มองจากปัญญาชน:ปาตานี บนทาง(แปลก)แยก การเมืองไทย

เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง…หรือจึงมุ่งมาศึกษา                   เพียงเพื่อปริญญา…เอาตัวรอดเท่านั้นฤา

แท้ควรสหายคิด…และตั้งจิตร่วมยึดถือ                          รับใช้ประชาคือ…ปลายทางเราที่เล่าเรียน

 

               เป็นบทกวีของนายนเรศ นโรปกรณ์ ซึ่งแต่งไว้ตั้งแต่ปี 2495 ที่ดังกระหึ่มในยุค 14 ตุลาฯ เป็นบทกวีที่ดิฉัน หนึ่งในนักศึกษา มอ.ปัตตานี เคยร่วมขับร้องกับเพื่อนๆ เมื่อตอนเรียนอยู่ ปี 2 ซึ่งตอนนั้น เรากลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านที่จังหวัดสตูล กรณีได้รับความเดือนร้อนจากนโยบายโครงการพัฒนาโดยรัฐ ต่างก็มีนักศึกหลายสถาบันเข้ามาช่วยทั้งที่จริงก็ไม่ใช่พื้นที่ตัวเอง ไม่ใช่บ้านตัวเอง หากเป็นจิตสำนึกของนักศึกษาเพียงไม่กี่คนที่ยังคิดถึงคุณค่าของตัวเองต่อสังคม คุณค่าที่เห็นการเรียนมิอาจจะตอบสนองเพียงตัวเองแต่การเรียนเราต้องตอบแทนภาษีของประชาชนที่ทำเรายังมีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่ได้เรียน

                หากว่าย้อนกลับไปในอดีต นักศึกษาจะมีสถานภาพ ได้รับความนับถือจากชาวบ้านนักศึกษาถูกยกย่อง เรื่องความเก่งและการเสียสละช่วยเหลือสังคม ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการทำกิจกรรมของนักศึกษาไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ อย่างไรก็ตามพอมาวันนี้ ถามว่า นักศึกษาเป็นอย่างไร นักศึกษาต้องตอบแทนสังคมอะไรบ้าง หลายๆคนอาจจะตอบว่าต้องเป็นคนดีของสังคม แล้วในทางปฎิบัติ การเป็นคนดีต้องทำอย่างไร การมีส่วนร่วมทางการเมืองกับพี่น้องประชาชนถือว่าเป็นคนดี หรือไม่ แล้ววิกฤติการเมืองกรุงเทพฯ กับบทบาทนักศึกษาที่ผ่านมา มีประเด็นอะไรให้ขบคิด มุมองสถานการณ์ปาตานี ท่ามกลางการเมืองร้อน มีอะไรให้วิเคราะห์กันบ้าง ปาตานี ฟอรั่ม“พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้” ชวนถกเถียงในวงสนทนาคาเฟ่ หัวข้อ “นักศึกษา-มหาลัย”  กับการเมืองไทย ณ ศูนย์อาหารลานอิฐ มอ. ปัตตานี โดยมีตัวแทนแกนนำนักศึกษา มอ.ปัตตานี มาร่วมแลกเปลี่ยน ถกเถียงกัน

นักศึกษา-การเมืองไทย ความเกี่ยวโยงของ อุดมการณ์-อำนาจ

                วุฒิพงศ์  บอซู แกนนำกลุ่ม ดรีมเซาท์กล่าวว่ายุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเป็นยุคของสังคมแบบเผด็จการ มีการเอารัดเอาเปรียบ มีความไม่ชอบธรรม เป็นยุคที่นักศึกษาเริ่มตื่นรู้ทางการเมือง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

                “แต่เมื่อเรามองภาพของนักศึกษาในอดีตกับปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนักศึกษามีมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็มีมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้นักศึกษาเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้นด้วย สวนทางกับ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน หรือไม่ได้ตอบโจทย์ว่านักศึกษา เรียนจบมาเพื่อสังคม แต่มองว่าเป็นเพียงแค่โรงงานที่ผลิตนักศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบแรงงาน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”

                “ถ้าเราสังเกตุดีๆบรรดานักศึกษานักเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต มักจะเป็นผู้ที่มีบทบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาในยุคนั้นค่อนข้างจะสนใจกับปัญหาบ้านเมือง ต้องการรับผิดชอบสังคม บ่งบอกว่านักศึกษาสมัยนั้นโตมากับความยากลำบาก จึงต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากของตนเอง แต่ปัจจุบันนักศึกษาไม่ได้รู้สึกถึงความลำบาก ทำให้นักศึกษาไม่รู้สึกหวงแหนหรืออยากมีส่วนร่วมทางการเมืองเหมือนกับในอดีต”
                      

                 ขณะที่ ชยุตพงศ์  โสภิวรรณ์ แกนนำจากกลุ่มเสรีประชาธิปไตยอธิบายเสริมว่า ในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยุคนั้นแบ่งคนออกเป็นสองขั้ว คือกลุ่มต้องการลัทธิสังคมนิยม และกลุ่มที่ต้องการประชาธิปไตย แบบนิยมเจ้า ซึ่งช่วงก่อนนั้นจะมีการบอกว่าพวกนักศึกษาเป็นพวกคอมมิวนิสต์

                “ผมคิดว่านักศึกษาจำนวนมากในสมัยนั้นได้ร่วมต่อสู้ทางการเมือง และเกิดการต่อสู้เยอะมาก และนักศึกษาก็เป็นแกนนำหลักในการต่อสู้ ขณะที่ปัจจุบันขบวนการนักศึกษาไทยโดนครอบงำด้วยอุดมการณ์รัฐ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตรีย์ และถ้าจะให้เกิดนักศึกษาที่มีอุดมการณ์ในอนาคต มันต้องตั้งคำถามถึงอุดมการณ์เหล่านี้ว่าทำไม เพราะอุดมการณ์มันฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่รู้และไม่สนใจ”

                       

                  ทางด้านอัสริ  ปาเกร์ ตัวแทนจากพรรคกิจประชา มอ.ปัตตานี กล่าวต่อว่า ในอดีตตั้งแต่ปี 2475เพราะอะไรทำไม ก่อนหน้ายุคนี้ นักศึกษาถึงเข้าไปมีบทบาทมากในสังคม ก็เพราะว่านักศึกษา เป็นตัวที่อยู่กับความจริง และมองผ่านการกระทำของชนชั้นปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าชนชั้นปกครองของไทยหรือว่าของประเทศอื่นๆใช้อำนาจในการบีบคั้น ลิดรอนสิทธิของพลเมืองของตัวเอง

“คนที่ใช้อำนาจมักจะไม่ใช้อำนาจตามความชอบธรรม แต่จะใช้อำนาจตามใจตัวเองหรือตามความสามารถของคณะรัฐบาล เพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด สิ่งนี้แหละทำให้ขบวนการนักศึกษาก่อตัวขึ้นมา หากย้อนไปเมื่อสมัยการเปลี่ยนแปลง 2475 ก็เกิดขึ้นมาจากขบวนการนักศึกษา ที่ได้ไปเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ นี่แหละคือการเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษา ทำไมถึงต้องเปลี่ยนแปลง เพราะกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้มองว่าการปกครองในยุคนั้นเป็นการปกครองที่ไม่ชอบธรรม นี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนการนักศึกษา

                “หลังจากนั้นเป็นต้นมา สภาพนักศึกษาก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ สาเหตุที่เกิดก็เหมือนกับในอดีต คือเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น และเห็นรากเหง้าของปัญหามากกว่าชาวบ้าน นักศึกษามองสภาพสังคมว่า สังคมถูกกดขี่เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นจากชนชั้นปกครอง จึงต้องออกมาเป็นตัวแทนของประชาชน”

                         

โจทย์ชวนถกเถียง :ปาตานี ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ 57

                  การเลือกตั้งที่ผ่านมา ภาคใต้ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเลือกตั้งได้ ยกเว้น3 จชต./ปาตานี ทำไม่ถึงเป็นเช่นนั้น หรืออาจเป็นเพราะมวลชนส่วนใหญ่ที่ไปขัดขวางเป็นมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในพื้นที่3 จชต./ปาตานี มีมวลชนบางกลุ่มเท่านั้นที่ฝักใฝ่พรรคการเมืองซึ่งเป็นเป็นเรื่องที่แปลกที่คน3 จชต./ปาตานี ไม่ค่อยจะยึดตัวพรรคสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คน 3 จชต./ปาตานีไม่ได้ยึดถือ พรรคหรือตัวบุคคลอย่างตายตัว แต่เข้ามีการคิดว่าจะเลือกใครหรือไม่เลือกใคร สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดตื่นรู้ทางการเมืองค่อนข้างสูง

อัสริ มองว่า  พื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกเหนือจากพื้นที่อื่นๆ ทำไมคนในพื้นที่ถึงออกไปเลือกตั้ง ทั้งๆที่ควรจะไม่ไปเลือกตั้ง ทั้งๆที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐไทย แต่ทำไมคนในพื้นที่ถึงกลับออกไปเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆที่สนับสนุนรัฐบาลในบางพรรค กลับไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

                “ผมได้ไปอ่านในเฟสบุ๊คของเพจหนึ่ง คือมีการไปเขียนบนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเขียนว่า ปาตานี เมอแดกอ (ปาตานี เอกราช) แสดงว่าคนในพื้นที่ พยายามที่จะใช้สิทธิของตัวเอง เพื่อแสดงออกมาทางกลไกประชาธิปไตยว่าปาตานีก็ต้องการเลือกตั้งนะ แต่ไม่ต้องการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร หรือว่านายกรัฐมนตรี แต่อาจต้องการเลือกตั้งหรือว่าเปิดการยอมรับหรือการทำประชามติอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถึงแม้นว่าจำนวนของการเขียนประโยคดังกล่าวในบัตรเลือกตั้งจะมีไม่เยอะ แต่มันเป็นสิ่งที่น่าสันใจในสังคม”

                “การเลือกตั้งในครั้งนี้ น่าแปลกใจมากว่าทำไมมวลมหาประชาชนพยายามที่จะไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง ทั้งๆที่การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เพียงพรรคประชาธิปัตย์หรือแค่พรรคเพื่อไทย แต่ยังมีพรรคอื่นๆในประเทศไทยที่สามารถตอบโจทย์คนในพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ได้ มีพรรคเยอะแยะมากมาย แต่ทำไม กปปส. นิยามว่าถ้าประชาธิปัตย์ไม่ลง คนอื่นจะเลือกตั้งไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่น่าแปลกใจ ทำไมคนในสามจังหวัดสามารถที่จะเดินออกมาเลือกตั้งโดยไม่ถูกขัดขวางได้ แสดงว่าคนสามจังหวัดให้ความสำคัญกับสิทธิ ละเสรีภาพ คุณไม่อยากเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร แต่คุณอย่ามาขัดขวาง นี่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจและเกิดขึ้นในพื้นที่

ขณะที่ ชยุตพงศ์ มองว่า สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในสามจังหวัดซึ่งคิดว่าคนในสามจังหวัดยังมองว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เขาต้องเลือกตั้ง การเลือกตั้งมันไม่ได้หมายความว่าเขาจะเอาใคร แต่การเลือกตั้งมันหมายความว่าเขาก็คือพลเมืองคนหนึ่งของประเทศนี้

               “ผมสนใจในประเด็นที่เขาเขียนมากเลยว่า เมอแดกอ ผมคิดว่าคำนี้มันหมายความถึงความเป็นคนที่เท่ากันกับคนอื่น อันนี้คือสิ่งที่น่าสนใจมาก แล้วคิดว่ากระบวนการการเลือกตั้งของปาตานี ที่เราเรียกวาสวิง ที่มันปรับไปปรับมาตลอด นี่แหละคือเสน่ห์ของประชาธิปไตย”

                “ผมมองว่ายิ่งสถานการณ์ในสามจังหวัดมันบีบมากเท่าไหร่คนพวกนี้ก็ยิ่งคัดสรร สส. ของเขามากขึ้นเท่านั้น และ สส. ก็เปลี่ยนไปมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น สส.ก็จะไม่ยึดติดอยู่กับพรรค แต่ยึดติดอยู่กับแรงปรารถนาที่คนคิดว่า สส. เขาจะสนองความต้องการของเขาได้มากน้อยแค่ไหน และผมคิดว่าการเลือกตั้งที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำไมคนถึงเรียกร้องการเลือกตั้งกันนักหนา ผมคิดว่าเพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เราเปลี่ยนจากอุดมการณ์แบบสังคมสงเคราะห์มาสู่อุดมการณ์แบบกินได้ หรือพูดง่ายๆคือ เปลี่ยนจากราษฎรมาสู่พลเมือง ตรงนี้ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก”

                “รัฐธรรมนูญปี 2540ได้สร้างคนอย่างทักษิณขึ้นมาจริง แต่แน่นอนก็ทำให้การเมืองกินได้ อย่างหนึ่งที่เราเห็นชัดๆก็คือนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค หรือแม้แต่ กองทุนหมู่บ้าน อย่างนี้การเมืองเข้าถึงประชาชนจริงๆ ซึ่งในยุคก่อนหน้านั้นการเมืองไม่เคยกินได้ การเมืองกินได้ในที่นี้คือ ชาวบ้านสามารถเลือก สส. และ สส.ก็สามารถตอบสนองนโยบายให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นไปได้ยากมา ดังนั้นการที่คนต้องการเลือกตั้งก็เพราะว่า การเมืองเริ่มสนองความต้องการของพวกเขา”

โปรดติดตาม ตอนที่ 2