โดยเฉพาะในปี 2010 ที่การสร้างมัสยิดในเขต “Ground Zero” ของนิวยอร์กเป็นประเด็นร้อนในสังคมอเมริกัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระหายความสนใจจากสื่อไม่พลาดที่จะใช้ประโยชน์จากประเด็นนี้ ไม่ต่างจากกรณีของ ทรัมพ์ คาร์สัน ครูซ และคนอื่นๆ ในทุกวันนี้

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (ซึ่งมีมุสลิมจำนวนน้อยนิดเป็นเพื่อนร่วมชาติ) ยอมรับว่าตนเองรู้น้อยมาก บ้างไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จึงไม่น่าแปลกใจที่เหตุการณ์ก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนแรงในนามของอิสลามอย่างในปารีสและเมืองซาน เบอร์นาร์ดิโน่ จะกระตุ้นให้นักปลุกระดมทางการเมืองในอเมริกาอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ หรือคนอื่นๆ ในยุโรปดึงเอาคนมุสลิมและศรัทธาของอิสลามไปใช้ ‘หากิน’ ในสังเวียนโต้วาทีทางการเมือง

การีม อับดุล-แจ็บบาร์ เขียนวิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อไม่นานมานี้ว่า “โดนัลด์ คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของไอเอส เขาเป็นผู้สมัครหุ่นเชิดที่เหมาะเจาะ ผู้ซึ่งแทนที่จะเสนอนโยบายจำเพาะเจาะจงที่ใช้ได้จริง กลับหากินบนความหวาดกลัวของสาธารณชน ทำงานแทนให้กับกลุ่มไอเอส”


สื่อมีบทบาทแค่ไหนในการเติมเชื้อไฟให้ปัญหา

ตามรายงานหัวข้อ “A New Era for Arab-Western Relations” ของสถาบันวิจัย Media Tenor ปี 2011 พบว่าในข่าวสารเกือบ 975,000 ชิ้นจากสำนักข่าวในอเมริกาและยุโรป สัดส่วนข่าวจำนวนมากได้หันเหจากประเด็นทั่วไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไปมุ่งที่เรื่องก่อการร้ายของกลุ่มติดอาวุธมุสลิม ตัวเลขนั้นน่าตกใจเมื่อเปรียบเทียบข่าวของปี 2001 กับปี 2011 ในปี 2001 มีข่าวเพียงแค่ 2% ในโลกตะวันตกที่เสนอภาพกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิม ส่วน 0.5 % เป็นเรื่องราวของมุสลิมทั่วๆ ไป มาในปี 2011 ข่าวที่เสนอภาพกลุ่มติดอาวุธกระโดดไปอยู่ที่ 25% ในขณะภาพของชาวมุสลิมทั่วไปยังค้างอยู่ที่ 0.5 % เท่าเดิม

ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่ไม่สมดุลอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงตลอดระยะเวลาสิบปีเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธได้เพิ่มขึ้นอย่างทบทวีในขณะที่เรื่องราวของชาวมุสลิมทั่วๆ ไปยังย่ำอยู่ที่เดิม ทั้งที่สำมโนประชากรยืนยันตัวเลขที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ซ้ำร้ายยังพบว่าช่วงปี 2007 – 2013 ข่าวเกี่ยวกับมุสลิมในสื่ออเมริกันเป็นไปในเชิงลบทั้งสิ้น

สิบปีที่ผ่านมาได้มีเว็บไซต์จำนวนมากถูกเปิดขึ้นเพื่อโจมตีสังคมมุสลิม นำมาซึ่งผลกระทบรุนแรงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เกิดเครือข่ายนักคิดนักโต้คารมสายต่อต้านมุสลิมที่มีธงอคติอยู่ในใจซึ่งประกอบไปด้วย นักวิชาการ บล็อกเกอร์ นักเขียน นักล็อบบี้ เจ้าหน้าที่จากการเลือกตั้ง และผู้ให้ทุนที่ทั้งมั่งคั่งและรอบรู้

เดือนสิงหาคม 2011 รายงานชื่อว่า ‘Fear, Inc’ ซึ่งจัดทำโดย Center for American Progress เผยโดยอิงข้อมูลจากกรมสรรพากรสหรัฐฯ ว่า ในรอบสิบปีมีเม็ดเงินถึง 42.6 ล้านดอลลาร์ถูกแจกจ่ายออกจาก 7 มูลนิธิเพื่ออัดฉีดนักเขียนและเว็บไซต์ที่ต่อต้านอิสลาม รายงานหัวข้อ “Legislating Fear: Islamophobia and its Impact in the United States,” โดย Council on American–Islamic Relations (CAIR) ปี 2013 ระบุว่าเครือข่ายโจมตีอิสลามในส่วนที่เป็นแกนหลักเข้าถึงทุนอย่างต่ำ 119,662,719 ดอลลาร์ในรายได้รวมของประเทศในช่วงปี 2008 ถึง 2011

ที่ถูกกลืนไปในม่านหมอกแห่งความหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามครั้งใหม่ คือความเป็นจริงเกี่ยวกับชาวอเมริกันมุสลิม ซึ่งจากข้อมูลของสำนักโพลชื่อดัง (อย่าง Gallup Pew และอื่นๆ) รวมถึงงานวิจัยอีกหลาย มุสลิมส่วนใหญ่ในอเมริกาเป็นจิ๊กซอสำคัญทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และศาสนาในสังคมอเมริกัน มีคนมุสลิมทำงานอยู่ทั้งในสภาคองเกรส กองทัพ บริษัท แวดวงการศึกษา เป็นผู้นำศาสนา แพทย์ ทนายความ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และอยู่ในภาคธุรกิจขนาดย่อม คนมุสลิมอเมริกันเองก็เป็นทั้งเหยื่อและกลุ่มที่ลุกขึ้นประณามเหตุการณ์ 9/11 กลุ่มแรกๆ ในขณะที่ผู้ก่อการร้ายมุสลิมมีเพียงเศษของเศษเสี้ยว 1% เท่านั้น ดังนั้นสมควรแล้วที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม บรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความมั่นคง และนักการเมืองชั้นนำจากทั้งพรรคเดโมแดรดและรีพับลิกันจะออกมาคัดค้านวาทะยั่วโทสะและจาบจ้วงล่วงเกินของโดนัลด์ ทรัมพ์ ที่ขัดต่อทั้งหลักการและค่านิยมแบบอเมริกัน และยังคุกคามเสรีภาพพลเมืองของชาวอเมริกันมุสลิม

ประธานสภาผู้แทนราษฎร พอล ดี. ไรอัน (ส.ส. รีพับลิกัน รัฐวิสคอนซิน) ได้กล่าวหักหน้าเพื่อนร่วมพรรคอย่าง ทรัมพ์ ที่เสนอสั่งห้ามมุสลิมเข้าประเทศอย่างคมชัดตรงไปตรงมาว่า “เสรีภาพทางศาสนาเป็นหลักรัฐธรรมนูญที่สำคัญ” กล่าวอีกว่า “มันเป็นหลักการรากฐานของประเทศนี้….นี่ไม่ใช่คติอนุรักษ์นิยม ข้อเสนอเมื่อวาน(ของทรัมพ์)เป็นไม่ใช่หลักการของพรรค และที่สำคัญไม่ใช่หลักการของประเทศนี้ คนมุสลิมไม่เพียงแต่รับใช้อยู่ในกองทัพของประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ยังรับใช้อยู่ในสภาแห่งนี้ ทำงานในทุกๆ วันเพื่อที่จะธำรงและปกป้องรัฐธรรมนูญ…พันธมิตรที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดในการต่อสู้ต้านการก่อการร้ายของมุสลิมหัวรุนแรงก็คือชาวมุสลิมที่ส่วนมาก มากกว่ามาก เป็นผู้ที่รักสันติ เชื่อถือในความเป็นพหุนิยม เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิส่วนบุคคล ผมบอกกับสมาชิกของเราเมื่อเช้านี้ให้ต่อสู้เพื่อไปให้ถึงอุดมคติเสมอ เพราะหลักการในรัฐธรรมนูญเหล่านั้นเราได้ให้สัตย์สาบานในทุกสองปีว่าเราจะปกป้องมัน”

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า..

เป็นความรับผิดชอบของชาวอเมริกันทุกคน ทุกความเชื่อศาสนา ที่จะต้องต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต่อต้านการรับบุคคลเข้าประเทศโดยใช้แบบทดสอบทางศาสนา เป็นหน้าที่ของเราที่จะต่อต้านข้อเสนอที่ว่าชาวอเมริกันมุสลิมควรได้รับการปฏิบัติที่ต่างไปทางใดทางหนึ่ง เพราะหากเราหลงไปในเส้นทางนั้นแล้ว เราจะพ่ายแพ้… พวกเรามีรากฐานอยู่บนความเชื่อเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากที่ใด หรือรูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือนับถือศาสนาใด คุณเท่าเทียมกันในสายตาของพระผู้เป็นเจ้าและในสายตาของกฎหมาย

สิ่งผิดพลาดไม่คาดฝันเกิดขึ้นมากมายในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีแสงแห่งความหวัง เมื่อ ‘Islamophobia’ เริ่มลุกลามหนักและสื่อหันมาสนใจ ชาวอเมริกันและประชาคมโลกก็เริ่มตระหนักถึงมันมากขึ้น คำค้น ‘Islamophobia’ ใน Google มีความถี่สูงขึ้นมากหลังเหตุการณ์ที่ปารีสและซานเบอร์นาร์ดิโน่ นักสื่อสารมวลชน ผู้นำรัฐบาล ผู้นำศาสนา นักการเมือง นักวิชาการ และสาธารณะชนเริ่มทุ่มเทกำลังประกาศภาวะอันเป็นปัญหานี้ บรรดาผู้นำทั้งฝ่ายซ้ายและขวาเริ่มหันมายืนเคียงข้างมุสลิม ความพยายามที่จะผสานสังคมหลากความศรัทธาผุดพรายขึ้นทั่วประเทศ ด้วยปรากฏการณ์เหล่านี้ถึงแม้ว่าโรคเกลียดกลัวอิสลามจะจู่โจมหนักที่สุดในปี 2015 ยังมีเหตุผลอีกมากที่จะเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในไม่ช้า 

แหล่งที่มา http://blog.oup.com/2015/12/oiso-islamophobia/