รอมฎอน คนพื้นที่ต้องการความสงบ

"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน" การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน (ปีนี้ 2556 อยู่ระหว่าง 10 กรกฎาคม 2556- 8 สิงหาคม  2556) ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ) บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ทำให้เสียศีลอดนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)" 

จากคำประกาศของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ครั้งที่ ๔ ผ่านอุสตาซฮัสซัน ฏอยยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยและตัวแทนของแนวร่วม   7 ข้อ  (ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย อาจารย์ Hara Shintaro  โปรดดูรายละเอียดสามภาษาได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4402)

ทำให้คนของรัฐบาลไทยและหน่วยความมั่นคงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวด้วยคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง และมีแนวโน้มว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปคงจะล้ม

ในขณะที่ข้อเสนอหลายข้อถูกใจคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เรียกร้องมานานทั้งๆที่หลายข้อในข้อเสนอดังกล่าวรัฐบาลไทยรวมทั้งกองทัพได้ปฏิบัติและมีแผนที่จะปฏิบัติอยู่แล้ว

สำหรับคนในพื้นที่จริงๆ อยากจะให้เดือนรอมฎอน ในปีนี้ สงบ สันติและหยุดความรุนแรงสักเดือนในขณะเดียวกันกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็อยากให้ดำเนินการต่อเพื่อเป็นทางออกทางการเมืองเพราะผลสำรวจล่าสุดยืนยันในความต้องการดังกล่าวของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่

จากการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ หรือ CSCD จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep South Poll) เมื่อช่วงวันที่ 9 – 11 มิถุนายนที่ผ่านมา หรือก่อนหน้าวันนัดพูดคุยที่มาเลเซียระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายทางการไทยและตัวแทนขบวนการปลดปล่อยปาตานีในวันที่ 13 มิถุนายน เพียงเล็กน้อย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,006 ราย จากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวมีข้อสรุปดังต่อไปนี้

1. ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ซึ่งมีระดับเฉลี่ยของคะแนนอยู่ที่ 5.80 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางบวก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ กับการศึกษาในครั้งแรกมีจำนวนผู้ยอมรับกระบวนการสันติภาพร้อยละ 67.17 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การสนับสนุนและยอมรับต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนมีจำนวนสูงขึ้นในการสำรวจครั้งนี้

2. ข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายรวมทั้งข้อเรียกร้อง 5 ข้อจากบีอาร์เอ็นได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่เมื่อเทียบระดับคะแนน ข้อเรียกร้องแบ่งออกเป็นสามกลุ่มตามระดับ คือ กลุ่มที่ได้คะแนนการยอมรับสูงมากเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนเรื่องการร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ การหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ การลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่สูงในระดับที่สองคือข้อเรียกร้องเรื่องบทบาทภาคประชาสังคมในการพูดคุยสันติภาพ การเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ การยกเลิก พรก ฉุกเฉิน และการปกครองแบบพิเศษ เป็นต้น ส่วนข้อเรียกร้องในระดับที่สามส่วนใหญ่คือข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น คือการลงประชามติเรื่องอนาคตปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การให้มีประเทศอาเซียน โอไอซีและเอ็นจีโอเป็นสักขีพยานในการเจรจา และการยกเลิกบัญชีดำที่หมายตัวผู้กระทำผิด เป็นต้น ข้อเรียกร้องทั้งสามกลุ่มได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ตอบทั้งหมดแต่มีระดับความรู้สึกความเชื่อมั่นสูงต่ำแตกต่างกันไป

3. ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นได้รับคะแนนการยอมรับจากประชาชน ประชาชนรับได้ในระดับที่พอสมควร แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่าระดับน้ำหนักไม่ใช่อยู่ในกลุ่มระดับคะแนนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องของประชาชนเรื่องอื่นๆ จึงควรได้รับการพิจารณาโดยร่วมกับข้อเสนออื่นๆของภาคประชาชน

4. น่าสังเกตว่าข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่มีคะแนนยอมรับค่อนข้างสูงมากกว่าข้อเสนออื่น 5 ข้อคือ ต้องการเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ มีระดับความเห็นยอมรับเฉลี่ยอยู่ที่ 6.94 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.8 อีกข้อก็คือต้องให้รัฐบาลมาเลเซียมีบทบาทเป็นตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยแทนที่จะเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเจรจา มีระดับความเห็นเฉลี่ยที่ 6.11 (โปรดดูรายละเอียดในhttp://www.deepsouthwatch.org/node/4397 )

จริงอยู่ในประวัติศาสตร์อิสลานั้นในสมัยศาสนทูตมุฮัมมัดเคยมีการทำสงครามเรียกว่าสงครามบัดร เมื่อวันที่ 17 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราชที่2  (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน  http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1770)

แต่เป็นสงครามที่ท่านป้องกันตนเองจากศัตรูที่เข้ามาโจมตีและหมายปองชีวิตท่านอย่างชัดเจน

ไม่ว่า อย่างไรก็แล้วแต่  คนในพื้นที่  ตอนนี้ อยากให้รอมฎอนปีนี้ เป็นจุดเริ่มตนของความสงบ  สันติและหยุดความรุนแรง  ดังนั้นไม่ว่าฝ่าย BRN  หรือรัฐบาลและหน่วยความมั่นคงน่า จะชิงประกาศ การสร้างบรรยากาศ  การหยุดสงคราม  และความรุนแรงโดยปราศจาก  เงื่อนไขก็จะได้ใจมวลชนคนพื้นที่อย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกันผู้เขียนในนามคณะทำงานประชาสังคมยังคงนำเสนอ  แผนที่เดินทางสันติภาพแก่ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าจนบรรลุข้อตกลงร่วมกันโดยนำความสันติสุขแก่ประชาชน ภาคประชาสังคมจะผนึกกำลังร่วมกันกับทุกฝ่าย แม้ว่าเวทีการพูดคุยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ดังนี้

ข้อเสนอต่อขบวนการ BRN:

(1) ต้องสื่อสารและเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจให้รัฐและประชาชนในเรื่องความไม่เป็นธรรมที่กลุ่มเสนอให้เป็นรูปธรรม

(2) ร่วมกันเสนอแนวคิดการจัดให้มีช่องทางสื่อสารของบีอาร์เอ็นในการติดต่อประสานงานเพื่อการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ

(3) ให้แสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์รุนแรงทั้งที่ตัวเองได้กระทำและปฏิเสธสิ่งที่ไม่ได้กระทำ

(4) ควรมีแผนที่สันติภาพ (โรดแมป) เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้

(5) ละเว้นการทำร้ายผู้บริสุทธิ์

ข้อเสนอต่อรัฐไทย:

(1) ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเสนอของ BRN อย่างรอบคอบและสรุปผลเสนอต่อคณะพูดคุย

(2) สร้างบรรยากาศสันติภาพให้เป็นรูปธรรมทุกระดับในพื้นที่

(3) ให้แสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์รุนแรงทั้งที่ตัวเองได้กระทำและปฏิเสธสิ่งที่ไม่ได้กระทำ

(4) กำหนดองค์กรให้ชัดในการทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากภาคประชาชน และภาคประชาสังคม

(5) หากระบวนการที่ชอบธรรมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาสันติภาพให้ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(6) รัฐต้องมีหน่วยที่สามารถสื่อสารความก้าวหน้าการพูดคุย/เจรจาสันติภาพ

(7) ทบทวนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมและภาคีได้เสนอ  แผนที่เดินทางสันติภาพต่อทุกภาคส่วนเช่นกันเพราะภาคประชาสังคมเห็นว่า กระบวนการสันติภาพนี้ควรวางอยู่บนหลักการการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี 5 ข้อดังนี้

(1) ทุกกระบวนการของการสร้างสันติภาพ ต้องเชื่อมโยงและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และสังคมสาธารณะ

(2) ทุกฝ่ายควรยอมรับสถานะของคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

(3) เปิดพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นโดยไม่ต้องกังวลต่อความปลอดภัยและการดำเนินทางกฎหมายจากทั้งรัฐและ BRNในการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

(4) ภาคประชาสังคมจะเป็นฝ่ายประสานเชื่อมทุกฝ่าย ร่วมกันกำหนดพื้นที่/สร้างตัวชี้วัดในการ “ลดความรุนแรง” และสนับสนุนการสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน เพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับและชอบธรรม

(5) สังคมต้องเรียนรู้ เข้าใจ อดทน อดกลั้น และยอมรับความจริงเพื่อหนุนเสริมให้กระบวนการพูดคุยและเจรจาบรรลุข้อตกลงของทุกฝ่าย (โปรดอ่านรายละเอียดใน http://www.deepsouthwatch.org/node/4352

ท้ายนี้ผู้เขียนขอกล่าวว่า “ในช่วงกลางวันของรอมฎอน เรามุสลิมจะถือศีลอด และประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบทบัญญัติ) ส่วนในตอนกลางคืนเราจะละหมาดตะรอเวียห์ ขอดุอาอ์ (ขอพร) ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ และขอความเมตตาจากพระองค์แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่พวกเราบางคนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด โดยเขาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร อู้งาน โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือผู้มีอวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก ท้องของเขาจะต้องระงับจากการกิน การดื่ม   อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผล และถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดี และการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล”

ท่านศานฑูตมุฮัมมัดกล่าวไว้ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จอัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดย :อิม่ามอัลบุคอรีย์) กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใดๆ ท่านศาสนฑูตกล่าวไว้อีกความว่า "การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม) "บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น" (บันทึกโดย : อิบนุมาญะฮฺและอะหมัด)