คดีค้ามนุษย์ถูกขัดขวาง หัวหน้าพนักงานสอบสวนต้องซ่อนตัว

ประเทศไทย: คดีค้ามนุษย์ถูกขัดขวาง หัวหน้าพนักงานสอบสวนต้องซ่อนตัว 

รัฐบาลไทยควรรื้อฟื้นการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศ

 

(กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 9 ธันวาคม 2558) หัวหน้าพนักงานสอบสวนและพยานสำคัญในคดีค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดจำนวนมากในไทย ต้องหลบหนีออกนอกประเทศภายหลังถูกขู่ฆ่า องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวในวันนี้ เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสั่งให้ยุติการสอบสวน ภายหลังการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนมาก

พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าพนักงานสอบสวนพร้อมทั้งพนักงานอัยการร่วมกันเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ส่งผลให้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 91 คนในปี  2558 เขาแจ้งต่อองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ว่า เขาถูกคุกคามเอาชีวิต และในปัจจุบันต้องหลบซ่อนตัว 

ในการฟ้องคดีนี้มีชื่อ พล.ต.ต. ปวีณเป็นพยานปากสำคัญ ที่จะขึ้นให้การเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ต้องหาที่เป็นพลเรือนในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่กระทำต่อชาวโรฮิงญามุสลิมกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่าและบังคลาเทศ เจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหามีทั้งข้าราชการจากกองทัพบก กองทัพเรือ ตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และดูแลงานด้านความมั่นคงภายในประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปกครองในท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่อำเภอ 

“การไต่สวนคดีนี้เป็นบททดสอบพันธกิจของไทยในการยุติการค้ามนุษย์ และมีแนวโน้มที่ดูไม่ดีเท่าไร” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ติฟายไรท์กล่าว “พล.ต.ต. ปวีณและพนักงานสอบสวนควรได้รับการสนับสนุนในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย ไม่ใช่ถูกบังคับให้ต้องหลบซ่อนตัว" พล.ต.ต. ปวีณแจ้งกับองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ว่า ชีวิตเขาตกอยู่ใต้อันตรายอย่างมาก และระบุว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพยายามขัดขวางและหาทางยุติการสอบสวน เพื่อตัดตอนไม่ให้มีการเปิดโปงว่ายังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่านั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือมีส่วนสนับสนุน

 “เดิมเรามีแผนการสอบสวนแหล่งที่มาของเงินทุน เพื่อให้ได้หลักฐานที่สมบูรณ์มากขึ้นจากหลักฐานที่เรามีอยู่” พล.ต.ต. ปวีณกล่าวกับองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ “ถ้าเราสามารถสอบสวนคดีนี้ต่อไป ผมเชื่อว่าจะพบความเชื่อมโยงมากขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงกับการค้ามนุษย์” 

 มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยไม่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณที่จำเป็นต่อการสอบสวน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมักจะเตือนพนักงานสอบสวนให้ยุติการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งยังเลื่อนขั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดให้มีตำแหน่งงานสูงขึ้น ในขณะที่ลดตำแหน่งพนักงานสอบสวนซึ่งทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับและยังหลบหนีอยู่กว่า 60 คน

 “ยังคงมีเจ้าหน้าที่ของไทยจำนวนมากที่ทำงานด้วยความซื่อตรง และต้องการนำตัวผู้ค้ามนุษย์มาลงโทษตามกฎหมาย แต่พวกเขาถูกขัดขวาง” เอมี สมิธกล่าว “จนกว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการสอบสวนความผิดของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์ การดำเนินงานที่ผ่านมาก็จะกลายเป็นแค่การแสดงฉากหนึ่งเท่านั้นเอง” 

เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกรายหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมในการสอบสวนกล่าวกับองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ว่า ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ “ใช้อำนาจของตนเพื่อขัดขวางการสอบสวน” ในหลายรูปแบบ มีทั้งการข่มขู่พนักงานสอบสวนและพยานในคดี ที่ผ่านมามีการแจ้งข้อหาอาญาอย่างน้อยสองคดีต่อผู้ค้ามนุษย์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขู่พยาน

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ย้ายพล.ต.ต. ปวีณไปดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกองทัพไทย และยังเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ 

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 พล.ต.ต. ปวีณได้ลาออกจากราชการ เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยขั้นร้ายแรง

“การสอบสวนของตำรวจในคดีการค้ามนุษย์ กลายเป็นการขัดขวางผลประโยชน์ทางธุรกิจของ (ข้าราชการและผู้มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง) ในภาคใต้ พวกเขา (สั่งย้าย) ครั้งนี้เพื่อทำให้เกิดปัญหากับผม” พล.ต.ต. ปวีณกล่าวกับองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ “ในสามจังหวัดภาคใต้ มีตำรวจหลายนายที่ถูกสังหาร ผมไม่ได้ต้องการเป็นแบบนั้น” 

การไต่สวนคดีได้เริ่มขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ ปัจจุบันมีจำเลย 91 คนประกอบด้วยบุคคลที่มีสัญชาติไทย พม่า และบังคลาเทศ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำบุคคลจากพม่าและบังคลาเทศมาไทย เพื่อกักตัวไว้เรียกค่าไถ่ในสภาพที่เลวร้าย และยังให้การช่วยเหลือเพื่อให้บุคคลเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย พวกเขาเป็นจำเลยตามข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน. วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุดตั้งแต่การประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต 

จากพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนไทยรวบรวม เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐจากขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผลกำไรที่ขบวนการเหล่านี้ได้รับจากการค้ามนุษย์ ในคำให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ด้านกิจการต่างประเทศเมื่อเดือนเมษายน 2557 องค์กรฟอร์ติฟายไรท์กล่าวหาว่าการค้ามนุษย์โดยนำเหยื่อจากพม่าและบังคลาเทศไปมาเลเซียผ่านไทย ทำให้เกิดรายได้กว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐนับจากปี 2555 

ในรายงานประจำปีการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons - TIP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีการจัดอันดับให้ไทยอยู่ที่ระดับ Tier-3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดสำหรับประเทศที่ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นผลต่อผู้ค้ามนุษย์ ไม่สามารถให้การคุ้มครองผู้เสียหายและป้องกันการค้ามนุษย์ได้ รายงานการค้ามนุษย์ฉบับต่อไปจะมีการเผยแพร่ในกลางปี 2559 

ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเป็นผู้ลักลอบนำตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศ รวมทั้งชาวบังคลาเทศหลายหมื่นคนเป็นอย่างน้อยผ่านประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พยานหลักฐานในคดีนี้ประกอบด้วยผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศจำนวน 80 คน และศพของบุคคลที่ไม่สามารถจำแนกความเป็นมาแต่ถูกฝังไว้บริเวณใกล้กับแคมป์ของกลุ่มค้ามนุษย์จำนวน 36 คน ซึ่งทางการไทยค้นพบและขุดขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 

จากการรวบรวมปากคำของประจักษ์พยานและผู้เสียหายขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมาชี้ว่า น่าจะมีหลุมศพจำนวนมากกว่านี้ในพื้นที่ของประเทศไทย

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์เรียกร้องให้ทางการไทยรื้อฟื้นการสอบสวนการค้ามนุษย์ในไทยขึ้นมาใหม่ และจัดให้มีทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อประกันการสอบสวนอย่างสมบูรณ์ อย่างเป็นอิสระและอย่างเป็นผล การคุ้มครองพนักงานสอบสวนและพยานจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการดำเนินคดีนี้

“โอกาสที่จะเกิดความเป็นธรรมในคดีนี้ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยของพยานและพนักงานสอบสวน” เอมี สมิธกล่าว “ถ้ารัฐบาลไทยต้องการยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดซึ่งแพร่หลายในประเทศ ก็ควรสนับสนุนให้มีการสอบสวนต่อไปและประกันให้มีการคุ้มครองแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 

Amy Smith, Executive Director, +1.207.323.1698 (USA), amy.smith@fortifyrights.org, Twitter: @AmyAlexSmith, @fortifyrights

 

Matthew Smith, Executive Director, +1.202.503.8032 (USA), matthew.smith@fortifyrights.org; Twitter: @matthewfsmith, @fortifyrights