อิสลามสุดโต่ง ไร้ที่ยืนในโลกยุคใหม่ ?

ใครก็ตามที่คิดว่า ‘อิสลาม’ เท่ากับ ‘อิสลามสุดโต่ง’ เท่ากับยอมถูกต้มโดยพวกหัวรุนแรงเข้าแล้ว ทั้งที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าโลกยังมีมุสลิมผู้เปิดกว้างอีกมากมาย ที่ปรับศรัทธาของตนให้เข้ากับข้อเรียกร้องของโลกยุคใหม่

 

เรื่องโดย เรนเนอร์ เฮอร์แมนน์   

 

ย้อนไปไม่กี่ทศวรรษนักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่ศึกษาด้านอิสลามอย่าง แม็กซิม โรแดงซง ได้เขียนหนังสือชื่อว่า "Europe and the Mystique of Islam" (ยุโรปกับความลึกลับของอิสลาม) นับแต่นั้นมาอิสลามก็ถูกมองเป็นภัยคุกคาม ไม่มีที่ใดในโลกจะชุกชุมไปด้วยสงครามเท่าเขตแคว้นที่ลากยาวจากแอฟริกาเหนือ ผ่านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน ยันเทือกเขาฮินดูกูช ซึ่งมีสิ่งหนึ่งร่วมกันนั่นคือความเป็นมุสลิม

 

องค์การก่อการร้ายอย่างโบโกฮาราม ไอซิส รวมถึงตาลีบัน ก็มีจุดร่วมสำคัญเดียวกันนั่นคือการอ้างตนว่าอยู่บนพื้นฐานของอิสลาม เหล่านี้ล้วนแต่เติมเชื้อไฟให้กับมุมมองที่ว่าอิสลามผูกพันกับความรุนแรงและไม่มีทางลงรอยกับโลกยุคใหม่ แม้ดูเหมือนมีหลักฐานมากมายที่เห็นอยู่ตำตามารองรับความคิดนี้ แต่นั่นง่ายเกินไปที่จะตัดสินอิสลาม อิสลามไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือมุสลิมผู้ใช้อิสลามต่างหาก 

 

 

เปิดกว้างต่อการตีความ

 

 

"เกอเธประทับใจอย่างลึกซึ้งกับมุมมองอิสลามแบบเปิดกว้างของอาฟิซ เขามั่นใจว่าจิตวิญญาณเสรีเช่นนี้ไม่มีทางจุดขึ้นได้จากอิสลามรูปแบบที่ควบคุมเบ็ดเสร็จ” เรนเนอร์ เฮอร์แมนน์   

 

ศาสนาของโลกอย่างคริสต์และอิสลามฟันฝ่ามาได้ยาวไกลเช่นนี้ก็เพราะความยืดหยุ่นในตัวและการเปิดช่องว่างให้ผู้ศรัทธาได้ปรับประยุกต์มันเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ อิสลามนั้นเปิดช่องอย่างมากสำหรับการคิดและใช้สติปัญญา เพราะซูเราะฮ์หนึ่งในอัลกุรอานอาจพูดอย่างหนึ่ง ขณะที่อีกซูเราะฮ์อาจพูดในทางตรงกันข้าม

 

ในทุกยุคสมัยจะต้องมีกลุ่มก่อการร้ายในโลกอิสลาม เช่นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 มีกลุ่มที่เรียกว่า “นักลอบสังหาร”  ซึ่งเปรียบได้กับ อัลกออิดะห์ ในยุคใหม่และองค์กรลูกที่แตกย่อยออกมา บ้างเคยเป็นภัย บ้างยังคงเป็นภัย แต่ทั้งหมดไม่เคยพัฒนาไปสู่ขบวนการระดับมวลชน ตรงกันข้ามกลับรอวันถดถอย ศตวรรษที่ 17 มุสลิมในโลกอาหรับเคยได้ชัยเหนือดินแดนฝั่งตะวันออกของเมดิเตอเรเนียนโดยไม่ต้องต่อสู้เสียเลือดเนื้อ เพราะชาวคาธอลิกตะวันออกในยุคนั้นอ้าแขนรับมุสลิมในฐานะผู้ช่วยปลดปล่อยตนจากการกดขี่ของคริสตจักรไบแซนไทน์

 

ราวสองร้อยปีที่แล้ว นักประพันธ์และกวีชาวเยอรมันชื่อก้องอย่าง เกอเธ เริ่มอ่าน "Divan" งานรวมบทกวีของ ฮาฟิซ ปราชญ์ชาวเปอร์เซีย ห้าปีต่อมาเกอเธถึงกับอุทิศผลงานของเขาเองชื่อว่า "West-Eastern Divan" เป็นเกียรติแก่ชาวมุสลิมแห่งโลกตะวันออก นักคิดตะวันตกอย่างเกอเธประทับใจยิ่งนักกับมุมมองอิสลามแบบเปิดกว้างของ อาฟิซ เขามั่นใจว่าจิตวิญญาณเสรีเช่นนี้ไม่มีทางจุดขึ้นได้จากอิสลามในรูปแบบที่ควบคุมเบ็ดเสร็จ

 

นักวิชาการด้านอิสลามอีกคน โธมัส บาวเออร์ จากมุนสเตอร์ เยอรมนี ได้เสนอคำว่า "tolerance of ambiguity" (การทนต่อความคลุมเครือ) เพื่อนิยามอิสลามยุคคลาสสิกที่ปรากฏในงานของ ฮาฟิซ ซึ่งก็คือช่วงหลายร้อยปีระหว่างอิสลามยุคแรกเริ่มกับอิสลามยุคใหม่ในกาลก่อน ซึ่งวาทกรรมหลากหลายแนวเกี่ยวกับการตีความอัลกุรอาน และการกล่าวแบบมีหลายนัยที่ฮาฟิซใช้ ไม่เคยถือเป็นสิ่งกวนใจของสังคมยุคนั้น กลับเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ความหลากหลายเพิ่งจะมาหดหายจากสังคมมุสลิมเมื่อถูกผลักสู่โลกยุคใหม่ เพราะการต้องเผชิญกับความเหนือกว่าของตะวันตกในทุกเมื่อเชื่อวัน ผลักดันให้มุสลิมไขว่คว้าความจริงแบบหนึ่งเดียวที่ยอมรับทั่วกัน

 

"Homo Islamicus" กับชีวิตโมเดิร์น 

 

ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า เมื่อนึกถึงมุสลิมโลกนึกถึง “การไม่ทนต่อความคลุมเครือ” เมื่อกลุ่มสุดโต่งซาลาฟี อ้างตนเป็นตัวแทนของอิสลาม “ที่แท้จริง” ชาวยุโรปก็ติดกับอยู่ในความเชื่อที่ว่าอิสลามควรจะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คนที่มีความเป็น "Homo Islamicus” ซึ่งหมายถึงความคิดและการกระทำในทุกกระเบียดนิ้วโคจรรอบๆ และไม่นำพาสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากอิสลาม ย่อมไม่เหมาะกับโจทย์ต่างๆ ของโลกยุคใหม่ บุคลิกภาพลักษณะนี้ ที่กดทุกสิ่งให้ด้อยกว่าความจริงเดียวของตนมีอยู่ในหมู่พวกสุดโต่ง ตรงกันข้ามกับมุสลิมส่วนใหญ่ที่ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้า

 

ทุกวันนี้หลายฝ่ายอ้างตัวเป็นเจ้าของอิสลาม ซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ใช้อิสลามยืนยันความชอบธรรมในการปกครอง ชนชั้นกลางสร้าง “อิสลามเชิงธุรกิจ” ที่อำนวยต่อเสรีภาพส่วนบุคคล สอดคล้องกับสังคมโมเดิร์น และภายใต้ป้ายอิสลามอีกนั่นเองที่พวกสุดโต่งเลือกใช้ความรุนแรง ปลุกระดมภารกิจปลดเปลื้องบาปในแบบที่ดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรนักจากวิธีการของกองกำลังติดอาวุธที่สร้างความนองเลือดในยุโรปในอดีตอย่างกลุ่ม RAF ของเยอรมัน หรือ AD ในฝรั่งเศส

 

อิสลามในวิกฤติ

 

ชัดเจนว่าอิสลามกำลังเผชิญวิกฤติ มุสลิมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในโลกประชาธิปไตย ไม่ว่าเป็นตุรกี อินเดีย หรืออินโดนีเซีย แต่ปัญหานั้นอยู่ในโลกอาหรับ นับจากปี ค.ศ. 2011 ที่มีการลุกฮือครั้งใหญ่ อาหรับเรียกว่าเดินมาสู่จุดจบของยุคหลังอาณานิคม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจตะวันตกทิ้งรัฐอาณานิคมของตนให้แย่งชิงเขตแดนกันเองตามอำเภอใจ ผู้คนที่อาศัยในเขตแดนเหล่านั้นต้องรู้สึกแปลกแยกจากรัฐใหม่จึงหันหาอิสลาม ใช้มันเป็นสิ่งนิยามตนเองเพื่อทดแทนความรู้สึกทางชาติที่สูญหาย ถึงวันนี้ เมื่อมีชาติที่ล้มเหลว แตกเป็นฝักฝ่าย กองกำลังติดอาวุธที่อ้างอิสลามก็ฉวยโอกาสไต่สู่อำนาจ

 

 

ในกระบวนดังกล่าว เราเห็นผลพวงหลายอย่างจากเมล็ดพันธุ์ที่ซาอุดิอาระเบียหว่านเอาไว้ในหลายทศวรรษ ประเทศซาอุดิอาระเบียมีราชวงศ์ผู้ปกครองและการสอนอิสลามแนววาฮะบีอันสุดโต่ง (หรือจะเรียกว่าเคร่งหรืออนุรักษ์นิยมเกิน ก็ตามแต่) ช่วยค้ำยันอำนาจปกครองมาช้านาน และ ณ ที่แห่งนั้นเอง การสอนอิสลามแบบปราศจากขันติต่อความแตกต่าง แบบที่เรียกร้องให้ต่อสู้กับ “ผู้ไม่ศรัทธา” และคนต่างศาสนา เข้มข้นอย่างไม่มีที่ใดเสมอเหมือน

 

มุสลิมจะต้องตระหนักแล้วว่า อิสลามรูปแบบนี้ไม่มีที่ให้ยืนในโลกร่วมสมัย และไร้ซึ่งพลังบวกที่จำเป็นยิ่งต่อการสร้างอารยธรรม นี่คือสาเหตุที่ “อิสลาม” ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม

 

แหล่งที่มา http://en.qantara.de/content/islam-and-the-modern-age-moving-beyond-dogmatic-doctrine