การพัฒนาเศรษฐกิจในมาเลเซีย (2)

มหาธีร์ กับนโยบายพัฒนามาเลเซีย

มหาเธร์ มูหัมมัด เป็นผู้นำคนที่ 4 ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นที่สุด และได้การกล่าวขานว่าเป็น “บิดาแห่งความทันสมัยของมาเลเซีย” เส้นทางในการเมืองของมหาเธร์ เริ่มตั้งแต่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในปี ค.ศ.1964 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1969 จึงทำให้ถูกขับออกจากพรรค ระหว่างช่วงเว้นว่างทางการเมืองอยู่นั้น มหาเธร์ได้เขียนจดหมายโจมตีการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีตนกู อับดุลเราะห์มาน เนื้อความสำคัญของจดหมายได้โจมตีการทำงานของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นผู้ที่ทรยศต่อชาวมลายู ในการต่อสู้กับการครอบงำทางเศรษฐกิจของคนจีนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย

มหาเธร์ได้เขียนหนังสือวิพากษ์ วิจารณ์ชาวมลายู กระทั่งเขาต้องถูกขับออกจากพรรค UMNO ชั่วคราว โดยหนังสือชื่อ ปัญหาที่แก้ไม่ตกของชาวมลายู (The Malay Dilemma) ได้วิจารณ์การทำงานของตนกู ได้สร้างความตกต่ำให้กับชาวมลายู และในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ชาวจีนมีสภาพเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งในงานเขียนชิ้นนี้ของมหาเธร์ได้กล่าวถึงชาวมลายูความเป็นจริงในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งไม่เคยได้นำเสนอในที่สาธารณะทั่วไป กล่าวคือ มหาเธร์ได้กล่าวถึงชาวมลายูในลักษณะของความเกียจคร้านในหน้าที่การงาน และการก่ออาชญากรรม รวมถึงคุณลักษณะนิสัยของชาวมลายูที่ไม่มีการต่อต้านในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย

แต่ภายหลังจากตนกู อับดุลเราะห์มานได้ลาออก มหาเธร์ได้เข้ามาเป็นสมาชิก UMNO อีกครั้งในสมัยของตนกูอับดุลราซัก และได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาในปี ค.ศ. 1974 พร้อมกับรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหลังจากนั้นอีก 2 ปีในสมัยของดาโต๊ะฮุสเซ็น ออนน์ มหาเธร์ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคในปี ค.ศ. 1981

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมหาเธร์ คือ มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่มาจากสามัญชน ไม่ได้มีเชื้อสายจากสุลต่าน หรือ บุคคลในราชวงศ์ของมาเลเซีย

มหาเธร์กับทัศนะการมองเอเชีย

มหาเธร์ มีทัศนคติที่ต่อต้านตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศอาณานิคม เขาจึงมีความพยายามที่จะพัฒนามาเลเซีย สู่ความทันสมัย โดยปราศจากความร่วมมือจากประเทศตะวันตก โดยที่เขาให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมหาเธร์พยายามนำเสนอความสำเร็จของญี่ปุ่น เป็นแม่แบบในการพัฒนามาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ  มหาเธร์ได้ส่งเสริมความเป็นชาตินิยมต่อประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ และความร่วมมือกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง

มหาเธร์กับนโยบายเลือกซื้อสินค้าอังกฤษเป็นทางเลือกสุดท้าย

ทัศนคติที่มองชาติตะวันตกในแง่ลบของมหาเธร์ จากการที่เขาประกาศนโยบายซื้อสินค้าอังกฤษเป็นทางเลือกสุดท้าย  โดยนโยบายดังกล่าวนี้ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ และแสดงทัศนคติในด้านลบต่ออดีตประเทศอาณานิคม อย่างอังกฤษ ซึ่งนโยบายนี้ได้ประกาศไปในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1981 ภายหลังที่มหาเธร์ได้เข้ารับตำแหน่งเพียงแค่ 3 เดือน มหาเธร์กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า ประชาชนชาวมาเลเซียจะเลือกซื้อสินค้าของอังกฤษก็ต่อเมื่อ มีความต้องการหรือความจำเป็นอย่างแท้จริง และสินค้าหรือบริการของอังกฤษมีคุณภาพหรือราคาที่ดีกว่าสินค้าและบริการจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ ก็จะเลือกซื้อสินค้าของอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันหากสินค้าและบริการของประเทศอังกฤษมีคุณภาพด้อยกว่า หรือเท่าเทียมกันก็จะเลือกซื้อสินค้าในประเทศอื่นๆ แทน

การเกิดขึ้นของนโยบายดังกล่าวนี้ ไม่ได้มีเพียงแต่ปัจจัยการมองอังกฤษในแง่ลบของมหาเธร์เพียงอย่างเดียว มีประเด็นเรื่องความไม่พอใจต่อการกระทำต่างๆ ของอังกฤษในช่วงเวลาดังกล่าวเช่น ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน อังกฤษโดยตลาดหลักทรัพย์ในลอนดอนตัดสินใจที่จะปรับกฏเกณฑ์การเข้าถือครองอย่างจู่โจม (dawn raids) เป็นไปได้ยากขึ้น และได้สนับสนุนให้บรรษัทการลงทุนแห่งชาติของมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนของอังกฤษเข้าครอบครองกิจการไร่ขนาดใหญ่ในมาเลเซีย การกระทำเช่นนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับมหาเธร์ ด้วยกับการกระทำเช่นนี้มหาเธร์มองว่า เป็นการกระทำที่พยายามขัดขวางนโยบายของรัฐที่จะดำเนินการควบคุมทรัพย์สินของชาติ นอกเหนือจากนั้นยังคงมีประเด็นปลีกย่อยต่างๆ อีกเช่น นโยบายการขึ้นค่าเล่าเรียนแก่นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ได้กระทบต่อนักศึกษาชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากมาเลเซีย ซึ่งศึกษาอยู่เป็นจำนวนมากในอังกฤษ รวมถึงการห้ามเพิ่มเที่ยวบินจากมาเลเซียไปลอนดอนอีกด้วย

นโยบายดังกล่าวนี้ไม่ได้ถูกประกาศขึ้นอย่างลอยๆ แต่ได้แสดงถึงท่าทีอันแข็งกร้าวของมหาเธร์ต่ออังกฤษอย่างเปิดเผย และมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยในปี ค.ศ.1983 มหาเธร์ได้เข้าควบคุมหน่วยงานของรัฐบาลที่ทำสัญญากับบริษัทในอังกฤษ โดยที่มหาเธร์ได้ตั้งสำนักงานขึ้นมาตรวจสอบและค้นหาบริษัทจากที่อื่นๆ เพื่อพิจารณาในการทำสัญญาทำการค้าต่อไป โดยที่ไม่ใช่เลือกซื้อสินค้าจากอังกฤษเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามท่าทีอันแข็งกร้าวของนโยบายนี้ได้ลดลงโดยในปี ค.ศ. 1985 หลังจากการมาเยือนมาเลเซียของมากาเร็ต เทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น โดยในการมาเยือนครั้งนี้เพื่อกรสร้างสัมพันธภาพที่ดี และเรื่องการค้าระหว่างมาเลเซียและอังกฤษ ซึ่งได้มีข้อตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องของการค้า โดยมาเลเซียมีความต้องการในการซื้อสินค้าด้านการทหารจากอังกฤษ นอกเหนือจากนั้นยังคงเจรจาในความช่วยเหลืออื่นๆ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ที่ทำท่าว่าจะดีขึ้น กับต้องมายุติลงในปี ค.ศ. 1994 ประกาศห้ามทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐบาลกับพวกบริษัทอังกฤษเป็นเวลา 7 เดือน เพื่อประท้วงสื่อมวลชนอังกฤษรายหนึ่งที่รายงานข่าวว่ารัฐบาลของมาเลเซียทุจริตคอร์รัปชั่น

มหาเธร์ มีจุดยืนที่อิงกับบรรทัดฐานวัฒนธรรมหรือคุณค่าแบบเอเซีย (Asian Value) หรือวิถีเอเซีย  (Asian Way) การแก้ไขปัญหาโดยการพึ่งตัวเอง ซึ่งก็เป็นตัวนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสิ่งหนึ่งที่ได้จากวิถีเอเซีย คือ การไม่ตกเป็นทาสความคิดและแนวทางอิสระในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ  ในทัศนะของมหาเธร์ เขาได้กล่าวว่า มาเลเซียไม่ได้รับเอกราชอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจาก หลังจากที่ได้เอกราชแล้ว มาเลเซียต้องพึ่งพิงจากตะวันตกอยู่ ฉะนั้นมาเลเซียต้องได้รับเอกราชอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องพึ่งพิงตะวันตก ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ขูดรีดต่อตะวันออก และมหาเธร์ได้หันไปถูกมิตรกับประเทศเอเชียด้วยกันเอง นั่นก็คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

มหาเธร์กับเอเชียวิถี

เอเชียวิถี เป็นข้อเสนอของมหาเธร์ มูหัมมัด ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในการเสนอทางออกของเอเชียให้หลุดพ้นจากการครอบงำของชาติตะวันตก โดยให้ชาติเอเชียมีพัฒนาการทางการเมืองที่อิงอยู่กับวัฒนธรรมหรือคุณค่าแบบเอเชีย ซึ่งในทัศนคติของมหาเธร์แล้วนั้น การตอบโต้ของของเขาได้แสดงออกถึงการต่อต้านใน “ความเป็นสากล” ซึ่งดังกล่าวนี้ถูกกำหนดโดยตะวันตก ซึ่งมหาเธร์มีความพยายามในการนำเสนอทางออก โดยการสร้างการดำเนินการทางการเมืองซึ่งมีรูปแบบโดยเฉพาะ

มหาเธร์ แม้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างมาเลเซีย แต่ยังคงมีแสดงความพยายามในการผู้นำการปลดปล่อยชาวเอเชีย ออกจากอิทธิพลการครอบงำของมหาอำนาจตะวันตก โดยจุดนี้แสดงให้เห็นได้จากพฤติกรรมของเขา ด้วยกับที่ว่า เขาพยายามที่จะปกป้องแนวทางทางการเมืองของมาเลเซีย และในขณะเดียวกันก็ได้แสดงถึงความโน้มน้าวให้ชาติต่างๆ ในเอเชียเห็นด้วยกันกับวิถีทางของเขา

มาเลเซีย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประกาศตัวเป็นรัฐอิสลามอย่างชัดเจน แต่ก็ได้มีการนำพื้นฐานของศาสนามาเป็นพื้นฐานในการปกครองประเทศ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในการนำมาเลเซียออกจากอำนาจอิทธิพลของตะวันตก ก็มีความจำเป็นต้องใช้รูปแบบบางอย่างจากแนวคิดตะวันตกในการสร้างการปกครองภายในประเทศ ซึ่งในจุดนี้เองมาเลเซียได้นำรูปแบบจากทั้งสองมาใช้ผสมผสานในการปกครองประเทศ กระทั่งได้สร้างความเด่นชัดที่สุดในการปกครอง หากเทียบเคียงกับประเทศมุสลิมอื่นๆ

ความพยายามในการนำเสนอกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก

ในปี ค.ศ. 1990 มหาเธร์ได้ริเริ่มในการจัดตั้ง กลุ่มเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก โดยเขาได้ประกาศขึ้นเมื่องานเลี้ยงรับรอง หลี่ เผ็ง (Li Peng) นายกรัฐมนตรีจีน ด้วยข้อเสนอที่ว่า ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก มีความจำเป็นที่จะร่วมมือกันในการตั้งกลุ่มเพื่อที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง โดยการตั้งกลุ่ม เพื่อที่จะลดการกีดกันทางการค้าจากประเทศกลุ่มตะวันตกทั้งจากยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะถูกปฏิเสธนานานชาติ แต่มาเลเซียภายใต้การนำของมหาเธร์ ยังคงมีความต้องการที่จะนำเอเชียให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของโลกตะวันตก ด้วยการเสนอกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก (East  Asean Economic Grouping) และได้มีการตกลงรับข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี ค.ศ. 1991 แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามความต้องการของมหาเธร์

หมายเหตุ: ในส่วนต่อไป ผู้เขียนจะนำเสนอถึง วิสัยทัศน์ 2020 กับการพัฒนาในประเทศมาเลเซีย โปรดติดตาม

 

ข้อมูลอ้างอิง

ชัยโชค จุลศิริวงศ์. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองมาเลเซีย. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542

บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย อันดายา ; พรรณี ฉัตรพลรักษ์, แปล; มนัส เกียรติธารัย, บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโตโยต้า, 2549
สีดา สอนศรี และคนอื่นๆ. ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย. กรุงเทพฯ : โครงการวิชาโทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2548
อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ และชปา จิตต์ประทุม.บรรณาธิการ. วิกฤตการณ์มาเลเซีย เศรษฐกิจ การเมือง- วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา, 2544