เจาะชีวิต "เหยื่อ" ตอน กรือเซะหลอกหลอน

                      

 

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอาทิเช่นการซ้อมทรมานบังคับประชาชนให้ยอมรับสารภาพตามข้อสงสัยหรือข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้สูญหาย(อุ้มหาย) การควบคุมตัวโดยมิชอบเพราะขาดพยานหลักฐานชี้ชัด การถูกปิดล้อมตรวจค้นเพื่อทำการไล่ล่าปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ เป็นต้น คงมีความยากพอสมควรที่จะเข้าใจความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ความรู้สึกของผู้ถูกกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่จริงและมีเป็นจำนวนมากด้วยซ้ำไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นที่รับรู้ของสังคมสาธารณะหรือไม่แค่นั้นเอง ดังกรณีของครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆตัวเมืองของอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ที่หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวนี้ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กรือเซะนองเลือดเมื่อ 28 เมษายน 2547

ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการตามยุทธการปิดล้อมตรวจค้นไล่ล่าผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างร้ายแรงครอบครัวหนึ่ง ซึ่งควรเป็นกรณีศึกษาแก่สังคมสาธารณะรวมถึงภาครัฐด้วยเพื่อป้องกันการเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐเพียงแค่เข้าทำนอง "น้ำผึ้งเพียงหยดเดียว" ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ของผู้ได้รับผลกระทบซึ่งผู้เขียนขอสงวนชื่อและนามสกุลไว้เพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองแหล่งข่าวจากการคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

สถานการณ์ชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างภายหลังจากสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อหลายปีก่อน

ไม่มีคำจะบรรยาย เพราะลูกเรียบร้อยมาก ไม่เคยเกเร บุหรี่ก็ไม่สูบ เตะฟุตบอลและเรียนหนังสืออย่างเดียว จากวันนั้นถึงวันนี้ครอบครัวก็ยังตกเป็นเป้าความสงสัยของเจ้าหน้าที่อยู่

“ลูกชายก๊ะมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองยะลาซึ่งเป็นบ้านพี่ชายเพราะว่าย้ายไปเพื่อเล่นฟุตบอลของจังหวัด หลังจากลูกเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ก็ไปหาที่บ้านพี่ชายบ้างบางครั้งบางคราว ครอบครัวของพี่ชายก็ตื่นตระหนกตกใจเพราะอยู่ดีๆก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาหาเป็นหลายสิบนาย หลายๆคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันก็เริ่มเหินห่าง เขาอาจจะกลัวก็ได้ เพราะเราเป็นแม่ของหนึ่งในผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กรือเซะ

ต่อมาเมื่อปี 2554 คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นก็มีมติจะเยียวยาครอบครับที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะและเหตุการณ์ที่เกิดในวันเวลาเดียวแต่คนละพื้นที่ เหตุการณ์ละ7.5ล้านบาท แต่ของกะเขาให้ 4ล้านบาท เขาให้เหตุผลว่าคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะเมื่อวันที่28เมษายน2547 ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยา7.5 ล้านบาทเพราะเหตุการณ์กรือเซะเป็นการต่อสู้ปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ กะก็ไม่พอใจรู้สึกเหมือนถูกเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานยังไงไม่รู้ ก็เลยหารือกับครอบครัวอื่นๆที่สูญเสียสมาชิกครอบครัวในเหตุการณ์กรือเซะเหมือนกัน ตกลงได้ข้อสรุปจากอีก6ครอบครัวว่าจะต้องมีการเรียกร้องความเป็นธรรม ก็เลยได้เขียนจดหมายเปิดผนึกและได้ไปอ่านกันที่มัสยิดกรือเซะและได้ขึ้นไปยื่นจดหมายเปิดผนึกที่กองทัพบกกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบ

เรื่องอะไรที่รู้สึกทุกข์ใจจนต้องร้องเรียนกับกลุ่มองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเหตุการณ์เป็นอย่างไร

คือประมาณต้นปีที่แล้วปี 2557 เขามาแบบเหมือนจะมาสู้รบกันที่บ้านของก๊ะเลย รถถังก็มาด้วย เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 100 คนได้ แล้วเขามาปิดล้อมบ้านก๊ะตอนกลางคืนจำได้ว่าประมาณ1ทุ่มได้ แต่เขาเริ่มเจรจากับก๊ะก็พรุ่งนี้เช้าแล้วประมาณ 8 โมงเช้า เขาก็บอกว่าเขามาจากวังพญา ที่มาก็เพราะตามหาคนแปลกหน้า 2 คนหนีเข้ามาทางนี้ แล้วเขาก็ขอเข้าไปตรวจค้นภายในบ้าน ด้วยความตกใจมากและไม่รู้ว่าจะมีสิทธิที่จะห้ามไม่ให้เขาเข้ามาในบ้านได้หรือไม่ เลยปล่อยให้เขาเข้ามาในบ้านทำการตรวจค้นทุกซอกทุกมุมภายในบ้าน ไม่เว้นแม้กระทั่งบนฝ้าเพดานบ้าน จำได้ว่าทางเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นมาบนบ้านตอนนั้นประมาณ10คนได้ แต่สุดท้ายก็ไม่เจออะไร

ต่อจากนั้นก๊ะก็ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของชาวบ้าน ทางเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการตามที่กะขอ แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงมันก็เกิดขึ้นจนได้คือลูกสาวก๊ะตอนนั้นอายุ16ปี หลังจากเจ้าหน้าที่กลับไปลูกกะต้องอยู่ในสภาพเห็นคนแปลกหน้าและได้ยินเสียงดังไม่ได้เลย เป็นอันต้องตกใจและกระโดดเข้ากอดก๊ะแน่นตลอด โดยเฉพาะเวลากลางคืน เข้าห้องน้ำก็ต้องเข้าไปกับก๊ะ ลูกก๊ะตกอยู่ในสภาพแบบนี้เป็นเวลา 5 เดือนกว่าจะหายเป็นปกติ ครั้งที่ 2 ล่าสุดเมื่อวันที่17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 11.00น. ช่วงนั้นก๊ะไม่อยู่บ้าน มีลูกสาวก๊ะกับน้องสะใภ้ก๊ะกันสองคน ลูกสาวก๊ะอายุ17ปีและน้องสะใภ้ก๊ะอายุ30ปี ครั้งนั้นก็มาปิดล้อมและเข้าตรวจค้นบ้านก๊ะเหมือนครั้งแรก มากันเป็นร้อย สุดท้ายก็ไม่เจออะไรที่ผิดกฎหมายหรือคนร้ายแต่อย่างใด

ครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้เหตุผลเหมือนเดิมว่า ได้รับแจ้งว่ามีคนแปลกวิ่งเข้ามาในบ้านก๊ะ ลูกสาวก๊ะจากสภาพจิตใจที่เป็นปกติแล้วก็กลายเป็นอาการเหมือนเกิดขึ้นช่วงแรกๆกลับมาใหม่คือได้ยินเสียงดังไม่ได้ ตกใจง่ายมาก ไปไหนมาไหนก็ต้องไปด้วยกันตลอด ห่างกันไม่ได้เลย พอตกกลางคืนต้องกอดแกตลอดไม่งั้นแกจะนอนไม่หลับกระเสือกกระสนมาก

มีอะไรจะเสนอแนะต่อทางเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร

ขอความกรุณาทางเจ้าหน้าที่เวลาจะมาให้บอกล่วงหน้าได้หรือไม่ จะได้เอาคนที่ขวัญอ่อนหรือมีโรคประจำตัวออกไปอยู่ที่อื่น

"ถ้าลูกสาวก๊ะเป็นโรคหัวใจคงไม่ต้องหัวใจวายตายหรือ แล้วใครจะรับผิดชอบ อย่างมากเจ้าหน้าที่ก็เยียวยาด้วยเงิน ลงโทษทางอาญากับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ ทำเหมือนกับเราป็นผู้ก่อการร้ายที่มีอาวุธครบมือ"

อาจเป็นเป็นยุทธการของทางเจ้าหน้าที่ที่ไม่บอกให้รู้ล่วงหน้าก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายไหวตัวได้ทัน

ถ้ามีคนร้ายจริงก๊ะก็ไม่ว่าอะไรแต่มาครั้งแรกก็ไม่เจอใคร มาครั้งที่สองก็น่าจะตรวจสอบข้อมูลข่าวกรองให้แม่นยำเสียก่อนอย่าเอาแต่จะปิดล้อม จะจับกุมอย่างเดียวต้องมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการด้วย คิดว่าหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะมาอีก มาแน่นอนเพราะไม่กี่วันมานี้เห็นชาวบ้านคุยกันว่ามีเจ้าหน้าที่เที่ยวมาถามชื่อก๊ะอยู่

คิดว่าอะไรคือเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่มาปิดล้อมตรวจค้นบ้านตั้งสองครั้ง

ไม่รู้สินะ แต่เหมือนกับว่าทางเจ้าหน้าที่เขามองก๊ะเป็นโจรหรือเป็นผู้ต่อต้านรัฐเหมือนกับลูกชายก๊ะซึ่งเสียชีวิตเมื่อ28เมษายน2547ที่มัสยิดกรือเซะ เขาอาจจะเหมารวมว่าลูกเป็นอย่างไร แม่ก็เป็นอย่างนั้น นี่ขนาดก๊ะเป็นข้าราชการเป็นครูบรรจุสอนอยู่โรงเรียนของรัฐนะ น้องชายก๊ะก็เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และที่ตลกร้ายก็คือพ่อของลูกชายก๊ะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารด้วย แต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์กรือเซะนั้นก๊ะได้แยกทางกับเขาแล้ว ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไปคงต้องเจอหนักกว่าก๊ะหลายเท่าแน่

เสียงจาก”เหยื่อความมั่นคง” อีกคนที่ไม่เคยเป็นเรื่อง และยังคงหลอกหลอนจนถึงวันนี้...

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เป็นมุมมอง  ความเห็น ความรู้ ส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด ปาตานี ฟอรั่ม เป็นเพียง "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" เพื่อหวังสร้างสรรค์สังคมแห่งปัญญา