พระบรมราชวินิจฉัยในการวิวาทแห่งพวกอิศลาม

ในสยามประเทศไทย ความคิดเรื่องฆราวาสนิยม (หรือ secularism) ที่สนับสนุนให้แยกรัฐกับศาสนา/ศาสนจักรออกจากกันนั้นดูจะไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทย เหตุผลของความขาดซึ่งแนวคิดดังกล่าวในสังคมไทยส่วนหนึ่งคงเป็นผลพวงของความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ระหว่างสยามเก่ากับสยามใหม่ หรือเป็นกระบวนการก้าวสู้ยุคสมัยใหม่ในแบบที่แตกต่างออกไปที่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยอันเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป อย่างไรก็ตามลักษณะของการไม่เป็นฆราวาสนิยมของสังคมไทยนี้ไม่เพียงเฉพาะแต่ศาสนาพุทธ ที่ถือกันว่าเป็น “ศาสนา” ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือและเกือบจะ/กึ่งเป็นศาสนาประจำชาติเท่านั้น หากยังรวมถึงศาสนาอิสลามที่ไม่เพียงเป็น “ศาสนา” หนึ่งในศาสนาของประเทศไทย (พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ – ฮินดู และซิกข์) แต่ยังมีกลไกและสถาบันของรัฐที่ทำหน้าที่ทางศาสนาอิสลาม หรือในทางกลับกันศาสนาอิสลามก็เป็นศาสนาหนึ่งที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งลักษณะของความสัมพันธ์กับรัฐนี้เทียบกันไม่ได้เลยกับศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นในไทย ยกเว้นพุทธศาสนา

ปรากฏการณ์นี้คงไม่ใช่เรื่องของตัวเลขเพียงอย่างเดียวหรือเป็นเพราะธรรมชาติของศาสนาคริสต์ที่มีศาสนจักรและ “ของนอก” แต่เป็นเพราะการเป็นชาวพุทธและมุสลิมคือการเป็นส่วนหนึ่งของระบบไพร่ของสังคมพื้นเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง ดังนั้นกลไกของรัฐจารีต ซึ่งแน่นอนว่าแยกกันไม่ออกกับอุดมการณ์ทางศาสนาจึงทำหน้าที่ในการควบคุมศาสนจักรและมาตรฐานทางศีลธรรมของศาสนิกไปด้วยในตัว สำหรับชาวมุสลิมนั้น ชุมชนชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามนอกเขตรัฐมลายูที่ถือเป็นรัฐมุสลิมในสมัยจารีตนั้น ก็กระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ระบบมูลนายและชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการควบคุม อบรมสั่งสอนผู้คนตามหลักศาสนาตลอดจนการวินิจฉัยหลักการทางศาสนาต่างๆ แน่นอนว่าชุมชนมุสลิมในไทยแม้กระจัดกระจายแต่ก็ไม่ได้โดดเดี่ยว เครือข่ายปราชญ์ ผู้รู้และอุลามะ ตลอดจนความรู้และข้อวินิจฉัยทางศาสนาต่างๆ คงมีการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดและถกเถียงกันกับโลกมุสลิมตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ หากความเป็นชุมชนและมูลนาย (แม้กระทั่งผู้ปกครองในรัฐมลายู) ทำหน้าที่เป็นแหล่งอำนาจในการบังคับใช้ข้อวินิจฉัยทางศาสนาต่างๆ ที่ทำให้ชุมชน (หรือรัฐ) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนระบบจารีตแบบนี้นี่เองที่ป้องกันมิให้เกิดการนำความคิดใหม่ๆ ทางศาสนา (หรือแม้กระทั่งการเผยแพร่ศาสนาของศาสนาอื่น) เข้ามาจนเป็นความขัดแย้งของชุมชนหรือท้ายทายต่ออำนาจของผู้นำชุมชน

            ลักษณะเช่นนี้เปลี่ยนไปเมื่อระบบไพร่เสื่อมคลายลงและถูกยกเลิกในที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในขณะที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของไทยได้ทำการปฏิรูปพุทธศาสนา สร้างสถาบันและกลไกสมัยใหม่ในการควบคุมจัดการพุทธศาสนาเพื่อตอบสนองรัฐและอุดมการณ์แห่งรัฐที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับชุมชนมุสลิมในสยามสถานการณ์กลับต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่สถาบันที่เป็นแหล่งอำนาจทางศาสนาของท้องถิ่นหรือชุมชนตามจารีตดั้งเดิมเสื่อมคลายไปพร้อมระบบไพร่ (และรัฐจารีต ในกรณีของรัฐมลายู) และสถาบันทางศาสนาและแหล่งอำนาจทางศาสนาแบบใหม่ยังไม่ทันเกิด กระแสเชี่ยวกรากของความรู้และความคิดทางศาสนาจากตะวันออกกลางและโลกอาหรับหลั่งไหลสู่ชุมชนมุสลิมในภูมิภาค ที่เกิดขึ้นจากบริบทความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง ทั้งทางการเมืองการปกครองและการปฏิวัติการคมนาคมขนส่ง อันเป็นผลพวงของภาวะสมัยใหม่นั้น จึงส่งผลอย่างชัดเจนต่อชุมชนมุสลิมที่ใกล้ชิดโลกสมัยใหม่ อย่างมณฑลกรุงเทพฯ และกรุงเก่า

            พระบรมราชโองการของพระมงกุฎเกล้าฯ เรื่อง “พระบรมราชวินิจฉัยในการวิวาทแห่งพวกอิศลาม” ข้างล่างนี้ชี้ให้เห็นพลวัตรของสังคมมุสลิมในสยามขณะนั้นเป็นอย่างดี การแตกออกเป็น 2 “คณะ” ที่ขัดแย้งกันภายในชุมชนมุสลิมสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิม ไม่เพียงแต่ในเขตภาคกลางของสยามแต่ยังรวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย แน่นอนว่าภาวะเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นในอาณาบริเวณที่เคยเป็นรัฐมลายูของสยาม อย่างปัตตานีล่าช้ากว่าภาคกลางมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยของความไม่ใช่เมืองท่าการค้าสมัยใหม่ เช่น กรุงเทพ ปีนัง หรือสิงคโปร์ ที่มีคนต่างชาติต่างภาษาที่เข้ามาพร้อมความคิดใหม่ๆ เป็นประจำ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งสำคัญของการศึกษาอิสลามที่มีความสืบเนื่องมาช้านาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือปัตตานีเป็นแหล่งสำคัญของความคิดอิสลามแบบจารีตนิยม ซึ่งยากที่ความคิดแบบใหม่จะแทรกเข้าไปจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

 อย่างไรก็ดีเอกสารข้างล่างยังชี้ให้เห็นถึง ความพยายามของชุมชนมุสลิมในการจัดการกิจการศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ซึ่งในบริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นพระมหากษัตริย์เป็นแหล่งอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในทางทฤษฎี ซึ่งในแง่นี้แล้วคือการแสวงหาแหล่งอำนาจใหม่ของชุมชนศาสนา ก่อนที่จะมีความพยายามครั้งใหม่ในอีก 17 ปีต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติสยามเมื่อปี 2475 ที่ชาวมุสลิมกรุงเทพฯ เสนอให้มีการตั้งคณะ “กอดี” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวแก่ศาสนาอิสลามและชำระอรรถคดีของชาวมุสลิมในสยาม แต่ก่อน 2475 รัฐคือกษัตริย์ กษัตริย์คือรัฐ ดังนั้นอำนาจที่คณะหนึ่งจะหวังพึ่งให้บังคับให้อีกคณะหนึ่งยอมทำตามคำวินิจฉัยจากเม็กกะ คือ องค์พระมหากษัตริย์สยาม ในกรณีนี้คือ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าฯ  ที่แม้นว่าจะทรงวินิจฉัยตามอิหม่ามที่เม็กกะและทรงตักเตือนตามธรรมเนียมของพระราชาที่จะทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ แต่พระองค์ก็เลือกที่จะไม่ใช้อำนาจในการบังคับตามที่ร้องขอ ตลอดจนการริเริ่มที่จะมีสถาบันหรือองค์กรทางศาสนาแบบใหม่ที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ตราบจนสิ้นสุดสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

            สำหรับพลวัตของความเปลี่ยนแปลงนี้ในปัตตานียังเป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้า แต่อย่างไรก็ดี ดั่งที่เราทราบกันเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงเมื่อปี 2490 นั้น 2 ใน 7 ข้อคือเรื่องเดียวกับที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือการสร้างสถาบันที่เป็นแหล่งอำนาจในกิจการศาสนาอิสลามในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกอฎีและอำนาจของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (ข้อ 5 และ ข้อ 7) แต่บริบทที่ทำให้ความจำเป็นการสร้างสถาบันดังกล่าวตามข้อเรียกร้องนั้น จะเหมือนกับกับที่กรุงเก่าและกรุงเทพฯ เมื่อ 32 และ 15 ปีก่อนนั้นหรือไม่ยังเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

 

หมายเหตุต้นฉบับ                    

“พระบรมราชวินิจฉัยในการวิวาทแห่งพวกอิศลาม” ข้างล่างนี้ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร (เรียก “จดหมายเหตุรายเดือน”) มุสลิมฉบับแรกของสยาม คือ “อิศลามประโยชน์” ปีที่ 1 เล่มที่ 10 ประจำเดือนมิถุนายน 2458 ซึ่งเนื้อหาโดยทั่วไปของอิสลามประโยชน์จะลงข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาอิสลามและกิจการต่างๆ ของชาวมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ข้างใต้ “พระบรมราชวินิจฉัยฯ” เป็นรายงานและความเห็นของของนิตยสารอิศลามประโยชน์ ข้อความทั้งหมดสะกดตามสะกดตามต้นฉบับ

 

 

 

พระบรมราชโองการแห่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เปนพระบรมราชวินิจฉัยในการวิวาทแห่งพวกอิศลาม

สำเนาสารตรา

ตราใหญ่ที่ ๒/๑๒๑๗                                                                                    ศาลาว่าการมหาดไทย

แผนกผลำภัง                                                                         วันที่ ๑๒ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

            สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก อรรคมหาเสนาบดีอภัยพิริปรากรมพาหุ ถึงมหาอำมาตย์โทพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่า

            เดิมโต๊ะหะยีหมัดและโต๊ะหะยีมะหะหมัดนุดกับพวก ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอรอบกรุงเมืองกรุงเก่า ยื่นเรื่องราวฉบับลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๗ ต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า พวกแขกอิศลามในบังคับสยาม ซึ่งอยู่ในมณฑลกรุงเก่าได้เกิดวิวาทกันขึ้นในทางสาสนา จนถึงต่างแยกเปนคณะขึ้น ๒ คณะ มีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรถือศีล ๒๐ เปนถูก อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรถือเพียง ๑๐ ก็พอ ไม่มีผู้ใดจะตัดสินให้เปนเด็จขาดว่า ฝ่ายใดถูกแลฝ่ายใดผิด ขอให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้ส่งเรื่องราวไปยังสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ให้สอบสวนแลจัดการปรองดองกันให้เปนที่เรียบร้อย สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่ามีใบบอกเข้ามา คงได้ความตามใบบอกว่าการที่แขกอิศลามในมณฑลกรุงเก่าได้แตกแยกขึ้นเปน ๒ คณะนั้น ได้เกิดขึ้นแต่พุทธศักราช ๒๔๔๙ แล้ว ในเวลานั้นหัวหน้าทั้ง ๒ ฝ่ายก็ได้ไปร้องทุกข์ต่อสมุหเทศาภิบาลๆ จึงได้ไกล่เกลี่ยให้คณะทั้ง ๒ ปรองดองกัน แต่ก็หาเปนผลสำเร็จไม่ ต่างก็ยังยกถือเปน ๒ คณะตลอดมา จนถึงพุทธศักราช ๒๔๕๖ หัวหน้าคณะทั้ง ๒ ฝ่าย จึงได้โต้เถียงกันในทางสาสนานั้น ได้มาตกลงกันที่กรมการอำเภอรอบกรุงว่า  จะขอทำความเห็นในเรื่องสาสนาที่โต้เถียงกันนี้คนละฉบับ มอบให้กรมการอำเภอรอบกรุงส่งไปยังอะหมัดกะเตบอีหม่ำซาฟีอี ผู้เปนประธานในสาสนาอิศลามเมืองเมกะให้ตัดสิน ถ้าตัดสินชี้ขาดมาประการใด แขกอิศลามทั้ง ๒ คณะจะปฏิบัติตาม นายอำเภอรอบกรุงจึงได้ส่งความเห็นของแขกอิศลามทั้ง ๒ คณะไปยังอะหมัดกะเตบอีหม่ำซาฟีอี ณ เมืองเมกะตามคำขอของแขกอิศลามทั้ง ๒ คณะภายหลังอะหมัดกะเตบอีหม่ำซาฟีอี ตัดสินมาว่าคณะที่ถือศีล ๒๐ เปนถูก พวกคณะที่ถือศีล ๑๐ เปนผิด กรมการอำเภอจึงได้ประชุมพวกแขกอิศลามพร้อมกัน ชี้แจงตามที่อะหมัดกะเตบอีหม่ำซาฟีอีตัดสินชี้ขาดมานั้นให้ฟังทุกประการ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ยังหาปรานีปรานอมยอมกันไม่ ต่างถือคณะกันอยู่อีก ในที่สุดฝ่ายพวกที่ถือศีล ๒๐ ได้มาร้องต่อสมุหเทศาภิบาลอีกว่าขอให้บังคับพวกที่ถือศีล ๑๐ ให้ถือศีล ๒๐ ตาม สมุหเทศาภิบาลจึงได้ชี้แจงว่าทางราชการไม่มีอำนาจอย่างไรที่บังคับในเรื่องสาสนาสุดแล้วแต่ผู้ใดจะสมัคหรืออย่างไรก็ได้ และขอตักเตือนว่าอย่าให้วิวาทกันขึ้น

            ต่อมาพวกแขกอิศลามคณะที่ถือศีล ๒๐ ได้มายื่นเรื่องราวฉบับลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยวิงวอนให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้นำคำขอของพวกแขกอิศลามคณะที่ถือศีล ๒๐ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท

            มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ถ้าจะว่ากันไปตามทางสาสนาแล้ว ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าที่ถูกควรจะยินยอมตามคำวินิจฉัยของผู้เปนประธานในคณะอิศลามที่เมกะ เพราะต้องเชื่อว่าเขาคงเปนนักปราชญ์รอบรู้ในทางลัทธิคำสั่งสอนของพระมะหะหมัดตามที่นิยมนับถือกันอยู่ในหมู่มากว่า เปนทางที่ถูกต้องแล้ว การที่เชื่อผิดถือผิดอาจจะเปนไปได้โดยความเข้าใจข้อความคลาดเคลื่อน แต่ถ้าเมื่อได้ส่งความเห็นไปให้ผู้ที่ควรรู้จริงวินิจฉัยแล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยว่าฝ่ายใดผิด ฝ่ายนั้นก็ควรยินยอมตามคำวินิจฉัย จึงจะเรียกว่าผู้นั้นซื่อตรงจริงต่อสาสนาซึ่งตนนับถือ การที่จะถือทิษฐิมานะจะเอาชำนะต่อไปไม่มีที่สุด ต้องจัดว่าไม่ใช่ความประพฤติของบัณฑิตย์เลย แลควรเปนที่ติเตียนโดยแท้ แต่ฝ่ายผู้ที่ชำนะในคดีที่วินิจฉัยนั้นเล่า ก็ควรจะรู้สึกว่า การที่ตนชำนะคดีก็เปนบำเหน็จพออยู่แล้ว เพราะได้รู้สึกแลสามารถประกาศได้แล้วว่า ตนเปนผู้ที่ถือถูกต้องตามลัทธิ เมื่อผู้ใดที่ถือผิดยังจะคงถือทิษฐิต่อไป เขาทั้งหลายนั้นก็เปนผู้ที่ผิดอยู่เองย่อมจะมีโทษในตัวหาต้องมีผู้ใดจำเปนลงโทษแทนพระเปนเจ้าไม่ การที่คนร่วมสาสนากันวิวาทกันเองดูเปนการไม่ดี เหมือนเปิดโอกาสให้ผู้อื่นดูถูกและติฉินนินทาเปล่าๆ ไม่เปนคุณแก่สาสนานั้นเลย ขอให้ปรองดองกัน..จะดีกว่า ดังนี้

            [ให้]มหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ เรียกพาแขกทั้ง ๒ คณะนั้นมาประชุม แล้วเชิญสารตราฉบับนี้อ่านให้ฟังตามกระแสพระบรมราชโองการ จงทุกประการ

 

                                                                       (ลงนาม)      พระยามหาอำมาตย์

                                                                                                             ผู้แทนเสนาบดี

                                                                              ประทับตราพระราชสีห์ใหญ่มาเปนสำคัญ

 

-----------------------------------

 

เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านเจ้าคุณพระยาโบราณราชธานินทร์พร้อมด้วยข้าราชการ ได้เชิญสารตราฉบับนี้มาอ่านณที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ให้พวกอิศลามที่มาประชุมอยู่นั้น ประมาณ ๕๐๐ คนฟัง แลทั้งได้ชี้แจงให้เปนที่เข้าใจด้วยกันหมด

            บรรณดาพวกอิศลามทั้งหลาย ไม่ว่าในบังคับสยามหรือต่างประเทศ ซึ่งได้เข้ามาอาไศรยพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามแล้ว ย่อมมีความรู้สึกซึมทราบด้วยเกล้าฯ ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงไว้แก่ประชาราษฎรทุกชาติทุกภาษา ให้ได้รับความศุขความเจริญถ้วนทุกหน้า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้ว ครั้นพระองค์ได้ทรงเปนพระราชธุระ ในการวินิจฉัยคดีทางสาสนาอิศลาม ซึ่งมีเหตุให้มัวหมองมาช้านานนั้น บรรดาพวกอิศลามทั้งหลาย มีความปีติยินดีโสมมนัสเปนอันมาก ที่พระองค์ได้ทรงพระราชดำริห์ไปโดยยุติธรรม แลถูกต้องตามลัทธิของสาสนาอิศลามทุกประการ ต่อไปจึงหวังว่าถ้าจะมีความจำเปนมาข้องแวะบ้างแล้ว พวกอิศลามทั้งหลายในพระราชอาณาจักร คงจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยิ่งๆ ไปกว่านี้เปนแน่

            เพราะฉะนั้นบรรดาพวกอิศลาม ซึ่งเปนข้าขอบขันฑสีมาแห่งพระราชอาณาจักรสยามทุกคน ควรจะมีความปิติยินดี ยึดถือกระแสพระบรมราชโองการนี้ให้มั่นคง จึงจะได้ปรากฏว่าเปนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ และเปนผู้ที่ประพฤติโดยกตัญญูเที่ยงแท้ในพระราชกำหนดกฎหมายแห่งพระองค์ด้วย