ครม.ส่วนหน้า ?

บทบรรณาธิการวารสารปาตานีฟอรั่ม ฉบับที่ 18

ครม.ส่วนหน้า ?

 

 

ความเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลย่อมส่งผลต่อรูปแบบการบริหารนโยบายสาธารณะของสังคมด้วย ต่อกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลประกาศและแต่งตั้ง ครม.ส่วนหน้า 13 คน โดยส่วนมากแล้วมาจากกลุ่มทหารเกษียณอายุราชการทั้งหมด  นำโดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ตำแหน่งหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล คำถามจึงมีอยู่ว่า ประชาชนในพื้นที่จะตอบรับ ครม.ส่วนหน้า หรือไม่? แล้วจะมีนโยบายแบบใดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 

ลักษณะการจัดตั้งองค์กรพิเศษหรือผู้แทนรัฐบาลพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ไช่เป็นเรื่องใหม่ สมัยการเปลียนแปลงการปกครอง 2475 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้แต่งตั้ง แช่ม พรหมยงค์ ให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและได้มอบหมายให้ช่วยดูแลเรื่องนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนนำไปสู่การพบกันของ หะยีสุหลง แช่ม พรหมยงค์ และปรีดี พนมยงค์ ในพิธีเปิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดปัตตานี 

 

สำหรับการเกิดขึ้นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นี้คือผลผลิตทางด้านนโยบายถือว่าเป็นองค์กรพิเศษที่รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี 2524 และถูกยุบเมื่อปี 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และได้จัดตั้งขึ้นมาใหม่ในช่วงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2549 ถือว่าเป็น ศอ.บต. เฟสสอง

 

แต่กระนั้นก็ตามในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หลังจากยุบ ศอ.บต. ก็ได้ตั้งองค์กรใหม่ชื่อว่า“กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” (กอ.สสส.จชต.) เพื่อดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ทั้งหมดคือเส้นทางของการ “จัดตั้งองค์กรพิเศษ” เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สิ่งทีน่าสนใจและน่าเทียบเคียงกว่าคือ ทุกรัฐบาลในช่วงหลังปี 2547 เป็นต้นมา ก็จะมีการแต่งตั้งรองรัฐมนตรี/รัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็จะมีคุณถาวร เสนเนียม  เพื่อมาดูแลเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย เหมือนกัน 

 

 

สำหรับ ครม.ส่วนหน้า อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น “ศาลาพักใจของเหล่าผู้อาวุโสในกองทัพรวมถึงกลุ่มข้าราชการเก่า” ทั้งหมดมีประสบการณ์ในช่วงชีวิตรับราชการที่ปฎิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองในอีกแง่คือ พวกเขาเหล่านั้นในขณะปฎิบัติหน้าที่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร? แน่นอนคำตอบนี้ประชาชนคนทั่วไปอาจจะไม่สิทธิประเมิน เพราะเป็นระบบราชการที่ปิด 

 

 

ระบบการเมืองในสังคมไทยที่กำลังเผชิญอยู่นี้คือเป็นระบบที่ปิด 100 เปอร์เซ็นต์ คืออำนาจกระจุกตัวอยู่ในหมู่ของผู้นำกองทัพ ทั้งเกษียรอายุราชการถึงกลุ่มครองอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในปัจจุบัน และแม้จะมีชนชั้นนำจากราชการเข้าไปเกี่ยวข้องก็อยู่ในฐานะที่เป็นมือรองหรือผู้ช่วย เพื่อเสริมระบบการเมืองให้ปิดแน่นหนามากขึ้น โดยไม่ให้ประชาชนไปเป็นหุ้นส่วนของการบริหารจัดการอำนาจรัฐเพื่อจะแก้ไขความทุกข์ยากของชีวิตตัวเอง 

 

 

ครม.ส่วนหน้า จำนวน 13 ตำแหน่ง ไม่มีกลุ่มภาคประชาชนหรือบุคคลในพื้นที่อยู่ภายใต้ ครม.ชุดนี้ ลักษณะแบบนี้เป็นการสะท้อนถึง ระบบบริหารราชการแผ่นดินหรือโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียว 

 

นับตั้งแต่รัฐบาลทหารมายึดอำนาจ นโยบายแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เห็นเด่นชัด แต่การแต่งตั้ง ครม.ส่วนหน้า ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ชัดเจนมากที่สุด ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่นั้นก็ยังถือว่าเป็นการสานต่อนโยบายเดิมของรัฐบาลก่อนหน้านี้ และแน่นอนกาลเวลาเท่านั้นที่พิสูจน์ ครม.ส่วนหน้าจะทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่?

 

 

สำหรับเนื้อหาในวารสารฉบับนี้ทางปาตานี ฟอรั่ม ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำตามแนวคิด “พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้” โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งมีการจัดงานพูดคุยกับกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ โดยเนื้อหาของวารสารฉบับนี้คือ การนำข้อสรุปใจความสำคัญ ย่อยเนื้อหาที่เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนในทางด้านวิชาการที่่ทางปาตานีฟอรั่ม ได้เชิญมาร่วมแลกเปลี่ยน และเราหวังว่าทุกภาคส่วนของสังคมไทยจะเป็นหุ้นส่วนของเส้นทางที่จะนำไปสู่สันติภาพ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

 

ด้วยมิตรภาพ

เอกรินทร์ ต่วนศิริ