ยุติธรรมเยียวยาสมานฉันท์ “หลักคิดก้าวหน้า” อย่าให้เป็นแค่ “ประชานิยม”

ความสูญเสียทีเกิดขึ้นจากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ส่งผลกระทบ สะเทือน ต่อวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิงและผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยความสูญเสียที่เกิดขึ้นยืดเยื้อมาถึงขณะนี้ จึงเป็นที่มาของคำๆหนึ่ง ที่เรียกว่า “การเยียวยา” ซึ่งกำลังถูกใช้ ถูกนำไปปฎิบัติ จนกลายเป็นแผนงานหลักของภาครัฐ และเป็นคำที่คุ้นชินซึ่งถูกพูดถึงกันเป็นปกติวิถีของคนจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ในตลาดจนไปถึงวงน้ำชา

อย่างไรก็ดี หากเป็นไปได้ปัจเจกบุคคล ผู้หนึ่งผู้ใด คงไม่ต้องการพูดถึง หรือเผชิญ ประสบกับสภาวะการเยียวยา  เพราะคำๆนี้ มักจะซ่อนภูมิหลังแห่งความเศร้าโศก เสียใจ ความคับแค้น แคลงใจ ของผู้ที่ถูกรับการเยียวยา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่เมื่อหนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญต่อสภาวะการเยียวยา ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือ จะมีการเยียวยาอย่างไรที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในสังคม ที่จะให้เกิดขึ้นแก่ “เหยื่อ” แห่งความสูญเสีย คำตอบหนึ่งที่ได้จากเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนหลักคิด มุมมอง ทั้งในและต่างประเทศ เรื่อง “เยียวยาอย่างไร นำไปสู่ความสมานฉันท์” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อไม่นานมานี้

 Caitlin Reiger เจ้าหน้าที่ศูนย์ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างประเทศ (International Center for Transitional Justice – ICTJ) ได้กล่าวแลกเปลี่ยนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า การเยียวยาถูกพิจารณาได้หลายๆรูปแบบ การเยียวยามีมากกว่าเรื่องเงิน ซึ่งตรงนั้นเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องเยียวยา เพราะเป็นสิทธิพลเมืองที่รัฐต้องดูแล ดิฉันรู้สึกยินดี กับแนวคิดของพันตำรวจเอกทวี ที่ระบุว่า พื้นฐานความคิดการเยียวยา คือการนำศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของทุกคนกลับมาสู่เรื่องเยียวยา


นอกจากนี้ Caitlin Reiger ยังแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมว่า การเยียวยาอีกรูปแบบหนึ่ง คือการรวมหมายถึงการได้รับความยุติธรรม

 “การค้นหาความจริง การได้มาซึ่งการยอมรับผิด และเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าความจริงสามารถค้นหา ค้นพบได้ แต่หากทำไม่ได้ดี อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้เกิดความสูญเสียต่อผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น หากทำได้ดีก็จะเป็นการระงับความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป”
เป็นมุมมองที่สะท้อนจากคนต่างชาติ และมีประสบการณ์มากมายจากนานาประเทศที่ต้องเผชิญกับสภาวะการเยียวยาจากความสูญเสียที่เป็นผลมจากสงคราม หรือความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ช้านักสำหรับแนวคิดเช่นนี้ที่จะนำมาขับเคลื่อน ปรับใช้ เพื่อขับเคลื่อนงานการเยียวยาในสังคมไทย
หากจะสรุปหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่เคยเสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งมีเนื้อหาหลักสำคัญ คือ การรักษา การสนับสนุนทางการแพทย์ทั้งร่างกายและจิตใจ การเยียวยาด้านจิตวิญญาณ การสนับสนุนเรื่องการศึกษา การให้ความช่วยเหลือเรื่องทรัพย์สิน บ้านเรือน การสนับสนุนเรื่องอาชีพ การดูแลเรื่องความปลอดภัย การช่วยเหลือด้านกฎหมาย การช่วยเหลือเรื่องความเป็นธรรม หรือความช่วยเหลืออื่นๆตามคณะกรรมการเยียวยาเห็นพิจารณาเห็นสมควร
 
โดยทั้งหมดทั้งมวลที่นำมาเสนอนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าหลักการดังกล่าวเป็นมิติใหม่จากมุมมองของศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขา ศอบต.ยุครัฐบาลเพื่อไทย และดูเหมือนว่าค่อนข้างจะได้รับการยอมรับไม่น้อยจากกลุ่มคนทำงานขับเคลื่อนงานเยียวยา และสิทธิมนุษยชน แต่การยอมรับก็มักจะมาพร้อมกับความเป็นไปได้ทีจะผิดหวังของคนในพื้นที่เสมอ เพราะบ่อยครั้งที่ข้อเสนอ หรือแนวคิดจากภาครัฐไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติหรือ ปฎิบัติแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของนโยบายนั้นๆ
 
ยังไม่ได้หมายรวมถึงคำแหนบแนมจากคนในพื้นที่ซึ่งมองว่า หลักเกณฑ์การเยียวยาใหม่ เป็นเหมือนการสร้างภาพ เป็นการเรียกคะแนนนิยมกลับมา ภายหลังพบว่า ไม่มี ที่นั่ง ส.ส. จากรัฐบาลชุดนี้เลยแม้แต่สักที่นั่งเดียวในพื้นที่ชายแดนใต้ ดังนั้นหากสิ่งที่คนในพื้นที่แหนบแนมเป็นจริง กล่าวคือ หลักเกณฑ์การเยียวยาใหม่ที่พูดถึงความเป็นธรรม ที่พูดถึงการสร้างความสมานฉันท์ เป็นเพียงแค่ลิเกปาหี่ เพื่อเรียกคะแนนนิยมแล้วไซร้ ก็อาจจะเป็นดาบสองคม ทำให้คะแนนนิยมตกก็เป็นได้ เพราะหลักเกณฑ์เยียวยาใหม่ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติให้เป็นจริง และเป็นธรรมอย่างทั่วถึงเท่าที่ควร


ถึงกระนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะถูกมองข้ามไม่ได้ คือ การผลักดันหลักเกณฑ์การเยียวยาใหม่ให้นำไปสู่การปฎิบัติอย่างจริงจัง โดยไม่เอาการเมืองมาผสมปนเปบนความสูญเสีย บนความเศร้าโศกเสียใจ เพราะความบอบช้ำที่คนชายแดนใต้เผชิญนั้นอย่าลืมว่า ได้ยืดเยื้อมาแล้วมากกว่า 8 ปี หากยืดเยื้อกว่านี้ ความรู้สึกที่คนชายแดนใต้เผชิญอาจจะเกินเยียวยาก็เป็นได้

จึงเป็นความท้าทายที่อยากจะย้ำอีกครั้งต่อ ศอบต.ชุดรัฐบาลปูแดง … ทีจะไม่เผอเรอ ปล่อยให้หลักเกณฑ์เยียวยาก้าวหน้าเป็นเพียงแค่การประชานิยม หรือการหวังผลทางการเมือง