วิกฤติที่ไร้เสียงและการหันกลับมาศึกษามนุษยศาสตร์เพื่อความเป็นมนุษย์

วิกฤติที่ไร้เสียงและการหันกลับมาศึกษามนุษยศาสตร์เพื่อความเป็นมนุษย์

(The Silent Crisis; Martha C. Nussbaum)

โดย บัณฑิต ไกรวิจิตร 

ผมอยากจะแนะนำงานเขียนของนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงร่วมสมัยในวันนี้ท่านหนึ่งคือ มาธา ซี. นุสบอม (Martha C. Nussbaum) ในความจริงแล้วผมไม่ได้แวะเวียนมาอ่านหนังสือแนวนี้เลย โดยเฉพาะด้านปรัชญาการศึกษา แต่จำได้ว่าในวัยเด็กชั้นมัธยมได้อ่านหนังสือแปลไทยปรัชญาด้านการศึกษาชาวต่างประเทศ เช่นท่าน รพินทรนาถ ฐากูร และอีกหลายท่าน เช่น เฮอมาน เฮสเส ตอลสตอย และที่ตื่นเต้นมากสำหรับผมก็คือ ดอสโตเยฟสกี้ และได้เสริมจินตนาการให้ลึกซึ้งมากขึ้นจาก มิคาเอ็ล เอ็นเด้ โดยเฉพาะ จินตนาการไม่รู้จบกับโมโม่ จะว่าไปแล้วการอ่านหนังสือในวัยเด็กกับการอ่านในวันนี้นั้นแตกต่างกันมากพอสมควร และชักนำผมไปอีกทิศทางหนึ่งของโลกจินตนาการ

จากการแนะนำของอาจารย์ธีรพจน์ ศิริจันทร์ อาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญามนุษยศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ที่นี้ ซึ่งผมลาพักงานสอนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี เป็นเวลาไม่มากนัก 4 ปีการศึกษาสำหรับการได้รับโอกาสสอนหนังสือในคณะมนุษยศาสตร์แห่งสังคมภาคใต้ตอนใน จากการได้มีโอกาสอ่านหนังสือของนุสบอมในช่วงศึกษาต่อ ทำให้ผมได้มีโอกาสคิดกับงานตนเองและสิ่งที่ไร่เรียงมาพานพบตลอดช่วงเวลา 40 ปี ของการศึกษาของตนเอง จากหนังสือ “ไม่ใช่เพื่อได้ประโยชน์: ทำไมประชาธิปไตยต้องการมนุษยศาสตร์” (Not for Profit: Why Democracy Needs the Humanties)

นุสบอมชี้ชวนให้ชาวโลกตระหนักถึงวิกฤติของปัญหาที่สำคัญในระดับโลกถึงแม้ผู้นำจำนวนมากในโลกจะพยายามอย่างเร่งด่วนในการหาหนทางแก้ไขปัญหาแต่ก็ดูเหมือนว่าจะสิ้นหวัง ปัญหาใหญ่ที่ถูกนำเสนอก็คือ ปัญหาสภาวะวิกฤตของการศึกษาระดับโลก ปัญหาใหญ่โตร้ายแรงที่จะติดตามมาอีกก็คือ “ปัญหาประชาธิปไตยในการปกครองตนเองได้ในอนาคต” การศึกษาได้ละทิ้งการสร้างสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาตนเองเพื่อความเป็นมนุษย์แต่แทนที่ด้วยความคิดเชิงจักรกล ลดทอนความหลากหลายของคุณค่า ขาดความเข้าใจต่อความไม่เหมือนและขาดความอดทนต่อความแตกต่าง ปลูกฝังค่านิยมของการได้ประโยชน์สูงสุด โดยการศึกษาคือบันไดไปสู่ความฝันและจินตนาการที่จะเป็นคนที่แตกต่าง มันขัดแย้งกันเองอย่างเหลือเชื่อ

ผมว่าความต้องการแตกต่างกำชับคนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้เหมือนกัน คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน ทำเหมือนกัน และที่ไม่ควรลืมคือ ทุกคนต่างก็ “กลัวเหมือนกัน” อีกด้วย ระบบการศึกษาวันนี้มันย้อนศร จากความเข้าใจและอดทนต่อความไม่เหมือนและการศึกษาเพื่อความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ห่อหุ้มจิตใจและร่างกายในความแตกต่างแต่มุ่งไปสู่จุดเดียวกันคือ “ความเป็นมนุษย์” ที่มีองค์รวมเดียวไม่ว่าจะศาสนาใด ชาติพันธุ์ รัฐ ชาติ ยากดีมีจน ไม่ว่าชนชั้นไหนต่างเป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์มนุษย์เดียวกัน แต่การศึกษาปัจจุบันให้ความสำคัญแก่การได้โอกาสที่จะแตกต่างออกไป บนพื้นฐานที่ว่าหากแตกต่างแล้วจะได้ประโยชน์แก่ตัวเองและคนใกล้ชิดแคบๆ แต่ลืมมองไปว่า คนจำนวนมากต่างก็แข่งขันเพื่อการนี้ จึงได้สร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ มีบุคลิกภาพแข่งขันเพื่อความแตกต่างและบุคลิกของความสิ้นหวัง

ดังนั้นจึงทำให้เกิดการยุบตัวของประเพณีเดิมของการศึกษาเดิม คือไม่ได้มีปรัชญาการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์และหากต้องการได้รับความสำเร็จ การศึกษานั้นได้หันกลับมาทำลายความเป็นมนุษย์ เพื่อสิ่งใด? ก็เพื่อประโยชน์นั่นเอง และได้หันเหพลเมืองให้เข้าร่วมประชาธิปไตยเพื่อให้ตนเองบรรลุผลความต้องการในประโยชน์

สถานการณ์ในขณะนี้นั้นรัฐบาลทั่วโลกต่างก็ละเลยความสามารถของตนเองที่จะรักษาประชาธิปไตยให้อยู่รอดได้ มุ่งเน้นที่ผลกำไรแห่งชาติ โดยจัดระบบการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อความกระหายในกำไรดังกล่าว หากยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป ชาติต่างๆ ในโลกจะผลิตเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถใช้เครื่องจักรมากว่าจะเป็นพลเมืองที่มีความสมบูรณ์แบบ ดังนั้นสิ่งที่ติดตามมาก็คือปัญหาประชาธิปไตย จากปัญหาคุณภาพของพลเมืองนั่นเอง

พลเมืองที่สมบูรณ์แบบคืออะไร ก็คือพลเมืองที่มีความสามารถในการคิดได้ด้วยตนเอง วิจารณ์ระเบียบแบบแผน ประเพณีเดิม มีความเข้าใจในความหมายของความเจ็บปวดและความสำเร็จของบุคคลอื่น ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้นานาชาติกำลังอยู่ระหว่างปัญหาการสร้างความสมดุลของการพัฒนาระบบการศึกษาที่แขวนไว้กับความกระหายกำไรของชาติและความเป็นพลเมืองที่พร้อม ประชาธิปไตยของชาติจึงถูกแขวนไว้กับระบบดังกล่าว การออกจากปัญหานี้ได้นั้น พลเมืองของชาติจะต้องมีความพร้อมเสียก่อน ความพร้อมของพลเมืองคือตัวตัดสินนั่นเอง

อะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จนถึงรากเหง้าเช่นนี้ได้ นุสบอมอธิบายว่าปัจจุบันรัฐบาลประเทศได้ตัดความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ (the humanity) และศิลปะ ออกจากการระบบการศึกษาชั้นต้นและชั้นที่สอง รวมถึงในระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย เพราะมีความเข้าใจผิดของผู้บริหารและผู้วางนโยบายชาติว่า วิชาดังกล่าวคือสิ่งตกแต่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้กับการแข่งขันในระดับตลาดโลก ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้เราสูญเสียหลักสูตรการศึกษาที่เรียนรู้ด้วยสำนึกและหัวใจไป สิ่งที่สูญเสียไปก็คือความคิดในเชิงมนุษยนิยม (humanistic) ในสาขาของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ควรมีแต่ไม่มีก็คือ “การมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดในเชิงวิพากษ์” นโยบายในประเทศทั้งหลายแหล่ต้องการกำไรในระยะสั้น จึงบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์โดยรัฐบาลสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นพลเมืองที่มีความเชี่ยวชาญสูง และเป็นมนุษย์ผู้เหมาะสมสำหรับการค้ากำไร ยกตัวอย่างว่าหากวิเคราะห์แล้วตลาดแรงงานของสามจังหวัดภาคใต้ที่ต้องการก็คือกำลังแรงงานผู้เชี่ยวชาญในสาขาเสมียนสำนักงาน เรียนจบปริญญาตรีและวุฒิบัตรระดับสูง การวางนโยบายก็สนับสนุนไปในแนวทางนั้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ ขาดแรงงานภาคการเกษตรและประมง บุตรหลานเรียนจบไม่ต้องการพัฒนาชีวิตจากแหล่งให้ชีวิตเดิม แรงงานรับจ้างจากต่างประเทศจึงเข้ามาอย่างท่วมท้นและกระจัดกระจาย ดังคำที่นุสบอมกล่าว “วิกฤติการณ์ดังกล่าวอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ปัจจุบันเรายังไม่เผชิญหน้ากับมัน” (Nussbaum 2010: 2)

จากการศึกษาตัวอย่างการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติต่างๆทำให้พบกับ ปัญหาที่น่านำมาสู่การถกเถียงกันอย่างจริงจัง เช่น

ตัวอย่างแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีรายงานปัญหาของการศึกษาระดับสูง วิพากษ์การดำเนินนโยบายการศึกษาว่าสิทธิในการเข้าถึงนั้นไม่เท่าเทียมกัน แต่เนื้อความของรายงานให้ความสนใจอยู่แต่การเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และระบุอุปสรรคว่าขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกร รายงานไม่ได้ระบุความขาดแคลนบุคคลกรในวิชาชีพอื่น บุคลากรที่ขาดแคลนในแรงงานทั้งหมดนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์และไม่สนใจพัฒนาบุคลากรพื้นฐานการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องสงสัยเลย มนุษยศาสตร์ หรือศิลปะ สาขาเหล่านี้ถูกตัดออกไปจากสถานภาพขาดแคลน

ตัวอย่างที่สอง ปี 2004 นักวิชาการจากหลายประเทศได้ทำการถกเถียงกันเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาของ รพินทรนาถ ฐากูร (Rbindranath Tagore) ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 1913 และเขายังเป็นผู้คิดค้นระบบการศึกษาอีกด้วย รพินทรนาถคือผู้ทดลองระบบการศึกษา และสร้างอิทธิพลขยายไปในวงกว้าง เช่น ในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา นักการศึกษาเหล่านี้สนใจการเพิ่มศักยภาพให้แก่นักศึกษา โดยการฝึกปฏิบัติที่เรียกว่า การถกเถียงแบบโซเครติส “Socratic Argument” นอกจากนี้ยังให้ทุกหลักสูตรเพิ่มการแสดงดนตรี วิจิตรศิลป์ การแสดงละคร และเต้นรำอยู่ในหลักสูตรด้วย แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ระบบการศึกษานี้กลับไม่ค่อยมีในประเทศอินเดียแล้ว และยังถูกดูแคลนวิธีการของ ฐากูร อีกด้วย

ตัวอย่างที่สาม ปี 2005 ครูโรงเรียนในชิคาโกได้ยกเลิกการเรียนในห้องเรียน สถานที่แห่งนี้ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้เคยเป็นผู้ชักชวนบุกเบิกการทดลองปฏิรูปการศึกษาเพื่อประชาธิปไตย และ บารัค โอบาห์มาร์ (Barack Obama) ได้เคยส่งลูกสาวของตัวเองมาเรียนอยู่ที่นี่ด้วย ครูต่างๆ ได้รวบรวมข้อถกเถียงเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อประชาธิปไตยของพลเมืองตามแนวทางของ นักปรัชญาดิวอี้ห์ ข้อสรุปก็คือมีความใกล้เคียงกับวิธีการของ รพินทรนาถที่อินเดีย ครูซึ่งมีความภาคภูมิใจกับการกระตุ้นเด็กให้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และจินตนาการ กลับพบกับความสับสนเกี่ยวกับความกดดันของพ่อแม่เด็กที่ไม่จริงใจต่อการศึกษาของลูก ทั้งๆที่พยายามส่งลูกเข้าโรงเรียนระดับนำ แต่ต้องการแค่ให้เด็กผ่านการทดสอบ คล้ายๆ กับการสร้างรายได้การเงิน คือความสำเร็จ และพ่อแม่เด็กพยายามที่จะเปลี่ยนแนวทางของโรงเรียน จึงเหมือนกับยาพิษของความสำเร็จ (Nussbaum 2010: 4)

นุสบอมอธิบายว่า “ดูเหมือนเรากำลังจะหลงลืมวิญญาณ (soul) ของเราไป” (Nussbaum 2010: 6) เขาเสนอให้เปิดจิตใจและสร้างความเชื่อมโยงจิตใจของตนเองกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้อย่างมากมาย “การเปิดใจดังกล่าวอาจจะเพิ่มความสามารถให้มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก” (Nussbaum 2010: 6) ซึ่งเหมาะสมกว่าความสัมพันธ์ที่มาจากการควบคุมจัดการการศึกษา

ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบเสมอภาคและประชาธิปไตย อาจจะต้องล้มเหลว หากเราไม่สามารถเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น คือการเรียนรู้ที่จะจินตนาการถึงความสามารถ สติปัญญาภายในของคนอื่น ทั้งนี้ความคิดและอารมณ์ เพราะความเสมอภาคและประชาธิปไตยถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากความเคารพและความเป็นห่วง และสิ่งนี้มาจากความสามารถที่จะเข้าใจประชาชนคนอื่นว่าเป็นมนุษย์ไม่ใช่วัตถุ (Nussbaum 2010: 6)

นุสบอมวิพากษ์แรงจูงใจที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่ามาจากความต้องการสร้างกำไร ซึ่งยากมากที่จะทำให้ชาติเข้มแข็ง เขาไม่ได้คัดค้านวิทยาศาสตร์ที่ดี และการศึกษาเทคโนโลยี แต่สิ่งที่เขาสนใจก็คือความสามารถอื่นๆ เช่นความเข้มแข็งของประชาธิปไตย ความเสมอภาคที่อยู่ภายใน และการสร้างสรรค์ของโลกที่ตกทอดมาในทางวัฒนธรรม ความสามารถที่จะมีการพบพานสังสรรค์กับมนุษยชาติ และสังสรรค์ในงานศิลปะ ความสามารถที่จะคิดอย่างวิพากษ์ ความสามารถที่จะทำให้ความภักดีต่อท้องถิ่นของตนล่องลอยไปพานพบและเข้าถึงปัญหาในโลกกว้างในฐานะที่ตนเองก็เป็น “พลเมืองโลก” (citizen of the world) และในท้ายที่สุดคือความสามารถที่จะจินตนาการเห็นอกเห็นใจบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่าตนเอง (Nussbaum 2010: 7)

ข้อเสนอของนุสบอม นั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างในสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณของมนุษยศาสตร์” (the spirit of the humanities) คือการค้นหาเพื่อที่จะสามารถวิพากษ์ทางความคิด และกล้าที่จะจินตนาการ เพื่อความเข้าใจ และเป็นผู้เอาใจใส่ในประสบการณ์ของมนุษย์ที่ล้วนมีความแตกต่างกัน และเข้าใจถึงความซับซ้อนของโลกที่เราอยู่อาศัย พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ให้ความสนใจต่อการศึกษาว่าจะต้องมีความสามารถวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์เชิงตรรกะและการจินตนาการ วิทยาศาสตร์จะต้องแสวงหาเพื่อนจากมนุษยศาสตร์มากกว่าที่จะสร้างศัตรู คือการเป็นเพื่อนร่วมงานในการศึกษาบนหัวข้อเดียวกัน ซึ่งอาจจะได้รับความสำเร็จบนงานของมนุษยศาสตร์ก็ได้ สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบก็คือความสำเร็จของอินเดีย ซึ่งมีประเพณีการศึกษามนุษยศาสตร์และศิลปะเป็นแบบอย่างของทฤษฎีและการปฏิบัติที่พัฒนาจากรพินทรนาถ ส่วนสหรัฐอเมริการะบบการศึกษาที่ทดลองอยู่ก็คือ การพิจารณาตนเองอย่างละเอียดละออแบบโซเครติส (Socratic self-examination) ซึ่งทำอยูในโรงเรียนเอกชน แต่ทั้งนี้ก็คาดหวังด้วยว่าการจัดระบบการศึกษาควรขยายเข้าสู่ครอบครัวของเด็กด้วย เนื่องจากสิ่งแวดล้อมของเด็กมีทั้งวัฒนธรรมคล้ายและวัฒนธรรมต่าง เมื่อสัมพันธ์กับโลกรายรอบตัว การศึกษาถึงมาตรฐานทางสังคม สถาบันทางการเมือง โรงเรียน และครอบครัว ก็มีความสำคัญและมีส่วนในการสร้างความสำเร็จนี้ให้เกิดขึ้น

นุสบอมชี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นด้วยกับเขาว่า “หากเราจะตระหนักถึงว่าจะพัฒนาพลเมืองของเรา เราก็จะต้องให้ความสนใจโดยไม่เี่ยงเบนไปจากจุดสนใจนี้” (Nussbaumm 2010: 9) การศึกษาของรัฐบาลหลายประเทศไม่ใช่การศึกษาเพื่อพลเมืองแต่เป็นการศึกษาเพื่อเตรียมประชาชนเข้าสู่การทำงาน อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าทั้งหลายมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ชีวิตมนุษย์ที่มีเหตุผลแตกต่างกันในหมู่พลเมือง เช่นมีศาสนาที่แตกต่าง มีความคิดเกี่ยวกับโลก วิถีชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งพลเมืองมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ จะให้การศึกษามนุษยชาติที่มีหลายประเภทโดยมีการสนับสนุนเป้าหมายเฉพาะแต่ละบุคคลได้นั้นทำอย่างไร เราอาจจะต้องเห็นด้วยกับชาติต่างๆ ที่อยู่คนละฟากโลก ยินดีกับพวกเขาที่มีประชาธิปไตยและต้องการเติบโตขึ้นมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลที่ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกเขาเข้ามาทำงาน สังคมประชาธิปไตยในทุกที่ต่างก็มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น มีความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ ความมั่งคั่ง และชนชั้น ความแตกต่างทางกายภาพ ความสัมพันธ์ทางเพศ และเพศสภาพ แต่พวกเขาก็คือผู้ลงคะแนนเสียงเพื่อสร้างทางเลือกต่อวิถีชีวิตท่ามกลางประชาชนที่มีความแตกต่างจากตัวเองเช่นกัน “ทางหนึ่งที่ดีก็คือการเตรียมเด็กให้ได้รับการศึกษาที่ทำให้เกิดคำถามว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร วิธีการนี้จะสามารถทำให้ชีวิตในรูปแบบองค์กรทางสังคม และการเมืองมีโฉมหน้าลักษณะเฉพาะขึ้นมาได้” (Nussbaumm 2010: 9-10)

สรุปว่าหากไม่มีการสนับสนุนการศึกษาที่เหมาะสม ก็จะไม่มีประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ เขาเสนอว่าให้บ่มเพาะความสามารถในการคิดอย่างวิพากษ์และสะท้อนถึงปัญหาที่ยากเย็น ต่อภาระกิจอันที่จะเก็บรักษาชีวิตประชาธิปไตยให้อยู่รอดได้ และขยายวงของประชาธิปไตยออกไปได้ ความสามารถในการคิดได้ดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมในวงกว้าง กลุ่มและชาติในบริบทของเศรษฐกิจโลก และประวัติศาสตร์ของชาติที่หลากหลาย และมีปฏิสัมพันธ์กลุ่ม ซึ่งเป็นความยากของการควบคุมการวางระเบียบที่ทำให้ประชาธิปไตยทำงานได้ในการตอบสนองกับปัญหาปัจจุบัน ซึ่งสมาชิกในโลกที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน และมีความสามารถที่จะจินตนาการประสบการณ์อื่นๆ ความสามารถที่จะรองรับมนุษย์ทั้งหมดและสังคมมีความต้องการที่จะยกระดับปรับปรุง หากเรามีความหวังที่จะรักษาสถานะที่ตกทอดเป็นมรดกข้ามการแบ่งชั้นแตกต่างไม่เท่าเทียมกันเป็นจำนวนมากเพื่อให้สังคมสมัยใหม่ดำรงอยู่ได้

ส่วนผลประโยชน์ของชาติในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ก็คือต้องเรียกร้องต่อการแสวงหาทางเศรษฐกิจแบบเข้มข้น และเรียกร้องต่อวัฒนธรรมสิ่งตกแต่งทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเราจะต้องไม่เลือกระหว่างการศึกษาเพื่อกำไร หรือการศึกษาเพื่อพลเมืองที่ดี สิ่งที่ควรทำก็คือการศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและจะต้องใส่ใจกับความมั่นคงของประชาธิปไตย “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหมายถึงมีมนุษย์เป็นที่สิ้นสุดจุดจบ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวเศรษฐกิจเอง” (Nussbaumm 2010: 10)

สุดท้าย ณ จุดนี้ สิ่งพึงระวังก็คือ “ไม่มีระบบการศึกษาใดจะทำงานได้ดี หากผลกำไรส่งผลดีต่อเฉพาะคนร่ำรวย ซึ่งเป็นผู้นำ” การกระจายโอกาสการศึกษาและการได้รับคุณภาพการศึกษา เป็นประเด็นที่เร่งด่วนมากสำหรับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ได้อ่านนุสบอมแล้วผมรู้สึกว่าประเทศประเทศสหรัฐอเมริกาถึงแม้จะร่ำรวยเพียงใด แต่ก็มีเรื่องที่น่าอายที่การกระจายตัวของระบบการศึกษาและคุณภาพการศึกษาไม่มีความเท่าเทียมกัน แต่ผมไม่รู้จริงๆว่า การเร่งกระชับให้เยาวชนได้รับการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 100% ของประเทศไทย เมื่อไหร่จะผ่านพ้นไปสู่การคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาที่ควบคู่กับการให้ความสำคัญการพัฒนาบุคลากร เช่นนโยบายเด็กเป็นศูนย์กลาง แค่ครูหนึ่งท่านสอนเด็กมากกว่า 40 ชีวิต ในชั้นเรียนระดับปริญญาตรี บางวิชาผมต้องสอนในห้องที่มีนักศึกษา 500 ชีวิต นโยบายให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ช่างยากเย็นเหลือเกิน ถ้าออกข้อสอบแบบเลือก 4 ข้อ นักศึกษาได้คะแนนน้อยกว่าข้อสอบเขียน ในหนึ่งเทอมเฉพาะวิชาเดียว ผมต้องตรวจข้อสอบข้อเขียนอัตนัย 1220 ชุด ต้องตรวจข้อสอบให้ทันกำหนดอีกด้วยไม่เช่นนั้นก็จะมีมาตรการลงโทษ 

ด้วยเหตุนี้อาจารย์หลายท่านจึงไม่อยากสอน เพราะเหนื่อยเหลือเกิน ผมยังชอบวิชา มนุษย์กับสังคม นักศึกษาทุกคณะได้เรียนกับผม ผมบอกไม่ถูกว่า มีความสุขแค่ไหนที่ได้สอน ตอนไล่ถามเด็ก กระตุ้นให้เขาคิดตามไปกับเรา แต่ก็มักพบว่าเราเหนื่อยเหลือเกิน ผมลืมบอกไปว่า ผมสอนวิชามนุษย์กับสังคมเทอมละ 3 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มละสองคร้ังต่อสัปดาห์ รวมแล้ว 6 คร้ังต่อหนึ่งสัปดาห์ บางเทอมมีการใช้ห้องกันมากผมต้องสอนแบบฉายหนังซ้ำ 3 รอบต่อวัน ความเครียดที่มาจากการแปลงการสร้างสรรค์ให้กลายสภาพมาประดุจโรงงานสอนเคลื่อนที่ มากมายนัก แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวครับผมก็เข้าใจซึ้งแล้วต่อเนื่องไปนโยบายอื่นๆ ที่ผู้บริหารระดับรัฐบาลทุกรัฐบาลพัฒนามาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง การประเมินเอย การควบคุมคุณภาพเอย เขาเห็นว่าอาจารย์เป็นคนงานไม่ใช่คนสอนหนังสือ จำนวนอาจารย์ไม่เพิ่ม งานจัดการมากขึ้นอาจารย์ต้องทำงานเสมียนด้วยตัวเองเกือบทุกเรื่อง เลขาภาค 1 คนไม่เพียงพอ อาจารย์หนึ่งสอนสามวิชา บางคนขยันสอนถึง 5 อาจมีมากกว่านั้น ผมไม่เห็นอนาคตเรื่องการปรับปรุงการเรียนการสอน เพราะดูเหมือนว่า แผนทั้งหมดหมดไปกับการปฏิบติตามคนวางนโยบายที่ต้องการทำงานมากขึ้นและสั่งงานอาจารย์ได้มากขึ้น วิกฤตการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย คือวิกฤติที่มาจากการบริหารการศึกษามากเกินไปจนทำไม่ได้และหลงลืมปรัชญาพื้นฐานการศึกษาไปเสียแล้ว การศึกษาเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับนักศึกษาได้พัฒนาความเป็นมนุษย์บนเรือนร่างของครูที่ถูกลดทอนเป็นหุ่นยนต์ แล้วจะเหลืออะไร


 

บรรณานุกรม

Nussbaum, Martha C'. Not for Profit: Why Democracy Needs the Humanties. Princeton and Oxford: Princeton University Prees, 2010.