กรณีทำงานวันศุกร์ ณ ชายแดนใต้

 

(ภาพจาก http://thai.amannews.org)

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

Shukur2003@yahoo.co.uk

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ  ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน เหตุการณ์ร้านค้าในพื้นที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนใหญ่เริ่มหยุดขายของในวันศุกร์ หลังจากสื่อต่างๆรายงานว่า มีใบปลิวข่มขู่ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะมีการเชื่อมโยงเหตุระเบิด ที่เทศบาลตะลุบัน อำเภอสายบุรี  กับใบปลิว ให้ประชาชนหยุดทำงานวันศุกร์

จาการเริ่มหยุดค้าขายของคนในพื้นที่ครั้งนี้ แสดงว่า คนในพื้นที่ไม่มั่นใจในกลไกและอำนาจรัฐที่จะคุ้มครองพวกเขาได้ ถึงแม้จะมีการพยายามกระตุ้นให้ประชาชนเปิดร้าน

มีการวิเคราะห์ว่า การหยุดทำงานวันศุกร์เกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางศาสนาอิสลามซึ่งความเป็นจริงในหลักศาสนามิได้ห้ามทำงานวันใดวันหนึ่งตายตัวเพียงแต่ ว่าวันศุกร์เป็นวันที่มุสลิมจะต้องไปละหมาดวันศุกร์ ที่มัสยิดประจำชุมชน

การละหมาดวันศุกร์เป็นหน้าที่มุสลิมทุกคน(เฉพาะผู้ชาย) จะต้องละหมาดที่มัสยิดของชุมชน (อยู่ระหว่างเวลาประมาณ 12.15-13.15) ไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพใด และกระทำสิ่งใดนอกจากศาสนกิจดังกล่าวด้วยความตั้งใจ และจิตใจที่บริสุทธิ์เท่านั้น อันเนื่องมาจาก อัลลอฮฺได้ดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อได้ยินเสียงเชิญชวนการทำละหมาดวันศุกร์ (อะซาน) ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั้นเป็นการดีสำหรับพวกท่าน" (อัลกุรอาน 62 : 9)

ในโองการนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อถึงเวลาละหมาดวันศุกร์ทุกคนจะต้องละทิ้งทุกกิจกรรม แต่จะต้องไปประกอบศาสนกิจทันที เพราะการประกอบศาสนกิจดังกล่าวดีกว่าทุกกิจกรรม

ในโองการต่อจากนี้หนึ่งโองการมีภูมิหลังการประทานโองการของพระเจ้าต่อศาสนฑูตมุฮัมมัดว่า ในขณะที่ท่านศาสนฑูตกำลังให้ธรรมเทศนาก่อนละหมาดนั้น จู่ๆ มีกองคาราวานสินค้าบรรทุกเครื่องบริโภค ของชายผู้หนึ่งผู้มีนามว่า ดะฮียะฮฺ อัลกัลบีย์ มาจากประเทศซีเรีย กอปรกับชาวเมืองมะดีนะฮฺขณะนั้นประสบความหิวโหย และเครื่องบริโภคมีราคาแพง ทำให้ชาวเมืองที่กำลังฟังธรรมเทศนาได้วิ่งกรูไปที่คาราวานสินค้าด้วยความเคยชินเหมือนวันปกติ ปล่อยท่านศาสนฑูตแสดงธรรมเทศนาและเหลือผู้ร่วมฟังเพียง 12 คน ดังนั้น อัลลอฮฺจึงประทานโองการนี้ เพื่อตักเตือนอัครสาวกศาสดาต่อพฤติกรรมหลงผิดดังกล่าว และเปรียบเทียบ การละหมาดและระลึกถึงพระองค์นั้นดีกว่าการละเล่นและการค้า เพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพที่แท้จริง เพราะอัลลอ์ได้โองการความว่า   “และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าขายและการละเล่น พวกเขาก็กรูกันไปที่นั้นและปล่อยเจ้า(ศาสนฑูตมุฮัมมัด) ยืนอยู่คนเดียว จงกล่าวเถิด โอ้ศาสนฑูตมุฮัมมัด สิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการละเล่นและการค้าและอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ” (อัลกุรอาน 62 : 11) โปรดดู al-Zuhaili, Wahbah, 1991 : al-Tafsir al-Munir, Berut : Dar alfikr al-Muasorah, 22/195/196

แต่เมื่อเสร็จการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวทุกคนมีสิทธิที่จะออกไปประกอบอาชีพที่สุจริตเพราะอัลลอฮ์ได้โองการต่อจากโองการที่ผ่านมาว่า “ ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดแล้วก็จงแยกย้ายกันตามแผ่นดินและจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆเพื่อพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ”   (อัลกุรอาน 62 : 10)

ไม่เพียงเท่านั้นมุสลิมจะต้องละหมาดทุกวัน วันละ 5 เวลา (ประมาณเวลาละ 5-10 นาที ณ ที่ใดก็ได้) เพราะฉะนั้น การปฏิบัติศาสนกิจจึงมิได้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ เพียงแต่ในวันศุกร์มุสลิมจะต้องใช้เวลามากหน่อย ในการประกอบศาสนกิจ และจะต้องทำที่มัสยิดของชุมชนเท่านั้น

ดังนั้น เราจะเห็นว่า ในชุมชนมุสลิม โดยเฉพาะมัสยิดกลางปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เต็มไปด้วยข้าราชการ นักธุรกิจ ชาวบ้าน และคนทุกสาขาอาชีพไปร่วมละหมาด

แต่ที่เป็นปัญหาสักหน่อยคือ ข้าราชการมุสลิมเขาต้องรีบออกจากที่ทำงานเพื่อประกอบศาสนกิจก่อนเวลา 12.00 น. และรีบออกจากมัสยิดให้ทันที่ทำงานก่อนเวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับข้าราชการมุสลิม ที่จะสามารถทำงานเต็มเวลา (08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. เพราะการละหมาดวันศุกร์ 12.15-13.15 น.)

ดังนั้นหากเป็นไปได้การหยุดราชการในวันศุกร์น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตข้าราชการมุสลิมหรือการไปติดต่อราชการวันศุกร์ของชาวบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้

การหยุดราชการวันศุกร์จึงเป็นเพียงทางออกหนึ่งในชุมชนมุสลิมเท่านั้น ในการแก้ปัญหาการประกอบศาสนกิจ แต่อีกหลายปัญหาที่เป็นเชิงระบบในการบริหารแผ่นดินทั่วประเทศที่มีความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายของคน จังหวัดชายแดนภาคใต้กับทั่วประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องผ่านกระบวนชูรอ (ประชุมปรึกษาแบบมีส่วนร่วมตามทัศนะอิสลาม) และการประชุม ปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างได้เป็นอย่างดี

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอประณามการระเบิดที่เทศบาลตะลุบันครั้งนี้และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกครอบครัวของผู้สูญเสีย และผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและทางจิตใจจากเหตุการณ์นี้และทุกเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาที่ขาดซึ่งมนุษยธรรมทั้งจากภาครัฐหรือทุกกลุ่มที่ปฏิบัติการ และขอเรียกร้องให้ผู้ก่อเหตุได้หยุดคิดพิจารณาถึงผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง ที่นำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและร่างกาย ตลอดถึงทรัพย์สิน ขณะเดียวกันผู้เขียน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจการปกครองที่สอดคล้องกับคนพื้นที่ บริหารความรู้สึกอธรรมด้วยกระบวนการทางยุติธรรมที่โปร่งใส  และแสวงหาทางออกทางการเมืองโดยการสร้างกระบวนการในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน