รู้จัก พระครูพิพัฒน์เมธากร “สันติภาพปาตานีที่แตกต่างแต่มีจุดร่วม”

 

เหมือนเป็นแสงสว่าง ทางแก้ปัญหา เมื่อคำว่า “สันติภาพปาตานี” กำลังถูกหยิบยกมาสู่ข้อถกเถียง การพัฒนา หรือเงื่อนไขในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการที่จะทำให้สันติภาพปาตานีให้เป็นวาระของสาธารณะชนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าจะมีบทบาท หน้าที่ ความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่าง เกิดความตระหนัก ตื่นรู้ และมีเสรีภาพในความเป็นเจ้าของกับคำว่าสันติภาพปาตานี ในความหมายที่อาจแตกต่างแต่ยังคงมองเห็นจุดร่วมกันอยู่ 

เช่นเดียวกับ นายสุเมธ  จอมวิเชียร หรือ “พระครูพิพัฒน์เมธากร” เจ้าอาวาสวัดลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อครั้งปาตานี ฟอรั่ม ร่วมสนทนาพูดคุยด้วย เลือกที่จะอธิบายว่า สันติภาพ คือ สภาวะของความสุข สุขที่ไม่ได้เกิดจากการแย่งชิง สุขที่ไม่ได้เกิดจากการแสวงหาเพื่อยึดเกาะมาเป็นของตัวเอง แต่ในเชิงพุทธสันติภาพคือพ้นจากอำนาจการครอบงำด้วยสิ่งที่มันเลวร้าย จุดสูงสุดคือการปลดปล่อยตัวเองในทางพุทธ คือ นิพพาน ไม่ยึดเกาะ ไม่ยึดติด แต่ในแง่ของทัศนะคติของสังคม คือความสงบสุข ไปไหนไม่ต้องกังวล ไปไหนก็สบาย จะนั่งจะนอนพักโดยไม่กังวล แต่ในลักษณะของพื้นที่ทั้งสองฝ่าย ทั้งพุทธและอิสลามอยากจะเห็นในลักษณะที่พึ่งพากัน เวลามีงานก็ช่วยเหลือกัน 

“เหมือนในอดีตโดยไม่แบ่งว่าพุทธ-อิสลาม ในสมัยก่อนเวลามีเทศการ ก็พามะพร้าว ข้าวสารพาไปฝากกัน ส่วนในเรื่องของพิธีกรรมก็ให้แยกกันเป็นการให้เกียรติกัน ตอนนี้เรามีช่องว่าง เราขาดการปฎิสัมพันธ์ ถ้าเราทำกิจกรรมบ่อยๆก็จะเข้าใจกัน ต่างคนต่างเรียนรู้ขนบธรรมเนียมซึ่งกันและกัน”

พระครูพิพัฒน์เมธากร เดิมที ท่านมีรากเหง้าบ้านเกิดอยู่ที่ ต.บาโหย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ใช้ภาษาใต้ ภาษากลางในการสื่อสาร ขณะที่ภาษามลายูจะสามารถพูดได้นิดหน่อย แต่สามารถฟังเข้าใจได้มากกว่าพูด ปัจจุบันพระครูบวชมาแล้ว 30 พรรษา เริ่มบวชเมื่อตอนมีอายุได้ 21 ปี ขณะนี้ท่านมีอายุ 51 ปี ซึ่งห้วงที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 10 ปี ที่ผ่านท่านรำลึกถึงภาพการอยู่ร่วมกันในอดีตระหว่างพุทธและมุสลิมมลายู อยู่เสมอ 

ดั่งจะได้ยินหลายๆครั้งระหว่างการสนทนา ท่านมักจะเอ่ยแบบลอยๆ ว่าอยากเห็นภาพการอยู่ร่วมกัน อยากเห็นภาพเก่าๆ เมื่อครั้งสมัยอดีต พระครูพิพัฒน์เมธากร เล่าให้ฟังว่า ตอนสมัยเรียน เพื่อนในห้องดูจะเขินๆที่จะเข้าใกล้ แต่พอเรียนได้ปี กว่าๆ ใกล้จบ กลับสนิทกัน อย่างเพื่อนที่สายบุรีทำน้ำบูดูมาให้หลวงพี่ฉันท์ประจำ

ประวัติการศึกษาของท่านนั้น ท่านจบปริญญาตรี ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ วิทยาเขตนครศรีธรรมราช สาขาศาสนา ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญโท ที่วิทยาลัยอาชีวะศึกษา จังหวัดปัตตานี สาขารัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ก่อนมาเป็นเจ้าอาวาสวัดลำไพล 

พระครูพิพัฒน์เมธากร เริ่มเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่โดยมีจุดเริ่มต้น คือ ก่อนหน้านี้ท่านจะออกเดินสายบรรยายธรรมแก่กลุ่มเด็ก และเยาวชน ในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันโดยนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ แต่ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อปี 47 ด้วยความที่ท่านมีเพื่อนสนิท มิตรสหายเป็นมุสลิมมลายูหลายคน ประกอบกับความรัก ความผูกพัน ต่อชุมชนบ้านเกิดที่ผู้คนอยู่ร่วมอย่างเข้าใจกันท่ามกลางวิถีอัตรลักษณ์ที่แตกต่าง หลากหลาย 

อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ ความห่างเหิน การไปมาหาสู่ ความไม่เข้าใจ และความหวาดระแวงต่อก็เกิดขึ้น ความสุขสงบ อยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ เข้าอกเข้าใจ ก็ค่อยเหลือน้อยลง ท่านจึงมีประณิธานที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูความเข้าใจ ความผูกพัน ของผู้คนให้กลับมาอีกครั้ง โดยการสร้างพื้นที่การสื่อสาร การปฎิสัมพันธ์ เรียนรู้ระหว่างกัน อย่างต่อเนื่อง พระครูคิดว่า การที่ทำให้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้กันบ่อย จะช่วยฟื้นฟู ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ดีๆ กลับมาอีกครั้ง 

“การที่เราได้มีโอกาสมีกิจกรรม ทำร่วมกันทำให้เรา ค่อยๆสนิทกัน กิจกรรมที่น่าจะทำได้ คือ การที่โรงเรียนที่เราเรียนมาตั้งแต่เล็กๆแล้วค่อยมาแยกกันตอน มัธยม 1 อย่างน้อย 6 ปีอยู่ด้วยกันน่าจะดี แต่บางที่เขาแยกกันตั้งแต่อนุบาลบ้านทำให้แม้นจะอยู่ใกล้กัน แต่ก็ไม่รู้จักกันเลย แต่หากมีโอกาสเรียนด้วย แม้นจะต่างคนต่างแยกย้าย แต่พอมาเจอกันก็พอทำให้รู้จัก รู้ว่านี่คือเพื่อนเรา”

มาถึงวันนี้ ภารกิจของ พระครูเริ่มสัมฤทธิ์ผล พระครูบอกว่า ในรายการวิทยุที่กำลังทำอยู่ มีผู้ที่เข้าร่วมพูดคุยในรายการเป็นทั้งคนพุทธ และมุสลิมมลายู บางครั้งก็มีมาร่วมจัดรายการ มีงานอบรมที่เคยจัด ก็จะทำร่วมกับคณะกรรมมัสยิด เพื่อสร้างการเรียนรู้มิติทางศาสนา ระหว่างกัน ด้วยงานที่ทำอยู่ทำให้ได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ไปร่วมเสวนา บรรยาย ทำงานกับชุมชน ชาวบ้าน จนชาวบ้านเริ่มคิดว่า อยากมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น 

“ชาวบ้านบอกว่าเราจะหนีไปไหน เราต้องใช้วิธีการพูดคุยหันหน้าเข้าหากัน คนเราถ้ามีโอกาสได้เจอกันบ่อยๆก็จะมีการปรับ สิ่งที่สงสัยก็จะหมดเอง”

พระครูมองว่า แม้นสภาพ บริบทสังคม การเมืองจะมีความโน้มเอียงไปทางความเป็นมุสลิมมลายู สำหรับการอยู่กันนั้น คิดว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม ในวิธีที่มีความหลากหลายมันเป็นความสวยงามของสังคม เอกลักษณ์ของพื้นที่ ถ้าเรานำตรงนี้มาเป็นจุดเด่น ในทางศาสนา หลวงพี่คิดว่าไม่มีปัญหา สิ่งสำคัญคือ อย่าทิ้งศาสนา คนที่เที่ยวออกไปทางอื่นคนนั้นเหละจะมีปัญหา 

 

 

“อย่างเมื่อก่อน หลวงพี่และเพื่อนๆ โตมาด้วยกัน เขาก็จะรู้ว่าเวลานี้เขาจะทำอะไรจะได้ไม่ยุ่ง ถ้าเราอยู่ด้วยกันก็จะเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี ขณะเดียวกันในเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นภาษาในการสื่อสารกันได้ดีกว่า เพราะบางเรื่องที่เราสื่อภาษา อาจทำให้เข้าใจได้คนละความหมายทำ ให้ไม่เข้าใจกัน แต่ก็ต้องสร้างพื้นที่ให้เรียนรู้ภาษามลายูซึ่งกันและกัน” 

ส่วนเรื่องใครจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง หรือเป็นผู้นำในพื้นที่นั้น พระครูมองว่า จากความรู้สึกใครก็ได้ที่ทำเพื่อสังคม ไม่ใช่ทำงานเพื่อพรรคพวก ไม่ว่าจะเป็นพุธหรือิสลาม ก็หาจุดจบไม่ค่อยลงตัวเท่าไร แต่ถ้าเพื่อสังคมไม่มีปัญหา แต่หากเป็นคนมุสลิมมลายูในพื้นที่ ก็ดีอย่างหนึ่งที่เป็นคนในพื้นที่ จะได้รู้ตื้น ลึก หนา บางข้างใน สามารถปกครองได้อย่างเข้าใจ

แม้นพระครูจะมีอายุมากแล้ว ซึ่งทำให้ท่านเริ่มเหนื่อยล้า กับการเดินทางเพื่อสร้างกิจกรรม ไปบรรยายธรรมเพื่อให้คนพุทธเข้าใจ แต่ด้วยปณิธานของท่านที่ตั้งไว้ ทำให้ท่านไม่เคยรู้สึกย่อท้อกับภารกิจที่ทำอยู่ พระครู เผยความรู้สึกให้ฟังว่า แม้นจะยาก แต่ก็จะไม่ย่อท้อง่ายๆ 

“ถ้าเราท้อ คนอื่นๆที่คิดแบบเราก็ไม่มีใครทำภารกิจนี้ แล้วเด็กรุ่นหลังๆจะเป็นอย่างไร แต่หากเราทำ คิดแบบนี้แล้วถ้าเด็กรุ่นหลังๆคิดแบบเรา ก็จะเป็นเรื่องดี หากทุกคนไม่ทำแล้วใครจะทำ หลวงพี่มีทัศนคติว่า ในเมื่อเราอยากจะให้มีสิ่งดีๆเกิด ก็ให้นับหนึ่งจากตัวเรา แล้วสองก็จะตามมาเอง เกิดมาทั้งที่ก็อยากให้สร้างประโยชน์กับโลกนี้บาง”

ปัจจุบันท่านมีบทบาทสำคัญในสนามสันติภาพ นั่นคือ การเป็นนักจัดรายการวิทยุ “บอกกล่าว เล่าขาน” เป็นรายการที่มุ่งเน้นการติดตามข่าวสาร สถานการณ์บ้านเมือง และพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้ ที่คลื่นความถี่ FM 104.74 MHz  โดยนำหลักธรรมมาอธิบาย วิเคราะห์ สถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนัก ได้ข้อคิด และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่เวลา 22.00-23.00 ทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ภายใต้สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติอำเภอเทพา และยังมีรายการอื่นๆ ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการร่วมกว่า 10 คน มีเครื่องส่งสัญญาณ 1,500 วัตต์ สามารถส่งสัญญาณ 50 กิโลเมตร และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่กำลังถ่ายทอดปณิธานของพระครูพิพัฒน์เมธากร 

ปณิธานที่มีความหวังถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ให้เกียรติ แม้นจะต่างความคิด ความเชื่อ กันก็ตาม..