จดหมายจากกัมปงสะท้อนปัญหาของกลไลตลาดและยางพารา

จดหมายจากกัมปงสะท้อนปัญหาของกลไลตลาดและยางพารา

“ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปี 2546-2554 เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ซึ่งขยายตัวอย่างก้าวกระโดดตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีน เดิมทีราคายางแผนดิบที่เกษตรกรชาวสวนยางทำเป็นแผ่นขายให้แก่พ่อค้ารับซื้อยางในท้องถิ่นมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25-30 ต่อกิโลกรัม ต่อมาได้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยเป็น 47 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2546 และขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องกันหลายปี จนกระทั่งแตะที่ระดับ 180-190 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2554 หลังจากนั้นก็ขยับต่ำลงในปีถัดๆ มาจนเหลือเพียง 45-50 บาทต่อกิโลกรัมในปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558”

เป็นส่วนหนึ่งในจดหมายของ นายประพันธ์ วัลลีย์ พ่อค้าและคนกรีดยางในพื้นที่นราธิวาสส่งมายังปาตานี ฟอรั่มเพื่อต้องการสะท้อนมุมมอง การวิเคราะห์ และข้อเสนอทางออก เกี่ยวกับเรื่องปากท้องของเกษตรกรสวนยาง

จดหมายของนายประพันธ์ วัลลีย์ ชี้ให้เห็นความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการตลาดยางในเวทีสากล ซึ่งเกิดจากการเกาะติดขาวสารและเกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย โดยจดหมายระบุว่า ตลาดหลักของยางพาราไทยคือประเทศจีน จีนเป็นประเทศที่นำเข้ายางพาราสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก เช่น ฮอนด้า บีเอ็มดับเบิลยู โตโยต้า จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ และไครสเลอร์ เป็นต้น มีข้อมูลว่าในปี 2553 จีนมียอดการผลิตรถยนต์พุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับสาม รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นในปี 2549

อย่างไรก็ดี เมื่อราคายางได้ค่อยๆ ปรับลดลงนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในจีน ส่งผลให้ทิศทางของยางพาราในประเทศไทยเกิดปัญหาตามไปด้วย

 จดหมายของนายประพันธ์ ระบุอีกว่า ปี 2558 ความสนใจในการปลูกยางพาราเบาบางลงแล้ว ปัจจุบันคงไม่มีเกษตรกรคนใดคิดปลูกยางพารา เพราะมองเห็นว่าจะขายได้ราคาดีอีกต่อไป นักวิเคราะห์เศรษฐกิจคาดการณ์ว่าโอกาสที่ราคายางจะกลับมาสูงมากๆ เป็นไปได้ยาก อย่างน้อยก็ในช่วง 4-5 ปีนี้ นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวหรือทรงตัวมากกว่าจะปรับตัวดีขึ้น เหตุผลอีกข้อที่จะตรึงราคายางไว้ไม่ให้สูงก็คือ การที่จีนสนับสนุนให้มีการปลูกยางพาราในประเทศและร่วมลงทุนปลูกยางในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จะเห็นได้ว่าจีนเองก็พยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตน

 “ประเทศไทยเองก็มีผลผลิตยางเพิ่มขึ้นมากจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้แสดงตัวเลขไว้ว่า พื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นเป็น 22.18 ล้านไร่ ในปี 2556 จากเดิมที่มีอยู่เพียง 12.26 ล้านไร่ ในปี 2546 อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากยางได้พร้อมกันในภูมิภาคนี้ เราคงไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะยางล้นตลาด” ข้อความจากจดหมายระบุ

จดหมายฉบับนี้ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งนายประพันธ์อ้างถึงประสบการณ์ของชาวส่วนยางในพื้นที่เรื่องยางพารา โดยระบุถึงปัญหาที่อยากให้รัฐแก้ไข คือ

1. ยางพารามีจุดอ่อนที่ต้องพึ่งพาตลาดโลก ผลผลิตจากยางไทยส่งขายเป็นสินค้าส่งออกถึงร้อยละ 80 และใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับสินค้าในประเทศ ร้อยละ 10 ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นสต็อกคอยู่ในมือของโรงงาน การที่ยางพาราต้องพึ่งพาตลาดโลกทำให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะราคาที่ผันผวน ไม่แน่นอน โดยเฉพาะการที่ยางพาราต้องอาศัยตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในกรณีที่ผลผลิตยางล้นตลาดและตลาดรถยนต์ซบเซา ยางพาราไทยคงหลีกไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับภาวะราคายางตกต่ำ มีผู้เสนอให้แก้ปัญหาด้วยการลดการพึ่งพาตลาดโลกนำยางที่ผลิตได้มาใช้ภายในประเทศ เช่น สร้างถนน ส่งเสริมการผลิตยางล้อรถยนต์

“เราต้องการเห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม”

2. อยากเห็นการจัดตั้งสถาบันที่เป็นศูนย์กลางการวางแผนด้านการเกษตร ที่ประกอบด้วยผู้มีความรู้จากหลากหลายสาขา ทำหน้าที่วางแผนและประเมินสถานการณ์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว กาแฟ ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอย่างเช่นกรณีของยางอีก

อาจเป็นจดหมายที่มีเนื้อหาฉบับสั้นๆ แต่ชี้ให้เห็นว่า สำหรับเกษตร์กรชาวสวนยางซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้  พื้นที่ๆซึ่งคนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผูกโยงกับอาชีพเกษตรกรรมยางพารา ก็หาได้ขาดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับตัวเอง ซึ่งภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้มักเป็นปัญหาสำคัญที่กลไกรัฐในพื้นที่มักไม่ค่อยเอ่ยถึง นอกเหนือจากปัญหาความรุนแรง และการจัดการกับความขัดแย้งเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นปัญหาภาพใหญ่ที่อาจชวนให้เข้าใจผิดว่ามีปัญหามิติเดียว จนมองข้ามมิติเล็กๆ เช่นเรื่อง “เรื่องปากท้อง”ไป จนแทบจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยไปแล้ว

สำหรับจดหมายฉบับนี้แล้ว ในท้ายที่สุดก็ทำให้เล็งเห็นว่า เรื่องปากท้อง ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เป็นชะตากรรมร่วมกันกับคนอีกจำนวนมากในประเทศไทยในขณะนี้ แต่ก็อย่างที่เข้าใจ คนธรรมดาสามัญ แม้นจะเข้าใจในสภาพปัญหาของตนเอง แม้นจะเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ก็ไม่มีพื้นที่ที่ตนเองจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ หากทำได้ ก็เพียงแค่ สื่อสารสาธารณะว่า คนธรรมดาสามัญ ก็มีความรู้ มีความเข้าใจเพียงพอที่จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยผู้ใช้อำนาจการปกครองประเทศเท่านั้น

เพราะการฟังและการมีส่วนร่วม คือ หลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของ “คน”

 

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เป็นมุมมอง  ความเห็น ความรู้ ซึ่งมีแก่นสารสำคัญของผู้เขียนเป็นส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด ปาตานีฟอรั่ม เป็นเพียง "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" เพื่อหวังสร้างสรรค์สังคมแห่งปัญญา