พินิจพิเคราะห์การศึกษากับกิจกรรมเพื่อสังคม

พินิจพิเคราะห์การศึกษากับกิจกรรมเพื่อสังคม  

เปา  สันติภาพ

เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (คนส.)

เริ่มแรกก่อนที่จะมาสู่บทความชิ้นนี้ เราสมาชิก เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม ไม่คิดว่าจะมีการพูดคุยหลังทานอาหารเที่ยงในชุมชนรูสะมิแล เราอยากจะกลับไปหลับไปนอน ผักผ่อนยามบ่ายของช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จากการเรียนการสอนของมหา’ลัย แต่พวกเราคิดว่าเวลาสบายๆ เช่นนี้ เราไม่อยากให้สูญเปล่า จึงชักชวนกันมาเยี่ยม สำนักงานปาตานี ฟอรั่ม แล้วชวนถกเถียงพูดคุยในประเด็นที่เราคิดว่า เราได้ผ่านประสบการณ์ สัมผัสโดยตรง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ คือ เรื่องการศึกษาของเยาวชนในยุคปัจจุบัน เราจึงเริ่มแลกเปลี่ยนโดยโพสต์บทกลอนตอนหนึ่งของหนึ่งในเครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม เขียนไว้เพื่อเยียวยา ความคิด ความสับสนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของตนเอง ว่า “มหา’ลัย คือ แหล่งการเรียนรู้  เพื่อเข้าสู่อนาคตที่สดใส   ต้องต่อสู้ทำดีกันต่อไป  เตรียมให้พร้อมสู่โลกการทำงาน”

พวกเราเริ่มต้นการถกเถียง แลกเปลี่ยนด้วยการตั้งคำถามถึง ความหมาย ความเข้าใจในคำว่า การศึกษา ตามทัศนะ มุมมองของเราเป็นเช่นไร พวกเรามองว่าการศึกษา คือการเรียนรู้ การเดินเพื่อที่จะหาความรู้ใส่ตนเอง แต่ด้วยระบบแนวคิดทุนนิยมทำให้เราสนใจแต่เรื่องเดียว เรื่องหลักๆ เป็นสาขาวิชาชีพให้คนถนัดเพียงด้านเดียว เพื่อที่จะจบมาเป็นแรงงานของหน่วยงานที่รับสาขานั้น แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ดี คือการทำให้เรารู้เรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง แต่เวลาจบไปเราก็ยึดติดในสาขาวิชาที่เราจบ ไม่กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งอื่นๆ จบมาก็มุ่งหางานในส่วนที่ตนเองจบ ไม่กล้าที่จะทำงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับใบปริญญาของตนแต่คนรุ่นปูของเราหรือคนโบราณที่เรียนศาสนา เขาสามารถที่จะเรียนสาขาวิชาเดียวแต่เชื่อมโยงไปสู่สาขาวิชาอื่นๆ ได้  แต่ปัจจุบัน บางสาขาวิชาก็มีหลักคิดที่แตกต่างกัน อย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์กับวิชาสังคมศาสตร์ ทฤษฏีและแนวคิดยังมีความแตกต่าง

ตัวอย่างที่ชัดเจน ผมมีเพื่อนที่เรียนสาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และสาขาวิชารัฐศาสตร์ มานั่งถกเรื่องเดียวกันแต่ความคิดเห็นและรสชาติที่ได้มานั้นบวกกับแนวความคิดของแต่ละคนที่ยึดเอาสาขาวิชาที่ตนนั้นเล่าเรียนมาทำให้บางคนไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่างจากตนไป เพราะเบ้าหลอมและแนวความคิดที่ไม่เหมือนกันจนกระทั่งต้องเลิกรากันไปโดยที่ประเด็นยังค้างคาอยู่

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าระบบการศึกษาของไทย ซึ่งพวกเรามองว่าถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนได้แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องลูกหลานของตนนั้นควรได้เล่าเรียนอะไรก่อน อะไรหลัง เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ ทำไมต้องมีการเรียนการสอนตาดีกาของหมู่บ้าน โดยที่โครงสร้างที่รัฐไทยให้มานั้นยังไม่ได้ผ่านขบวนการการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ชาวบ้านจึงต้องมีการส่งเสริมให้ลูกหลายของตน เล่าเรียนตาดีกาไปด้วย เพื่อสร้างจิตสำนึกว่าเขานั้นมาจากรากเหง้าอย่างไร

เราจึงมองว่า ความคิดของนักศึกษาทั่วไป คือ การเรียน เรียนเพื่อให้จบ เพื่อให้ได้เกียรตินิยม  คนที่มีแนวทางการเรียน การศึกษาอย่างนี้ ไม่ค่อยได้สนใจสังคมรอบตัว เพราะสนใจแต่เรื่องภายในตำรา ห้องเรียน ไม่ค่อยสังสรรค์กิจกรรมทางสังคม หรือบางกลุ่มนักศึกษาก็มีเป้าหมายเพียงเพื่อจะให้จบ ไม่ได้คิดอะไรมากมาย บ้างก็เพียงอยากจะพบเจอกลุ่มนักศึกษา เพียงอยากที่จะได้มั่วสุม รักสนุกไปวันๆ

ขณะที่เพื่อนของเราอีกคนเห็นว่ายังมีอีกหลายมิติในการมอง การศึกษาก็ยังให้ความรู้อยู่ ยังให้เรื่องการพัฒนาศักยภาพ ช่วยให้เรามีงานทำ มีงานดีๆ การศึกษาในมุมมองหนึ่งคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่น สังคมที่เราศึกษาและสังคมที่บ้านทำให้เราเห็นความแตกต่าง ส่งผลต่อความคิดของเรา ก็มองเห็นเรื่องการแข่งขันให้ได้คะแนน ได้เกรดดีๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ หรือสมัครงานดีๆการศึกษาช่วยสร้างการเรียนรู้ของคนในสังคม เพื่อทำงาน เพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็สงสัย เหมือนกัน สังคมตอนนี้มีคนเรียนเยอะสังคมก็น่าจะดี แต่ตอนนี้สังคมก็มีแย่ สังคมล่อแหลม มีสิ่งยั่วยุมาก

ช่วงแรกๆในการเข้ามาศึกษาเล่าเรียนอาจทำให้เรามีเป้าหมาย เราเคยคิดว่าเราเรียนไป เราต้องเป็นผู้ว่าราชการให้ได้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่สภาพสังคมไทย ตอนนี้เราคงคิดจะทำตามเป้าหมายที่วางไว้ คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งการเข้าไปอยู่จุดนั้น อาจทำให้เราต้องทำไม่ดีบางอย่าง เพื่อสร้างในเรื่องที่ดี เช่น เราต้องการต่อสู้เรื่องยาเสพติด แต่ในโครงสร้างข้าราชการเราก็เห็นว่า ข้าราชการด้วยกันเองเป็นผู้ปล่อยยาเสพติดเอง

การศึกษาเป็นเรื่องดี แต่บางทีการศึกษาทุกวันนี้ ทำให้เราไม่ได้คิดตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราได้รับการเรียนรู้ถ่ายทอดมา เรายังคงได้ยินว่า ยิ่งเรียนสูง ทำให้เรามีการงานที่ดี แล้วเราจะมีความสุข แต่ไม่เคยพูดถึงว่า เรียนแล้วกลับมาทำให้ชุมชน สังคมมีความสุข ตรงนี้มีน้อย ทุกคนจะเรียนเพื่อทำงาน แต่คนที่กิจกรรมอาจจะมีมากกว่าเรื่องการทำงานที่ดี แต่มีเรื่องของการทำงานเพื่อสังคม

ถึงกระนั้นเราเชื่อว่า หากสังคม ระบบในเมืองไทยยังแย่อยู่อย่างนี้ ก็ลำบากที่จะช่วยสรรสร้างสังคมที่ดี ซึ่งยังสงสัยว่าหากระบบมันดีจริง ก็ต้องขัดเกลาให้คนที่อยู่ในระบบเป็นคนที่ดีได้

ทุกวันนี้เราเห็นการแย่งชิง เพื่อการเข้าสู่ระบบ การแย่งชิงอย่างไร สอบหรือไม่ ใช่มีสอบ แต่ก็มีเรื่องใต้โต๊ะ บางหน่วยงานมีคนดีเข้าไป แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะคนดีอยู่ไม่ได้เพราะมักจะไปขัดผลประโยชน์ของคนในระบบ พวกเราอาจมองแบบนี้ เพราะสภาพชีวิตของมนุษย์วันนี้เป็นแบบนี้ มนุษย์เริ่มคิดจะทำอะไร จะเริ่มมองที่เรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก

พวกเราอยากเห็นการศึกษาทุกวันนี้ เป็นดั่งพื้นที่การอบรมให้ผู้ที่เล่าเรียนนั้นได้ขัดเกลาจิตใจของตนเองและยังเป็นการบ่มเพาะนิสัยให้มีคุณธรรมจริยธรรมและมีระเบียบวินัยโดยที่ไม่อยากให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่หลอกใช้เราให้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวและไม่ใส่ใจที่จะแก่ไขสังคมให้ดีขึ้นเพื่อสู่การเป็นมนุษยชาติที่สมบูรณ์แบบ

หากมองตามยุคสมัยแล้วล่ะก็คงจะบอกได้ว่าการศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องขวนขวายเพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่เรามีอยู่แล้ว เพราะความรู้ที่เรามีอยู่นั้นมันอาจจะเป็นชุดความรู้หนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องหาเพิ่มเติม ดั่งที่นักปราชญ์หลายท่านได้พูดถึงไว้ เช่นท่าน อิบนุ คอลดูน กล่าวว่า “การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้นักเรียนสามารถวางแผนที่จะตอบสนองความต้องการของสังคม เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมที่อยู่เหนือความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัส เพื่อพัฒนาบุคลิกนิสัยให้สอดคล้องกับศาสนา เพราะจะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างสงบสุข และที่สำคัญเพื่อให้นักเรียนมั่นใจกับวิถีการดำเนินชีวิต” ดังนั้นการศึกษาที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ คงยังไม่เพียงพอ

ยังมีนักคิดต่างชาติหลายท่านที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ยัง ยัคส์รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ได้สอนเราว่า “การศึกษาคือ การปรับปรุงคนให้เหมาะกับ โอกาสและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรืออาจกล่าวได้ว่า การศึกษาคือการนำความสามารถในตัวบุคคลมาใช้ให้เกิดประโยชน์” นอกจากนี้ท่าน จอห์น ดิวอี้ (John Dewey)  ก็บอกเราเพิ่มเติมว่า “การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่เตรียมตัวเพื่อชีวิต การศึกษาคือความเจริญงอกงามก คือกระบวนการทางสังคม การสร้างประสบการณ์แก่ชีวิต” หรือนักวิชาการไทยอย่างดร. สาโช  บัวศรี ก็บอกคล้ายๆกันว่า   “การศึกษาหมายถึง การพัฒนาบุคคลและสังคมที่ทำให้คนได้มีการเรียนรู้และพัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม”

ทุกคำสอน บอกล่าวนั้น พวกเรามองว่าล้วนมีแก่นตรงกับความหมาย การศึกษาในแง่มุมอิสลาม ที่มีความหมายค่อนข้างกว้างและครอบคลุมทุกด้าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราจดจำได้ดี คือ การศึกษาเป็นกระบวนการอบรมและบ่มเพาะสติปัญญา  ร่างกายและจิตวิญญาณ  เพื่อผลิตมนุษย์ที่สมบูรณ์

ดังนั้นสำหรับการพูดคุยครั้งนี้ พวกเราจึงได้สรุปกันเองว่า  การศึกษาที่เราตั้งคำถามอยู่นี้เป็นกระบวนการที่ให้การส่งเสริม ให้บุคคลเจริญเติบโตและมีความเจริญงอกงามทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาจนเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณธรรมจริยธรรมที่สูงส่ง ท้ายสุดของบทความชิ้นนี้ เราจึงรู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้มีโอกาสมาอยู่ ณ จุดที่มีมากกว่าการศึกษาในห้องเรียน เราจึงอยากฝากบทความที่คิดได้ ณ ช่วงขณะแลกเปลี่ยนพูดคุย ดังนี้

“เราโชคดี มีโอกาสได้มาเรียน            ได้อ่านเขียนทุกวันเพื่อฝึกฝน

เราโชคดีกว่าครอบครัวที่ยากจน        เพราะบางคนได้แค่ฝันอยากจะเรียน