กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้เจอทางตันอีกครั้ง

ภาพข่าวจาก manager.co.th

(เผยแพร่ครั้งแรกใน  http://www.nationmultimedia.com/opinion/Deep-South-peace-efforts-hit-another-dead-end-30260696.html )

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลไทยต้องทบทวนแนวทางกระบวนการสันติภาพครั้งใหม่หลังจากแนวคิดการจัดตั้งคณะร่วมของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี (Juwea) ต้องล้มเหลวและเหตุการณ์ระเบิดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เป็นเวลาสามวันติดต่อกันที่เมืองยะลาต้องตกอยู่ในความโกลาหลจากเหตุระเบิด 24 จุดต่อเนื่องภายในระยะเวลาเพียงสองชั่วโมงในหัวค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ต่อมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เข้าตรึงกำลังไว้ตามจุดต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการระเบิดอีกสี่ครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น และอีกสี่ครั้งในเช้าวันต่อมาได้

เหตุระเบิดอย่างต่อเนื่องดั่งงานเทศกาลครั้งนี้ถือเป็นความอัปยศของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยที่ยังคงหัวปั่นไม่หายจากเหตุระเบิดรถยนต์ในพื้นที่ท่องเที่ยวติดอันดับอย่างเกาะสมุยในวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาและปรากฎหลักฐานชี้ชัดว่าต้นทางของรถคันดังกล่าวมาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่น่าสนใจคือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการระเบิดที่เกาะสมุย ตัวแทนของรัฐบาลทหารโดยกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกได้แถลงอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าเหตุระเบิดรถยนต์ในครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในชายแดนภาคใต้

ในขณะเดียวกัน พล.ท.ปราการ  ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกมาชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทุกหน่วยได้เข้าประจำการตามจุดต่างๆในตัวเมืองยะลาตามมาตรการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุในเย็นวันพฤหัสบดี แต่การโจมตีในครั้งนี้เป็นผลมาจากระเบิดที่น่าจะถูกวางไว้ล่วงหน้าก่อนวันดังกล่าวและจุดระเบิดจากระยะไกลซึ่งเชื่อว่าเป็นการจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ สอดคล้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯว่าระเบิดทั้งหมดเป็นระเบิดขนาดเล็ก ผู้ก่อเหตุน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความวุ่นวายมากกว่ามุ่งเอาชีวิต

'ข้อความจากผู้ก่อเหตุ

แหล่งข่าวใกล้ชิดกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี(Juwea) กล่าวว่าเหตุระเบิดรถยนต์ที่เกาะสมุยและเหตุระเบิดสายฟ้าแล่บสามวันซ้อนในจังหวัดยะลาเป็นการก่อเหตุโดยกองกำลังของกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN ที่ต้องการส่งข้อความไปยังรัฐบาล แสดงถึงการไม่ยอมรับต่อวิธีปฏิบัติทางทหาร  ความไม่ชัดเจนในการกำหนดกฎเกณฑ์การปะทะ (Rule of engagement) และวัฒนธรรมการอยู่เหนือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย

อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทยและมาเลเซียว่า BRN ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ควบคุมกองกำลังส่วนใหญ่ของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุน Majlis Amanah Rakyat Patani หรือ MARA ปาตานี ซึ่งเป็นที่ประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปาตานีกลุ่มต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมในกระบวนการสันติภาพ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของ MARA ปาตานีก็คือเป็นการรวมกลุ่มภาคีระดับภูมิภาคจากความพยายามปั้นแต่งขององค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่นที่ทราบกันดีว่าเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมในการริเริ่มกระบวนการสันติภาพ

เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ดาโต๊ะอะหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลมาเลเซีย ได้จัดประชุมร่วมกับผู้แทนจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดั้งเดิม 6 กลุ่ม โดยในส่วนของกลุ่ม BRN มี อาแว ยาบะ เป็นตัวแทนและโต๊ะอิหม่ามฮาเล็งเป็นตัวแทนรอง

ผู้เข้าร่วมอื่น ๆ รวมถึงผู้แทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดั้งเดิมอีกสามกลุ่มคือ กลุ่ม PULO กลุ่ม GMIP และกลุ่ม BIPP  ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะให้ MARA ปาตานีเป็นกลไกลขับเคลื่อนเพื่อสร้างเอกภาพแก่กลุ่มเคลื่อนไหวปาตานีและนำไปสู่กระบวนการสันติภาพ

แต่การรวมกลุ่มของ MARA ปาตานียังมีอุปสรรคเนื่องจากผู้นำส่วนใหญ่ของ BRN โดยเฉพาะในปีกกองกำลัง ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้

พวกเขากล่าวว่าความพยายามในครั้งนี้ถูกปรุงแต่งโดยสมาชิกนอกแถวร่วมกับผู้อำนวยความสะดวกฝั่งมาเลเซียหรืออาจจะรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ไทยที่ทำงานด้านสันติภาพด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้นกลุ่ม BRN ไม่ให้การยอมรับว่า อาแว ยาบะ เป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่นบางกลุ่มก็แสดงจุดยืนปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมสภาของ MARA ปาตานีอีกด้วย (สภา MARA ปาตานีประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรณ์ประชาสังคมท้องถิ่นและตัวแทนนักต่อสู่เพื่อเอกราชปาตานีพลัดถิ่น)

แต่ในการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ  จันทร์โอชา ได้ให้ความคิดเห็นที่เป็นการตัดความหวังของ MARA ปาตานีที่คล้ายคลึงกับท่าทีของผู้นำกลุ่ม BRN

โดย พล.อ.ประยุทธ เห็นว่า MARA ปาตานีไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้ได้ อีกทั้งคิดว่าแนวคิดนี้เป็นผลจากความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น

'พล.อ.ประยุทธต้องการพูดคุย

อย่างไรก็ตามมีรายงานจากแหล่งข่าวภายในรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ มีความต้องการที่จะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

หากแต่นายกรัฐมนตรียังคงแสดงความวิตกกังวลว่า MARA ปาตานีอาจเป็นจุดเริ่มเพื่อผลักดันสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ไปสู่เวทีนานาชาติประกอบกับมาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของไทยบางส่วนกลัวว่าปัญหานี้จะถูกผลักดันให้กลายเป็นประเด็นภูมิภาคอย่างง่ายดาย

ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ากัวลาลัมเปอร์มีแนวคิดในหัวที่จะผลักดันปัญหาความขัดแย้งนี้สู่เวทีนานาชาติ และเช่นเดียวกันกับรัฐบาลไทย มาเลเซียก็มีจุดยืนในฐานะรัฐต่อประเด็นขัดแย้งนี้และปฏิเสธที่จะให้รัฐบาลต่างประเทศและผู้ไกล่เกลี่ยมืออาชีพเข้ามาวางกติกากระบวนการสันติภาพ โดยมาเลเซียเห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในบริเวณชายแดนที่ติดกับตน ถือได้ว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงของกระบวนการสันติภาพในพื้นที่

อย่างไรก็ดีมีสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้ว่า อาแว ยาบะหนึ่งในผู้ทำงานร่วมกับดาโต๊ะซัมซามินในการก่อตั้ง MARA ปาตานี ได้พยายามผลักดัน อุสตาซแวสือแม ซูเด็ง อดีตครูสอนศาสนาในอำเภอสายบุรีวัย 67 ปี เพื่อเป็นตัวเชื่อมสร้างแรงสนับสนุนต่อกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี (Juwea) ในหมู่ประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งต่อมาถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 28 กันยายนปีที่แล้ว MARA ปาตานีก็ส่อเค้าล่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและครั้งนี้ก็ดูเหมือนว่า จุดยืนของพล.อ.ประยุทธ คงเป็นตะปูปิดฝาโลงให้กับความพยายามจัดตั้ง MARA ปาตานี

จนถึงขณะนี้อนาคตของการขับเคลื่อนสันติภาพในชายแดนภาคใต้ยังคงพร่ามัว แต่ก็ยังไม่ถือว่าแย่ซะทีเดียวเพราะแหล่งข่าวการเมืองในกรุงเทพฯกล่าวว่า ผู้นำรัฐบาลทหารยังคงให้ความสนใจต่อการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในรูปแบบที่ทหารพอใจ

ซึ่งอนาคตต่อจากนี้คงจะเป็นเรื่องที่น่าท้าทายของทุกฝ่ายต่อไป..