โจทย์สำคัญของกระบวนการสันติภาพ

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังตั้งตารอและตื่นเต้นกับการเดินทางของมัน แต่การสร้างสันติภาพเป็นกระบวนการที่ใหญ่ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องการพูดคุยสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หรือการยุติความรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าความขัดแย้งที่บานปลายไปสู่ความรุนแรงจะสามารถย้อนไปได้ไกลถึงยุคก่อนปี ๒๕๐๐ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนที่ทำงานสันติภาพอาจจะละเลยไปก็คือสาเหตุของความขัดแย้งอันเนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรมที่สร้างปัญหาให้เกิดความเจ็บแค้นซึ่งอาจจะพูดได้ว่าย้อนไปไกลถึงสมัยการต่อสู้ของหะยีสุหลงก็ได้ และประเด็นหลังนี้คือสิ่งที่ไม่เคยได้รับการคลี่คลาย ซ้ำร้ายในความขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๗ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมยังคงเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ความขัดแย้งขยายวงออกไปจนดูเหมือนกับว่าจะหาทางออกไม่เจอ

ในช่วงแรกของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ ที่เกิดการชุมนุมประท้วงอยู่บ่อยครั้ง จนนำไปสูการล้อมปราบที่สร้างตราบาปและความรู้สึกเจ็บแค้นให้ผู้คนเป็นจำนวนมาก เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงนั้นขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการรับมือกับความขัดแย้งนั้นมีจำกัด เหตุการณ์ตากใบเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ย้ำเตือนเราอยู่เสมอว่า วิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์และผลการตัดสินของศาลนั้นมีผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้เกิดนักรบรุ่นใหม่ในพื้นที่ กรณีตัวอย่างที่ดีที่สุดคือกรณีของมะรอโซ จันทรวดี ที่ชะตากรรมชีวิตที่เขาต้องเผชิญในเหตุการณ์ตากใบได้พลิกชีวิตของเขาจากเดิมที่เป็นเด็กหนุ่มรับจ้างปีนต้นมะพร้าวกลายไปเป็นนักรบที่เลื่องชื่อของฝ่ายขบวนการ (โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ http://www.pataniforum.com/news_detail.php?news_id=119)

ต้องยอมรับว่าในช่วงปีแรกๆของเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในขั้นตอนการ ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และสอบสวน มีการเหวี่ยงแหจับกุม ควบคุมตัว การเค้นข้อมูลด้วยวิธีการที่ไร้มนุษยธรรม การซ้อมทรมาน ที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายพิเศษที่มอบอำนาจเต็มแก่เจ้าหน้าที่ ดังนั้น แทนที่การทำงานของเจ้าหน้าที่ี่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายแต่กลับกลายเป็นเเงื่อนไขหนุนส่งให้มีการต่อสู้มากยิ่งขึ้น ทำให้นึกถึงวลีอันโด่งดังที่ว่า ที่ใดมีการกดขี่และอยุติธรรมที่นั่นย่อมมีการต่อสู้

ความบกพร่องของการทำงานในช่วงต้นของเจ้าหน้าที่แสดงออกให้เห็นเมื่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่นั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราจะพบว่ามีหลายกรณีมากที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องเพราะขาดซึ่งพยานหลักฐานที่จะพิพากษาลงโทษได้ แต่ผลกระทบซ้ำสองของมันก็คือปัญหาของบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่พบว่ากระบวนการพิจารณาคดีใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานหลายปี กว่าที่จะเดินทางจากพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้น ศาลอุทรหณ์ ไปถึงศาลฎีกา (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากรายงานวิจัยเรื่อง ประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน : ศึกษากรณีสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) โดยสำนักงานคดีแรงงานภาค 9 สำนักงานอัยการสูงสุด)  ทั้งยังมีสิ่งที่กินใจผู้คนเหล่านี้ คือสิทธิ์ในการจะได้รับการประกันตัวที่ได้มาอย่างยากลำบาก และเมื่อได้รับการประกันตัวแล้วก็ยังพบว่ามีเงื่อนไขที่จะต้องทำงานอะไรบางอย่างแลกเสมอ

สถานการณ์อาจจะไม่เลวร้ายลงไปมากกว่านี้เมื่อกระบวนการยุติธรรมเริ่มปรับตัวได้และเริ่มมีการใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มและอย่างมีระบบมากขึ้น คดีที่เข้าสู่ระบบมีจำนวนน้อยลง เมื่ออัยการเริ่มตัดสินใจไม่สั่งฟ้องเพราะเห็นว่า น้ำหนักของพยานหลักฐานมีน้อย อันที่จริงแล้ว ความเชื่อมั่นของชาวบ้านที่มีต่อกระบวนการพิจารณาคดีความอาญานั้นไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียวเพราะว่ายังถือว่าดีกว่าอีกหลายๆเรื่องหากพิจารณาจากผลการสำรวจความคิดเห็นโดยองค์กรหลายๆแห่ง แต่สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นน้อยน่าจะเป็นเรื่องของต้นธารของกระบวนการยุติธรรมมากกว่า นั่นก็คือ การทำงานของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ถึงแม้ว่าในการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุม เจ้าหน้าที่จะทำงานอย่างมีระบบมากขึ้น และ การซ้อมทรมานจะจางหายไปจากพื้นที่ข่าว อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งก็ตาม

ประเด็นก็คือไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องประกันได้ว่าผู้คนจะลืมเลือนความเจ็บปวดที่ได้รับอันเป็นผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม เพราะในหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านยังมีคำถามอันมหึมาว่า ทำไมถึงไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง เสียงเรียกร้องนี้ดังขึ้นหลังจากผลการตัดสินของศาลฎีกาต่อการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาผลการการตัดสินของศาลปกครองสงขลาที่ระบุว่าผู้คนที่ล้มตายในเหตุการณ์ตากใบนั้นเกิดจากการขาดอากาศหายใจ (โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ http://prachatai.com/journal/2013/08/47956)  และในบางกรณีเช่นเหตุการณ์ “สี่ศพที่ปูโละปูโย” เมื่อผลการไต่สวนการตายออกมาว่า ถึงแม้จะเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตของชาวบ้านเกิดจากเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้านั้นก็อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ แต่มิได้ระบุว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ ทั้งยังเปิดช่องให้พิจารณาได้ว่าชาวบ้านอาจไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์อีกด้วย (โปรดอ่านเพิ่มเติมที่  http://www.deepsouthwatch.org/node/4574) ในขณะที่การต่อสู้ในคดีอาญาของกรณีปูโละปูโยนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะในศาลทหารซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึง นับเป็นการก่อกำแพงกั้นความเป็นธรรมที่สูงลิ่วเกินกว่าที่ชาวบ้านจะเอื้อมคว้ามาด้วยตนเองได้

ดังนั้นถึงแม้ว่ารัฐจะพยายามเร่งสร้างกระบวนการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในคดีความต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ด้วยเงิน แต่หากมองด้วยใจที่เป็นมนุษย์ ทุกคนที่สูญเสียพ่อแม่หรือญาติย่อมมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งกับการสูญเสีย เมื่อรัฐไม่สามารถรับประกันความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่ารัฐก็มิอาจพิชิตใจมวลชนได้ มนุษย์ผู้มีความรู้สึก ย่อมต้องหาทางเยียวยาตัวเองเมื่อสูญเสีย และเมื่อเงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของชีวิต แต่ลมหายใจและความผูกพันเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าของชีวิต การมอบเงินแต่ไม่มอบความเป็นธรรมก็เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่สูญเปล่า

โจทย์สำคัญของรัฐก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อกลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอต่อรัฐไทยให้มีการปล่อยตัวนักโทษในเรือนจำบนฐานคิดที่ว่า พวกเขามีศักดิ์เป็นคนปกป้องและพิทักษ์ศักดิ์ศรีของคนมลายู (โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/23948.html) เรื่องนี้อาจจะต้องใช้กระบวนการหรือคณะทำงานในการศึกษาและวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวอย่างระมัดระวัง เพราะคดีที่หลายคนถูกพิพากษานั้นไม่ได้เป็นเพียงคดีทางความคิดหรือ คดีทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคดีที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์อยู่ด้วย มันไม่มีหลักประกันใดๆคอยบอกเราว่าญาติของผู้ที่เสียชีวิตหรือถูกกระทำมีความรู้สึกเช่นไร ความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตหรือที่ถูกกระทำเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง รวมทั้งประเด็นที่ว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมมีปัญหามากเพียงใดในอนาคตด้วย

 ดูเหมือนว่ารัฐอาจจะต้องแบกภาระมหาศาลในการคลี่คลายปัญหาอันเกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรม เมื่อข้อเสนอจากภาคประชาชนยังเรียกร้องให้รัฐเฝ้าระวังเหตุการณ์ลอบสังหารนอกระบบที่พุ่งเป้าไปที่ กลุ่มครูตาดีกา อดีตผู้ต้องขัง ผู้นำศาสนา  และประชาชนทั่วไป (โปรดอ่านเพิ่มเติมที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4789#ref=Wibiya_bar2) รัฐเองอาจจะต้องการพลังพิเศษจากที่ใดที่หนึ่งอีกเช่นกันเมื่อไม่มีความคืบหน้าในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกราดยิงชาวบ้านในที่สาธารณะจนทำให้เกิดความสะเทือนใจปกคลุมเป็นเมฆหมอกสีดำในใจคนสามจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดที่ไอร์ปาแย นราธิวาส เหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด ยะลา เหตุการณ์กราดยิงร้านขายของชำที่รูสะมีแล ปัตตานี หนึ่งในเหตุการณ์เหล่านั้นที่ผู้คนกำลังเฝ้ารอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็คือเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาจนทำให้มีผู้เสียชีวิต และหนึ่งในผู้เสียชีวิตก็มีทารกอยู่หนึ่งคนด้วย นั่นก็คือเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านดามาบูเวาะ นราธิวาส ความสำคัญของเหตุการณ์ที่ดามาบูเวาะคือเรื่องที่ว่า มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เหตุการณ์การกราดยิงธรรมดา แต่ยังซุกซ่อนกลิ่นอายการล้างแค้นกันระหว่างชุมชนไทยพุทธ และ ชุมชนมุสลิมอยู่ในที เพราะหากดูจากสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาที่หมู่บ้านดามาบูเวาะ เมื่อวันที่  ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ นั้นเราจะพบว่า มีเหตุการณ์การลอบยิงหรือวางระเบิดเกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบจำนวน ๙ ครั้ง และมีทั้งคนพุทธและมุสลิม บาดเจ็บและเสียชีวิตสลับกันไปจากเหตุการณ์ทั้งหมด

ในสายตาของผู้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบพบว่า มีข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ไปในทิศทางดังกล่าว เพียงแต่ว่าเรื่องนี้จะยอมรับกันได้หรือไม่ ความกล้าหาญของรัฐที่จะยอมรับในเรื่องเช่นนี้ อาจเป็นพลังสำคัญที่จะยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลักษณะนี้ลุกลามบานปลายจนเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆด้วย และที่สำคัญเหตุการณ์ในลักษณะนี้อาจจะเป็นตัวฉุดรั้งกระบวนการสันติภาพมิให้ก้าวหน้าได้

ดูเหมือนว่ารัฐจะต้องแบกภาระที่เกี่ยวข้องโดยลำพังและหนักหน่วง ในการรับมือกับหลากหลายมิติของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นแนวทางในการคลี่คลายปมปัญหานี้ได้บ้างน่าจะมาจากสิ่งที่หลายคนเคยเสนอซึ่ง เป็นโมเดลจากต่างประเทศ และมีความพยายามจะนำมาใช้ในกรณีของความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงต่อเหตุการณ์สะเทือนความรู้สึกของผู้คน เพราะในมุมของผู้สูญเสียย่อมไม่มีสิ่งใดที่สำคัญเท่ากับความจริง การตั้งคณะทำงานสมานฉันท์อีกครั้งเพื่อทำหน้าที่หาหนทางที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่แตกร้าว ก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะใช้ประโยชน์จากการที่รัฐได้เริ่มต้นกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ด้วยการ พิจารณาประกาศจับมือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และนั่นรวมไปถึงการสะสางเงื่อนปมในอดีตที่เป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้หลายคนจับอาวุธลุกขึ้นสู้รัฐในหลายกรณี

แต่ในระหว่างที่โจทย์ใหญ่และยากยังรอการคลี่คลายปมอยู่นี้ สิ่งหนึ่งที่รัฐอาจจะทำได้ และเป็นกรณีที่สำคัญที่สุด ทั้งจะทำให้ได้ใจผู้คนในพื้นที่มากที่สุด ก็คือการคืนความยุติธรรมให้กับ "หะยีสุหลง" วีรบุรุษผู้ที่ทั้งตัวเขาและข้อเสนอของเขา ไม่เคยตายไปจากใจของคนมลายูมุสลิม แน่นอนที่สุดว่า การคืนความยุติธรรมนี้ไม่ได้หมายถึงการ ส่งทีมประดาน้ำไปงมหากระดูกของหะยีสุหลงในทะเลสาบสงขลา แต่การคืนความเป็นธรรมแก่หะยีสุหลงที่รัฐน่าจะทำได้ ก็ด้วยการพิจารณาข้อเสนอของเขาและยกย่องหะยีสุหลงให้เป็นวีรบุรุษของคนในพื้นที่ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการยอมรับการมีอยู่ของมลายูมุสลิมในสังคมไทย ในลักษณะและอาการที่พวกเขาต้องการ เพื่อแสดงความเอาจริงว่าจะเริ่มต้นคลี่คลายปมแค้นที่ชาวมลายูมุสลิมมีต่อรัฐไทยมาอย่างยาวนาน