ชนชั้นกลางไทย กับ ประชาธิปไตย

ชนชั้นกลางไทย กับ ประชาธิปไตย

 

ทำไมระบอบประชาธิปไตยไทยจึงไม่มั่นคง? ทำไมชนชั้นกลางไทยจึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “สภาประชาชน”และ “นายกพระราชทาน”? ทำไมคนกลุ่มนี้จึงโห่ร้องดีใจราวกับเป็นชัยชนะของประชาชนเมื่อเกิดการรัฐประหาร? และทำไมคนกลุ่มนี้จึงหวาดระแวงประชาธิปไตยหนักหนา? ทั้งๆที่ในอารยะประเทศการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้รับการยอมรับว่าเป็นระบอบการปกครองที่พึงประสงค์เพราะเป็นระบอบการปกครองที่ยึดหลักการประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ยกย่องคุณค่าและเคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์และเชิดชูหลักความเสมอภาคและเสรีภาพของมนุษย์ 

วิสุทธิ์ โพธิแท่น ได้กล่าวว่า “ระบอบประชาธิปไตยจะมีขึ้น ธำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองได้ในประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น คนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในประเทศนั้นจะต้องมีความต้องการประชาธิปไตย” เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย สมบัติ จันทรวงศ์ ได้สะท้อนให้เห็นผ่านการอธิบายมุมมองประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกระแสรองว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ได้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของรัฐบาลและประชาชนทุกหมู่เหล่าในประเทศไทย ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

"ประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกระแสรองซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์มองว่า ในขณะที่ชนชั้นนำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสยามสามารถดัดแปลงและประนีประนอมอิทธิพลและผลกระทบของอารยธรรมตะวันตกทั้งหลาย (เช่น ระบบกฎหมาย) ให้สอดคล้องกับคติและประเพณีเดิมได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นสิ่งที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับโลกทัศน์ไทยพุทธมากกว่าก็จะเป็นแบบตะวันตกอย่างแท้จริง คณะราษฎรกลับไม่สามารถทำให้แนวความคิดทางการเมืองและมโนทัศน์ว่าด้วยปัจเจกชนอันมีเสรีภาพและสิทธิตามธรรมชาติแบบของตะวันตกที่อาจก่อตัวขึ้นมาบ้างแล้วในบรรดาผู้ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่กลายเป็นฐานความคิดทางการเมืองและสังคมของสามัญชนได้เลย"

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นปัญญาชนคนสำคัญของชนชั้นนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสยามดังกล่าวที่มีอิทธิพลที่สุดในสังคมไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการดัดแปลงและประนีประนอมอิทธิพล และผลกระทบของอารยธรรมตะวันตกให้สอดคล้องกับคติและประเพณีเดิมของไทยผ่านการนิยาม “ความเป็นไทย” ที่เกิดจากการเลือกหยิบเอาชิ้นส่วนทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีอยู่แต่เดิม ขึ้นมาประดิษฐ์ตีความสร้างเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ในทิศทางที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ต้องการเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หลายประการที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่แนวคิด “การปกครองแบบไทย” ที่เข้ามาบดบังคุณค่าของแนวคิดประชาธิปไตยอย่างแนบเนียน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความคิดการเมืองของคนไทยในยุคนั้นสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังในการกดดันทางการเมือง และได้รับประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาของรัฐมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ถูกมองว่ายังคงอยู่อยู่ในวัฎจักร โง่-จน-เจ็บ                  

 แนวคิด “การปกครองแบบไทย”เป็นอย่างไร แนวคิด “การปกครองแบบไทย”นั้นมีหลักการสำคัญอยู่ว่า ระบอบประชาธิปไตยยังไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ดังนั้นการที่จะทำให้คนไทยพร้อม ย่อมต้องอาศัย“ผู้ปกครองที่ดี” ที่มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองภายใต้ “การปกครองแบบไทย” เพื่อพัฒนาให้คนไทยพร้อมก่อน ประเทศจึงจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ถาวรได้ “การปกครองแบบไทย” เป็นระบบการปกครองที่มีผู้นำซึ่งคนดี มีศีลธรรม มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดเป็นผู้ปกครองซึ่งเรียกว่า “ผู้นำแบบไทย” ภายใต้ระบบนี้ถือว่าทั้งผู้นำและประชาชนล้วนอยู่นอกพื้นที่การเมือง เมื่อผู้นำไม่ต้องเสียเวลากับการเมืองผู้นำก็จะสามารถอุทิศเวลาในการทำงานเพื่อชาติได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ประชาชนไม่ต้องกังวลแม้แต่น้อยว่าผู้นำจะใช้อำนาจในทางมิชอบ เพราะนอกจากการนับถือพุทธศาสนาจะทำให้ผู้นำมีศีลธรรมประจำใจแล้ว พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์ก็จะทรงกำกับดูแลให้ผู้นำปกครองอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรมเสมอ  แนวคิด “การปกครองแบบไทย” นี้ถูกรองรับด้วยความเชื่อทางสังคมที่ว่า สังคมที่ดี คือ สังคมที่มีการแบ่งงานกันทำตามสัมพันธภาพระหว่างคนในสังคมที่มีสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน ตามสิทธิ หน้าที่และความสามารถที่แตกต่างกัน ถ้าทุกคนในสังคมต่างทำหน้าที่ของตนด้วยความตั้งใจและรู้จักสถานภาพของตน ก็จะนำพาสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

การสร้างความเชื่อดังกล่าวสะท้อนผ่านการเน้น “ความเป็นไทย” ด้านต่างๆ เช่น การให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาที่ถูกต้องเหมาะสมแก่สถานภาพของคนในระดับชั้นต่างๆ เป็นต้น ความเชื่อในลักษณะนี้ ทำให้คนไทยยอมจำนนต่อการรวมศูนย์อำนาจภายใต้ผู้นำซึ่งจะช่วยให้สามารถทำการ “ปกครองแบบไทย” ได้อย่างสมบูรณ์ โดยประชาชนไม่มีสิทธิหรือส่วนร่วมใดๆ นอกจากความเชื่อทางสังคมดังกล่าวแล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังทำให้คนไทยยึดมั่นในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแบบเน้นโลกียธรรม(ไม่ใช่ทั้งหมดของศาสนาพุทธ) ซึ่งจะทำให้คนไทยมีลักษณะเป็นคนรักสงบ สามารถอดทนต่อความเดือดร้อนต่างๆ ได้มาก ยอมรับความไม่เท่าเทียมกันภายใต้คำอธิบายเรื่องกรรม มีความกตัญญูและเชื่อฟังผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะทำให้คนไทยที่มีคุณสมบัติต่างๆ ตามที่ระบบ “การปกครองแบบไทย” ต้องการ อย่างไรก็ดีแม้ปลายทางของแนวคิด “การปกครองแบบไทย”จะกล่าวถึง “ประชาธิปไตย”แต่ก็เป็นเพียงประชาธิปไตยในความหมายแคบเพียงแค่ประชาชนมีสิทธิเลือก “คนดี” มาเป็นผู้ปกครองเมื่อได้คนดีมาแล้วก็ปล่อยให้คนดีปกครองไปตามเห็นสมควร หากพบว่าผู้นำไม่ใช่ “คนดี” จริง ทางออกก็คือการเลือก “คนดี” คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนเพียงเท่านั้น 

แนวคิด “การปกครองแบบไทย”มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของชนชั้นกลางได้อย่างไร อิทธิพลดังกล่าวส่งผลทางการเมืองอย่างไร และสามารถตอบคำถามของบทความชิ้นนี้ได้อย่างไร นับตั้งแต่มีการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ใน พ.ศ.2502 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก จนทำให้ชนชั้นกลางในสังคมไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ต้องการควบคุมการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้อยู่ในกรอบ “ความเป็นไทย”ซึ่งรวมถึงแนวคิด“การปกครองแบบไทย” จึงพยายามขยายความรับรู้ของแนวคิดดังกล่าวสู่ชนชั้นกลางซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยที่จะกลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผ่านตาราเรียนต่างๆ และงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องและกว้างขวางที่สุด(ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำมาถึงปัจจุบัน) ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีอิทธิพลสูงในวงวิชาการ ในหมู่นักศึกษา และชนชั้นกลางไทย  การที่คนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ทางการเมืองน้อย และมีคติเรื่องการปกครองตื้นเขิน ประกอบกับการมีประสบการที่ดีกับการปกครองยุค “สฤษดิ์”ซึ่งเป็นผู้นำในอุดมคติภายใต้การปกครองแบบไทยทำให้พวกเขาถูกครอบงำจากคำอธิบายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้ง่าย

ดังนั้น เมื่อถึงกลางปี 2510 ชนชั้นกลางเหล่านี้ก็ถูกครอบงำให้มีวิธีคิดอยู่ในกรอบ “การปกครองแบบไทย” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อย่างมั่นคง  ความสำเร็จในการนิยามและปลูกฝังแนวคิด “การปกครองไทย” ดังกล่าวมีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเมืองในระยะต่อมาจนถึงปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การละเมิดกรอบผู้นำแบบไทย ของ “สามทรราช” เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนชั้นกลางสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่เมื่อรับรู้ว่านักศึกษากำลังเหินห่างจาก “ความเป็นไทย” จนอาจกระทำการที่เป็นอันตรายต่อ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” คนชั้นกลางเหล่านี้ก็ทอดทิ้งขบวนการ พร้อมกับต่อต้านและยอมรับการทำลายขบวนการนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยดุษณี

ต่อมาเมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมามีอำนาจและได้แสดงให้เห็นความเป็น “ผู้นำแบบไทย” ได้อย่างเต็มที่ สามารถแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมกับทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แม้จะเป็นการปกครองแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่คนกลุ่มนี้ก็พอใจและยินดีอยู่ในระบบนี้จนกระทั่งเข้าสู่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ซึ่งในช่วงเวลานั้นแนวคิดประชาธิปไตยของคนกลุ่มนี้ก็ยังคงติดอยู่ในความหมายแคบๆตามการอธิบายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ซ้ำร้ายกลุ่มคนกลุ่มนี้ยังมีความเชื่อตามท้องเรื่อง “นิทานการเมืองไทย” ซึ่งเป็นคำอธิบายปัญหาประชาธิปไตยไทยที่แพร่หลายท่อนขานกันติดปากทั่วไปในสังคม ซึ่งนิทานเรื่องนี้มีโครงเรื่องอยู่ง่ายๆ ว่า ตัวปัญหาของการสร้างประชาธิปไตยไทยก็คือการที่ “คนชนบทที่โง่ จน เจ็บ” สมคบคิดกับนักการเมืองใจบาป ก่ออาชญากรรที่เรียกว่า “การซื้อสิทธิ ขายเสียง” อนิจจาที่คนกลุ่มนี้มีจำนวนเสียงมากกว่าและครอบงำผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง ทำให้ “การเมืองไทยก็เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นเสื่อมทราม และไร้ศีลธรรม เสมอมา

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ พระเอกของเรื่องที่ถูกวางตัวให้รับบทเป็นอัศวินขี่ม้าขาว มากอบกู้สถานการณ์ ซึ่งก็คือกลุ่มที่ถูกเรียกขานว่า “คนดี” หรือ “ผู้นำแบบไทย” ซึ่งมีเพียงหยิบมือเดียวในกรุงรัตนโกสินทร์ “คนดี” หรือ “ผู้นำแบบไทย”กลุ่มนี้กอปรไปด้วยบารมี แสงสว่างทางปัญญา และศีลธรรมอันงดงามที่ยากจะพบได้ในคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงควรอยู่ในฐานะที่จะชี้แนะแนวทางนำพาประเทศให้พ้นภัยดังกล่าว ดังนั้น จากความเชื่อของชนชั้นกลางตามท้องเรื่อง “นิทานการเมืองไทย” นี้ ประกอบกับมีวิธีคิดตามกรอบ“การปกครองแบบไทย” จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ เรียกว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล” ครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย แม้ว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ตามแต่คนกลุ่มนี้ก็ยังคงติดอยู่กับความเชื่อแบบเดิม ดังเห็นจากการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเพียงเท่านี้ ผู้เขียนคิดว่าก็คงพอช่วยให้เกิดความกระจ่างได้บ้าง ไม่มากก็น้อยแต่คงไม่ใช่ทั้งหมด ว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยไทยจึงไม่มั่นคง ? ทำไมชนชั้นกลางไทยจึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “สภาประชาชน” และ “นายกพระราชทาน”?  ทำไมคนกลุ่มนี้จึงโห่ร้องดีใจราวกับเป็นชัยชนะของประชาชนเมื่อเกิดการรัฐประหาร ? และทำไมคนกลุ่มนี้จึงหวาดระแวงประชาธิปไตยหนักหนา ?

ตราบใดที่การพัฒนายังไม่บรรลุผลอย่างสมบูรณ์(ซึงอาจไม่มีวันนั้น) แนวคิด “การปกครองแบบไทย” ก็มักถูกใครบางกลุ่มหยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองอยู่ร่ำไป แล้วเมื่อไรประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคงสักที ?