หยั่งเสียงพลเมือง : สารจากปาตานี ไม่เคยห่างจากมุสลิมกรุงเทพฯ

“สืบเนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาการรายงานข่าวยังมองเห็นปม ความเข้าใจต่อสถานการณ์ปาตานี/ ชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมากองบรรณาธิการข่าวส่วนกลางไม่ค่อยรู้จริงเกี่ยวกับสถานการณ์ ซึ่งขณะนั้นก็จะทำเรื่องการงานสถานการณ์ วิถีชีวิต ซึ่งพัฒนาการที่ผ่านมาก็มีรายงานได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะอย่างน้อยทำให้คนในส่วนอื่นๆของประเทศรู้จักจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากกว่าที่ผ่านมา แต่การทำความเข้าใจในสถานการณ์เหตุการณ์และประเด็นอื่นของชายแดนใต้ในเชิงลึกยังมีน้อย แม้กระทั่งการรายงานข่าวเชิงตรวจสอบการทำงานของรัฐก็ยังมีอยู่น้อย”

เป็นมุมมองเริ่มต้นชวนสนทนาของ ปกรณ์  พี่งเนตร บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา ในเวที หยั่งเสียงพลเมือง สื่อสาร(น) สันติภาพปาตานี ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเวทีรับฟังความเห็นของคนกรุงเทพมหานคร โดยเวทีครั้งนี้จัดขึ้น ณ มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะต่อองค์กรทำงานด้านสื่อ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจและสนับสนุนบรรยากาศสันติภาพในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ที่เป็นกระแสมาแรงในห้วงทศวรรษข้างหน้านี้

เปิดเวที: งานข่าวภาคใต้ เริ่มมีพัฒนาการ

ปกรณ์ ชี้ว่า จะมีสักกี่สื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับงบประมาณแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่มีสื่อไหนวิเคราะห์ถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่ค่อยมีการรายงานข่าวมากนัก

“มีบางสื่อที่ค่อนข้างจะมีความเข้าใจ มีวินัยในการรายงานข่าวที่ มีการควบคุมคำ แต่ทั้งนี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูที่ผู้บริโภคทีนิยมที่จะสนใจกับการรายงานข่าวเหตุการณ์ ข่าวความรุนแรง ซึ่งในความเป็นจริงสมาคมสื่อเองก็มีความพยายามเข้าไปมีบทบทที่จะให้คนทำงานมีความเคร่งครัดในเรื่องการรายงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำให้องค์กรสื่อหลายองค์กรปรับตัวเหมือนกัน”

มองอีกด้าน ข่าวต้องปรับการเรียนรู้อย่างเท่าทัน

ขณะที่ นายมะยุ เจ๊ะนะ ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ หรือที่รู้จักในชื่อกลุ่ม PerMAS มองว่า กลุ่มสื่อซึ่งเป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่และสาธารณะชนมีความพยายามทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ปาตานี/ชายแดนใต้ โดยก่อนหน้านี้สื่อเองเคยรายงานข่าวที่ทำให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ซึ่งเคลื่อนไหวประเด็นสามจังหวัด กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรง

“ทั้งนี้มองว่าสื่อเองยังขาดความเข้าใจในเรื่องบริบท สังคม การเมือง ยังมีอยู่น้อย หรือการรายงานข่าวให้เห็นมุมการวิเคราะห์นโยบาย สถานการณ์ที่ชัดเจน ทั้งนี้อยากเห็นสื่อมีการรายงานข่าวที่ทำให้สาธารณะชนมองเห็นมิติความขัดแย้งไม่ใช่แค่รัฐ กับกลุ่มขบวนการ แต่ฉายให้เห็นความขัดแย้งอื่นๆที่มีอยู่ ซึ่งมีส่วนชูโรงให้พื้นที่มีความรุนแรงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ขณะเดียวกันเยาวชนก็มองว่าสื่อยังไม่สร้างสมดุลในการรายงานข่าวให้เห็นมิติเชิงบวกถ่วงดุล มิติความขัดแย้ง ในเปอร์เซ็นต์ที่เท่าๆ กัน”

นายมะยุ เจ๊ะนะ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา PerMAS มองเพิ่มเติมว่า สำหรับคนในพื้นที่แล้วยังรู้สึกไม่เชื่อถือสื่อกระแสหลัก หลายๆครั้งที่สื่อนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลัก คนในพื้นที่ต้องนำมาวิเคราะห์ต่ออีกชั้น

“คนในพื้นที่ไม่เชื่อถือต่อสื่อง่ายๆ กลุ่มกิจกรรมนักศึกษามลายูสามารถเป็นคนที่จุดประเด็นให้สื่อหันมาสนใจได้ นักศึกษามีความพยามยามทำอยู่ การสร้างแรงบันดาลใจควรจะเป็นคนหนุ่มสาวที่ควรจะผลักดันประเด็นได้ผ่านสื่อออนไลน์ นอกจากข่าวแล้วยังมีละครที่ชอบนำเสนอละครซึ่งสถานการณ์ต่างๆมักจะชี้นำให้ทราบไม่ตรงกับความเข้าใจในพื้นที่”

ข่าวใต้ในสื่อหลักหมดเสน่ห์  ต้องทำให้ต่างกับข่าวทั่วไป

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ติดตามสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสหลักไม่ได้ถูกติดตามมานานมากแล้วเพราะสื่อกระแสไม่ได้นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพ หรือทำให้มีเสน่ห์ที่น่าติดตาม

“เมื่อเราพูดถึงสื่อกระแสหลักมักจะออกในรูปของความสะเทือนขวัญ การใช้ภาษาลีลาในการเล่า ซึ่งสื่อในเมืองไทยมักจะนำมาใช้เพื่อให้โดนใจผู้บริโภค ซึ่งสิ่งที่อยากจะบอกคือ การรายงานอื่นๆในสังคมไทย ก็ตกอยู่ในชะตากรรมของการรายงานข่าวภาคใต้ จึงทำให้เนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญก็ขาดหายไป ด้วยบริบทแบบนี้ทำให้การใช้คำที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยอุดมการณ์ชาตินิยมแข็งทื่อ ไม่ปรับตัว ไม่ค่อยสนใจข้อเท็จจริงละเอียดและต่อเนื่องมากนัก”

“ความน่าสนใจของการรายงานภาคใต้กรณีเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง การรายงานข่าวมักจะโยงทุกเรื่องให้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่หลายเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องภัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่นยาเสพติดค่อนข้างเยอะ ความน่าสนใจคือ การรายงานข่าวขาดความสนใจในรายละเอียดอื่นๆที่ตามมาหลังเหตุการณ์ ที่มีเรื่องเล่าต่อเหตุการณ์ตามมาที่มีลักษณะที่สื่อกระแสหลัก หรือคนส่วนใหญ่มอง

เหตุที่สื่อกระแสหลักไม่ติดตามในพื้นที่ ก็เข้าใจได้เพราะมีความเสี่ยง และต้องรายงานข่าวอื่นต่อไป แต่ที่น่าสนใจ คือ การทำงานข่าวของนักข่าวค่อนข้างจะอิงอยู่กับรัฐ เดินทาง กับทหารค่อนข้างสูง ทำให้คนในพื้นที่ก็มีข้อจำกัดที่จะเล่าเรื่องในพื้นที่ให้ฟังเพราะถูกมองเป็นคนของรัฐ ของทหาร”

ฟังเสียงมุสลิมกรุงเทพฯ

ทางด้านมุมมองของผู้เข้าร่วม มองไปในหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งทุกคนล้วนยอมรับว่ายังติดตามเรื่องสถานการณ์ปาตานี/ชายแดนใต้ มาโดยตลอด โดยบางคนชี้ว่า ที่ผ่านมาในแง่มุมประวัติศาสตร์ปาตานีไม่มีความน่าสนใจที่จะอ่าน เพราะคนปาตานีไม่ได้เขียนกลายเป็นคนนอกเขียน ซึ่งมีมุมมองความเป็นรัฐชาติ จึงอยากเห็นคนในพื้นที่หันมารื้อฟื้นศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี อยากให้คนทั่วไปศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีที่มาจากคนในพื้นที่เขียนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาเพื่อเป็นพื้นที่ฐาน เพื่อเป็นฐานคิดในการมองสถานการณ์

อีกความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำความเข้าใจในประวัติศาสน์ของพื้นที่ จะช่วยให้การทำการทำงานของแต่ละองค์กรองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เข้าใจได้ชัดเจนว่ามองมาจากฐานคิดใด ซึ่งที่ผ่านมามองว่ามองเจ้าหน้าที่รัฐด้วยฐานคิดของความเป็นชาตินิยมคับแคบ การปฎิบัติงานก็เลยออกมาในลักษณะที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งตามแนวทางที่ปาตานี ฟอรั่ม ทำอยู่ ถือว่ามาถูกทาง เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจต่อผู้รับสารข่าวภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการทำงานของสื่อกระแสหลักได้ปรับตัวได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

คาดหวังคนพื้นสร้างประเด็นร่วมกับเครือข่ายนอกพื้นที่

อดีตราชการการเมืองคนหนึ่งแลกเปลี่ยนว่า กลุ่มเยาวชนที่จัดตั้งขึ้นต้องยอมรับว่าไม่กว้างขวางเพราะมีการประชาสัมพันธ์ไม่มีประสิทธิภาพพอ ขณะเดียวการตั้งใจชื่อ การนำเสนอเนื้อหาขาดการทำให้เกิดความรู้สึกร่วมของคนอื่นๆในประเทศ

“โดยเฉพาะคนมุสลิมที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคใต้ไม่ว่าด้วยการมีศาสนาเดียวกัน หรือมีต้นตระกูลมาจากจังหวัดชายแดนใต้ในอดีต ขณะเดียวกันการทำงานกับคนนอกที่เป็นที่รู้จักของสาธารณะชน และมีความเข้าใจต่อเรื่องภาคใต้ก็มีน้อย เพราะอย่าลืมว่าคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่สื่อกระแสหลักให้ความสนใจ รู้จัก แต่เพียงแค่เนื้อหาไม่ได้อยู่ที่คนเหล่านั้น แต่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มคนเล็กๆ หรือการทำงานต่อคนที่เป็นสื่อกระแสหลักที่อยู่ในพื้นที่เพื่อมีสร้างความเข้าใจระดับเกาะติด เพื่อที่จะให้นักข่าวเหล่านั้นได้ทำงานข่าวได้ด้วยความเข้าใจที่ลึกยิ่งขึ้นด้วย”

“เราต้องทำงานสร้างพันธมิตรมากกว่านี้ ขณะเดียวกันประเด็นที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นที่สนใจของสื่อกระแสหลักควรจะมีการอธิบาย หรือควรจะมีกลยุทธ์ที่อธิบายให้เกิดความอยากรู้ร่วม เช่น การนำเสนอประเด็นผู้หญิง ประเด็นเด็ก ที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆไปด้วย ก็จะมีพันธมิตรง่ายขึ้น”

ความรู้สึกที่โยงใย แต่อย่าให้ภาษามาทำให้แปลกแยก

ผู้เข้าร่วมบางคนที่มีโอกาสลงภาคใต้บ่อยๆ เล่าว่า ตัวเองเป็นคนกรุงเทพแต่มีโอกาสลงไปภาคใต้บ่อยๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าภาคใต้เหมือนบ้านหลังที่สอง

“ที่ผ่านมา ผมพบว่าเรื่องมุสลิมเชิงสร้างสรรค์ไม่ค่อยเห็นผ่านสื่อกระแสหลัก ซึ่งมีให้เห็นน้อยมาก แต่เห็นข่าวความรุนแรง ข่าวฆ่า ฟัน ทำให้มุสลิมภาคใต้โดนมองอย่างรุนแรงไปด้วย”

“อย่างไรก็ตามความรู้สึกลึกๆแล้ว ก็น้อยใจเช่นกัน อย่าผลักคนมุสลิมอื่นๆในประเทศไม่ให้เกี่ยวข้องกับปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าทำให้รู้สึกแปลกแยกกันและกัน อย่าให้ภาษามลายูมาเป็นส่วนแบ่งแยกมุสลิมที่อื่นๆ อยากให้คนในพื้นที่เปิดส่วนนี้ คนภาคกลางหลายคนอยากจะเรียนภาษามลายู อยากให้รู้สึกภาคภูมิใจเสมอว่า คนมลายูในอดีตได้มาเปิดพื้นที่ทำให้วันนี้พี่น้องมุสลิมก็มีโอกาสมากขึ้นด้วย”

ก้าวต่อไป ความหวังที่อยากเห็นจากสื่อ สื่อสารประเด็นปาตานี/ชายแดนใต้

ส่วนแง่มุมอื่นๆ พบว่า ผู้เข้าร่วมมองว่าสื่อกระแสหลักเป็นปัญหาที่ไม่ได้เปลี่ยนเลยมานาน ปัญหาภาคใต้ไม่มีใครอยากทำ คนทำข่าวภาคใต้ก็ยังหาคนทำแทนไม่ได้ ปัญหาภาคใต้สื่อกระแสหลักไม่ได้ 2 มาตรฐาน แต่การายงานข่าวที่เป็นปัญหาเพราะเกิดขึ้นกับทุกภาค ทุกประเด็น ข่าวที่เป็นมุมวิเคราะห์ ข่าวคุณภาพ ก็ไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่ง หรือในช่วงที่สำคัญของข่าวทีวี ซึ่งต้องไปดูคุณค่าสื่อที่ยังให้ค่าต่อการรายงานข่าวดราม่า ข่าวระทึก โศกนาฏกรรม แต่ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าผู้บริโภคยังนิยมอยู่ หากผู้บริโภคประท้วง เห็นแย้ง ไม่เห็นด้วย จนมีการเรียกร้อง ก็จะทำให้ช่วยสนับสนุนการทำงานของนักข่าว

อีกประเด็นพบว่า เงื่อนไข และระบบการทำงานของนักข่าวต้องยอมรับว่าไม่เอื้อต่อการทำงานข่าวให้เกาะติด หรือทำข่าวมีเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพได้ หรือการคุกคามสื่อ ทำให้การรายงานข่าวจึงเป็นผลได้

นอกจากนี้ ข่าวใต้ยังพบจุดอ่อนอีกประเด็นคือ ไม่มีใครไปทำงานข่าวที่ศาล ซึ่งที่ศาลมีข่าวคดี ความเคลื่อนไหวกรณีความมั่นคงมากมาย ขณะเดียวกันการทำงานของสื่อ ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่ากลุ่มคนทำกิจกรรม ก็ควรจะทำงานที่สนับสนุนสื่อเช่นกัน หรือ ให้กำลังใจนักข่าวที่นำเสนอเรื่องคุณภาพข่าวภาคใต้  แม้นบางทีนักข่าวที่เป็นคนมลายูในพื้นที่เองก็ยังทำงานเหมือนสื่ออื่นๆ ไม่ได้นำเสนอเรื่องที่มีคุณภาพ ตรงนี้ก็ต้องไปกดดันคนเหล่านั้นด้วย

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในโลกโซเชียลมีเดียพบว่าการส่งข่าวผ่านไลน์ เป็นสื่อออนไลน์ที่ทำให้ข้อเท็จจริงมั่วมาก นักข่าวก็เอาไปรายงานหลายข่าว มั่วมาก ดังนั้นเสนอให้หันมาบริโภคสื่อทางเลือกให้มาก ส่วนสื่อกระแสหลักก็ไม่ต้องสนใจให้มากนัก

สำหรับข้อเสนอที่สำคัญ พยายามชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ประเด็นเรื่องสามจังหวัดครองพื้นที่สาธารณะแต่จะทำอย่างไรที่มีเนื้อหาทีมีคุณภาพ และผลักดันให้สื่อกระแสหลักฟื้นขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นตัวกดดันขณะเดียวกันก็ทำให้เนื้อหาที่มีคุณภาพกระจายในโซเชียลมีเดีย

อันจะทำให้ประเด็นปาตานีถูกถกเถียงในเวทีสาธารณะและให้มีวงเสวนาในหลายๆพื้นที่ ขยายไปเรื่อยๆ..