ความเป็นมาและความท้าทายต่อสังคมฝรั่งเศส : กรณี Charlie Hebdo

                                               

 

จากกรณีการสังหารหมู่ในฝรั่งเศสของกลุ่มที่มีแนวความคิดสุดโต่ง ที่กระทำต่อบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Charlie Hebdo จนนำไปสู่การสูญชีวิตของพลเมืองฝรั่งเศสทั้งหมด 17 ราย มูลเหตุจูงใจของเหตุการณ์เกิดจากการวาดการ์ตูนล้อเลียนท่านศาสนทูตมูฮัมมัด นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความกระทบกระเทือน และความหวาดกลัวต่อภัยการก่อการร้ายในวงกว้าง ที่กลุ่มก่อการร้ายใช้ความรุนแรงในเมืองหลวงอย่างอุกอาจ ครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ซึ่งผลของ 9/11 ทำให้ให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐประกาศใช้มาตรการทางทหารในการปราบปราม ถือเป็นการแก้ปัญหาในระดับตัวแสดงที่เป็นรัฐ แต่ตรงกันข้ามกับผลที่เกิดจากกรณี Charlie Hebdo ที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสแสดงออกด้วยพลังของมวลชนโดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งแสดงออกด้วยวิธีการสันติวิธี และมีเป้าหมายที่ต้องการปฏิเสธความรุนแรง เป็นจำนวนนับล้านคนตามสถานที่สำคัญต่างๆทั่วกรุงปารีส


ในสังคมยุโรปหรือแม้แต่สังคมฝรั่งเศสในปัจจุบัน เป็นสังคมที่เปิดกว้างต่อการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนต่างๆมากมาย ฝรั่งเศสเริ่มเป็นประเทศที่มีกลุ่มอพยพที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม 1 ใน 10 ต่อจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้สังคมฝรั่งเศสซึ่งในอดีตอาจจะถูกมองว่าเป็นที่สังคมที่มีเชื้อชาติ ศาสนาอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีเอกภาพของคนผิวขาว แต่เมื่อในระยะหลังชนกลุ่มต่างๆที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยเฉพาะกลุ่มชนจากทวีปแอฟริกา ได้อพยพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฝรั่งเศส ผลที่เกิดขึ้นฝรั่งเศสเริ่มกลายเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ในบางครั้งความเป็นชาตินิยมของฝรั่งเศสที่มีอยู่อย่างสุดขั้ว ซึ่งเกิดจากรากฐานของแนวคิดเดิมทางวัฒนธรรม ที่มองชนกลุ่มอื่นว่าด้อยกว่าจนทำให้เกิดความกระทบกระทั่ง นำไปสู่ปัญหาความไม่ลงรอยกันในระดับหนึ่ง กับกลุ่มชนที่มีความแตกต่างกัน เช่น สะท้อนผ่านการล่าอาณานิคมในอดีต การมองคนต่างเชื้อชาติว่าด้อยกว่าตน เป็นต้น


ด้วยจารีตประเพณีของคนตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิด[1] ความเห็น โดยเฉพาะในฝรั่งเศสเสรีภาพทางความคิด เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการเชิดชูและถือเป็นจิตวิญญาณของเสรีชน หรือปัญญาชนแบบตะวันตก ซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยสังคมด้วยการปฏิวัติโค่นล่มอำนาจศาสนา และอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ อันเป็นอำนาจที่อยู่ส่วนบนที่ถูกมองว่าเป็นอำนาจที่กดขี่ความเป็นมนุษย์ จึงทำให้ความเป็นศาสนาหรือสัญลักษณ์ทางศาสนาไม่ให้ได้รับการแสดงออกในที่สาธารณะของสังคมฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน สะท้อนผ่านคำขวัญที่ว่า "เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ”  แต่เมื่อฝรั่งเศสกลายเป็นสถานที่รับการอพยพของกลุ่มต่างๆ ที่ทำให้คนผิวดำหรือคนมุสลิม เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมฝรั่งเศสมากขึ้น ก่อให้เกิดการปะทะกันของความคิดเสรีภาพแบบตะวันตก กับผู้ที่ถือในอัตลักษณ์และศาสนาที่เข้มข้น ในสังคมที่เปิดแบบฝรั่งเศสการแสดงออกความคิดเห็นบางอย่างอาจจะกระทบต่อความเชื่อของคนบางกลุ่ม จนอาจจะสร้างความอ่อนไหวและทำให้เกิดความเปราะบางทางสังคมพหุวัฒนธรรมได้

                 

ผลจากการสร้างวาทกรรมที่ให้มองอิสลามในเชิงลบ ทำให้เกิดคำอธิบายที่ว่าปัญหาความไม่ลงรอยในสังคม หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง อาจเกิดจากเมื่อความรุนแรงกับอิสลามถูกตอกย้ำหรือกดทับจากปัจจัยภายในสังคม เช่นการวิพากษ์ในความเชื่อ การมองคนผิวดำ/มุสลิมด้วยอคติ[2] รวมทั้งปัจจัยภายนอกสังคมโดยรวม หรือพฤติกรรมของบางกลุ่มที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือ ที่สร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุความรุนแรง เช่น อัลกออิดะห์  IS เลยทำให้เกิดผลสะท้อนกลับด้วยการแสดงออกของบางกลุ่มที่สุดโต่ง ด้วยความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แม้เพียงจะถูกล้อเลียนหรือท้าทายความเชื่อผ่านสิ่งพิมพ์ จนในบางครั้งสังคมโดยรวมอาจจมองการกระทำความรุนแรงว่าเกิดจากศาสนา โดยละเว้นการพิจารณาประเด็นปัญหาอื่น เช่น เชื้อชาติ ความยากจน หรือการเลือกปฏิบัติ และประเด็นซ่อนเงื่อนอื่นๆ ซึ่งเป็นการมองอัตลักษณ์ของคนมุสลิมในเชิงเดี่ยว มากกว่าที่จะพิจารณาปัญหาที่โครงสร้างของสังคมที่กระทำต่อคนใด/คนใดคนหนึ่ง


ไม่ว่าผลของการกระทำที่ออกมาจะเกิดจากเหตุปัจจัยใด ที่ทำให้กลุ่มสุดโต่งต้องใช้วิธีการแสดงออกด้วยความรุนแรง ซึ่งมิใช่ทางเลือกสุดท้ายหรือเป็นทางเลือกเดียวที่คนชายขอบมีอยู่ ยังมีวิธีการต่อสู้แบบอื่นที่สามารถกระทำได้ เช่น การต่อสู้ด้วยปากกา(เขียนคำอธิบายสร้างความเข้าใจต่อสังคม) การปฏิเสธไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ การตอบโต้ด้วยความรุนแรงจะยิ่งกลับทำ เกิดการแพร่ขยายของพื้นที่ข่าว ที่ทำให้อิสลามต้องมัวหมองเสียยิ่งกว่าการเขียนภาพล้อเลียอีก ในขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสก็ ควรมีเสรีภาพที่ไม่สุดโต่งเมื่อสังคมเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น การสร้างความเข้าใจ และสร้างวิธีการจัดวางทางความคิดในสังคมพหุวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังคงมีพื้นที่ในการแสดงออก และการไม่ตัดสินเสรีภาพของผู้อื่นด้วยความรุนแรง ในทางกลับกันของสังคมฝรั่งเศส ซึ่งมีคำขวัญที่ว่า “เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ” เป็นสิ่งที่ยึดกุมความเป็นชาติของฝรั่งเศสเอง ที่เอาเข้าจริงแล้วคนฝรั่งเศสเองกลับเลือกแต่เฉพาะแค่คำว่า “เสรีภาพ” ในบางความหมายอย่างสุดโต่ง ที่ใช้ในการแสดงออกจนเป็นเหตุให้เกิด การละเลยหรือละเว้นจิตวิญญาณทั้งหมดของคำขวัญโดยเฉพาะคำว่า “ภราดรภาพ” ที่สังคมจะต้องให้เกียรติ  ความเคารพ และสร้างความเป็นพี่น้องในสังคม[3] เพื่อให้เกิดความปรองดองทางสังคม ด้วยการยอมรับความแตกต่างที่สังคมฝรั่งเศสเริ่มเข้าสู่ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม จากความพลวัตทางสังคมข้างต้นเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อสังคมของฝรั่งเศสอย่างยิ่ง

                  


ในยุคโลกาภิวัตน์ที่หมายถึงการลดพื้นที่และเวลา กระบวนการสร้างความเป็นใหญ่ หรือการครอบงำทางความคิดด้วยชาตินิยม และวัฒนธรรมที่อาจไปละเมิดกลุ่มอื่น เป็นที่สิ่งที่ต้องได้รับการตั้งคำถาม และควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ที่มิใช่แค่มองอีกฝ่ายว่าเป็นกลุ่มหรือศาสนาแห่งความรุนแรง สังคมต้องสร้างปทัสถานใหม่ให้มีความเป็นธรรมแก่ทุกกลุ่มให้ได้ ทั้งความรุนแรงและความคิดสุดโต่งมิได้เป็นสิ่งที่จะนำพาสังคมฝรั่งเศส และสังคมโลกให้ดำเนินสืบไปได้อย่างผาสุข หากมนุษย์ในแต่ละกลุ่มแต่ละวัฒนธรรม ไม่สามารถสร้างข้อกำหนด และการมีความอดทนอดกลั่นต่อความคิดของตนได้ รวมทั้งการปฏิเสธความคิดในลักษณะสุดโต่งที่จะไม่นำไปสู่การล้วงล้ำความเชื่อทางศาสนา หรือเสรีภาพในการแสดงออกของผู้อื่น ความเป็นไปและการดำเนินชีวิตของสังคมที่หลากหลายของสังคมมนุษย์อาจจะไม่ใช่มีแค่ เหตุการณ์ 9/11, การสังหารผู้บริสุทธิ์ในตะวันออกลาง, ความไม่สงบต่างๆทั่วโลก, หรือแม้แต่กรณีล่าสุดอย่าง Charlie Hebdo ก็อาจไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้าย ถ้ามนุษย์จะเกิดการพิพาทระหว่างกันด้วยการตอกย้ำความคิดการปะทะกันทางอารยธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น และใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง จนนำไปสู่การสูญเสียของทุกๆฝ่าย สิ่งที่เป็นไปได้ที่สุดสำหรับมนุษย์และทุกสังคม คือจะทำให้อย่างไรให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ



[1] การเสียดสีศาสนาเป็นประเพณีฝรั่งเศส(ออนไลน์). รายการ Davas Café. สืบค้นจาก : http://news.voicetv.co.th

/world/154065.html

[2] คำสอนศาสนาหรือพวกสุดโต่ง ใครเป็นปัญหากันแน่?(ออนไลน์). รายการ Wake up Thailand. สืบค้นจาก : http://shows.voicetv.co.th/wakeup-thailand/153855.html

[3] ด้านมืดของฝรั่งเศสกำลังทำลายสังคมฝรั่งเศสเอง(ออนไลน์). รายการ Perspective. สืบค้นจาก : http://news.voicetv.co.th/world/155160.html