ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ?

 บทบรรณาธิการวารสารฉบับที่ 7

ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ? 

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

 

ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และกรุงเทพฯ คงเป็นความรุนแรงที่ไม่มีใครสามารถยอมรับได้ ในฐานะเราเป็นคนเหมือนกัน ประกอบกับเหยื่อความรุนแรงที่เป็นเด็ก ฉะนั้นไม่ว่านับถือศาสนาพุทธหรืออิสลาม ไม่ว่าจะเป็นผู้รักชาติหรือพวกแยกดินแดน ไม่ว่าคนใส่เครื่องแบบหรือพลเรือน น้ำตาของพวกเขาเป็นสีเดียวกัน คือสีแห่งความเจ็บปวดจากการสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืนกลับมา เพราะสังคมการเมืองไทยได้พรากอนาคตของสังคมไปอย่างเลือดเย็น

 

ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังสือ "ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน" (The Alchemist) เขียน ปาโล โคเอโย  แปล ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่องราวในหนังสือThe Alchemist ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มเลี้ยงแกะนาม Santiago ผู้ซึ่งฝันที่จะได้เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ตามความปราถนา แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบกับลางบอกเหตุบางอย่าง ที่ทำให้เขาเดินออกไปค้นหาความฝันที่แท้จริงของเขา พร้อมกับชะตากรรมที่ถูกขีดขึ้นใหม่เพื่อให้เขาได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของมนุษย์ ซึ่งนั่นทำให้เขาได้ออกเดินทางจาก Spain มุ่งหน้าสู่ Egypt ผจญภัยในดินแดนแห่งทะเลทรายก่อนจะได้พบกับนักเล่นแร่แปรธาตุ

 

แก่นหลักของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวเหนือธรรมชาติแต่อยู่ที่การค้นหาสิ่งที่เรียกว่า “ความฝัน” และการเดินทางเพื่อไปไขว่คว้ามัน โดยระหว่างทางนั้นเอง หัวใจของผู้เดินทางก็จะถูกทดสอบด้วยสิ่งต่าง ๆ และผู้ที่เอาชนะได้ก็จะพบกับหลักชัยที่มีค่ายิ่งกับชีวิตของเขาเอง เช่นเดียวกับ Santiago ที่เดินทางเพื่อตามหา “Treasure” (สมบัติ) อันถูกระบุว่ารอเขาอยู่ที่พีระมิด ซึ่งแม้จะมันจะถูกระบุว่าเป็นสิ่งของแบบรูปธรรม แต่ระหว่างทางนั้นเขาก็ได้เรียนรู้และค้นพบสมบัติที่ล้ำค่ามากกว่าด้วยซ้ำ

ท่ามกลางความรุนแรงที่พรากชีวิตเด็กนั้นได้ทำลายอนาคตของสังคมและสร้างเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรงแบบใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความชินชา" ต่อความรุนแรงที่กระทำต่อเด็ก และเป็นความ “เคยชิน” ที่มองไม่เห็นอนาคตอันใฝ่ฝัน

คำถามจึงมีอยู่ว่า ขุมทรัพย์ของพวกเราในสังคมคืออะไร  เราจะเดินทางไปถึงปลายทางกันหรือไม่ และระหว่างการเดินทางของคนในสังคมที่ต่อสู้ทางการเมือง เราพอยังจะเหลือที่ทางและขยับขยายพื้นที่ความปลอดภัยให้แก่เด็กๆ พอที่จะเดินทางไปหาฝันของพวกเขา ก่อนที่พวกเขาจะต้องมาจบชีวิตด้วยความใฝ่ฝันสังคมโรแมนติกของนักปฎิวัติ/ปฎิรูป ที่ไม่เหลือหลักการและมรดกอันดีที่พอจะเป็นวิธีการอยู่ร่วมกันของเด็กๆในอนาคต

ความจริงที่เจอตอนนี้คือ นักปฎิวัติ/ปฎิรูป ได้ทิ้งซากปรักหักพังของหลักการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและขัดแย้งกันแบบไม่ฆ่า ของมนุษยชาติที่เราผ่านมาการเรียนรู้ผลของความรุนแรง สงครามของโลก ที่พร่าชีวิตคนจำนวนมาก จนมาถึงการสร้างหลักการของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างของกันและกัน เพื่อหาข้อยุติของการอยู่ร่วมกันแบบไม่ฆ่า 

วารสาร ปาตานี ฟอรั่ม ฉบับนี้ ก็ขอเปิดฉากบทแรกด้วยคำแถลงการณ์ประณาม ความรุนแรงที่มีต่อเด็ก และขอร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงทางการเมืองที่ส่งผลต่อนาคตของเด็กทุกรูปแบบ จึงขอส่งสารถึงนักปฎิวัติและปฎิรูปทั้งหลาย  

ด้วยมิตรภาพ

เอกรินทร์ ต่วนศิริ