“Hate-speech” กับ การรับมือ และเฝ้าระวัง ตอนที่ 2

“Hate-speech” กับ การรับมือและเฝ้าระวัง ตอนที่ 2

กองบรรณาธิการปาตานี ฟอรั่ม

 

Hate-speech : ข้อมูลอันตราย ความรู้ ความลับ ข่าวลือ การตอบโต้ทางการเมือง เริ่มเป็นที่เข้าใจกันแล้วในเบื้องต้นจากตอนแรก ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องสาธยายให้ยืดยาวอีกในตอนที่สองนี้อย่างไรก็ตามก็ตาม Hate-speech ตอนที่หนึ่งได้ทิ้งท้ายไปว่า “จำเป็นที่เราต้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้อย่างรีบด่วน” ดังนั้นในตอนที่สองนี้ จึงเป็นเรื่องของการรับมือ เฝ้าระวังต่อปรากฏการณ์ Hate-speech โดยจะขอเริ่มต้นด้วยการอารัมภบทว่า เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์ความเป็นจริงทุกวันนี้ Hate speech กำลังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่า เรื่องนี้ค่อนข้างจะมีความอ่อนไหวต่อสังคมไม่น้อย ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจการรับมือ

สำหรับประเด็นนี้ ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำการเสวนาครั้งนี้ เผยว่า โดยปกติแล้วผู้คนมักคิดถึงวิธีการตอบสนองกับสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและอินเทอร์เน็ตไปในทิศทางที่วง Café ได้พูดคุยกันไป แต่จากการศึกษาวิจัยเรื่องนี้พบว่ามี วิธีที่น่าสนใจอยู่ 2 วิธี

วิธีแรก คือ การตอบโต้ผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารนั้นๆด้วยความรุนแรงทางกายภาพ  วิธีที่สอง

คือ การเซ็นเซอร์ปิดกั้นแหล่งผลิตหรือช่องทางการเผยแพร่การแสดงความคิดเห็นหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นๆลงเสีย

“สำหรับข้าพเจ้าแล้ว วิธีแรกมีแต่จะยิ่งทำให้เกิดวงจรการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมาอย่างสืบเนื่อง ส่วนวิธีการที่สองนั้น นอกจากเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว

ยังทำให้ชุมชนการเมืองหนึ่งๆถูกพาไปในอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างออกไป เป็นโลกเต็มไปด้วยการลงทุนลงแรงทรัพยากรความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการตรวจจับ เซ็นเซอร์ รวมถึงการต่อต้านการเซ็นเซอร์

ดร.ชาญชัย บอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้โต้แย้งว่า วิธีการตอบโต้ hate speech มีได้มากกว่าเพียงแค่สองทางเลือกนี้ สำหรับเรื่อง hate speech ผมเสนอว่าอย่างน้อยยังมีอีก 3 ทางเลือกในการตอบโต้ คือ

ทางเลือกที่หนึ่ง สำคัญที่สุด คือ ปฏิบัติการที่เรียกว่า "Counter Speech" ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม ตรวจสอบ ย้อนโต้กลับ ต่อ hate speech รวมถึงการสร้างเวทีสาธารณะ ซึ่งข้อความโจมตีให้ร้ายและบิดเบือนทั้งหลาย จะถูกโต้แย้งลงรายละเอียดเป็นรายประเด็นๆ พร้อมด้วยหลักฐานข้อเท็จจริงสนับสนุนต่างๆ เพื่อยกระดับทางปัญญาและความรับรู้โลกของสาธารณะให้สูงขึ้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็น "สัจจะที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์" (dogma)สำหรับผู้ยึดมั่นในหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเราไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน เด็ดขาด ตายตัวว่าการแสดงออกของใครเป็นทัศนะที่ผิดพลาดบ้าง ดังนั้น แม้แต่ทัศนะที่ผิดพลาดก็ควรมีส่วนร่วมอยู่ใน "ตลาดเสรีทางความคิด" (freemarket of ideas) ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การจับกุม/ปิดกั้น/เซ็นเซอร์ hate speech จึงเท่ากับทำให้หนทางในการแสวงหาความจริงถูกทำลายไป เพราะเป็นการทำให้ความเห็นที่ผิดพลาดต้องเงียบลง หรืออีกนัยหนึ่ง เท่ากับเป็นการนิ่งเงียบต่อความเห็นที่ผิดพลาดซึ่งจะนำไปสู่ภาวการณ์เชื่ออย่างไร้เหตุผลได้

อย่างไรก็ตาม วิธีการของ counter speech ซึ่งมีรากฐานมาจากผู้ยึดมั่นในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (free speech) นั้น จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานคิดที่กำกับไว้อีกชั้นหนึ่ง คือเราต้องแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎกติกาพื้นฐานระดับต่ำสุดบางอย่างที่ยอมรับร่วมกัน เช่น ไม่ส่งเสริมให้เกิดการทำร้ายกัน ซึ่งสำหรับผม คือเป็น do harm speech เป็นต้น John Stuart Mill เองเคยพูดถึงหลัก Do No Harm Principle ไว้ในงานสำคัญเรื่อง On Liberty ที่เป็นฐานเรื่องเสรีภาพที่ใช้กันมาจนปัจจุบันหลักนี้คือขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเราสิ้นสุดลงตรงที่การเรียกร้องให้เกิดการทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงทางกายภาพของผู้อื่น

ทางเลือกที่สอง การป่วนทางวัฒนธรรม (Culture Jamming) เป็นการเปลี่ยนความหมายของสัญญะที่มีการแสดงออกอยู่มากมาย จนเกลื่อนกลาด ให้กลายเป็นความขบขันหรือกลายเป็นความหมายแบบที่เราอยากสื่อสารได้เช่นกัน ดังกรณีที่เมื่อคนเบื่อการเมืองมากๆ ก็มีการตั้งเฟสบุ๊ค "พรรคเพื่อเธอ" "พรรคภูมิใจเธอ" เพื่อล้อเลียน "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคภูมิใจไทย" เป็นต้น รวมถึงโปสเตอร์อย่าปล่อยให้สัตว์การเมืองเข้าสภา ที่พธม.เคยทำขึ้น เพื่อล้อเลียนสัญญะอันมากมายมีอยู่อย่างเกลื่อนกลาดของนักการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง เป็นต้น เราสามารถใช้ทางเลือกการแสดงออกเช่นนี้ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเราได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกซึ่งความเกลียดชัง

ทางเลือกที่สาม การทะลุความเกลียดชังออกไป โดยใช้วิธีการที่เรียกเป็นศัพท์เทคนิคได้ว่า Transformation ข้อนี้ยากหน่อย เพราะต้องใช้จิตใจที่เข้มแข็ง มีวุฒิภาวะ ไม่ด่วนตัดสินใครง่ายๆและต้องเข้าใจพื้นฐานของความเกลียดชังทุกชนิดว่าเป็นผลมาจากความกลัว ความไม่ไว้วางใจ ของผู้ที่แสดงความเกลียดชัง ทั้งที่เป็นความกลัวเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน หรือกลัวว่าสิ่งที่เรารักเคารพเทิดทูน จะถูกทำร้าย เป็นต้น  ดังนั้น วิธีที่จะทะลุความเกลียดชังไปได้ จึงต้องแสดงให้เห็นว่า เราไม่มีพิษมีภัย เราไม่ทำร้ายใคร เราพูดคุยกันได้กับทุกฝ่ายและโดยเฉพาะฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย เราเคารพให้เกียรติในกันและกันในฐานะมนุษย์ เราตั้งใจและจริงใจที่จะพยายามทำความเข้าใจความคิด จิตใจ ความรู้สึกของท่าน  เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปในสถานที่แห่งนี้ ในสังคมแห่งนี้ ได้ในอนาคต  เมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครทำแบบนี้มากนัก เท่าที่เห็น ก็มีกลุ่มเพื่อนรับฟังเพียงกลุ่มเดียวที่ทำ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนอยู่มาก

ทั้งหมดคือสาระสำคัญเกี่ยวกับเรือง Hate speech ที่วงPatani café ครั้งนี้ คาดหวังอยากให้มีการขยายความเข้าใจต่อ โดยใช้ช่องทางที่ Hate speech กำลังหลังไหลอยู่ขณะนี้…