"ยาวี" เรื่องของภาษามลายูและอิทธิพลจากภาษาอาหรับ

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอาหรับกับมลายูพอจะกล่าวได้ว่า เริ่มตั้งแต่สมัยของการเข้ามาของศาสนาอิสลาม พระปรเมศวรในฐานะสุลต่านองค์แรกแห่งมะละกาที่ทรงรับศาสนาอิสลาม และได้ทรงเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านมูฮัมหมัดชาห์ ซึ่งคำว่าสุลต่านเป็นชื่อเรียกตำแหน่งพระมหากษัตริย์ที่ดั้งเดิมมาจากภาษาอาหรับ

ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอิทธิพลของภาษาอาหรับได้เริ่มเข้ามาสู่ในวิถีชีวิตของบรรดากษัตริย์แห่งมลายูในศตวรรษที่ 15 ตลอดจนชาวมลายู ณ ขณะนั้น ได้มีการเปลี่ยนชื่อของลูกหลานจากที่เคยตั้งชื่อจากดอกไม้ จากผลหมากรากไม้ หรือวัตถุต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ไปเป็นชื่อที่มาจากภาษาอาหรับ

ภาษาอาหรับเริ่มเป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่เริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างคาบสมุทรอาหรับกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกในศตวรรษที่ 4  ในฐานะที่เป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานและอัลหะดีษ ซึ่งภาษาอาหรับเข้าสู่ในหมู่เกาะมลายูพร้อมๆ กับการเข้ามาของศาสนาอิสลามในศตวรรษที่ 13

นับตั้งแต่ที่ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามาสู่หมู่เกาะมลายู ภาษาอาหรับกลับได้รับความสนใจ และภาษาอาหรับได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลาย เป็นภาษาที่ใช้สำหรับการอ้างอิงที่สำคัญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ในยุคของการเริ่มต้นการจัดตั้งโรงเรียน และโรงเรียนประจำ (ระบบปอเนาะ) โรงเรียนศาสนา-อาหรับ เมื่อต้นปี 1970 พบว่าภาษาอาหรับถูกใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดทำหลักสูตรเกือบทุกโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสังคมสามัญชนทั่วไปยังไม่ค่อยได้ให้ความสนใจต่อพัฒนาการที่เกิดขึ้น และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาภาษาอาหรับกลับมองว่า มันยังไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะ ด้วยทัศนคติดังกล่าวทำให้ภาษาอาหรับในยุคนั้น ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

การเผยแผ่ของศาสนาอิสลามที่เริ่มเข้ามาในช่วงต้นปี 1970 ที่นำมาซึ่งความสำคัญของภาษาอาหรับ โดยเฉพาะคนมาเลเซีย ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันออกกลางและโลกตะวันตก เริ่มมีการไตร่ตองเสียใหม่และบทบาทของภาษาดังกล่าว

พวกเขาเริ่มที่จะขับเคลื่อนเพื่อความสำคัญและการใช้ภาษาอาหรับในลักษณะวิชาการ และเป็นหนึ่งในภาษาแห่งการสื่อสารระหว่างประเทศ ผ่านการพูดและการเขียน การพัฒนาการดังกล่าว ในที่สุดได้ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการศึกษาของประเทศ ได้ทำการรับรองภาษาอาหรับในฐานะที่เป็นแขนงหนึ่งที่ควรจะให้ความสนใจอย่างจริงจังสำหรับระบบการศึกษาของชาติ

ตามทัศนะของ เจ แอนโทนี่ (J. Anthony ) มองว่า การเข้ามาของบรรดาพ่อค้าวาณิชชาวอาหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เข้ามาในฐานะผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม ทำให้คำในภาษาอาหรับได้แทรกซึมเข้าสู่ภาษามลายู อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในวันนี้ ซึ่งการเผชิญกันระหว่างสองภาษาและสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น ได้ก่อให้เกิดพลวัตรทางวัฒนธรรม

โดยปกติแล้ววัฒนธรรมที่มีความเจริญรุ่งเรืองย่อมมีอิทธิพลเหนือกว่าวัฒนธรรมที่ยังไม่เจริญ ขณะเดียวกันสังคมที่มีวัฒนธรรมที่เรียบง่าย จำต้องมีการปรับตัวด้วยความเต็มใจและยอมรับวัฒนธรรมของสังคมที่มีความเจริญกว่า

ภาษาอาหรับที่ผ่านการเขียนด้วยภาษาอาหรับได้ทำให้ภาษามลายูมีความยิ่งใหญ่ขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นภาษาประจำชาติของประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังเป็นภาษาหลักของคนในหมู่เกาะมลายูกว่า 250 ล้านคนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ ทางภาคใต้ของประเทศไทย ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และ กัมพูชา

บทบาทของภาษาอาหรับในการเผยแผ่ภาษาและวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของภาษาศาสตร์ คำศัพท์ โครงสร้างประโยค แนวคิด ตัวอักษร และวรรณกรรมจะยิ่งเป็นที่จดจำ นอกจากนี้ยังมีการบรรจุคำศัพท์ภาษาอาหรับตามสถาบันสำคัญของประเทศอีกด้วย เช่น ศาลชารีอะฮ์ และศาลพลเรือน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการอิสลามประจำรัฐต่างๆ และสภาผู้ปกครองมลายู

ภาษามลายูที่ใช้ตัวอักษรอาหรับเป็นตัวเขียนอย่างเป็นทางการในขณะนั้น ทำให้ภาษามลายูมีสถานะเป็นภาษาทางการ ภาษามลายูได้สร้างความแน่นแฟ้นในการเติบโตและพัฒนาการในด้านภาษาและวรรณกรรมในแถบหมู่เกาะมลายู นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในภูมิภาคอาคเนย์ระหว่างกัน ที่ต่อมาได้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของมาตุภูมิ เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียในปี 1945 และในประเทศมาเลเซียในปี 1957

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซียยังต้องอาศัยภาษาอาหรับที่เป็นภาษาอัลกุรอานและอัลหะดีษ เพราะเป็นแหล่งอ้างอิงหลักในทุกๆ ด้านของชีวิตประจำวัน นอกจากเพื่อการบำเพ็ญตนเฉพาะเจาะจงในศาสนา  พัฒนาการของภาษาอาหรับในประเทศนี้เชื่อว่าจะมีพัฒนาการที่สูงโดยอิงจากสังคมปัจจุบันที่มีแนวโน้มไปในความเป็นศาสนามากขึ้น

โดยทั่วไปการเข้ามาของศาสนาอิสลามโดยผ่านภาษาอาหรับ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของภาษามลายูและวรรณกรรมมลายู เพราะภาษาอาหรับเป็นภาษาแรกที่เป็นที่รู้จักของชาวมลายูเมื่อเทียบกับภาษาอื่น เช่น ภาษาโปรตุเกส  ภาษาฮอลแลนด์ ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น

สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า สังคมมลายูมีความอ่อนไหวอย่างมากในการรับคำศัพท์ของคนอื่น ด้วยเหตุนี้เราอาจมั่นใจได้ว่า นักเรียนมลายูสามารถเปิดรับคำศัพท์ของภาษาอาหรับในกระบวนการเรียนรู้ที่โรงเรียนได้อย่างง่ายดาย หากเปิดเผยว่าภาษามลายูดั้งเดิมนั้นส่วนใหญ่มาจากภาษาอาหรับ 

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้แปลจาก http://ww1.utusan.com.my/utusan/info.asp?y=2006&dt=0209&pub=Utusan_Malaysia&sec=Bicara_Agama&pg=ba_03.htm