ฟุ้งเรื่องคนมลายู 4 อำเภอสงขลาที่ (ไม่) เปลี่ยนไป ตอน 1

ฟุ้งเรื่องคนมลายู 4 อำเภอสงขลาที่ (ไม่) เปลี่ยนไป (ตอนที่ 1)

โดย ยรรยง  มะสูยู  และกองบรรณาธิการปาตานี ฟอรั่ม

 

ณ วงเวียนหอนาฬิกา ในเขตตลาดจะนะ จังหวัดสงขลา มีอนุสรณ์นกเขาในกรงใหญ่มหึมา เพื่อหวังสะท้อนความเป็นจุดเด่นของชุมชนให้คนรุ่นหลังได้จดจำ  เรื่องราวของจะนะในอดีตกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้สะท้อนตามคำขวัญของอำเภอจะนะที่ว่า “นกเขาชวาเสียง สำเนียงสะกอม วัฒนธรรมหล่อหลอม ออมทรัพย์เด่นดัง” ดังนั้นวันนี้ของจะนะยังคงรู้จักเพียงแค่ความเป็นส่วนหนึ่งของสงขลา หรือเมืองแห่งนกเขาชวาอันโด่งดัง แต่สำหรับในพื้นที่นั่นเล่า จะนะกลับถูกเชื่อมด้วยหลากหลายมิติของความเป็นปาตานีในอดีต เฉกเช่นเดียวกับเทพา นาทวี สะบ้าย้อย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับรู้มากนัก  เพราะแง่มุมเช่นนี้ ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจในห้วงยามการเดินทางควานหาสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปาตานี ฟอรั่ม จึงชวนกันมาเสวนาคาเฟ่ หัวข้อ จะนะ- เทพา นาทวี- สะบ้าย้อย   4 อำเภอสงขลา “ ในความเป็นปาตานี”  ณ ศูนย์อัลกรุอานและภาษา (QLCC) Qur'an Language Ethics Center  ย่านตลาดจะนะ จ.สงขลา  โดยมี อาจารย์อับดุลสุโก  ดินอะ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ และอัศโตรา     (ยาบัต)โต๊ะราแม  นักจัดรายการวิทยุช่วง “โลกวันนี้” ทางสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

วิถีจะนะ  ปัจจุบันที่…เปลี่ยนไป    ชวน…หวนอดีตอันลึกซึ้ง

อาจารย์อับดุลสุโก  ดินอะ หรือ .สุโก นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านใน 4 อำเภอสงขลาและ 3 จชต.  เริ่มต้นการสนทนาด้วยการแนะนำสถานที่ โดยบอกว่า สถานที่แห่งนี้ คือ ศูนย์อัลกรุอานและภาษา (QLCC) Qur'an Language Ethics Center ศูนย์ที่เราตั้งขึ้นมานี้เพื่อจะพัฒนาอัลกรุอานและภาษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ไม่ว่าชายหรือหญิง ศูนย์แห่งนี้สร้างมา เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ก็มีเจตนารมณ์เพื่อที่จะให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์กลางให้แก่พี่น้องชาวจะนะหรือใครก็แล้วแต่ได้มาใช้สถานที่แห่งนี้ในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม

 

อ.อับดุลสุโก  เริ่มเข้าสู่ประเด็นโดยบอกว่า  เมื่อพูดถึงจะนะ ที่จริงคนก่อนๆหรือคนเฒ่าคนแก่น่าจะมาเล่าหรือถ่ายทอดประสบการณ์ได้ดีกว่า  เมื่อก่อนที่นี้เป็นอย่างไร ผมฟังจูแอ(ชาวบ้านที่นี้) แกบอกว่าคนในตลาดจะนะไม่มีใครเลยที่พูดภาษาไทยได้

“คนรุ่น 50 ปีขึ้นไปทุกคนส่วนใหญ่พูดภาษามลายูทั้งนั้น แต่ถ้าคิดในส่วนของอำเภอจะนะมี 14 ตำบล ก็จะมีตำบลที่พูดมลายูได้ คือตำบลบ้านนา ที่เราอยู่นี้ คนตำบลโคกเคดหลังสถานีรถไฟก็จะพูดมลายู ร่วมไปถึงตำบลสูเหร่าก็พูดมลายูด้วยเช่นกัน  แต่เมื่อ 50 ปีผ่านไปผนวกกับหลักสูตรการศึกษาของรัฐเข้ามาในระบบโรงเรียนทำให้เด็กรุ่นใหม่พูดภาษาไทยกัน ถ้าคิดใน 4 ตำบลนี้ แต่ถ้าตำบลรอบข้างเช่น ตำบลสะกอม จะมีการพูดปะปนบ้างระหว่างมลายูกับไทย แต่มีข้อสังเกตว่าช่วงระยะเวลา 30 ปีหลัง เดิมจะมีการพูดภาษามลายูเสร็จแล้วก็พูดใต้(แลงใต้) แต่เด็ก ๑๐ ปี รุ่นหลังจะเริ่มพูดมลายูและใต้ไม่ได้แล้ว แต่จะพูดภาษากลางแทน เฉพาะในตลาดส่วนใหญ่เลย ตรงนี้ก็คือในเรื่องของภาษาถึงแม้ว่าในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนตาดีกาเอง ซึ่งมีวิชาหนึ่งที่เรียกว่าวิชาภาษามลายู อยู่ในโรงเรียนเหล่านั้นด้วย ที่ยังอนุรักษ์  แต่ครูผู้สอนที่ทำงานสอนภาษาเหล่านั้นไม่ได้จบหลักสูตรโดยตรง จบเพียงชั้น 10 ที่มีจิตอาสาในการที่จะสอน”

 

“นอกจากนั้นในอดีตจะมีโต๊ะครู(บาบอ) เช่นบาบอนูรูดีน ณ สถานที่แห่งนี้  ซึ่งเป็นเรื่องเล่าในอดีตเล่าวว่าขณะคนเมาที่เดินผ่านมัสยิดนรูดีนแห่งนี้ คนเมาต้องเดินตรง เพราะกลัวบารมีของโต๊ะครู หรือคนที่มาโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียง ถ้าผ่านซอยหน้ามัสยิด เขาจะหยุดโฆษณาทันที แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ตรงนี้ที่เล่ามานั้นคือส่วนหนึ่งในอดีตของจะนะ”

อ.อับดุลสุโก สะท้อนให้ฟังว่า ตอนนี้เริ่มมีอุตสาหกรรมเข้ามามีคนนอกเข้ามามากขึ้น เมื่อมีคนนอกเข้ามามากขึ้นก็ทำให้ความเป็นพหุวัฒนธรรมยิ่งมีมากขึ้น

“มีทั้งจีน ไทย มลายู จึงมีการผสมผสานกันมากขึ้น โดยมีฉายาจะนะว่า จะนะเมืองสองวัฒนธรรม แล้วยังมีการจัดงานที่มีชื่อว่าของดีเมืองจะนะ ทุกๆปี แต่ผมก็ไม่เห็นด้วนกับการจัดงานเพราะผมมองว่าการจัดงานในรูปแบบนั้นมันไม่ใช่การจัดงานเมืองของดีจะนะ แต่มันเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้เมืองจะนะมากกว่า  เพราะว่ามีกิจกรรมที่ผิดหลักศาสนา(เมาะสียะห์) มากมายในงานและของพื้นเมืองมีน้อยมากในงานส่วนใหญ่จะนำเอาดนตรีจากแหล่งต่างๆเข้ามาเสียมากกว่า”

 

“ปีนี้ที่มัสยิดเขากำลังอาซานอยู่ แต่อีกมุมหนึ่งกำลัง ตีกลองพาเหรดอยู่จะบ่งบอกว่านั้นวัตถุนิยมเข้ามา ตรงนี้จึงคิดว่าเมื่อกระแสการประทะกันด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ตรงนี้เราต้องมาช่วยแก้ไขกัน ในทางโรงเรียนปอเนาะในตัวจะนะ ถ้าคิดโรงเรียนที่ขึ้นทะเบียนไม่ต่ำกว่า 24 โรง แล้วที่เปิด อนุบาลและประถมก็ไม่ต่ำกว่า ๗-๘ โรง ที่แข่งขันทักษะวิชาการทั้งรัฐ – เอกชน ไม่ต่ำกว่า 50 โรง และจะนะยังถือว่าเป็นเมืองที่มีปอเนาะมากที่สุดก็ว่าได้ ในอดีตปอเนาะที่ดังๆ เช่นปอเนาะบาบอยีแอ ถ้าจำไม่ผิด มีนักเรียนพันกว่าคนที่ศึกษาเล่าเรียนที่นั้น ในสมัยนั้นการเดินทางก็ยังลำบาก แล้วยังมีการอนุรักษ์ในการเรียนการสอน คือ สอนและเรียน กีตาบ ที่เขียนอักษรยาวี ดังนั้นจะนะจึงมีวัฒนธรรมมลายู วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอื่นๆอีกด้วย วัฒนธรรมเหล่านั้นบ่งบอกถึงตัวตนของบุคคลเหล่านั้นว่ามาจากเชื่อชาติใด” อ.สุโก สะท้อนให้ฟัง

 

สำหรับหัวข้อในการสนทนา อ.อับดุลสุโก มองแบบรวมๆว่า ปาตานีและจะนะยังมีความเหมือนกันในด้าน อัตลักษณ์การเป็นอยู่วิธีชีวิตของคนในอดีตและภาษาที่ใช้กันคือภาษามลายู ขณะเดียวกันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ส่งผลต่อเยาวชนคนรุ่นหลัง ทำให้คนรุ่นหลังไม่สามารถที่จะใช้พูดภาษามลายูได้พื้นที่แห่งนี้มีการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมมาก 

“นอกจากนี้การเข้ามาของอุตสาหกรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้กำหนดแผนให้จะนะเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ถ้าเราสังเกตดูว่าการเกิดขึ้นของโรงแยกก๊าซ,โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องบังเอิญ แต่นั้นเป็นแผนทางภาครัฐวางไว้แล้ว  ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตต้องส่งผลถึงวิธีชีวิตการเป็นอยู่ของชาวจะนะอย่างแน่นอน”

 

4 อำเภอสงขลา… และความเป็นปาตานี

อัศโตรา โต๊ะราแม หรือ แบอัศโตรา กล่าวว่า  จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย 4 อำเภอในความเป็นปาตานี ถ้าเราย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ 1000 กว่าปี เราจะได้รู้ทันที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับ 4 อำเภอของสงขลานั้น ไม่ได้มีแง่มุมใด แง่มุมหนึ่ง

“เราจะมองในยุคโบราณ(มลายู) คือ ตั้งแต่เมืองฮีตุ เมืองฮีตุเป็นเมืองที่เกิดขึ้น 100 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษและสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเมือง Pal – Pal ก็เหมือนกัน เมืองเหล่านั้นมีอยู่ในเขตแดนมลายูสมัยก่อน ชาวจีนที่มาทำการค้าขายได้บันทึกไว้ เมือง Pal – Pal ก็อยู่ในช่วงศตวรรษ 3 -7 และที่เรารู้จักกันดี คือ     อาจักรศรีวิชัยอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 7 – 14 และลังกาสุกะ (ปาตานีเก่า) อยู่ในช่วงประมาณการศตวรรษที่ 2 - 4   เมืองมายาตาฮิด ช่วงศตวรรษที่ 3 – 7 และปาตานีศตวรรษที่ 16 – 20    ซึ่งปี 1902 ที่รัฐปาตานี ได้ศูนย์เสียไป ถ้าดูในยุคนี้เราจะรู้ทันที่ว่า เทพา จะนะ นาทวี และ สะบ้าย้อย ก็จะอยู่บนส่วนของปาตานีนั้นเอง  เช่นอาณาจักรศรีวิชัย จะเป็นชาติพันธุ์มลายู แต่นับถือศาสนาในตอนนั้น คือ พุทธหรือฮินดู ก่อนที่เราจะมานับถือศาสนาอิสลามที่เรียกว่ามุสลิม”

 

“เรานั้นคือพุทธมาก่อน แต่ตอนนี้ไม่มีใครเขายกมาพูดกันในประเด็นนี้ ถึงมีก็มีน้อย แล้วตอนที่เมืองมายาตาฮิดหรือเจ้าเมืองมายาตาฮิดปกครองก็นับถือฮินดูอยู่ เมื่อเรามองดูในกรอบของยุคก่อนนั้น จะร่วม เทพา จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย อยู่ในปาตานี ในสมัยอานานิคมนั้น 4 อำเภอนี้จะตกเป็นเมืองขึ้นของนครสีธรรมราช อีกส่วนก็ตกอยู่กับ เคดา (ประเทศมาเลเซีย) ส่วนหนึ่งก็อยู่กับปาตานีเช่นเดิม”

แบอัสโตรา กล่าวต่อว่า ผมเองก็มาจากอำเภอ รือเสาะที่อยู่ในจังหวัดนราธิวาสปัจจุบัน ผมก็พูดภาษามลายูและภาษาไทยควบคู่กันไป ผมเองก็เคยศึกษาเล่าเรียนภาษาอาหรับ,อังกฤษอีกด้วย พอไปอยู่ต่างประเทศก็เล่าเรียนภาษาต่างๆ มากมายมีหลายภาษาที่ผมพูดได้ ราวๆ  6 ภาษาที่ผมพูดได้

“ผมอยู่ต่างประเทศ 35 ปี ความสำคัญในการเรียนภาษาอย่างเช่นที่นี้ ที่ๆบอกว่า 2 วัฒนธรรม ไทย – มลายู แต่ที่จริงแล้วหากเรามองย้อนกลับไปดูที่ปาตานีสมัยก่อน ก็จะเป็นวัฒนธรรมผสมผสานและชาติพันธุ์ก็จะเป็นผสมผสานเช่นกัน มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ที่พูดถึงปาตานีสมัยก่อน ว่าปาตานีมีการผสมผสานทางด้านการดำรงชีวิต เช่น คนจีน เพราะในสมัยนั้นมีคนชาวจีนมาค้าขายแถบนี้กันมาก จะสังเกตเห็นได้ว่าทำไมคนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีปัจจุบันจะแตกต่างกับคนที่อาศัยอยู่ละแวกจังหวัดนราธิวาส และยะลา เราจะรู้ถึงสาเหตุว่าหากคนที่เป็นคนปัตตานีแท้ ๆ เขาจะชำนาญในการค้าขาย แต่คนนราธิวาสเขาจะไม่ค่อยชำนาญในเรื่องที่สักเท่าไรเพราะส่วนใหญ่จะเป็นชาวสวนกัน(สวนยาง,ชาวนา,ชาวไร่) จะเห็นได้ว่าคนที่ค้าขายเก่งที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้(ปาตานี)นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสายเลือดจีน เพราะเมื่อก่อนนั้นคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในรัฐปาตานีมากหรืออาจเป็นไปได้ว่าคนมลายูแท้เขาเรียนการค้าขายมาจากชาวจีนในสมัยนั้น” แบอัศโตราอธิบาย

               

“แม้กระทั่งชาวปาตานีได้เข้าไปบุกเบิกทำการค้าขายที่ประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น ร้านต้มยำ ที่ประเทศมาเลเซีย จนโด่งดังเป็นถึงร้านอาหารที่ชาวต่างชาติชอบมากที่สุดและในในที่แห่งนี้ยังมีสิ่งทีไม่มีที่อื่นอีกด้วยคือ การที่เรามีผู้ปกครองเป็นถึงราชินีทั้ง 4 พระองค์ที่เคยปกครองบ้านเมืองหรือรัฐปาตานีในสมัยนั้น พระองค์นางมีชื่อเรียกว่า รายอบีรู รายอกูนิง รายอฮีเยา และรายออูงู และทั้ง 4 พระองค์ ครองราชย์ในการปกครองบ้านเมืองราวกว่า 100 ปี ทำให้ปาตานีในยุคสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองที่สุด และที่สำคัญไม่มีในประเทศใดที่มีราชินีปกครองประเทศได้ 100 กว่าปี มีที่นี่ที่เดียว (รัฐปาตานี)”

               

แบอัศโตรา เล่าต่อว่า ปาตานียังมีเหล่านักวิชาการทางด้านศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงโด่งดังถึงระดับโลกอีกด้วย ที่เรียกว่า อุลามะห์ ที่สอนหนังสืออยู่ในมัสยิดประเทศซาอุดีอาระเบีย

“ไม่มีอุลามะห์ท่านใดที่มาจากประเทศอื่นๆ ในสมัย 100 กว่าปี และอุลามะห์ที่นี้เช่นกันที่เขารู้จักกันในนาม อุลามะห์อัลฟาตอนี  เช่น เชคฺ ดาโอะ อัลฟาตอนี และอีกหลายๆท่านที่ไม่ได้กล่าว ทั้งยังมีหนังสือที่อุลามะห์ อัลฟาตอนีเขียนขึ้นและไม่ใช่แค่เขียนอักษรเป็นภาษามลายูเพียงอย่างเดียว แต่ยังเขียนเป็นภาษาอาหรับอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือด้านวิชาการที่เรามีอยู่ในยุคนั้นและเรายังมีด้านวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยลังกาสุกะ ศรีวิชัย นั้นคือ ดีเกฮูลู  ที่ประเทศต่างๆแถบมาเลเซีย อินโดนีเซียก็มีการละเล่นเช่นนี้เหมือนกัน ถือว่าแหล่งกำเนิดมาจากบ้านเรานั้นเอง และยังมีการละเล่นดีเกลังตัดที่ปัจจุบันมาดัดแปลงเป็นเพลงลูกทุ่งนั้นเอง”

 

ทั้งหมดนั้นคือส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าในเป็นปาตานีในสมัยก่อน  ที่ยังไม่จบชวนให้ติดตาม ตอนต่อไป….