เรื่องเล่า: ภูเก็ต และชายแดนใต้กับภาวะสมัยใหม่และความสับสน คนหรือชุมชนที่เปลี่ยนไป

              

                ความรู้สึกของคนชายแดนใต้ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ยังแผ่ซ่านด้วยความหวาดระแวง แม้นสถานการณ์จะผ่านมา 10 ปีแล้วนับจากปี 2547  แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีแสงปลายอุโมงค์อยู่บ้างจากบรรยากาศของการตื่นตัว ตื่นรู้ของประชาชน จนกลายเป็นกิจกรรมเพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งพลเมืองในพื้นที่ แม้นยังคงเป็นความฝันของทุกคนในประเทศไทย ที่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ความฝันจะเป็นจริงมากแค่ไหนก็ต้องเกาะกระแสกันต่อไป เช่นเดียวกับปาตานี ฟอรั่ม ซึ่งมีความพยายามหวังจะสร้างบรรยากาศการพูดคุยเรื่องภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดน ในมิติที่ลึกซึ้งในแง่มุมที่ถูกมองข้ามจากข่าวสารในประเทศไทย ด้วยการจัดเวทีเสวนาจิบชา กาแฟทั้งในชุมชนพื้นที่ หรือต่างที่ต่างถิ่นของประเทศไทย

                เวทีเสวนาคาเฟ่ ครั้งนี้ ปาตานีฟอรั่ม มุ่งสู่จังหวัดภูเก็ต เพื่อค้นหาคำถามและคำตอบของหัวข้อ ในภาวะสมัยใหม่และความสับสน "คน"หรือ"ชุมชน" ที่เปลี่ยนไป : บทสะท้อนจากภูเก็ต สู่ชายแดนใต้  ซึ่งเป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจ อาจดูแปลกแยกจากกระแสแต่ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้  เมื่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และยุคสมัยเปลี่ยนไป ท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหาในแต่ละพื้นที่ แล้วคนหรือชุมชนจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนมุสลิมไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ต หรือชายแดนใต้จัดการกันอย่างไร เพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่เป็นดั่งลมหายใจตนเอง เป็นคำถาม เป็นประเด็นชวนให้คิดและสนทนาในเวทีเสวนาคาเฟ่ครั้งนี้ ณ ศูนย์จริยธรรมและพิพิธภัณฑ์มัสยิดมุกัรร่ม  บ้านบางเทา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดย มีวิทยากรร่วมสนทนาหลัก คือ คุณเจริญ  ถิ่นเกาะแก้ว คณะกรรมการภูเก็ตจัดการตนเอง  คนต่อมา อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและท้ายสุด คุณมาโนช พันธ์ฉลาด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต

 

ภาวะสมัยใหม่ กับความเหินห่างของคน และสังคม  

                อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร ซึ่งนอกจากเป็นนักวิชาการด้านสันติวิธีแล้วแต่ยังเป็นคนพื้นเพมาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาจารย์เริ่มด้วยการเล่าถึงตัวอย่างเล็กๆซึ่งเป็นผลจากจากภาวะสมัยใหม่ว่า   มี  Page อันหนึ่งระบุว่า  “ใครไม่เอาอุตสาหกรรมยกมือขึ้น”  มีประโยคตามมาเพิ่มเติมว่า “ชุมชนประมงล้มสลาย ธุรกิจท่องเที่ยวล้มละลาย  “ และประโยคต่อมาก็ระบุต่อว่า  “จากบทเรียนการพัฒนาที่ผ่านมาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้เห็นว่าการประมง การพัฒนา การท่องเที่ยวอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่ไปกันไม่ได้จริงๆ เราต้องเลือก ต้องเลือก ให้ได้จริงๆ เพราะมันเห็นการเดิมพันด้วยชีวิตของคนตัวเล็กๆ”  ประโยคเหล่านี้เป็น เรื่องเล่าหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นสมัยใหม่ ที่เราเจอ

                “อีกตัวอย่าง เวลาที่ ไฟฟ้า เข้ามา ประปา เข้ามา มันแบ่งคนออกไป  แต่เราเคยมี บ่อน้ำประปาหมู่บ้าน เสมือนเป็นที่ที่คนมาพบปะปฏิสัมพันธ์กัน  ประปาเข้ามาทำให้พบเจอกันน้อยลง นี่ก็เป็นผลจากความทันสมัยที่เข้ามาที่เรามองเห็นอย่างประจักษ์ แต่คนเรามองว่านั้นแค่เป็นสิ่งเล็กๆ และเข้าใจว่านี้คือการพัฒนา  ทำให้สังคมไปเร็ว มีเทคโนโลยีมาช่วยแบ่งเบาภาระให้เรา แต่ทำให้สูญเสียพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์กัน  พอเรามี ทีวี แทนที่เมื่อก่อนเราจะกินน้ำชาดูทีวี ที่เดียวกันตอนเย็นๆ เดียวนี้แต่ละบ้านกลับไปอยู่ในบ้านของตนเอง  จนเราลืมเพื่อนบ้านความเป็นเครือญาติยิ่งลดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งดีๆเข้ามาด้วย เพียงแต่เราไม่เท่าทันกับทุนนิยมที่เข้ามา”

                “อาจารย์เองเป็นพุทธยังรู้สึกอิจฉา พี่น้องมุสลิมเหมือนกันเพราะเรามีเสียงอาซาน 5 เวลาคอยเตือนให้เรารู้ตนเองเสมอ ว่าเราเป็นใคร เราต้องทำอะไร เมื่อดิฉันได้ยิ่งเสียงอาซาน มันเป็นเวลาที่ ดิฉันลุกขึ้นมานั่งสมาธิ เพื่อตนเอง

 

ภาวะสมัยใหม่ มีผลต่อความคิดและวิถี  “ต้องรู้เท่าทัน

                อาจารย์งามศุกร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า วันนี้เรามีมือถือกันทุกคน บางครอบครัวใช้ไลน์ ในการสื่อสารกัน ทำให้ความเป็นชุมชนมันเปลี่ยน แต่วิธีคิดของเรายังไปไม่ถึงกับสิ่งที่มาเปลี่ยนแปลง

                “ความทันสมัยจะพรากจิตวิญาณของเราไปด้วย และแบ่งชนชั้นที่เข้ามา โครงสร้างการปกครองแบบธรรมชาติได้หายไป กำนันผู้ใหญ่บ้าน ระบบราชการจะมาแทนที่ ขึ้นอยู่กับเรา ว่าเรารู้เท่าทันมากน้อยเพียงใดกับการเปลี่ยนไปของสังคม”

                ความเป็นสมัยใหม่ที่เดินทางเข้าสู่บริบทต่างๆในชุมชน 3 จังหวัด อาจารย์ งามศุกร์ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่มองเห็นและเป็นเรื่องอ่อนไหวในพื้นที่ตอนนี้คือสถานแหล่งบันเทิง เป็นเป้าหลักเพราะเป็นสิ่งที่คนที่นั่นรับไม่ได้หรือการที่คนพุทธจำนวนหนึ่งแต่งกายโดยที่ไม่เคารพในการอยู่ร่วมกัน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความรู้เรามีน้อย ต้องคอยถามเพื่อนๆ เพราะส่วนหนึ่งก็ไม่ได้มีในระบบการศึกษาเท่าไร การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพ การผูกขาดมันไม่ได้ช่วยให้คนในพื้นที่ดูแลตัวเองและการจัดการตัวเองเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้”

                “คนส่วนภาคกลางก็ไม่ค่อยเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นมาลายูมุสลิมเท่าไรซึ่งมันมีความเป็นชาติพันธ์มลายูมุสลิมที่เข้มแข็งอยู่ และมีปัจจัยอื่นๆอีก ยังมีเรื่องของทุนโครงสร้างทางการเมืองที่มันยังมีความหลากหลายและบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาการจัดการทรัพยากร ใน 3 จังหวัดเองก็ยังมีปัญหา ส่งผลต่อการรับมือกับสิ่งเหล่านี้จนมาถึงตอนนี้”

 

ชุมชนบางเทาในบริบทแห่งยุคสมัยของภูเก็ต

                กล่าวโดยสรุปความเป็นชุมชนบางชุมชนในสภาวะสมัยใหม่ที่มันเกิดขึ้น อาจจะมองว่าวัฒนธรรมชุมชน กำลังถูกกลืนกินโดยภาวะสมัยใหม่ บางชุมชนนั้นอาจจะแตกสลาย มีความเปราะบาง แต่กับบางชุมชนอาจไม่เป็นเช่นนั้น เช่น ชุมชนบางเทาซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนจัดการกันเอง ปรับตัวกันเอง และรับมืออย่างไรจึงได้ขึ้นชื่อว่า ตัวอย่างชุมชนเข้มแข็ง

                คุณมาโนช พันธ์ฉลาด  เล่าถึงความเป็นไปของชุนชนตนเองว่า ในชุมชนบางชุมชนที่เป็นมุสลิมของเรา เราเห็นสภาพเปลี่ยนไป แม้แต่การตั้งบ้านเรือนตอนนี้จำนวนคนมากขึ้นและที่ดินก็จำกัด เราก็ต้องมีการตั้งรับและผมว่าอีกไม่นานเราจะไม่เห็นเรือนไทยปั้นหยา แม้แต่นาข้าวก็อาจไม่เห็นเลย

“ถามว่าเด็กอายุ 15-16 เคยเห็นหรือไม่ คือ มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด แต่ที่สตูล นครศรีฯ สงขลาพอได้เห็นบ้าง แต่บ้านเราไม่มี ตอนนี้นาของเราก็มีนายหน้ามากว้านซื้อ ที่ป่าตองไม่เหลือสภาพแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้าบางเทาก็จะคล้ายพื้นที่ป่าตอง สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นสมัยใหม่เราจะรักษาชุมชนไว้ได้อย่างไรเป็นเรื่องที่สำคัญ”

“ความเจริญที่เข้ามาถ้าเราปรับไม่ได้ทำให้คนไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อย่างกรณีที่เกาะแก้ว ตั้งแต่มีถนน 4 เลน คนสองฝั่งไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กัน เพราะข้ามก็ลำบากแกรงกลัวอันตรายทำปฏิสัมพันธ์น้อยลงซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะรักษาตรงนี้ไว้ เมื่อก่อนสภาพสังคม จะมีกระติกน้ำแข็งใส่เศษสตางค์กลับจากตัดยาง ซึ่งตอนนี้จะวางลงเก็บไม่ได้มันจะหายทั้งสตางค์ทั้งกระติก นี้คือสภาพที่เปลี่ยนไปของสังคม”

 

ชุมชนบางเทาเมื่อการปรับตัว ก็คือ ความเข้มแข็ง

คุณมาโนช ย้อนเข้าสู่ประเด็นว่า กลับมาที่ตรงนี้เราจะมีพิพิธภัณฑ์เพื่อที่จะรวบรวมที่มาของพวกเราเป็นอย่างไรตอนนี้ก็พยามยามที่จะบันทึกทุกอย่าง ประวัติศาสตร์เองก็เปลี่ยนไปมา

“คนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะไมรู้ว่าท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทรมาจากไทรบุรีเรามาอยู่ ในช่วง 20 ปีหลัง เราจำเป็นที่จะต้องรักษาเพื่อสืบทอดให้เยาวชนรุ่นหลัง ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ทางด้านสังคมเป็นเสมือนกระจก แต่ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นงานมัสยิด งานสังคม จะไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่เข้ามา นี่คือสิ่งหนึ่งที่น่าห่วง คนกลุ่มนี้ทำจนรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของคนนี้ที่จะต้องทำ ซึ่งตรงนี้ต้องลบล้าง ไม่ใช่ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวที่จะต้องทำงานสังคม ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เด็กเข้ามาโดยที่มัสยิดเป็นศูนย์กลางและถ่ายทอดให้เกิดการเรียนรู้และมีจิตสำนึกว่างานสังคมจะเป็นงานที่จะต้องสืบทอดกันมา”

“มีคำๆ หนึ่งบอกว่า ความเป็นเพื่อนบ้านมีความสำคัญมากกว่าพี่น้องอยู่ใกล้ด้วยซ้ำไป เพราะสามารถที่จะดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ง่ายกว่า สิ่งเหล่านี้กำลังหายไปจากชุมชน สิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราจะป้องกันรักษาวิถีเหล่านี้ให้กับชุมชนหรือตัวเราอย่างไรในสภาวะสังคมที่มีความเจริญอย่างปัจจุบัน”

“วันนี้พี่น้องภูเก็ตได้มีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มต่างๆกันมากยิ่งขึ้น เพื่อที่ทำหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ได้แตกแยกกัน เป็นการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชนของเขาเอง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความเปลี่ยนแปลงจะมาเร็วจนเราตามไม่ทัน แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆแก่ชุมชน มุสลิมภูเก็ตจะมีวิธีการรองรับหรือการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา”

สังคมมุสลิมภูเก็ต : การดิ้นรน ยืนหยัด ที่เป็นมากกว่าชุมชน

ด้าน คุณเจริญ  ถิ่นเกาะแก้ว คณะกรรมการภูเก็ตจัดการตนเอง บอกว่า วัฒนธรรมเดิมในสมัยก่อนภูเก็ตเคยมีปอเนาะมาก่อน ทั้งที่บางเทาเอง อ่าวโต๊ะขุน ของอีหม่ามฮัจยีมะ เป็นสุข ครั้นเมื่อสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ความเป็นเมืองของนานาชาติก็เข้ามา

“เราต้องเข้าใจว่ามุสลิมเดิมที่นี่ มาจาก ตรังกานู  ไทรบุรี ทวดผมเองมาจากซาอุดีอาระเบีย  ปีนัง จีน เพราะสิ่งเหล่านี้ได้มาผสมผสานอย่างลงตัวภายใต้วิถีวัฒนธรรมที่เป็นมุสลิม แต่มีวิถีความเป็นชาติพันธุ์เดิมก่อนที่อิสลามเข้ามา สิ่งเหล่านี้ได้มาปรากฏบนวิถีอิสลาม ต่อมาสิ่งเหล่านี้ได้หายไปเพราะเรามีผู้รู้ที่ได้ไปศึกษาจากต่างประเทศมากขึ้น และนำวิถีแนวปฏิบัติแบบอิสลามกลับมาเผยแพร่ ความเคร่งครัดเหล่านี้ทำให้ภูเก็ตมีความเข็มแข็ง”

“นอกจากนี้แต่เดิมคนที่นี่มีความเป็นพี่น้องสูงมาก สามารถจะนับพี่น้อง รู้ว่าคนนี้ลูกใครหลานใคร แต่วันนี้ลูกพี่ลูกน้องผม บางเครือญาติตระกูลเดียวกันยังนับกันไม่ค่อยถูก เพราะเราไม่ค่อยให้ความสำคัญของวิถีเครือญาติ เรากลับไปให้ความสนใจในมิติของเศรษฐกิจมากไป นี่เป็นสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม คุณเจริญก็ชี้ว่าโดยภาพรวมแล้วมุสลิมที่นี่จะเข็มแข็ง ในบางพื้นที่เขามองว่ามุสลิมเป็นชั้นสอง แต่ภูเก็ตกลับยืนเป็นแนวหน้าเป็นตัวหลักในการพัฒนาสังคม เนื่องด้วยผลผลิตของคนก่อนๆได้สร้างความเข้มแข็งและรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมไว้อย่างชัดเจน

“ในภาคของธุรกิจต่างคนก็ต่างทำ แต่ในภาคสังคมเรามีการสืบทอดต่อกันมา เมื่อปอเนาะล่มสลายลง ที่ดินตรงนั้นมีมูลค่าสูงมากแต่คุณดำรง เป็นสุข ท่านได้ซื้อที่ตรงนั้นเก็บไว้เป็นส่วนกลางเพื่อสร้างมูลนิธิ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ด้วยความเป็นห่วงว่าวิถีจะถูกกลืนไปด้วยเมืองท่องเที่ยว”

 

อ่านต่อตอนที่ 2