แดนสาหรี่ในทัศนะข้าพเจ้า (ตอน ๑)

แดนสาหรี่ในทัศนะข้าพเจ้า (ตอน ๑)

     อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

ในหนังสือ A History of Muslim Philosophy ของ M.M. Sharif ได้นำเสนอเกี่ยวกับ อิบนุ ซินา (Avicenna) นายแพทย์นักปรัชญาอิสลามในช่วงคริสตศักราช ๙๘๐ – ๑๐๓๗  โดยนักคิดผู้นี้ได้กล่าวว่า

 “มนุษย์สามารถที่จะปรับเปลี่ยนและปรับตัวขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมและพื้นฐานระบบการศึกษา” [2]

พื้นที่และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่หล่อและหลอมคนเราให้อยู่ในสังคม  วิถีคิด ทัศนะคติและมุมมองก็จะไม่ต่างจากคนในสังคมเหล่านั้น  หากจะศึกษาถึงความหลากหลาย อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกที่เต็มไปด้วยความแปลก ความต่าง และความไม่เหมือน ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน  ภาษา วัฒนธรรม  การใช้ชีวิต  รวมไปถึงประเพณีและการปฏิบัติในแต่ละวันที่ค่อนข้างจะแหวกขนบของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

   คำว่า “แขก” หลายคนอาจจะมักคุ้นกับคำเหล่านี้  ตามความหมายและความเข้าใจทั่วไป แขกก็คือคนคนหนึ่งที่ไปอยู่ในสถานที่หนึ่ง โดยเขาไม่ได้ตั้งรกรากหรือมีพื้นเพเดิมจากที่แห่งนั้น เขาเป็นแค่เพียงคนผ่านมาพักพิง

แต่สำหรับคำว่า “แขก” ที่หมายถึง ก็คือ แขกในบ้านตัวเอง เพราะคนทั่วไปเรียก “แขก” หมายถึง คนอินเดียที่มีนิสัย สันดานและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจะเป็นพฤติกรรมเฉพาะอย่างลงตัว  อินเดียคือ แขกในสายตาชาวโลก แขกในมิติของความเป็นอินเดียหรือ ชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เปลี่ยนไป ทั้งที่อาศัยในประเทศตัวเอง หรือจะย้ายรกรากไปอยู่ส่วนไหนของโลก แขกจึงไม่ใช่เป็นผู้มาเยือนหรือนักเดินทาง

พลเมืองของอินเดียได้แขวนตัวเองไว้กับระบบวรรณะมาหลายยุคหลายสมัย  แม้ โลกหมุนไปมาก แต่ ความรู้สึกที่กดทับและรอยฝุ่นแห่งการเหยียดชนชั้นยังฝังแน่นอยู่มากโข การใช้ชีวิตของพลเมืองจึงต้องเป็นอย่างที่สังคมรอบข้างขีดและกีดกัน แม้ในทางกฎหมาย สิ่งนี้ได้เปลี่ยนไป แต่ในทางปฏิบัติ มันยากที่จะลบเลือน

กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยในสังคมชนชั้นปกครอง แต่อาจเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ในสังคมของประเทศนั้น ๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดลิต (ผู้ถูกกดขี่) หรือกลุ่ม จันทาน (พวกนอกวรรณะ)[3] ที่มีผลกระทบต่อการจัดการและกีดกันสังคมในประเทศอินเดีย เพราะ พวกนี้ เป็นได้เพียง ของเหลือจากสังคมระบบใหญ่

ความจริงกลุ่มนี้มีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวและสร้างชาติให้กับประเทศอินเดียที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษและกลุ่มนี้ยังรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างที่คนกลุ่มอื่น ๆ ทำไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน รัฐมักปล่อยปละและละเลย ทางออกในการจัดการได้แค่เพียงจัดลำดับกลุ่มคนเหล่านี้ให้มีตำแหน่งและหน้าที่ทางสังคมเป็นแค่เพียงชนชั้นมือสองของประเทศเท่านั้นเอง

อินเดียอุดมไปด้วยทรัพยากรล้ำค่าที่สุด เพราะจุดขายของประเทศคือความหลากหลายของสังคม ผู้คนและเผ่าพันธุ์ ทั้งหมดเหล่านี้คือต้นต่อและรากฐานของระบบที่เข้ามากำหนดสังคม ตามหลักและระบบสังคมอินเดีย มักจะถือเรื่องระบบวรรณะเข้ามาเกี่ยวข้องมีพื้นฐานอยู่บนแนวความคิดที่เชื่อเรื่อง ธรรมมะ (หน้าที่ที่ต้องกระทำ)และกรรมะ(ผลของการกระทำในภายภาคหน้า) หลักแนวคิดเหล่านี้ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน 

ทุกอย่างได้ดำเนินการไปตามระบบและการจัดการของชนชั้นปกครอง

จนกระทั่งนักกฎหมายมือดีของอินเดียได้ผันตัวเองจากกลุ่มชนชั้นดลิตเข้ามาเป็นนักกฎหมายที่เขียนกฏหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ เช่น บีอาร์ อัมเบดการ์ด (B.R. Ambedkar, ๑๘๙๑-๑๙๕๖)[4]  รวมทั้งในตอนสุดท้าย เขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเพื่อประท้วงระบบวรรณะดังกล่าว ยังไม่รวมถึงการประท้วงของผู้คนวรรณะสูงเพื่อกีดกันกลุ่มคนเหล่านี้ โดยการเผาตัวเอง เพราะกลุ่มประชาชนวรรณะต่ำในประเทศอินเดียมีถึง ๘๕ เปอร์เซ็นของประชากรทั้งหมด 

ความหลากหลายยังไม่รวมถึงกลุ่มชนชั้นอีกกลุ่มหนึ่งที่เรามักเจอบ่อยบนรถไฟที่ผู้คนมักจะใช้ชื่อเรียกพวกเขาว่า“ฮิจระ” (ประชากรที่แปลงเพศ)  จากข้อมูลที่พอจะค้นพบและศึกษาได้ ประชากรกลุ่มนี้มีประมาณ มากกว่า ๗๕๐,๐๐๐  คน  และในจำนวนดังกล่าว มีกระเทยแท้ประมาณ ๒ เปอร์เซ็น

 กลุ่มคนเหล่านี้ มักจะทำงานในเมือง และสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหาเงิน โดยเฉพาะงานเริงรมย์เพื่อการแสดง  ตามความเชื่อ กลุ่มคนส่วนใหญ่มักเชื่อเรื่องโชคลาง ของขลังและเชื่อว่า กลุ่มชนฮิจระเหล่านี้ มีอำนาจวิเศษและเครื่องรางของขลัง[5]

สำหรับรายละเอียดของระบบชนชั้นวรรณะ (Caste System) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างละเอียดโดยนักคิดคนสำคัญของประเทศอินเดีย อาบุล ฮาซัน อาลี อัลนัดวี ในหนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อว่า Islam and The World หรือ โลกสูญเสียอะไรด้วยการตกต่ำของอิสลาม

 “ความเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องราวของโครงสร้างทางสังคมและศาสนาของประเทศอินเดียในสมัยโบราณนั้นนับเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องของระบบชนชั้นวรรณะ (Caste System)  ระบบชนชั้นวรรณะเหล่านี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยชาวอารยัน (The Aryan) ในสมัยต่อไปถัดจากช่วงยุคสมัยของเวอร์ดิก (The vedic Age) ด้วยกับการมีแนวความคิดที่จะรักษากลุ่มชนของพวกเขาเอง โดยการต่อต้านการรวมกับเชื้อชาติประชาชนพื้นเมืองยุคโบราณในแผ่นดินของพวกเขา 

กุสต๊าฟ ลี บอน  (Dr. Gustave Le Bon) ได้กล่าวไว้อีกว่า

“เราได้เห็น  ในช่วงสมัยของยุคเวอร์ดิก (The Vedic Age) ลัทธิเรื่องระบบชนชั้นวรรณะได้เริ่มที่จะเข้าคอบคลุมโดยการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกเขาไม่มากก็น้อยและสิ่งเหล่านี้คือหน่อเชื้อโรคของระบบชนชั้นวรรณะที่ได้หว่านเพาะชำลงไป  สำหรับเวอร์ดิก อารยันนั้นได้พยายามในความต้องการที่จะรักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติพวกเขาด้วยกับการปฏิเสธการการรวมกับมนุษย์ชนชั้นทั่วไป และแนวความคิดของพวกเขาได้เผยแพร่ไปทางตะวันออกและมีผลอย่างมหาศาล

ความต้องการเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ออกกฎหมายก็ได้นำไปสู่กระบวนการในการส่งเสริมให้ดำรงอยู่ของรูปแบบสังคมระบบชนชั้นวรรณะเหล่านี้ด้วย  ชาวอารยัน พวกเขาได้เข้าใจถึงปัญหาเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งทำให้มันเป็นสิ่งรวดเร็วอย่างมากในการที่จะครอบงำดูดซับประชาชนชนชั้นทาสและถอดถอนสิทธิและอัตลักษณ์ของพวกเขา”[6]

พื้นฐานของระบบดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้น ความเป็นจริงสำหรับการวิวัฒนาการอย่างค่อย ๆ ในระบบชนชั้นวรรณะนั้นนำไปสู่ความเข้มงวดทางด้านรูปแบบของสังคม และกฎหมายได้นำไปสู่ มานู (Manu) ผู้ที่มีความมั่งคั่งในสมัยของอารยะธรรมศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดีย (Brahmanic Civilization in India)

๓๐๐ ปีก่อนการเกิดของพระเยซู ได้กำหนดกฎเกณฑ์ ในสิ่งต่าง ๆ ที่รับรู้กันอย่างทั่วไปของกฎหมายฉบับนี้ว่า  “มานู สาตตรา” (The Manu Shastra) ราวกับการสักการะกฎหมายฉบับนี้ในสังคมของศาสนาฮินดู  ด้วยเหตุนี้  มานู (Manu) ได้แบ่งแยกประชากรของฮินดูเป็น ๔ ชนชั้นวรรณะด้วยกัน โดยการเกี่ยวเนื่องกับการเกิดของพวกเขาดังนี้ 

๑.         วรรณะพราหมณ์ (The Brahmans)หรือ ผู้ที่คงแก่เรียนและชนชั้นนักบวช 

๒.         วรรณะกษัตริย์ (The Kshattriyas)หรือชนชั้นพวกนักรบและนักกฎหมาย

๓.         วรรณะกลุ่มพ่อค้าและเกษตรกรรม (The Vaisyas)

๔.         วรรณะบริการ(The Sudras)ประชาชนชนชั้นต่ำผู้ที่ทำการค้าในชีวิตของตัวเองในการบริการผู้ที่สูงกว่า

ในกฎหมายมานูสาตตรา (The Manu Shastra) ได้กล่าวว่า

“พระเจ้า (The Lord) ได้สร้างวรรณะพราหมณ์ (The Brahmans)จากปาก วรรณะกษัตริย์(The Kshattriyas)ได้ถูกสร้างมาจากแขน วรรณะพ่อค้า(The Vaisyas)ได้ถูกสร้างมาจากขา และวรรณะบริการ(The Sudras)ได้ถูกสร้างมาจากเท้า”[7]

เมื่อสังคมได้กำหนดความต่างในระบบชนชั้นที่เป็นอย่างนี้ ระบบดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่ให้กับวรรณะต่าง ๆ จากพวกเขา ในการดำรงไว้ซึ่งวรรณะดังกล่าวไว้อย่างละเอียด

เริ่มแรกด้วย วรรณะพราหมณ์(The Brahmans)นั้น พวกเขาได้รับคำสั่งเกี่ยวกับ “การศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์พระเวท (Vedas) และการปรากฏของบูชานำถวายไปยังพระเจ้าของพวกเขา  ในการที่เขาเป็นส่วนหนึ่งจากเจ้าของและจากส่วนทั้งหมด และพวกเขาก็สนองรับการบริจาคทาน”

ในหนังสือเล่ม Islam and The world ได้กล่าวไว้อีกว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจของวรรณะพราหมณ์(The Brahmans)มีความเป็นพิเศษมากที่สุด  สูงที่สุด มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ด้วยกับการได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพราะสถานะของพวกเขานั้นมีความเท่าเทียมกับพระเจ้า 

กฎหมายมานูสัตตรา (The Manu Shastra) ได้กล่าวว่า “บุคคลหนึ่งที่เกิดในชนชั้นวรรณะพราหมณ์ นั่นหมายถึงผู้มีความสง่างามและมีเกียรติจากบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างบนผืนแผ่นดินนี้  เพราะเขาคือเจ้านายของบรรดาสิ่งที่ถูกสร้าง  และหน้าที่ของเขา คือการคุ้มครองกฎหมาย”

 “สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏบนโลกใบนี้ มาจากวรรณะพราหมณ์ สำหรับพวกเขานั้นสูงสุดท่ามกลางสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย  เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งได้ถูกเตรียมไว้สำหรับเขา”

“วรรณะพราหมณ์นั้นสามารถที่จะใช้อำนาจ หากทว่ามันจำเป็นต้องใช้ ด้วยกับทรัพย์สมบัติของวรรณะข้าทาสบริการของเขา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจะทำได้ หากมันผิดกฎหมาย เพราะวรรณะทาสหรือ บริการนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งต่าง ๆ ได้เลย เพราะวรรณะทาสเหล่านี้จะต้องมีเจ้านายเป็นผู้ดูแลและปรนนิบัติรับใช้” 

“วรรณะพราหมณ์ คือสมาชิกของพระเวท (The Rig veda) มีความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์  เขาสามารถที่จะทำลายทั้งสามวรรณะนี้ได้ หรือ เขาสามารถยึดอาหารทั้งหมดจากคนอื่น ๆ ได้”

“อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่  แม้มีความต้องการจนกระทั่งลมหายใจเฮือกสุดท้าย แต่เขาไม่เคยจัดเก็บภาษีแม้แต่นิดเดียวจากวรรณะพราหมณ์และเขาไม่สามารถที่จะปล่อยให้วรรณะพราหมณ์ตายในสภาพที่หิวโหยในอาณาจักรของเขา” [8]

อย่างที่สอง วรรณะกษัตริย์(The Kshattriyas) พวกเขาได้รับคำสั่งเกี่ยวกับ “เขาจะต้องปกป้องผู้คน ให้ทานแก่ผู้คน มอบเครื่องสังเวยในพิธีเซ่นไหว้  อ่านคัมภีร์พระเวทและละเว้นเรื่องกามตัณหา”

อย่างที่สาม วรรณะพ่อค้า(The Vaisyas) พวกเขาได้รับคำสั่งเกี่ยวกับ  “พวกเขาบริการเกี่ยวกับปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย  ให้ทานและมอบเครื่องสังเวยในพิธีเซ่นไหว้  อ่านคัมภีร์พระเวทและทำการค้าขาย ตลอดจนเกษตรกรรม”

อย่างที่สี่ วรรณะบริการ (The Sudras)  พวกเขาได้รับคำสั่งเกี่ยวกับ  “เขาจะต้องให้การบริการกับสามวรรณะเหล่านั้น”

เรื่องราวแห่งความอัปโชคของชนชั้นวรรณะทาส Syed Abul Hasan Ali Nadwi  ได้กล่าวไว้อย่างละเอียด

“ชนชั้นวรรณะทาสในสังคมของฮินดูนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบในกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว  นับเป็นชนชั้นวรรณะที่มีสถานะตกต่ำที่สุดมากกว่าสัตว์และที่แย่ไปกว่านั้นความตกต่ำดังกล่าวคือมีความเลวยิ่งไปกว่าสุนัขเสียอีก

ในกฎหมายของมานูสัตตรา (The Manu Shastra)  ได้กล่าวว่า

“ไม่มีสิ่งไหนที่สามารถที่จะมีเกียรติมากไปกว่าชนชั้นวรรณะทาสเพราะวรรณะนี้ได้บริการวรรณะพราหมณ์และไม่มีสิ่งไหนที่จะใกล้เคียงในสิ่งที่สมควรได้รับสำหรับวรรณะนี้มากไปกว่ารางวัลดังกล่าว”

“วรรณะทาสไม่สามารถที่จะครอบครองทรัพย์สมบัติได้  หากแม้ว่าเขาจะมีโอกาส ในการกระทำสิ่งนี้ แต่ หากเขากระทำมันก็เป็นสาเหตุให้ชนชั้นวรรณะพราหมณ์ต้องโกรธ”

“ชนชั้นวรรณะทาสนี้ เป็นชนชั้นที่มีได้รับอันตรายสูงสุดในชนชั้นของมนุษย์ เพราะว่า เขามีความรับผิดชอบที่จะรักษาปกป้องแขนขาของสิ่งนี้จากการทำอันตรายที่เกิดขึ้น”

 “ถ้าหากว่าชนชั้นวรรณะทาสได้ล่วงละเมิดวรรณะพราหมณ์หรือเหยียดหยามพวกเขา ลิ้นของพวกเขาจะต้องถูกดึงออกมาและหากพวกเขาชนชั้นทาสเรียกร้องสิทธิด้วยกับการที่พวกเขาสอนชนชั้นวรรณะพราหมณ์แล้วนำมันเดือดก็จะถูกเทลงบนคอหอยของพวกเขา”

“การชดเชยสำหรับการฆ่าสุนัข แมว กบ จิ้งจก วัว นกเค้าแมว นั้น ชนชั้นวรรณะทาสก็จะต้องถูกฆ่า”[9]

จากสภาพดังกล่าวของความเป็นไป อาณาจักรเร็กชอ(กรรมกรน่องเหล็กขายแรงงานด้วยปั่นรถสามล้อ) ชนชั้นกรรมาชีพ(แบกหามและคนงานก่อสร้างที่ได้ค่าจ้างวันละ ๒๐-๑๐๐ รูปี) และชนชั้นเร่ร่อน (คนไร้บ้านที่ต้องคอยอาศัยพื้นที่บนท้องถนน บาทวิถี ตึกร้างหรือสถานราชการเช่น สถานีรถไฟ) เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจาก วัฒนธรรมการแบ่งชนชั้นและบวกกับผลกระทบอย่างหนักของการใช้อำนาจเข้ากดขี่ การคอรัปชั่น ทุจริต และดูดกลืนทรัพยากรโดยมหาอำนาจในช่วงเวลาเป็นประเทศอาณานิคมและผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้  บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งรกรากแบบไม่ถาวรและไร้ความทนทานพร้อมจะย้ายได้ตลอดเวลา  ในบ้านหลังดังกล่าว มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และทุกคน บ้านเล็กภายใต้การเป็นอยู่ตามอัตภาพ ยะถากรรม ฐานะ และสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่กีดกันและจัดวางให้  เพิงบ้านเล็ก ๆ พอที่จะซุกหัวนอน  ชีวิตในแต่ละวันเป็นสิ่งที่ มีอยู่พอกิน และ หาแบบปากกัดตีนถีบเพื่อเลี้ยงครอบครัวและตัวเองแบบ “หาเช้ากินค่ำ” ไปวัน ๆ

ทั้งหมดเหล่านี้คือมุมเล็กน้อยที่ได้พบเห็นจากการเดินทางและการได้สัมผัส ความไม่เหมือนและความแปลกก็หาใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น ความต่างของสังคมที่อยู่ในชนชั้นแรงงานหรือกรรมกร เพราะบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากกลุ่มคนที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐ คนทั่วไปและระบบเก่าที่กลายเป็นรอยคราบที่ยังฝั่งแน่นในจิตกรรมของผู้คน 

Paul Theroux ได้กล่าวในงานเขียนของเขาที่ชื่อ By rail across the Indian subcontinent โดยให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้  

“รถไฟขบวนใหญ่ของอินเดียมีผู้โดยสารประมาณ กว่า ๑,๐๐๐ ล้านคนต่อปี กว่า ๒๗๐ ล้านตัน  ๑๐ ล้านคนต่อวัน   รถไฟที่แล่นทั้งหมดในประเทศไม่ต่ำกว่า ๑๑,๐๐๐ ขบวน ประมาณ ๗๔,๐๐๐ ตัน เฉพาะพนักงานรถไฟ ไม่ต่ำกว่า  ๑,๖๐๐,๐๐๐ คน ต่อวัน

 สถานีรถไฟอินเดีย นับได้ว่า เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ไม่ว่าจะเป็นสถานี  รถไฟ ระยะทาง ทุกอย่างล้วนน่าค้นหาและติดตาม  ที่สำคัญไปกว่านั้น สถานีรถไฟแห่งนี้เช่นเดียวกัน ที่เต็มไปด้วยหนูและมากไปด้วยความสกปรกที่มากจัดเป็นอันดับหนึ่งของโลก  รถไฟชั้นนอนที่สกปรกที่สุดในโลก

  ในโบกี้รถไฟ ไม่ได้มีเฉพาะเพื่อเดินทางหรือบรรทุกแรงงาน  แต่รถไฟในหนึ่งโบกี้จะเต็มไปด้วยการเกิด คนตาย ผู้ป่วยไข้ รวมไปถึงการแต่งงานหรือพิธีกรรมทางศาสนา  ระยะทางของรถที่วิ่งในแต่ละวันทั้งหมดประมาณ ๖๑,๐๐๐  กิโลเมตร ต่อวัน รวมสถานีทั้งหมดทั้งใหญ่และย่อมประมาณ ๗,๐๗๒   สถานี” [10]

ด้วยความยิ่งใหญ่ของระบบการขนส่งแบบรถไฟเป็นหลัก คนอินเดียจึงนิยมการเดินทางรถไฟ แต่ในความสดวกสบายเหล่านั้น ระบบชนชั้นและเงินตรา เป็นตัวกำหนดอย่างดีของพลเมืองในประเทศ พวกเขาจึงไม่ต่างจากชนชั้นมือสองของสังคมหรือลูกค้าของรัฐที่แบ่งปันผลประโยชน์และความสะดวกสบายผ่านอำนาจของเงินตรา หากไม่มีอำนาจซื้อเหล่านั้นแล้ว ก็จะไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับชีวิตคนในแต่ละวัน เพราะ เงินคือ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่แยกระดับของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  ตัวอย่างหนึ่งที่สามมารถเห็นชัดเจนก็คือ

รถไฟจากเมืองอาลีกัรไปยังเมืองหลวงกรุงนิวเดลลี นั้น ระยะทางประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ราคาตั๋วต่างกันมากเหลือเกิน เช่น ตั่วราคาเริ่มต้นที่ ๔๐๐-๖๐๐ รูปี ในรถไฟขบวนที่ชื่อว่า Shatabdi ระยะเวลาในการเดินทางก็จะถูกย่นย่อเหลือเพียง ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที 

หากเดินทางโดยรถไฟขบวน Mahananda Express หรือ Kaifiyat Express หรือ แม้แต่ Kumti Express ราคาเริ่มต้นที่ ๑๒๐-๒๕๐ รูปี ก็จะใช้เวลา ๒ ชั่วโมง กว่า ๆ หรือ บางทีเกือบ ๔ ชั่วโมงด้วยความไม่แน่นอน

สุดท้ายขบวนพิเศษ เช่น EMU. Express (รถไฟที่บรรทุกผู้โดยสารที่เป็นแรงงาน) ราคาตั๋วเริ่มต้นที่ ๒๐ รูปี ผู้โดยสารจะมีที่นั่งไม่ต่างจากรถเมล์ ไม่มีขบวนที่ใช้นอนหรือ Sleeper Class ผู้คนที่อาศัยรถไฟขบวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานและกรรมกรของประเทศ

จะเห็นได้ว่า ขนาดการเดินทางระบบวรรณะเข้ามามีบทบาท เพราะ วรรณะคือ ปัจจัยพื้นฐานในการเข้าถึงทรัพยากร คนมีอำนาจซื้อ จึงไม่ได้มาจากวรรณะต่ำ แม้ประเทศจะพัฒนาไปไกลโดยกฏหมายแต่ละฉบับไม่ได้พูดเรื่องวรรณะแล้ว แต่วิถีปฏิบัติก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด หนึ่งในพัฒนาการของระบบวรรณะที่นำมาปรับใช้กับยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ การครอบครองทรัพยากร นั่นเอง

ลักษณะความต่างคร่าว ๆ ของประเทศที่ยึดติดด้วยระบบและขนบแบบเก่า ๆ หรือปัจจุบันได้แปรสภาพมาเป็นความเหนือกว่าด้วยการครอบครองทรัพยากร จนสิ่งเหล่านี้คือ ผลพวงได้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมไปโดยปริยาย จนสังคมต้องดิ้นรนกันอีกนานเพื่อปลดแอกจากระบบเดิมๆแต่การปลดแอกระบบห่าเหวลักษณะนี้ก็จำต้องดำเนินต่อไป

 หาไม่แล้ว ชนชั้นปกครองก็หาทางออกให้กับคนเหล่านี้ให้กับพลเมืองของโลกในสังคมเล็ก ๆ อย่างอินเดีย “กลายเป็นสินค้าและผักปลาดี ๆ นี่เอง”



[1] B.A. Political Science (Government and Politic), Prince of Songkla University, Pattani Campus 2004-2007  / M.A. Political science (Islamic Political Philosophy),  Aligarh Muslim University,India,2008-2010

[2] M.M.Sharif, A History of Muslim  Philosophy, low price publication,1999.p.480

[3]พวกนอกวรรณะที่ถูกขับออกจากสังคมฮินดู เนื่องจากการกระทำผิดประเพณีอย่างร้ายแรง เช่น หญิงในวรรณะพราหมณ์ไปสมสู่กับชายวรรณะศูทร ตัวเขาทั้งสองรวมทั้งบุตรที่กเดมาก็จะถูกขับออกจากวรรณะของตน และถูกชาวฮินดูในวรรณะข่มเหงทารุณตลอดจนกีดกันสิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้รับตลอดมา ในศตวรรษที่ ๒๐ มหาตมะ คานธี ได้เรียกกลุ่มนี้ว่า หริชน (บุตรแห่งพระเจ้า) แต่ในปัจจุบันจะเรียกว่า พวกดลิต (ผู้ถูกกดขี่)

[4]  Vishnoo Bhagwan, Indian political thinker, atma ram and son,1999,p.456-493

[5] Jane Hutching, India  window of the world,2004,p.78

[6] Gustave Le Bon , Les Civilisation de I’ Inde,(Urdu Translation by Syid Ali Bilgrami),p.211 อ้างใน  Syed Abul Hasan Ali Nadwi , Islam and The World, Academy of Islamic Research and Publications,1961, p.33

[7] Syed Abul Hasan Ali Nadwi , Islam and The World, Academy of Islamic Research and Publications,1961, p.33

[8] Syed Abul Hasan Ali Nadwi , Islam and The World, Academy of Islamic Research and Publications,1961, p.33-35

[9] Syed Abul Hasan Ali Nadwi , Islam and The World, Academy of Islamic Research and Publications,1961, p.35-36

[10] Paul Theroux , By rail across the Indian subcontinent, National Geographic,June1984 ,vol.165,no6,p.704