ความทรงจำอันไม่สมานฉันท์

1 ผมจำได้ว่าสมัยตอนเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ระหว่าง 2545-2548 ก่อนรัฐประหารปี 2549 ส่ิงหนึ่งที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบส่วนตัว ก็คือ การได้ติดตามอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวัน ทีห้องสมุดเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อ อ่านไปอ่านมา ติดงอมแงม ต้องไปหาอ่านให้ได้ และนาน ๆ เข้าก็มีความชื่นชอบคอลัมนิสต์ที่เขียนประจำ เช่น เกษียร หน้า 6 วันศุกร์, นิธิ หน้า...วันจันทร์, ฯลฯ แรก ๆ อ่านไม่ค่อยเข้าใจมากน่ะ แต่หลังจากอ่าน ๆ ไปสัก 2-3 ปี ก็เริ่มสนุกเข้าใจประเด็น ถึงขั้นนอนฝันและคิดคำนวณว่า สัปดาห์ถัดไปสองคนนี้จะเขียนเรื่องอะไรต่อ โดยอาศัยการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง โดยความชื่นชมผมก็อาศัยสะสมเงินเริ่มที่จะขี้เกียจไปห้องสมุดเพื่อไปอ่าน แต่ได้เริ่มซื้อเอง ตั้งแต่ราคา 8 บาท ซื้อเฉพาะวันจันทร์กับวันศุกร์ หรือบางครั้งหากมีเงินเหลือบ้างก็ซื้อ มติชนรายสัปดาห์ ราคา 40 บาท สำหรับเสาร์-อาทิตย์ ไว้อ่านโดยเฉพาะเรื่องการเมือง เวลาอ่านมาก ๆ เริ่มจับทางจับประเด็นพอจะเป็นบ้าง นึกสนุกอยากเขียนเองบ้าง แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เขียน มีแต่เขียน ๆ เก็บไว้ บันทึกส่วนตัว เพราะไม่คิดว่าจะมีใครสนใจ โดยเฉพาะงานตีพิมพ์ เพราะสมัยก่อนไม่มี Hi 5, Facebook ให้เขียน และไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัว เพราะไปใช้ศูนย์คอมฯ ทำให้เสียเวลามิน้อย เพราะต้องต่อคิวนาน  

2 ผมจำได้ว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 ได้ประกาศใช้ "กฎอัยการศึก" ครั้งแรกครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด และตัวผมเองกับพรรคพวกก็โดนตรวจค้นบ้านหลังแรกที่เป็นบ้านนักศึกษา/นักกิจกรรม ด้วยความกลัว เราไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น แต่สุดท้ายเราได้ส่งเรื่องไปที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( อ.เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน ) กรรมการสิทธิชุดนั้นได้เรียกทหารมาให้ชี้แจง และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (อาจารย์ จอน อึ้งภากรณ์ เป็นประธานอนุสิทธิฯ) ก็ได้ให้เชิญทหารให้มาชี้แจงต่อกรณีตรวจค้นบ้านนักศึกษา แต่กาตรวจค้นของทหารคร้ังนั้นทำให้พรรคพวก เพื่อนพ้องหลายคน กลัว/หวาดผวา จนบ้างคน ลด ละ ค่อย ๆ เลิกทำกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนไป แต่ครั้งนั้นเป็นส่ิงที่ผมจำได้แม่น ว่ากฎอัยการศึก ให้อำนาจแก่ทหารเต็มรูปแบบ ขาดการตรวจสอบใด ๆ 
("บทสัมภาษณ์บ้างส่วน (ขอสงวนชื่อ) เป็นนักศึกษา มอ.ปัตตานี คนแรกที่ถูกค้นบ้านซึ่งเขาเช่าอยู่รวมกับเพื่อน ๆ อีก 4-5 คน ..... เล่าว่า วันนั้นเป็นช่วงกลางปี 2547 02.00 น.มีรถทหาร 2 คันโฉบผ่านมา จากนั้นอีก 5 นาที ก็มีคนมาเคาะประตูหน้าบ้าน เมื่อเปิดประตู กลุ่มชายฉกรรจ์ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธทันสมัยครบมือก็กรูกันเข้ามา 

"ขอค้นบ้านหน่อย" หนึ่งในกลุ่มชายฉกรรจ์เอ่ยเสียงเข้ม และว่า "นี่เป็นอำนาจตามกฎอัยการศึก" กลุ่มชายฉกรรจ์เรียกให้นักศึกษาทุกคนมานั่งรวมกันที่กลางบ้าน ชายในเครื่องแบบ 2-3 คนยกอาวุธสงครามขึ้นส่องมายังกลุ่มนักศึกษามือเปล่า พร้อมกับสำทับ 
"อย่าทำอะไรตุกติก อย่าเล่นไม่ซื่อนะ!" ขณะที่คนอื่น ๆ เดินตรงเข้ารื้อค้นข้าวของทุกห้องภายในบ้าน เหยียบย่ำที่นอน หมอน มุ้ง บางคนปีนขึ้นไปหาอะไรบางอย่างบนฝ้าเพดาน ระหว่างการตรวจค้น ชายฉกรรจ์ที่เหลือก็ซักถามข้อมูลจากนักศึกษาในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นภูมิลำเนา ชื่อบิดามารดา และเบอร์โทรศัพท์" ) 
บทเรียนครั้งนั้นสอนให้เราเข้าใจว่า ไม่มีหลักประกันใดสำหรับชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ 

3 ด้วยความชื่นชอบงานวิชาการ ตามอ่านของนักเขียนต่าง ๆ และมีโอกาสจัดงานสัมมนานักศึกษา ทำให้มีโอกาสเชิญ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ มาบรรยายพิเศษ ผมจำได้ว่า ติดต่ออาจารย์ยากมาก ๆ และต้องให้คนไปรับอาจารย์ที่จังหวัดตรังเพื่อมาปัตตานี คืนนั้นอาจารย์เกษียรได้มีโอกาสบรรยายให้เราเพื่อน ๆ นักศึกษาฟัง ทำนองเรื่องการก่อการร้ายโดยรัฐ ตอนฟังบรรยาย มีความรู้สึกสนุกและตกใจเป็นบางครั้ง จังหวะอาจารย์ใช้เสียงดัง บวกกับเสียงหัวเราะ เป็นครั้งคราว 

เสร็จภาระกิจคืนนั้น เรามีวงเล็ก ๆ คุยกับอาจารย์เกษียร บทสนทนาคืนนั้น ผมและพรรคพวกจำได้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงมาบีบบังคับ เริ่มมีการเพ็งเล็งมานักศึกษา มอ.ปัตตานี มากขึ้น ทำให้ได้ระบายความอึดอัดให้อาจารย์เกษียรฟังพร้อมกับรับฟัง 

ผมจำได้ตั้งแต่วันนั้นที่อาจารย์พูดจนปัจจุบัน และค่ำคืนนี้ระหว่างที่ผมค้นหาหนังสือ เอกสาร เพื่อทำงานวิจัย ผมก็เปิดค้นเจอ หนังสือพิมพ์ฉบับที่อาจารย์เกษียร เขียนถึงเหตุการณ์วันนั้น ( ในวังวนแห่งความไม่สมานฉันท์ (ตอนจบ) เกษียร เตชะพีระ มติชนรายวัน วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ) ผ่านไป 9 ปี ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา 49 จนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 

สามข้อที่อาจารย์เกษียรพูดไว้ ผมจำได้แบบนี้  
หนึ่ง "อย่าเสี่ยง" ควรเก็บชีวิตไว้สู้ต่อไป เพราะเราต้องสู้ต้องไป "รอจังหวะ" 
สอง "อย่าใช้ความรุนแรง" ในนามของความเชื่อ ถูกต้อง ดีงาม "วิธีการทำลายเป้าหมาย" 
สาม "อย่าเลิกสู้" เพื่อความยุติธรรมและทำให้ความจริงปรากฎ 

ณ. รูสะแล ปัตตานี 
22 พฤษภา 2557