จดหมายเปิดสนทนากับพลเมืองสังคมไทย

รูปภาพ :สำนักข่าว AP 

การเรียกร้องให้ตรวจสอบการสร้างอุทยานราชภักดิ์ คลับคล้ายคลับคลา เมื่อสี่สิบปีก่อน เดือนเมษายน 2516 กรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งในสองลำเกิดอุบัติเหตุตกลงกลางทุ่งนาอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมากระจายเกลื่อนทุ่ง เป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่า คณะทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จำนวนประมาณ 60 คน ตั้งค่ายพักแรม เพื่อฉลองวันเกิด และใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หนึ่งในคณะบุคคลผู้เข้าร่วมล่าสัตว์คือ พ.อ.ณรงค์ บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ทำให้เกิดการเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องข้างต้น แต่ทว่ากลับไม่เป็นผลที่กระจ่าง เพราะหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร 

 

การเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ คลับคล้ายคลับคลา ต่อการตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 ที่มีการนำมาใช้ตรวจวัตถุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะไม่แน่ใจว่าเครื่องนี้เป็นเครื่องอะไรกันแน่ และตรวจอะไรได้บ้าง เหตุเพราะบางวันเครื่องจีที 200 เสาแหลมๆคล้ายหนวดกุ้งทีวีก็ชี้มาทางชาวบ้าน แต่ที่หนักกว่านั้นคือ มันก็ชี้ไปทางเจ้าหน้าที่ ต้องทำให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนการ์ดเพราะไม่แน่ใจว่าใส่การ์ดตรวจสอบอะไร สร้างความสับสนทั้งเจ้าหน้าที่ประจำการตามด่านและชาวบ้านที่โดนตรวจ จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่สามารถหาคนรับผิดชอบ 

 

ซึ่งทั้งสามกรณี อุทยานราชภักดิ์, ทุ่งใหญ่นเรศวร, จีที 200 ไม่ได้เกิดจากการทำหน้าที่ตรวจสอบขององค์กรภาครัฐด้วยกันเอง แต่ทั้งสามกรณีเกิดจากการตรวจสอบของภาคพลเมืองไทยทั้งสิ้น สิ่งที่เหมือนกันคือ ไม่มีองค์กรใดตรวจสอบการทำงานของกองทัพ แม้แต่ "ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ" ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาเอง ฉะนั้นพลังการตรวจสอบและการตั้งคำถามจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการยึดอำนาจประชาชนแล้วจะมาปราบคอรัปชั่น 

 

เหตุการณ์เสียชีวิตของนายอับดุลลายิ ดอเลาะ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ. ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ นายอัสฮารี สะมะแอ, นายสุไลมาน แนซา, อีหม่ามยะพา กาเซ็ง ฯลฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทุก ๆ คร้ังการเสียชีวิตในค่ายทหารของพลเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ ก็ไม่ได้รับความกระจ่างชัดจากญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพราะไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้เสียชีวิตขาดลมหายใจเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ตลอดที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุของการเสียชีวิต ทำให้ระบบกระบวนยุติธรรมล้มเหลว ที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ชาวบ้านได้ และคงไม่ต้องกล่าวถึงกระบวนการสันติภาพที่อยู่ภายใต้อุ้งมือของคณะทหาร มันจะเกิดสันติภาพได้อย่างไร เมื่อชาวบ้านที่อยู่ในค่ายภายใต้การดูแลของทหารกลับต้องสังเวยเสียชีวิตอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

 

พลเมืองทุกคนเราต้องการหลักประกันของชีวิตที่จะมี เสรีภาพ ความเสมอภาค และสังคมที่พอจะทนกันได้ท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลาย โดยการไม่ทำร้ายถึงขั้นแก่ทำให้ชีวิตต้องสูญเสียไป ไม่ว่าโดยฝ่ายใดก็ตาม โดยเฉพาะรัฐต้องมีหน้าที่ปกป้องพลเมืองทุกคน และเปิดโอกาสให้พลเมืองตรวจสอบการทำงาน ไม่ใช่วิธีการแบ่งแยกพลเมืองเป็นฝักเป็นฝ่ายและเลือกปฎิบัติเสียเอง 

 

"การตรวจสอบคอรัปชั่นพอจะเกิดขึ้นจริงได้ ก็คือการตรวจสอบภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่มีหมุดหมาย การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เช่นนี้แล้วการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นคือการประคับประคองระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การทำลายระบอบประชาธิปไตย" 

 

หนทางที่พอจะต่อต้านคอรัปชั่นและทำให้การตรวจสอบเของพลเมืองเข้มแข็งขึ้นมาคือ การทวงอำนาจของพลเมืองกลับคืนมาอยู่ในมือให้เร็วที่สุด... “อำนาจไม่ได้มาจากการร้องขอ”