แลพลเมืองโลก ผ่านแว่นตา มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum)

แลพลเมืองโลก ผ่านแว่นตา มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum)

ผศ.สมัย โกรทินธาคม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 


 

บทความของอาจารย์บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอตอนหนึ่งในหนังสื่อเรื่อง Not for Profit: Why Democracy Needs the Humanities. (Princeton University Press, 2010) โดย มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum) เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างต่อเนื่อง ผมจึงขอเสนออีกตอนหนึ่งเพิ่มเติม เรื่อง การศึกษาในความเป็นพลเมืองโลก (Citizens of the World) นุสบามชี้ให้เห็นที่มาของความขัดแย้งต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก และได้เสนอทางออก ที่ควรค่าแก่การผลักดันเป็นอย่างยิ่ง

นุสบามเคยร่วมงานกับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้มีชื่อเสียงอย่าง อำมาตย์ เสน (Amartya Sen) นุสบามเห็นว่า ปัญหาระดับโลกที่ต้อนทุกชาติเข้าสู่มุมอับทุกวันนี้ มีบ่อเกิดมาจากอวิชชาที่ฝังอยู่ในระบบการศึกษา อาวุธที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ ก็มีแต่ให้การศึกษา แต่เป็นการศึกษาในมุมใหม่ วิธีใหม่ สาระการสอนใหม่ ชนิดที่คนรุ่นก่อนจินตนาการมาไม่ถึง ซึ่งต้องร่วมมือกันทุกชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากนี้ นุสบามยังเสนอความเห็นต่อการสอนวิชาหลักเศรษฐศาสตร์สำหรับเด็ก และในระดับมหาวิทยาลัย ที่กำหนดไว้ในหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไปอีกด้วย

ตอนนี้เราทุกคนในโลกทั้งต่างชาติต่างภาษา กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศาสนาและการเมืองระดับโลก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน ระเบียบการค้าโลก การปกปักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า พลังงานนิวเคลียร์และอันตรายของมัน การเคลื่อนย้ายแรงงาน มาตรฐานแรงงาน ปัญหาการค้ามนุษย์ การกดขี่ทางเพศ และการขูดรีดแรงงาน ซึ่งนับวันยากจะแก้ไข หากไม่เร่งหาทางออกด้วยวิถีทางที่เราไม่เคยลองใช้มาก่อน

ต้นตอของปัญหามาจากอวิชชา 3 แหล่ง แม้ว่านุสบามยกตัวอย่างในอินเดีย แต่ในที่อื่นน่าจะเป็นแบบเดียวกันนั่นคือ ข้อจำกัดในระบบการศึกษาของแต่ละชาติ ได้แก่

1) บรรทัดฐานของระบบการศึกษา นุสบามเล่าว่า ตอนเด็กไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับเอเชียและแอฟริกาเลย เรียนเล็กน้อยเกี่ยวกับลาตินอเมริกา ส่วนใหญ่เรียนจำกัดเฉพาะยุโรปและอเมริกาเหนือ จึงเห็นโลกที่ไม่ใช่โลกทั้งหมด ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและผู้คน ไม่รู้ว่าของใช้สอยประจำวันทำมาอย่างไร ทำที่ใด แล้วจะให้เราเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายรัฐที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือแก้ปัญหาระหว่างชาติต่างๆ ได้อย่างไร

        2) วิธีการสอนประวัติศาสตร์โลก กรณีตำราเรียนของอินเดีย ถูกคัดสรรโดยฮินดูเป็นส่วนใหญ่ จึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และสังคมเกี่ยวกับฮินดู ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้โลกอย่างหนึ่ง แต่เน้นอุดมการณ์ของฮินดูเกินไป ทั้งยังปลูกฝังว่ามีความสูงส่งเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่น ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกแปลกแยกจากคนต่างวัฒนธรรม ส่วนการสอนประวัติศาสตร์ของมุสลิมในอินเดีย มักเกี่ยวกับสงครามและความรุนแรง ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอินเดีย ส่วนหนึ่งเกิดจากการสอนในลักษณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ตำราของอินเดียมีเนื้อหาว่า ชาวฮินดูเป็นเจ้าของดินแดน เชื้อชาติอื่นและผู้นับถือศาสนาอื่น เป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น จากหลักฐานประวัติศาสตร์ภาษาและวัฒนธรรม ชี้ว่า บรรพบุรุษชาวฮินดู ล้วนอพยพเข้ามาในอินเดีย ถ้าจะให้นักเรียนเข้าใจโลกได้ดีขึ้น ต้องไม่สอนเรื่องมดเท็จเช่นนี้ แม้แต่ประวัติศาสตร์ของโลกทั้งหมด และในวัฒนธรรมใดๆ ล้วนปลูกฝังด้วยการบิดเบือนทั้งสิ้น สิ่งที่ตำราของอินเดียไม่เคยพูดถึงเลยว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและเพศ เกิดจากการแบ่งชั้นวรรณะมาแต่โบราณ แต่ในตำรากลับระบุว่า โบราณกาลของอินเดียเริ่มต้นขึ้นมาจากความเท่าเทียมและไม่มีผู้ใดถูกกดขี่ ดังนั้นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนคือ บอกให้นักเรียนของเรารู้ว่า ความจริงในโลกทั้งหลาย ล้วนถูกปิดกั้นและเก็บกด

        3) วิธีการสอน ดูน่ากลัว มากกว่าน่าเรียน นักเรียนไม่เข้าใจว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ขาดทักษะในการแยกแยะ ในตำรามีแต่เนื้อหาที่มุ่งให้นักเรียนท่องจำ ไม่จูงใจให้มีทักษะการวิเคราะห์ และสอนให้รู้ความจริงชุดเดียว เกี่ยวกับความงดงามและความดีของฮินดู ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ใครสงสัยหรือตั้งคำถามได้เลย

            นุสบามประมวลบทเรียนในที่อื่นๆ ส่วนใหญ่มีสาระคับแคบเช่นกัน จึงเชิญชวนให้เราออกจากกับดักเหล่านี้ อันที่จริงนุสบามไม่ได้แบ่งเป็นลำดับขั้นอะไร แต่ผมถือวิสาสะเอาว่า หลังจากอ่านข้อเสนอดูแล้ว น่าจะมี 4 ขั้นดังนี้

        ขั้นแรก ลองคิดดูว่า การตัดสินใจซื้อของใช้ประจำวันของคนชาติหนึ่ง ย่อมกระทบความเป็นอยู่ของคนชาติอื่นที่ผลิตสินค้าเหล่านั้นในซีกโลกหนึ่ง ที่ผ่านมามีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้น โดยพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นด้วยซ้ำไป การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือให้ทุกชาติหาทางออกร่วมกันได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดว่า เราเป็นพลเมืองโลก ไม่ใช่ในฐานะชาวอินเดีย อเมริกัน หรือยุโรป อีกต่อไป

ขั้นที่สอง ต้องสร้างความร่วมมือระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในระดับโลก เราต่างมีภารกิจเร่งด่วนร่วมกันคือ บ่มเพาะให้นักเรียนมองตนเองเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคมโลก ซึ่งเต็มไปด้วยความต่างด้านเชื้อชาติและภาษา ที่นับวันยิ่งหลากหลายมากขึ้น จำต้องเข้าใจ ความเป็นมา และ ลักษณะความต่าง ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละสังคม สอนให้เขารู้จักสิ่งใกล้ตัว และปรับเนื้อหาการสอนในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ให้ได้เรียนประวัติศาสตร์ของโลกที่ถูกต้อง และเป็นระบบกว่าที่เป็นอยู่

นุสบามยกตัวอย่างวิธีการสอนของ John Dewey โดยให้เด็กเรียนรู้และตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการผลิตของที่เราใช้สอยประจำวัน เช่น ผ้าทอ วัตถุดิบมาจากไหน ผลิตขึ้นมาได้อย่างไร ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้แรงงานและการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นได้อย่างไร การนำเรื่องนี้เข้ามาในชั้นเรียน เป็นวิธีให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับชาติตนเองและชาติอื่น ได้เรียนรู้วิธีดูแลสวนและสัตว์เลี้ยง ต้องดูแลอะไรบ้างในแต่ละวัน การเรียนรู้จากของจริง และการลงมือปฏิบัติ ย่อมโน้มน้าวให้เด็กเกิดความใฝ่รู้ในโลกความเป็นจริงและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน Dewey กล่าวว่า “สิ่งยิ่งใหญ่สุด ที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอน คือ สอนให้เขามองเห็นความเชื่อมโยงในชีวิตประจำวันว่า มีผู้คนเกี่ยวข้องมาก และมีความสำคัญต่อเขาอย่างไร

          สินค้าจำพวกเครื่องดื่ม เสื้อผ้า กาแฟ อาหาร นักการศึกษาในยุคก่อนมักปิดกั้นไม่ให้เด็กได้รู้ว่า ถูกผลิตมาจากที่ใด ทั้งที่เป็นโอกาสนำมาสอนเรื่องแรงงานผู้ผลิตของเหล่านั้น เพื่อให้รู้ว่าประเทศเรามีโครงสร้างการผลิตเป็นอย่างไร โครงสร้างเศรษฐกิจและประเภทอาชีพต่างๆ ระบบค่าจ้างและโอกาสมีงานทำ เมื่อมีความรู้ตรงนี้แล้ว ยิ่งทำให้ตระหนักว่า มีหลายคนช่วยกันผลิต กระจายอยู่ตามสาขาต่างๆ รวมทั้งได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้น เราจะไม่เข้าใจว่า เครื่องดื่มในประจำวันของเรา มาจากที่ใด หากไม่นึกถึงคนงานที่ผลิตขึ้นในชาติอื่น นึกถึงสภาพการทำงาน ระดับการศึกษา การใช้แรงงาน เมื่อนึกถึงเหล่านี้ จะเกิดความเห็นใจและมีส่วนต้องรับผิดชอบในฐานะที่เขาผลิตของมาจำหน่ายให้เรา ลองคิดต่อไปอีกว่า การตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อของผู้บริโภค จะมีผลกระทบต่อสภาพการทำงานของเขาอย่างไร เขาจะมีโอกาสได้งานทำมากน้อยเพียงใด เราถือเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงการผลิตและบริโภคหรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแบบแผนการบริโภคของเราเปลี่ยนไป เราจะเพิ่มพูนความเป็นอยู่แก่คนงานในชาติอื่น ให้ทัดเทียมขึ้นพอๆ กับคนงานในประเทศของเราได้อย่างไร

           การตอบคำถามข้างต้น นักเรียนต้องเข้าใจว่า เศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ต้องเข้าใจความเป็นมาในอดีตครั้งยุคล่าอาณานิคม จนถึงปัจจุบันที่มีการลงทุนจากต่างชาติโดยบรรษัทข้ามชาติ ความเชื่อมโยงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยที่คนในชาติที่รองรับการลงทุน ไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ แต่ต้องยอมรับ เพราะเป็นตัวกำหนดโอกาสในชีวิตและรายได้มาจุนเจือครอบครัวสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ชาติต่างๆ เริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจความต่างด้านประเพณีและศาสนาในโลกมากขึ้น ทุกวันนี้ไม่มีใครต้องการลดทอนแบบฉบับบางอย่าง ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับคนต่างชาติต่างศาสนา เพราะจะปิดกั้นความร่วมมือและร่วมหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ธรรมชาติของเด็กมักสนใจงานเฉลิมฉลองของต่างชาติต่างศาสนา เราควรผนวกเรื่องนี้ให้เขาเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ให้เด็กผลัดกันเล่าเรื่องงานฉลอง รวมทั้งข้อปฏิบัติทั่วไป ผู้สอนต้องสร้างบรรยากาศในชั้น ให้เด็กเกิดความใฝ่รู้ในภาพกว้างและเคารพในความต่าง ที่ผ่านมาโดยเฉพาะเด็กในอินเดีย คุ้นกับหลักปฏิบัติในศาสนาฮินดูและพุทธ แต่ไม่คุ้นกับศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ที่นับถือในอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ความจริงในอเมริกา จำนวนผู้นับถือฮินดูและพุทธ เริ่มมีมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่จะผนวกเรื่องนี้เข้าไปในบทเรียน ซึ่งจะทำให้เขาเป็นทั้งชาวอเมริกันและพลเมืองโลกที่ดียิ่งขึ้น ตัวหลักสูตรต้องมีเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ให้ได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก


ขั้นที่สาม ให้นักเรียนรู้พื้นฐานประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองโลก เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็โตพอที่จะทำความเข้าใจแบบไม่งมงาย เข้าใจความแตกต่างด้านศาสนาอื่นๆ ของโลก เวลาเดียวกันต้องให้เขาเรียนรู้วัฒนธรรมต่างประเพณีที่เขาไม่คุ้นเคย โดยมอบให้ทำรายงานสัก 1 ประเทศ นุสบามจำได้ว่า ตอนอยู่ ป.5 ครูให้ทำรายงานเกี่ยวกับประเทศอุรุกวัย ตอนอยู่ ป.6 ได้ทำรายงานเกี่ยวกับประเทศออสเตรีย ยอมรับว่ายังจำเรื่องราวได้ดีกว่าความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอเมริกาใต้และยุโรป ซึ่งจำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การนำเข้าและส่งออกสินค้าหลักเท่านั้น ยิ่งนักเรียนได้เรียนแบบวิธีของ Dewey จะเข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ได้ตั้งแต่เด็ก การยกตัวอย่างให้นึกถึงของใช้ประจำวัน ทำมาจากที่ไหน และเข้าใจกลไกการแลกเปลี่ยน ที่ทำให้เราได้ใช้สินค้าเหล่านั้น เมื่อโตขึ้นยิ่งเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น พอจบ ม.6 จะมีความรู้ว่าเศรษฐกิจโลกทำงานอย่างไร มีความรู้เพียงพอสำหรับตัดสินใจในฐานะผู้บริโภค และผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งการเรียนรู้เพื่อความเป็นพลเมืองโลก

นักเรียนต้องเรียนภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษา เพื่อให้เข้าใจประเทศที่มีความต่างจากเรา ส่วนเนื้อหาการเรียนในประเทศของตน ไม่ควรจำกัดอยู่กับเฉพาะชาติตนและประวัติศาสตร์ของตน แต่ต้องให้นักเรียนมองผู้คนอย่างมีความหมาย มองว่าประเทศตนเป็นส่วนหนึ่งของโลกอันซับซ้อน ที่เชื่อมโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับคนในชาติอื่นๆ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในชาติ ต้องวิเคราะห์ถึงกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความเป็นมาที่ต่างกันหรือมีโอกาสในชีวิตที่ต่างจากกลุ่มอื่น ต้องเข้าใจพื้นฐานความเป็นมาและวัฒนธรรมของคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งต่างใช้กฎระเบียบและสถาบันที่มีอยู่ร่วมกัน ได้แก่ ศาสนา เชื้อชาติ เศรษฐกิจ สังคม เพศสภาวะ การทำให้นักเรียนเข้าใจถึงความแตกต่างเหล่านั้น สามารถทำได้หลายทางและทำได้หลายระดับอีกด้วย

 

ขั้นที่สี่ เมื่อนักเรียนเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก จำเป็นต้องเรียนวิชามนุษยศาสตร์, สามารถประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์, สามารถใช้หลักและทักษะการวิเคราะห์ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ สำหรับประเมินความเป็นธรรมทางสังคม, เข้าใจภาษาต่างประเทศได้อย่างน้อย 1 ภาษา และตระหนักถึงความต่างในศาสนาต่างๆ ของโลก ต้องสามารถประเมินข้อเท็จจริงต่างๆ โดยไม่งมงายไปกับชุดความจริงที่ผู้นำทางการเมืองหรือทางวัฒนธรรมผลิตขึ้นเท่านั้น ความเข้าใจประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจโลก จะทำให้นักเรียนเข้าใจความเป็นมนุษย์และมีทักษะในการวิจารณ์ ให้เขาศึกษาศาสนาและปรัชญาว่าด้วยความเป็นธรรม ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับข้อโต้แย้งเชิงนโยบาย หรือปัญหาสำคัญของโลก ที่จำเป็นต้องช่วยกันหาทางออก

 

           สำหรับหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความเป็นไปในเศรษฐกิจโลก แต่นุสบามเห็นว่า หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานโดยทั่วไป มีสาระคับแคบเล็กน้อย (ผมเข้าใจว่า นุสบาม คงหมายถึง หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ที่สอนเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปแก่นักศึกษาคณะต่างๆ) โดยสอนหลักและวิธีการ เพื่อเป็นฐานในการเรียนรายวิชาต่อไปให้เข้าใจยิ่งขึ้น ถ้าลดทอนด้านเทคนิค แล้วเพิ่มเนื้อหาเกี่ยว กับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะความต่างด้านความคิดในสังคมต่างๆ ของโลก ผ่านหัวข้อประวัติศาสตร์และการเมือง สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมและในระดับโลก หรืออาจสอนผ่านมุมมองจากปรัชญา นักเรียนจะโชคดีมากถ้าได้เรียนวิธีแบบโซคราติสในวิชาปรัชญา ซึ่งจะทำให้เรียนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น และมีฐานแน่นพอในการเรียนรู้เรื่องความเป็นธรรม


ผมเห็นว่า โดยภาพรวมข้อเสนอของนุสบาม น่ารับฟัง และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการลดทอนเทคนิคการวิเคราะห์ในวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ซึ่งนักศึกษาหลายคณะต้องเรียนตามข้อกำหนดในรายวิชาศึกษาทั่วไป เนื้อหาตำราเรียนทั้งของต่างประเทศและในประเทศทุกวันนี้ ล้วนอธิบายราวกับว่า ผู้เรียนหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานไปแล้ว จะมีโอกาสได้เรียนต่อรายวิชาเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงต่อไป เรื่องเทคนิคการวิเคราะห์มีความจำเป็นเฉพาะนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ แต่สำหรับนักศึกษาที่มิใช่นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต้องเรียนเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเพียงวิชาเดียว หลายคนต้องเรียนไปด้วยความทนทุกข์ จนมองไม่เห็นประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์

ส่วนการชำระสะสางความรู้ประวัติศาสตร์โลก ศาสนาและวัฒนธรรมศึกษา ให้เป็นองค์ความรู้อันหนึ่งอันเดียว ที่ทุกชาติยอมรับและใช้เรียนรู้ร่วมกันระดับสากล ย่อมต้องการความร่วมมือจากนานาชาติอย่างเข้มข้น หน่วยงานที่จะต้องออกหน้าผลักดันเรื่องนี้ อาจเป็นองค์การสหประชาชาติ ซึ่งนุสบามกล่าวถึงว่ามีหน่วยงานหนึ่งในสังกัด ได้ริเริ่มเปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวมาแล้ว เพียงแต่ต้องขยายให้บังเกิดผลสำเร็จในวงกว้างต่อไป

สุดท้ายการบ่มเพาะนักเรียนเพื่อการเป็นพลเมืองโลก นุสบามเสนอให้มีการสอนพื้นฐานตั้งแต่เด็กถึงมหาวิทยาลัย ถ้าเราดูจากสถิติผู้ที่ก้าวเข้าไปเรียนระดับมหาวิทยาลัย มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การหล่อหลอมให้เกิดสำนึกในความเป็นพลเมืองโลก ย่อมบังเกิดผลเต็มที่เฉพาะผู้ที่สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนผู้พลาดโอกาส เขาจะถูกหล่อหลอมต่อยอดเรื่องนี้ได้อย่างไรนั้น เป็นกลุ่มที่นุสบามไม่ได้กล่าวถึง แต่กระนั้น ข้อเสนอของนุสบาม ก็ควรค่าอย่างยิ่งแก่การผลักดันให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม

นุสบาม ตั้งชื่อหนังสือไว้ว่า “ไม่ใช่เพื่อกำไร” ผู้อ่านที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ถ้าซื้อหามาอ่าน เมื่อท่านอ่านจบแล้ว จงอย่าได้แปลกใจว่า สิ่งที่ท่านพบนั้นคือ “กำไร” เป็นกำไรแก่ชีวิต แก่ลูกศิษย์ลูกหาของเรา และของพลเมืองโลกต่อไป