สันติภาพปาตานีกับภาระกิจอันไม่รู้จักจบ

ตลอดระยะเวลาการทำงานด้วยความยึดมั่นในความเป็นสามัญชน คนธรรมดาแต่เชื่อมั่นและปณิธาน  "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" ปาตานีฟอรั่ม ให้เวลาเพื่อสะท้อนและทบทวนการทำงานของตนเองรวมถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ โดยการบันทึก จากการรวบรวมองค์ความรู้และความจริงหลายๆด้านก่อนจะเผยแพร่ และการสื่อสารสาธารณะ

การจัดการความรู้และความจริง เกี่ยวกับปัญหาปาตานี นับเป็นกระบวนการสำคัญที่อาจจะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนความคิดในหมู่คนไทยทั่วประเทศทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การปกครองและเศรษฐกิจในปาตานี/ชายแดนใต้ กับรัฐไทย   ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจของประชาชนไทยต่อบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อไขข้อกระจ่างในประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นว่ามีความอ่อนไหว (เช่นด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวมลายูปาตานี)

ปาตานี ซึ่งหมายถึงจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และพื้นที่อีก 4 ตำบลในจังหวัดสงขลา โดยการคาดเดาแล้ว น่าจะมีประชากรในพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้าน และมากกว่า 1ล้าน 5 แสนคนเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูซึ่งเป็นกลุ่มทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่แตกต่างนี้มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์แตกต่างจากความเป็นเชื้อชาติอื่นๆในสยามเก่าแก่โดยสิ้นเชิง

ย้อนกลับไปในช่วงการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางของชนชาวไทยในสมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งพื้นที่แห่งนี้คือรัฐปาตานีที่มีความเป็นอิสระ   เรื่องราวการก่อกำเนิดของชนชาติไทย ประกอบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และการรวมศูนย์อำนาจการปกครองต่อรัฐไทย แตกต่างและไม่สอดคล้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ของชาวมลายู

ปัญหาความรุนแรงจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนในปาตานี หรือในความหมายชาวมลายูกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐไทย จะเรียกว่า “การปลดปล่อยปาตานีจากรัฐสยาม” โดยความผะอืดผะอมเช่นนี้ได้สะสมมีมาอย่างยาวนานหลายสิบปีและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในระยะหลัง  ความรุนแรงในพื้นที่นี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาความขัดแย้งที่เป็นวาระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความขัดแย้งที่นานาประเทศในภูมิภาคเดียวกันมองว่าเกิดจากการถูกกีดกันหรือการไม่มีดุลยภาพในเรื่องของการเมืองและวัฒนธรรม

และแม้ว่าหากจะมีการเปลียนแปลงรูปแบบการปกครอง เช่น การปกครองตนเอง ตามหลักรัฐธรรมนูญที่เน้นเรื่องการกระจายอำนาจให้ประชาชนดูแลตนเอง หรือแม้กระทั่งความหวังของกลุ่มที่ต้องการประกาศเอกราชจากรัฐไทย เราเองก็ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ครองอำนาจต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองฝ่ายใด จะต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชน เพราะนั้นหมายถึง คุณภาพของสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึง เสรีภาพของการแสดงความคิดอย่างเสมอหน้า   

ที่กล่าวไป เป็นเพียงแง่มุมเบื้องต้นที่ปาตานีฟอรั่มได้สื่อสารสาธารณะทั้งในพื้นที่ปาตานีและในจังหวัดอื่นๆของประเทศไทย โดยวิธีการแจกจ่ายสื่อสิ่งพิมพ์ให้ข้อมูลในประเด็นพื้นที่ คิดค้นกระบวนการของกิจกรรมงานอภิปรายที่เน้นการให้ความสำคัญต่อความเห็น จุดยืน และข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ จากพื้นที่

มีข้อมูลอย่างมากมาย และความเป็นมาของเอกลักษณ์ทางด้านอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้มีส่วนและได้รับผลกระทบต่อความขัดแย้งที่เรื้อรังยาวนาน แต่ข้อมูลสำคัญมักจะไม่ได้นำเสนอสู่สาธารณะในวงกว้างจึงไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังการอภิปรายในวงระดับผู้วางนโยบายหรือพลเมืองซึ่งสามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อรากเหง้าของปัญหาและผลกระทบจากความขัดแย้ง

ความแปลกแยกและวิธีการที่ไม่ประนีประนอมระหว่างฝ่ายรัฐไทยและประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกันในความเหมือนและความแตกต่างของประชากรในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน  นอกจากนั้นการแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ปาตานีหรือส่วนอื่นในประเทศไทย สามารถเริ่มได้การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน หรือประชาชนในความหมายของการเป็นสามัญชน “คนเท่ากัน” เพื่อที่จะหาหนทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยอมรับร่วมกันได้

ดังนั้นการที่จะมุ่งสร้างสังคมที่มีความอดกลั้นต่อความแตกต่าง มีความยุติธรรมและสงบสุข โดยจัดรวมกันตามความเคารพในความแตกต่างทางอัตลักษณ์และความเชื่อในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่มีความรู้และไม่มักง่ายต่อการใช้ความรุนแรงในกระบวนการทางสังคมและการเมือง ซึ่งองค์กรที่มีบทบาทการสร้างสำนึกต่อภาคพลเมืองในปาตานีจึงควรสร้างและแบ่งปันความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปาตานีและสร้างวงสนทนาระดับชาติเรื่องการหาทางออกเกี่ยวกับความขัดแย้งและสนับสนุนงานรณรงค์เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยและมีความอดกลั้นต่อความต่างของคนในสังคม

นี่คือกระบวนทัศน์ทางความคิดในปัจจุบันของปาตานีฟอรั่ม  เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยการคำนึงการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปตามสถานการณ์ ประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงาน ที่ยังยึดมั่นใน หลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมในสังคม หลักการของคนที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีความรับผิด รับชอบในการตัดสินชะตากรรมตนเอง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งตัดสินแทนคนอื่นๆได้ กระบวนการทางสังคมต้องเกิดจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำให้ขึ้นใจ สำหรับประเด็นปัญหาปาตานีในประเทศไทย คือ การสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนการพูดคุยหรืออภิปรายที่มีความหมาย ต่อประเด็นเรื่องความขัดแย้งในปาตานี/ชายแดนใต้ โดยเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อการสร้างสันติภาพ ตามพื้นฐานความเคารพต่ออัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่  เป็นพยายามที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ บทวิเคราะห์และหาข้อสรุปต่อประเด็นความท้าทายและโอกาสด้านสันติภาพในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และระยะยาวนั้น จะต้องอยู่ในพื้นที่ของเสรีภาพทางความรู้ ความคิด และความจริง 

และนั่นเองคือ "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" อย่างแท้จริง