เสียงจากกำปง:โมเดล ชุมชนท้องถิ่น “จัดการกันเอง” (ตอนที่ 1)

                     

                 
                    การถกเถียงว่าด้วยเรื่องการปฎิรูป การเมือง การปกครองของประเทศไทย จนมีแนวคิดไปถึงเรื่องการปกครองพิเศษที่ลามไปถึงวาทกรรม คำว่า  “แบ่งแยกดินแดน” อันไม่ได้ ถูกนำมาถกจำกัดเพียงแค่ชายแดนใต้/ปาตานี เท่านั้น แต่รวมไปถึงภาคอื่นๆของประเทศที่มีกลิ่นไอความเชื่อมั่นว่า การไปสู่แนวทางดังกล่าวก่อเกิดได้จริงด้วยการจัดการตนเองที่คำนึงถึงบริบท สถานการณ์ของแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน  แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการจะไปสู่หลากหลายแนวคิดดังกล่าวสามารถเป็นไปได้จริง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องกลับมาทบทวนว่า ในหน่วยการเมือง การปกครองระดับชุมชนท้องถิ่นนั้น แท้ที่จริงจะสามารถจัดการตนเองตามแนวคิดของชุมชนเอง ได้หรือไม่ บริบท สถานการณ์ปัจจุบันจะเป็นมีผลโยงใยกันอย่างไร

                 ด้วยประการเช่นนี้ ปาตานี ฟอรั่ม จะพาผู้อ่าน ลองไปฟังเสียงจากกัมปงในวงสนทนา ปาตานี คาเฟ่ หัวข้อ  เสียงจากกำปง : โมเดลชุมชนท้องถิ่น จัดการกันเอง”(ตาม ม.78 ว่าเฉพาะเรื่องการจัดการท้องถิ่น) ณ บ้านบือแนปูโย ต.บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา  โดยชวนบุคคลผู้ขับเคลื่อนและปฎิบัติงานตามแนวคิดชุมชนจัดการตนเอง มาร่วมเสวนา อย่าง อาจารย์ไพศาล ดะห์ลัน ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา(กัมปงตักวา) และ คุณมหามัติ มะจะ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะนังดาลัม อ.สายบุรี จ.ปัตตานี


โมเดล ชุมชนจัดการตนเอง “มัสยิดเป็นศูนย์กลาง”

ชุมชนจัดการตนเองโดยยึดโยงมัสยิดเป็นศูนย์กลาง เป็นหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ และค่อนข้างได้รับการยอมรับไม่น้อยจากประชาชนชายแดนใต้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากแต่การขับเคลื่อนตามแนวคิดดังกล่าวมีอยู่จริงและมีดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์ไพศาล ดะห์ลัน ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา(กัมปงตักวา) มองว่าตามแนวคิดดังกล่าวทำไมชุมชนจะขับเคลื่อนไม่ได้ ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า จริงๆแล้วการจัดการได้หรือไม่ได้มันมีหลายประเภท ตามกฎหมายที่บ้านเรามีอยู่

                 “อย่าง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน จริงๆแล้วอยากจะปกครองตัวเองแต่ระบบบวกกับสภาวะการความอ่อนแอทางการศึกษาระบบเจ้าขุนมูลนายที่ปกครองกันตลอด เป็นกลสภาวะของชุมชนทั่วๆไปที่คนไม่กล้าแสดงออกไม่กล้าทำอะไร เรื่องผู้นำก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ผู้นำทำไป ในเวลาที่ผู้นำทำแล้วไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำ เขาเรียกว่าอำนาจที่ครอบงำอำนาจเรา ที่เอามาใช้อย่างฟุ่มเฟือย สิ่งที่ปรากฏในสังคม คือ ชาวบ้านยังขาดความรู้ที่จะจัดการตนเอง ในเวลาต่อมาตัวแทนของชาวบ้านที่ถูกเลือกตั้งมานั้นก็ไม่มีความรู้เหมือนกัน ระยะเวลาผ่านไปการเมืองเปลี่ยนไป การศึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย ในเวลาเดียวกันที่เขาเรียกว่าการปกครองอำนาจซ้อนอำนาจที่มีกลไกเยอะแยะในเรื่องอำนาจ จนไม่รู้ว่ากฎหมายตัวไหนที่เราจะต้องใช้”

“ขณะที่ในหนึ่งชุมชนเองเราจะมี การออกแบบเศรษฐกิจระดับชุมชน มีการออมแบบสหกรณ์ครัวเรือน ออมส่วนท้องที่ ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 7 คน เป็น 8 คน  มีการปกครองสวนท้องที่ที่มี อบต.  2 คน เป็น 10 คน เรามีองค์กรของศาสนา 15 คน เพียงหนึ่งชุมชนเรามีผู้นำถึง 25 คน นี่คือปัญหาทางโครงสร้าง ชุมชนก็อยากจะจัดการชีวิตตัวเองไม่ว่าชุมชนที่ไหนก็อยากจะจัดการชีวิตตัวเอง แต่บางตัวอย่างก็จัดการไม่ได้ในเรื่องของอำนาจ บางตัวอย่างมีการจัดการแบ่งอำนาจ อำนาจของเรา อำนาจของครอบครัวควรจัดการเรื่องอะไร อำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการเรื่องอะไรบ้าง ความเข้าใจของชุมชนไม่ได้เข้าใจอะไรเลยกับระบบที่เป็นอยู่นี้”

จากเหตุผล-สถานการณ์  ถึง…ไม่ได้ทำ หรือ ทำไม่ได้

อาจารย์ไพศาล แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า อำนาจจริงๆจะอยู่กับชนชั้นบน เราถูกหลอก กฎหมายที่ใช้กันนั้นเป็นกฎหมายฉบับเดียวกันไปใช้มันก็ไม่ได้มีปัญหา แต่จริงๆแล้วอยู่ที่ชุมชนมากกว่า

“กฎหมายที่ใช้กรุงเทพฯเหมือนกัน แต่กรุงเทพฯไม่มีปัญหา ทำไมคนที่นี่จัดการตัวเองไม่ได้ ปัญหาในวันนี้อยู่ตรงไหน เหมือนกับหมู่บ้านที่เราถูกหลอกให้วิ่ง แต่ที่จริงแล้วปัญหาที่เกิดกับบ้านเราวันนี้มันไม่ใช้พึ่งเกิด แต่ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว  ฉะนั้นเวลาเราจะพูดกระบวนการในการพัฒนาชุมชนเราต้องเขาใจวิธีของมัน ว่าแต่ละวิธีนั้นเป็นอย่างไร”

                “มนุษย์เราอยู่กับความเชื่อ ปัญหาคือ เราเห็นทรัพยากรถูกทำลาย สังคมถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิดในยุคเรา ณ ตอนนี้ คุณธรรมถูกทำลายคุณธรรมเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้น เราต้องกลับมาย้อนดูว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าเราจะแก้ชุมชนเราต้องกลับมาสู่มัสยิดเพราะว่าเป็นแบบอย่างที่  จะทำให้สังคมดี  อยู่ดีๆจะให้ชุมชนจัดการตัวเองมันเป็นไปไม่ได้ เราจะต้องมีศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเสียก่อน มัสยิดไม่ใช่เป็นที่ละหมาดอย่างเดียว แต่สามารถทำให้มีกระบวนการแบ่งปันเกิดขึ้นจากแห่งศูนย์กลางแห่งนี้ก่อน เพราะมันเกิดจากความเชื่อ”

 “เราแก้ไขแบบกลับมาสู่ต้นแบบความเป็นอิสลาม เรามาลองจับปัญหาชุมชนของเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราอยากจะให้ชุมชนเล็กๆจัดการตนเองได้ เราต้องเอากฎหมายทั้งสามตัวที่บอกเมื่อสักครู่รวมทั้ง               ปราชญ์ชาวบ้านมานั่งคุยกันวันนี้เราต้องคุยกันและร่วมเป็นหนึ่งและหาผู้นำที่แท้จริงของเราก่อนเพราะตอนนี้ผู้นำเยอะมากจากกฎหมายทั้งสามฉบับเราจะต้องมีผู้นำคนเดียว”

“วันนี้การศึกษาก็ไม่ได้เป็นปัญหา      แต่ปัญหาของเราคือความไร้คุณธรรม ฉะนั้นเราจะต้องให้ อีหม่ามชุมชนเป็นเบอร์หนึ่งในทุกๆเรื่องเราจะต้องให้ อบต. ผู้ใหญ่บ้านเป็นเบอร์สองมาช่วยอิหม่าม ถ้าเราจัดอย่างนี้ได้สังคมจะไปได้ ในเมื่อเราได้ทำตามกระบวนการเรียบร้อยเราก็จะไปใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง ผมจะเดินลงชุมชนเดินดูปัญหาและให้คนในชุมชน เขายอมรับว่าวันนี้ชุมชนมีปัญหาและถ้าหมู่บ้านไหนยอมรับในความเป็นหมู่บ้าน เราก็มาคุยกัน ซึ่งมัสยิดจะเป็นที่พึ่งได้เราจะต้องมี 3 อย่าง 1. มีผู้นำ 2.มีกระบวนการจัดการ 3.ต้องมีเงิน ถ้าเราสามารถทำได้เราจะเรียกว่า กองทุนอุมมะห์ กองทุนนี้เราจะต้องแยกออกมาในมัสยิดโดยการบริการร่วมกันทั้งสามองค์กร จะต้องมี กองทุนซากาต กองทุนสวัสดิการชุมชน

 

โมเดล อบต. สร้างชุมชนเข้มแข็งโดยผู้นำหัวใจนักพัฒนา

                ทางด้าน นายมหามัติ อดีตนายก อบต. 2 สมัย ซึ่งมีผลงานในเรื่องการใช้กลไกส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง กล่าวว่า  ก่อนหน้านั้นตนเองเป็นสมาชิกอบต.และเป็นวิศวกรมาก่อน อยู่ที่กรุงเทพฯ พอกลับมาก็มีความรู้สึกที่อยากช่วยเหลือสังคมโดยสำนึกเสมอว่าเป็นโอกาสที่ได้รับจากเอกองค์อัลลอฮ์

“ในวันนี้จิตวิญาณของผมก็ไม่ได้ละทิ้งสังคมแม้แต่น้อย ถึงผมไม่ได้เป็นนายกแล้วก็ตาม ผมใช้หลักคิดว่าปัญหาของชุมชนต้องแก้ด้วยชุมชน ถามว่าวันนี้ผมดุด่าทะเลาะกับภรรยา ตีลูก คนข้างนอกเขาไม่รู้นะด้วยเหตุผลอะไร แต่คนข้างในเขารู้  ทำไมเราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างที่ อาจารย์ไพศาลพูดเรื่องของการกระจายอำนาจ  วันนี้อำนาจอยู่ที่เราแล้ว งบประมาณก็อยู่ที่เราแล้ว แต่คนเราไม่ได้คิดถึงในเรื่องของการแบ่งปันกัน เราไม่ต้องทำอะไรก่อน แต่เราควรตั้งเจตนารมณ์ความรู้สึกดีๆต่อสังคม เรายังให้ไม่ได้ เพราะว่าคนในสังคมนั้นมีสองชนิด คือ คนที่ทำความดีแล้วถูกด่า และพวกที่ไม่ทำอะไร แล้วด่าคนอื่น  ดังนั้นแล้วเราต้องให้หรือสร้างพื้นที่ให้คนในพื้นที่จัดการกันเองจะดีที่สุด”

“คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ตลอดจนถึงตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านกลายเป็นมรดกตกทอดมา แต่ไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ แล้วที่เราไม่นึกถึงว่าตำแหน่งที่ได้รับนั้นเป็นอามานะห์(หน้าที่ความรับผิดชอบ) ที่อัลลอฮ์ทรงให้กับเรา เพื่อทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคมให้บรรลุที่สุด แต่สภาพสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เหมือนกับที่อาจารย์กล่าวมาข้างต้น เราขาดความรู้ ขาดการศึกษา เพราะการศึกษาในสามจังหวัดค่อนข้างที่จะอ่อนแอ จากที่ผมสังเกตุมานั้น ส่วนใหญ่ เราสอนให้ถูกเชื่อ ผมมองอย่างนี้นะ พอเชื่อแล้ว เมื่อเรากลับไปศึกษา มันก็จะเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วมันก็จะเริ่มเกิดความขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อ”

“สมัยยุคของท่านนบีมูหัมหมัด(ขอความสันติสุขประสบแด่ท่าน)นั้น แรกเริ่มของการประทานอัลกุรอ่าน(บทบัญญัติการดำรงชีวิตของคนมุสลิม) ลงมานั้น ที่มีประโยคคำว่า (อิกเราะอ์) หมายความว่า “ จงอ่าน ” ซึ่งก็ชี้ชัดว่า เราต้องศึกษาก่อน ศึกษาแล้วมันก็จะเกิดปัญญา พอเกิดปัญญา ความเชื่อก็จะตามมา ถ้ายังไม่รู้อีกก็ต้องกลับไปศึกษาใหม่ นี่คือหลัก ด้วยเหตุนี้ผมถึงทำเรื่องการจัดการชุมชนท้องถิ่น ที่เราทุกคนต้องจัดการเองทั้งหมด ตอนนั้นผมเป็นนายก ผมเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น แต่ตัวหลักจริงๆคือคนในพื้นที่ที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ผมกำลังทำหน้าที่สอนให้คนจับปลาเป็น ผมเป็นในเรื่องการให้ปลาแก่คน วันนี้ถึงผมไม่ได้เป็นนายก ผมก็ไม่ได้เสียใจเพราะผมทำหน้าที่บริการสังคมในทางอื่นแทนได้ ท้ายที่สุดปัญหาในชุมชนก็ต้องด้วยคนในชุมชนกันเอง ไม่ว่าเป็นเรื่องของการศึกษา เรื่องสังคม เศรษฐกิจ” 

                อดีตนายก อบต.มะนังดาลัม แลกเปลี่ยนเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนท่านนบีได้สร้างมัสยิดเป็นศูนย์กลาง ในการขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการศึกษา เรื่องสังคม เศรษฐกิจ  อย่างที่อาจารย์ไพศาลพูด แต่มีตัวอย่างเรื่องของขยะในชุมชน ทิ้งขยะไว้รอให้รถขยะมาเก็บไป ถามว่าความสะอาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธาใช่หรือไม่  แล้วทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องวิธีการจัดการขยะด้วย แล้วถ้าคนในพื้นที่ไม่รู้หนังสือใครจะรับผิดชอบ ซึ่งขอโทษด้วยนะ โต๊ะอีหม่ามบ้านผมไม่เคยคิดในเรื่องลักษณะนี้  และท่านก็ชราแล้วกลับใช้ความสำคัญกับเรื่องเบี้ยเลี้ยงคนชรา ทำไมเบี้ยเลี้ยงเดือนนี้ยังไม่ได้ มุมมองเป็นแบบนี้แล้วไปแก้ปัญหาที่เกิดในชุมชนได้อย่างไร เราต้องกลับมานั่งคิดใหม่ว่าอิสลามคือการแบ่งปัน เรามาร่วมกันแชร์ข้อมูล  เมื่อผู้นำมีความรู้ ความเข้าใจ เขาสามารถที่จะจัดการปัญหาชุมชนของตนเองได้”

 

ความเชื่อและจุดเปลี่ยน สู่การเมืองท้องถิ่น

นายมหามัติ กล่าวต่อว่า คนในสมัยก่อนที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนนั้นพอจบออกมาใส่ชุดยูนิฟอร์มของราชการนั้นรู้สึกดี ปลื้มมาก แต่ผมคนหนึ่งที่ไม่มีความรู้สึกเช่นนั้น 

“เรื่องเหล่านี้ไม่เลยในหัวสมองของผม ตอนที่ผมเรียน ผมถือคติว่า ปัญญาชนคือชนที่มากด้วยปัญญา นำความรู้ที่เรียนมาเพื่อพัฒนาสังคม ก่อนหน้านั้นผมเป็นวิศวกรอยู่ที่กรุงเทพ ยอมทิ้งการงานนั้นกลับมาเพื่อรับใช้ชุมชน เพื่อนผมที่เป็นวิศวกรตอนนี้ มีทั้งบ้าน ทั้งรถ ผมกลับมาเป็นนายกกลับต้องขายบ้านขายรถ เนื่องด้วยความตั้งใจตั้งต้นว่าอยากจะรับใช้ชุมชน และอยากที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ ของ อบต. ที่ปัจจุบัน ทำได้เพียงขุดถนนให้คลอง ถ่มคลองให้เป็นถนน แค่นั้นเอง”

“ผมคิดว่าวันนี้ท้องถิ่นสามารถทำทุกอย่างได้หมดแล้วยกเว้นสองประการที่ทำไม่ได้ คือ เรื่องความมั่นคงกับเรื่องระหว่างประเทศ เราคิดจะทำอะไรทำได้เลย คิดจะทำเรื่องการศึกษา ถ้าเราไปที่มะนังดาลัม                  ก็จะเห็นโรงเรียนที่ผมสร้างขึ้นตอนที่ผมเป็นนายก โรงเรียนตัรบียะห์แห่งองค์การบริหารส่วนตำบลมะนังดาลัม เปิดมาสอนปีที่แล้ว เวลาทำการสอน 6.30 น. เลิก 13.30 น. เป็นช่วงที่สอดคล้องกับวิถีในพื้นที่ซึ่งต่างจากที่อื่นในประเทศสุดท้ายที่ผมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น และสิ่งที่เป็นทุกวันนี้เพราะอัลลอฮฺเป็นผู้กำหนดไว้แล้ว  และวันนี้อัลลอฮฺได้นำตัวผมออกจาก อบต.แล้ว แต่ผมก็ต้องไปช่วยสังคมในด้านอื่นๆได้”

 

ยังมีประเด็นที่ท้าทายโมเดลชุมชนจัดการกันเอง ให้อ่านกันต่อในตอนต่อไป