การตรวจสอบคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้

ดอน ปาทาน 

Patani Forum 

สำนักงานอัยการสูงสุดและศาลจำเป็นต้องตื่นตัวและทำงานหนักกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้ผู้รักษากฎหมายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้กล่าวข้างต้น โดยชี้ให้เห็นว่ามีคดีความจำนวนมากที่ถูกละเลย

โดยในงานสัมมนาเมื่อวันเสาร์ ที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นเพื่ออภิปราย รายงานการตรวจสอบ 100 คดีความโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและเดอะ อเมริกัน บาร์ แอซโซซิเอชั่นส์ รูล ออฟ ลอว์ อินนิชิทีฟ (The American Bar Association’s Rule of Law Initiative) นั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ระบบทั้งหมดต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง จากกรณีศึกษา100 คดี (case audit) พบว่ามี 72 คดีที่ถูกละเลย ด้วยเหตุว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ

ผู้ต้องสงสัยส่วนมากถูกจับด้วยข้อหาก่อการร้าย ซึ่งต่างจากปัญหากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในทศวรรษ 2510 และ 2520 ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการดังกล่าวถูกตั้งข้อหากบฏ

เจ้าหน้าที่ภาคใต้สามารถบังคับใช้กฎหมายพิเศษเช่น พระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถสั่งกักบริเวณผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 37 วัน และห้ามการติดต่อสื่อสารใดๆ โดยไม่ต้องมีการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ภายใต้กฎอัยการศึกนี้ มีการรายงานการทรมานร่างกาย 39 คดีและการทำร้ายทางวาจา 27 คดี สำหรับผู้ที่ได้รับการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น 37 รายถูกทรมาน ในขณะที่อีก 25 รายถูกทำร้ายทางวาจา ทว่าตามกระบวนการกฎหมายปกติก็พบการใช้วิธีดำเนินคดีลักษณะนี้เช่นกัน

ผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่ถูกกักขังระหว่างการสืบสวนสอบสวน ซึ่งกว่าจะมีการตัดสินคดีอาจใช้เวลานานตั้งแต่ 1 ปี จนกระทั้งถึง 3 ปี

นายไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกคณะกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่าปัญหานี้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความเต็มใจที่จะตั้งคำถามต่อคดีความต่างๆซึ่งมีความละเอียดอ่อน ทำให้พวกเขาปล่อยให้คดีเหล่านั้นตกไปง่ายๆ

นายไพโรจน์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ระยะเวลาการกักขังที่ยาวนาน อันเป็นไปอย่างไม่มีการตรวจสอบใดๆนั้น อาจนำไปสู่รูปแบบการสอบสวนที่น่าสงสัยและขัดต่อกฎหมายเช่น การทรมาน เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะล้วงข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ของกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปตั้งคำถามว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะที่ภาคใต้หรือเป็นปัญหาทั่วทั้งประเทศ

นอกจากนี้ รุ่งรวีกล่าวโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสท่านหนึ่ง ว่าหากไม่มีกฎหมายพิเศษเหล่านี้ บรรดาตำรวจนอกแถวอาจใช้วิธีที่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือผิดกฎหมายได้เช่น การลักพาตัวหรือการสังหารผู้ต้องสงสัย

ความรุนแรงในชายแดนใต้ โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องของการเมือง แต่กระบวนการกฎหมายไทยไม่ได้พิจารณาถึงจุดนี้เลย

รัฐบาลยังบังคับใช้มาตรา 21 ซึ่งให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ก่อการจลาจลที่ยอมปลดอาวุธ ทว่าข้าราชการระดับสูงในพื้นที่หลายท่านเห็นว่า วิธีนี้ไม่ได้รับความร่วมมือเพราะ ผู้ก่อการถือว่าตนเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวควรเก็บไว้ใช้สำหรับช่วงเวลาหลังความขัดแย้งสิ้นสุดลงและควรใช้เป็นเครื่องมือในการดึงกลุ่มผู้ก่อการกลับเข้ามาอยู่ในสังคม

ไพโรจน์กล่าวว่า ผู้พิพากษาและสำนักงานอัยการสูงสุด ควรที่จะตื่นตัวมากขึ้นในการตรวจสอบคดี พร้อมทั้งควรเรียกดูหลักฐานที่รูปธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้นด้วย “พวกเขาควรช่วยคัดกรองคดี ตั้งแต่กระบวนการแรกๆ แทนที่จะรอจนกระทั้ง ขั้นตอนทางกฎหมายยุติคดีไปแล้ว”

นายตำรวจอาวุโสในพื้นที่ท่านหนึ่งเผยว่า มีความกังวลว่า ผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก หลังจากถูกกังขังมานาน 1 ถึง 2 ปี อาจถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมกับบันดาลโทสะรุนแรงและเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวนั้น

ผู้ร่วมอภิปรายยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน ข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการทำร้ายด้วยวาจา โดยชี้ว่าความเชื่อมั่นในรัฐบาลขึ้นอยู่กับความจริงใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระบบกระบวนการยุติธรรม

Note: For more reading on conflict and insurgency in Southern Thailand, please visit Conflict and Insurgency in Southeast Asia at http://seasiaconflict.com/