บทสรุปเสวนา “รับรู้ เรื่องราวปาตานี ผ่านเลนส์พลเมืองไทย” ในความเห็น 4 นักกิจกรรม ต่างภูมิภาค

 

 

     อันสภาพการณ์ของสังคมปกติ การสูญเสียไม่ใช่เรื่องที่คนมีจิตใจใฝ่หาสันติ สงบสุข อยากให้เกิด แต่ดูเหมือนกำลังถูกทำให้เป็นเรื่องปกติภายใต้ม่านหมอกของความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ โดยมีชีวิตของคนธรรมดา สามัญ เป็นเดิมพัน

     สำหรับสถานการณ์เช่นนี้ ความเป็นจริงข้อหนึ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักคือ แม้นแต่ละคนจะมีหน้าตา ความคิด ความเชื่อ มุมมอง บทบาท หน้าที่ที่แตกต่างออกไป และมีสิทธิที่จะเลือกปฎิเสธการรับรู้  ไม่รู้สึกรู้สา ต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ หรือพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย แต่ในความเป็นคนที่มีสติปัญญาไม่ได้มีไว้แค่ห่อหุ้มเลือดเนื้อ และยังคงมีหัวใจข้างเดียวกัน คงมิอาจปฎิเสธได้ว่า “เรา” ในความหมายของความเป็นคน จะต้องเกี่ยวโยง ยึดโยง ผูกพันต่อกันและกันอยู่ เพื่อให้เขตแดนของความเป็นคน เขตแดนที่เป็นพื้นที่ร่วมกันของคนทั้งโลกไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง จะต้องถูกแบ่งแยกออกไป

    ดั่งกล่าวนี้ เป็นแก่นแกนสำคัญของความคิด ปาตานี ฟอรั่ม จนมาสู่การจัดเวทีเสวนา รู้จัก เรียนรู้ รับฟัง เข้าใจพื้นที่ของคนในสังคมโดยมีปาตานี/ชายแดนใต้เป็นตัวเล่าเรื่อง โดยที่ผ่านมา ปาตานีฟอรั่มยึดมั่น อย่างหนักแน่นต่อแนวความคิดดังกล่าว ผ่านการขับเคลื่อนแผนงาน กิจกรรม ประเด็นที่แปลก แตกต่าง หลากหลายเช่น เดียวกับเวทีเสวนาเมื่อไม่นานมานี้ในหัวข้อ “รับรู้ เรื่องราวปาตานี ผ่านเลนส์พลเมืองไทย” ภายใต้งาน “เรียนรู้บทเรียน สื่อภาคพลเมือง 5 ภูมิภาค สู่การสร้างสรรค์สังคม”  ณ โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี

    เวทีเสวนาออกแบบด้วยการเชิญวิทยากรที่เป็นคนทำงานเพื่อสังคมและเคยเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งจัดโดยปาตานี ฟอรั่ม ณ ภูมิภาคต่างๆ อย่าง อรรถพร ขำมะโน นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ วิทยา แสงระวี   เครือข่ายนักกิจกรรมภาคใต้ และ อะหมัด หลีขารี ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยทุ่งโพธิ์ พื้นที่เรียนรู้ของชาวบ้าน อ.จะนะ  สุดท้ายนักแปลวรรณกรรมการเมือง ภครวดี  วิระภาสพงษ์ ซึ่งทุกคนจะมามาสะท้อนแลกเปลี่ยนเรื่องปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ผ่านการมอง ผ่านการคิดของพลเมืองไทยทั่วไป เพื่อจะนำไปสู่การทบทวน เนื้อหา ความคิดที่ถูกสื่อออกไปสู่สาธารณะ ก่อนจะมามองไปข้างหน้าเพื่อแลกเปลี่ยนเนื้อหา ความคิด ใหม่ๆ ที่จะต้องสื่อต่อไป อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจต่อพลเมือง ที่ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งที่เกิดจากการห้ำหั่นโดยการใช้อำนาจ ความรุนแรง ของฝ่ายต่างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับประเด็นในการเสวนา วิทยากรและผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยใน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ

     ประเด็นที่ 1 การสื่อสารเรื่องราวของปาตานี/ชายแดนใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ มีความสำคัญอย่างไร

     ประเด็นที่ 2 ในมุมมองของคนที่อยู่นอกพื้นที่ การสื่อสารประเด็นดังกล่าวที่ผ่านมามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง แนวทางและเนื้อหาที่ปาตานี ฟอรั่ม หรือองค์กรสื่ออื่นๆ ได้สื่อสารต่อสาธารณะ เป็นอย่างไร

     ประเด็นที่ 3 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือเนื้อหาที่ควรจะสื่อสารเรื่องปาตานี/ชายแดนใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมไทยในห้วงเวลา บริบทปัจจุบันและอนาคต

    บทสรุปสำคัญ เกี่ยวกับประเด็นแรก เรื่อง การสื่อสารเรื่องราวของปาตานี/ชายแดนใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ มีความสำคัญอย่างไร วงเสวนา พบว่า การสื่อสารเรื่องราวปาตานี/ชายแดนใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจึงนำมาสู่การสนับสนุนการ และสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของฝ่ายต่างๆ อีกทั้งในความเป็นพลเมืองเดียวกันอยู่ การหนุนเสริมความเข้มแข็งอำนาจของภาคประชาชนเพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการปกครองที่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชนก็อ่อนแอ หรือแม้กระทั่งภาวะการเกิดความหวาดระแวง การแบ่งแยก จนนำมาซึ่งความเกลียดชัง และการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันทั้งในข้อกฎหมาย และการดำเนินชีวิตปกติทั่วไป

     ทั้งนี้บทเรียนที่ผ่านมา พบว่า การแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งทุกที่ทั่วโลก จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ และอำนาจของกลุ่มต่อต้าน ซึ่งหากมามองในมิติสังคมไทย คือ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนทุกคนอันยังคงยึดโยงกันอยู่โดย การปฎิสัมพันธ์ เขตแดน และข้อกฎหมาย ของความเป็นรัฐไทย ณ ปัจจุบัน

 

     

บทสรุปสำคัญ เกี่ยวกับประเด็นต่อมา เรื่อง มุมมองของคนที่อยู่นอกพื้นที่ต่อการสื่อสารประเด็นปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ผ่านมามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า

จุดแข็งของสื่อและเนื้อหาข่าวสารที่วงเสวนามองเห็น คือ

- เนื้อหา ข่าวสาร ปาตานี/ชายแดนใต้ เป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายประเภทนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม

- สื่อทางเลือกในพื้นที่ มีความเข้าใจเกี่ยวกับ ข้อมูล บริบท สถานการณ์ ได้ดีกว่าสื่อกระแสหลัก

- สื่อทางเลือกในพื้นที่ มีทิศทางในการทำงานร่วมกับคนทำสื่อกระแสหลัก ที่ดีขึ้น

- สื่อทางเลือกในพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญของการเข้าถึงแหล่งข่าวที่มาจาก ชาวบ้าน ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

- คนในพื้นที่มีจำนวนไม่น้อย ที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นนักสื่อสารผ่านวิทยุโดยใช้ภาษา ที่เข้าใจ เข้าถึง พลเมืองในพื้นที่ ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ สถานการณ์  ที่มีความตระหนักมากยิ่งขึ้น

- มีการสื่อสารทางตรง ด้วยการจัดเวทีเสวนา และวงคุยเล็กๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไปสนับสนุนบรรยากาศการเรียนรูอย่างต่อเนื่อง

- คนทำสื่อทางเลือกมีการพัฒนาการทำงานอยู่ต่อเนื่อง

จุดอ่อนของสื่อและเนื้อหา ข่าวสาร ที่วงเสวนามองเห็น คือ

- ความสนใจต่อเนื้อหาข่าวสารของสาธารณะชนโดยรวม ถูกทำให้มีความโน้มเอียงสนใจแต่เรื่องความรุนแรง

- เรื่องราวปาตานี/ชายแดนใต้ในรูปแบบข่าว ละคร สารคดี หรือการโฆษณา ยังมีให้เห็นอยู่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องราวที่มาจากภาคอื่นๆ

- สื่อกระแสหลักยังมีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับความอ่อนไหวของบริบท ปัญหา ของพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้

- คนในสังคมไทยเข้าถึงสื่อทางเลือกในพื้นที่ได้น้อยมาก สืบเนื่องจากไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีเอกลักษณ์ที่ดึงดูดความสน

- ความไม่เท่าทัน การทำข่าวเกาะติดประเด็นของสื่อทางเลือกในพื้นที่ คูขนานไปกับการทำงานข่าวเกาะติดประเด็นของสื่อกระแสหลัก ซึ่งจะมีผลต่อการเผยแพร่ข้อมูลหลายด้านต่อสาธารณะชน

- ความอ่อนด้อย ต่อการเชื่อมประเด็น หรือการจับมือเป็นเครือข่าย ระหว่างสื่อทางเลือก หรือประเด็นปัญหาอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะขยายประเด็น ข่าวพื้นที่การสื่อสารร่วมกันได้

- สื่อทางเลือกในพื้นที่ และสื่อกระแสหลักยังมีความอ่อนด้อยในการคิดประเด็น และการนำเสนอที่มีคุณภาพเพื่อตอบ โจทย์ความต้องการเข้าใจของสาธารณะชนโดยรวม

- สื่อทางเลือกในพื้นที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อเข้าใจความต้องการ ความอยากรู้ของสาธารณะชน

    สำรับบทสรุปสำคัญเกี่ยวกับเด็นสุดท้าย คือ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือเนื้อหาที่ควรจะสื่อสารเรื่องปาตานี/ชายแดนใต้  เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมไทยในห้วงเวลา บริบทปัจจุบันและอนาคตนั้น ดูเหมือนกับว่าจะต้องย้อนกลับไปดูจุดแข็ง จุดดอ่อน ที่กล่าวมาข้างต้น การย้อนกลับไปดูเพื่อที่จะจัดการจุดอ่อนที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็พัฒนาจุดแข็งให้ขยับไปข้างหน้าและมีความต่อเนื่อง

    ทั้งหมดคือ บทสรุปในวงเสวนาเพื่อชวนทบทวนเรื่องราวปาตานี/ชายแดนใต้ ที่เชื่อว่าเป็นการมองของผู้คนในสังคมไทย ก่อนที่คนทำสื่อจะกลับมาขยับ ขับเคลื่อน อีกสักตั้ง