ห้วยน้ำแก้ว : สุขสงบวิถีมุสลิมกว่า 40 ปี ในวงล้อมหุบเขาพนมเบญจา

                                      

ถนนสองเลนผิวเรียบ ขรุขระ เป็นระยะๆ บนเส้นทางลดหลั่นสูงต่ำ รายล้อมด้วยหุบเขา ป่าดิบชื้น และพฤกษ์สวน ป่าไร่ของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ห่างๆ  แต่พอแลเห็นรถยนต์แล่นสวนกันไปมา  เป็นเส้นทางระหว่างทางเข้าหมู่บ้านของตำบลหน้าเขา อ.เขาพนม จ.กระบี่  ใครจะคาดคิดว่าจะได้ยินเสียงบางอย่างอันดูเหมือนเสียงสวดของคนมุสลิม แว่วดังผ่านเครื่องขยายเสียงมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลหน้าเขาที่เหมือนจะมีแต่ชุมชนพุทธล้วน ทั้งๆที่บริบทในพื้นที่ไม่มีวี่แววที่เผยให้เห็นว่าจะมีคนมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานอยู่  เสียงสวดดังชัดขึ้น เมื่อถนนพาเข้าไปจนถึงสุดเส้นทาง ซึ่งพบหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลหน้าเขา โดยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากถนนสายหลัก เกือบ 20 กิโลเมตร

“อัลเลาะฮูอักบัร อัลเลาะฮูอักบัร อัลเลาะฮูอักบัร วาลิ้ลลาอิลฮัมด….” .เป็นเสียงกล่าวสรรเสริญพระเจ้าของคนมุสลิม มีความหมายว่า อัลเลาะฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่  อัลเลาะฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ และแด่พระองค์เท่านั้นที่เราควรกล่าวสรรเสริญ   เสียงการสรรเสริญยังคงดังก้องทุกๆ ครั้งในชุมชนห้วยน้ำแก้ว ของวันฮารีรายออิดิ้ลฟิฎรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวันรายอออกบวช อันเป็นการเริ่มของวันที่บ่งบอกถึงความพิเศษกว่าวันใดๆ

วันนี้ทุกบ้าน จะแลเห็นสมาชิกทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ สวย ตามวัฒนธรรมอิสลาม กำลังมุ่งหน้าไปยังมัสยิดเล็กๆใจกลางหมู่บ้าน เพื่อร่วมละหมาดฮารีรายออีดิ้ลฟิฎรี หรือละหมาดอีดโดยเฉพาะผู้ชายมุสลิม เป็นการร่วมกันแสดงออกถึงการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าอันเนื่องจากความโปรดปราณที่พระองค์ให้ศาสนิกชนสามารถปฎิบัติภารกิจลุล่วงมาได้อย่างราบรื่นในห้วงของเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา

ต่อมากิจกรรมหลังการร่วมละหมาดอีดของชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้คือ การร่วมเลี้ยงฉลองพร้อมกัน ณ ลานบริเวณมัสยิด ซึ่งในรายอปีนี้ สำรับอาหารที่จัดเตรียมไว้เลี้ยงเป็นแกงเป็ด  ข้าวสวย ตามด้วยผลไม้จากไร่สวนในชุมชน กิจกรรมครั้งนี้เกิดจากการความร่วมมือ แบ่งงาน เรี่ยรายงบประมาณ และบริจาค กันเองภายในชุมชนที่หาได้ไม่ยากนัก กิจกรรมร่วมเลี้ยง ฉลองสังสรรค์ตามแบบฉบับชาวบ้าน สิ้นสุดในห้วงสาย  อันเป็นห้วงที่นำพาแสงแดดจ้ามาพร้อมกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จนทำให้อยากกลับไปอาบน้ำที่บ้านอีกรอบ

                อย่างไรก็ตามอากาศอันร้อนอบอ้าวในช่วงสายหลังกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อภารกิจต่อไปของคนในชุมชน นั่นคือการไปเยี่ยมเยียนสุสานกลางทุ่งสาธารณะของชุมชน ซึ่งจะเห็น ลูก หลาน ญาติพี่น้อง ถางหญ้า ถางไม้ ที่ปกคลุมสุสาน ขณะเดียวกันก็มีการอ่าน บางบท บางตอนในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่คนมุสลิมทั่วโลกต้องศรัทธาว่าเป็นธรรมนูญของชีวิต ก่อนจะขอพรจากพระองค์อัลเลาะฮ์เพื่อประทานความดีงามต่อผู้สูญเสีย เป็นการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่งคนคนมุสลิมในชุมชนแห่งนี้ นอกจากนี้การเยี่ยมเยียนสุสานนั้นยังมีความหมายถึงการที่ผู้มาเยี่ยมเยือนได้คิด ทบทวน ใคร่ครวญถึงห้วงชีวิตของตนเองเมื่อขณะการใช้ชีวิตที่ผ่านมา  เป็นภารกิจที่ทำให้แต่ละคนมีจิตใจสงบได้เป็นอย่างดี

 กิจกรรมในชุมชนแห่งนี้สิ้นสุดด้วยการที่คนในชุมชนแยกย้ายไปเยี่ยมเยียน ญาติพี่น้อง นำขนม ของฝาก แบ่งปันซึ่งกันและกัน บ้างก็เดินทางออกต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นรากเหง้าของคนในชุมชนแห่งนี้

                กิจกรรมในวันฮารีรายออิดิ้ลฟิฎรีของชุมชนแห่งนี้ เป็นไปอย่างราบเรียบตามวิถีที่ควรจะเป็นไปดั่งเช่นชุมชนมุสลิมอื่นๆ ไม่มีอะไรที่แตกต่างออกไปมากนัก แต่ที่สิ่งที่อาจเป็นเรื่องแตกต่าง คือการใช้ความพยายามเพื่อปกปักษ์รักษาวิถีไว้ท่ามกลางความเป็นสังคมพุทธในแถบนั้น

อย่างไรก็ตาม ดั่งที่พรรณนามาข้างต้นก็ยังไม่ใช่สิ่งที่อยากจะชวนผู้อ่านร่วมกันตื่นรู้ แล้วอะไรที่เป็นเสน่ห์ เป็นสิ่งอันน่าสนใจ หรือข้อคิด ที่เรื่องเล่าชิ้นหนึ่งอยากจะนำเสนอดั่งเช่นเรื่องเล่าทั่วๆไป คงไม่ใช่บรรยากาศ บริบทที่ชี้ชวนอยากให้ผู้อ่านไปท่องเที่ยว ไม่ใช่วิถีกิจกรรมชุมชนของบ้านห้วยน้ำแก้วเพราะกิจกรรมเหล่านั้นก็ไม่ต่างกับกิจกรรมชุมชนมุสลิมอื่นๆ หรือจะเป็นเรื่องของการดำรงอยู่ของชุมชนเล็กๆในแวดล้อมไกลปืนเที่ยง ทั้งหมดนี้อาจจะมีความใกล้เคียงแต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เรื่องเล่าพยายามจะชี้ชวนให้มองเห็น ตื่นรู้ ตื่นคิด ซึ่งภายหลังจากนี้ต่างหากที่เรื่องเล่ากำลังจะพาไปค้นหาสิ่งที่ช่อนอยู่

ขอเริ่มต้นเรื่องเล่าต่อเนื่องโดยการทำความรู้จักชุมชนห้วยน้ำแก้วเพิ่มมากขึ้นดั่งจะกล่าว คือ ชุมชนห้วยน้ำแก้วเป็นชุมชนมุสลิมที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย อาจไม่รู้จักมากนัก แต่เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ดินถล่ม น้ำท่วมใหญ่จังหวัดกระบี่ที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงปลายเดือน มีนาคม ปี 54  ซึ่งทำให้หลายอำเภอประสบปัญหาอย่างหนัก  โดยเฉพาะเขตอำเภอเขาพนมที่ได้รับผลกระทบจนสร้างความสูญเสียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่แถบนี้

ขณะนั้นชุมชนห้วยน้ำแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ต้องประสบกับดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 20 หลัง โดยเฉพาะบ้านเรือนรอบนอก  ดินโคลนทับถนนหลายจุด และกระแสน้ำท่วมสะพานทางเข้าหมู่บ้าน ระดับน้ำสูงประมาณ 1-2 เมตร รถยนต์ไม่สามารถผ่านไปมาได้  จนชาวบ้านต้องอพยพหลบภัยที่โรงเรียนบ้านห้วยน้ำแก้ว  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นถูกนำเสนอผ่านสื่อแขนงต่างๆ ทำให้ชุมชนมุสลิมบ้านห้วยน้ำแก้วจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

                                    

                ชุมชนห้วยน้ำแก้ว ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลหน้าเขา อำเภอเขาพนม  อยู่ลึกเข้าไปห่างจากถนนสายหลักเข้าไปเขตป่า เขา  เกือบ 20 กิโลเมตร สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมอยู่กันแบบเกาะกลุ่ม มีบ้านชาวพุทธอยู่บริเวณรอบนอก ชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างจะมีฐานะดีแต่อยู่ใช้ชีวิตค่อนข้างอยู่อย่างพอเพียง มีการปลูกพืช กรีดยาง ปลูกสวนปาล์ม และสวนผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อสร้างรายได้  นอกจากนี้มี เลี้ยงสัตว์ พืชสวนครัวเพื่อใช้เอง โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่และวัว ที่ค่อนข้างหาได้ยากในท้องตลาดใกล้ชุมชน เพราะเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของศาสนาอิสลาม ทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ ชาวมุสลิมในหมู่บ้านค่อนข้างจะรักษาวิถีมุสลิมได้เป็นอย่างดี มีมัสยิด 2 หลัง มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเล็กๆอยู่ 1 แห่ง

                ด้วยเหตุผลบริบทชุมชนที่รายล้อมด้วยชุมชนพุทธอยู่ลึกเข้าไปในป่า มีถนนตัดเข้า ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์อย่างยิ่ง เสน่ห์ของการอยู่ร่วมด้วยการเคารพ เข้าใจ ให้เกียรติระหว่างกัน ทำให้ความตั้งใจของการรักษาวิถีอัตรลักษณ์ความเป็นมุสลิมเลยไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับชุมชนแห่งนี้  ภาพของการไปมาหาสู่ กิจกรรมความร่วมมือ หาได้ไม่ยากนัก แม้นที่นี่ผู้นำทางการจะเป็นคนพุทธ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน เพราะผู้นำเหล่านั้น พร้อมรับฟัง และให้คนมุสลิมห้วยน้ำแก้วมีบทบาทในการจัดการชุมชนตนเอง อันกลายเป็นเรื่องปกติของที่นี่

ที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าการจัดการการอยู่ร่วมกันและสร้างความเข้าใจส่งทอดต่อๆกันมาจะเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ แต่ด้วยบทเรียนที่ผ่านมาของการสร้างชุมชนแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต ผู้เฒ่า ผู้แก่ที่นี่นั่นเอง ที่ทำให้ปัจจุบันชุมชนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ ยังคงรักษาความสงบสุข ผูกพัน เข้าใจซึ่งกันและกันเรื่อยมา

                ครั้นจะเล่าเรื่องราวการจัดการเพื่อจะชี้ให้เห็นบทเรียนการอยู่ร่วมกันที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นแรกๆ จนมาถึงปัจจุบัน จำเป็นต้องเท้าความไปเมื่อการก่อตั้งชุมชนเมื่อ ปี พ.ศ.2516 โดยเสียงจากพื้นที่ของคนในรุ่นก่อตั้งชุมชนเล่าให้ฟังนั้นสรุปได้ว่า ในช่วงระหว่างปีดังกล่าวด้วยสถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวาย กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวตามชนบท ที่ไม่ได้เห็นว่าการเมืองช่วยให้เรื่องปากท้องดีขึ้นได้ การอพยพถิ่นฐานเพื่อหาที่ทำกินใหม่ๆจึงมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติในห้วงสมัยนั้น

 เช่นเดียวกับผู้เฒ่า ผู้แก่จากชุมชนห้วยน้ำแก้ว ที่ในอดีตคือคนหนุ่ม คนสาว ชาวตังเก ซึ่งอพยพมาจากหมู่บ้านริมชายทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่การทำประมงเรือเล็กตามวิถีชาวเล ไม่สามารทัดทานต่อการกวาดต้อนกุ้ง หอย ปู ปลา อันเป็นคลังอาหารเลี้ยงชีพของชาวบ้านโดยประมงขนานใหญ่ของนายทุนเรือลาก เรือรุนได้ ทำให้การดิ้นรนเพื่อหาที่ทำกินใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น

ชาวเลจากเมืองนครศรีฯ ต้องอพยพเดินทาง ผ่านป่าเขา มุ่งสู่ ตำบลหน้าเขา ที่ยังคงเป็นป่าดิบชื้น รายล้อมด้วยเทือกเขาพนมเบญจา ซึ่งมีบ้านคนไม่กี่หลัง คือทำเลที่หมาย ที่ดีที่สุดเท่าที่จะพึ่งพิง และตั้งถิ่นฐานเพื่อการเริ่มต้นสร้างอนาคตได้ ทั้งนี้ด้วยการอุปกระคุณ จากผู้มีบารมีชาวไทยพุทธคนหนึ่งในท้องที่ประกอบกับการอยากเห็นที่ดินใกล้บ้านตนเองอันเต็มไปด้วยป่าดงดิบได้รับการพัฒนา ทำให้ต่อมาเกิดเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีบ้านคนมุสลิมไม่กี่หลัง มีมัสยิดที่ทำด้วยไม้ไผ่ยกสูง แสงสว่างจากตะเกียงในยามพลบค่ำคือความอุ่นใจเดียวที่ทำให้หลับสนิท ซึ่งขณะนั้นการเริ่มต้นชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีเส้นทางเดิน มีแต่ป่าดง ลำธาร เนินเขา และสัตย์ป่า หลากหลายชนิดที่เป็นทั้งอาหาร เป็นทั้งรายได้ ขณะเดียวกันก็เป็นอันตรายที่ทุกคนต้องช่วยเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานชุมชนห้วยน้ำแก้วของชาวบ้านในยุคแรกๆ วิถีการใช้ชีวิต การบุกเบิกชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย ความหวัง ความรู้สึกมั่นใจที่จะอยู่อย่างถาวรแทบจะมีน้อย เพราะด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปจากผู้คนและด้วยวิถีมุสลิมที่จะมีความอุ่นใจกว่าเมื่ออยู่เกาะกลุ่มกันหลายคน แต่เมื่อเลือกที่จะอพยพมาแล้ว ประกอบเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ทำให้ชีวิตที่จะก้าวต่อไปเริ่มมีความหมายมากยิ่งขึ้น

แม้นการดิ้นรนเพื่อปากท้องและการใช้ชีวิตจะมีความยากลำบากเพียงใด แต่สำหรับมุสลิมห้วยน้ำแก้วแล้ว สิ่งที่เป็นความกังวลใจที่สุดคือ การรักษาวิถีของความเป็นมุสลิมที่ดีให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า ดังนั้นการอพยพในช่วงแรกๆ สิ่งสำคัญที่เป็นการแสดงออกเชิงรูปธรรมในการเป็นชุมชนมุสลิม คือ การสร้างมัสยิด มัสยิดถูกสร้างด้วยความร่วมไม้ ร่วมมือของทุกคน มัสยิดที่เริ่มต้นจากมีคนละหมาดเพียงไม่กี่คน มัสยิดที่ยังเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยของผู้ที่อพยพย้ายเข้ามา

 

ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ชุมชนห้วยน้ำแก้วจะมากลับเล่าต่อให้จบในตอนต่อไป เร็วๆนี้