“จากตานีถึงเมืองคอน แลหน้าแผนพัฒนาภาคใต้

 

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปาตานีคาเฟ่ได้จัดเวทีเสวนาว่าด้วย “จากตานีถึงเมืองคอน แลหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ "ทางรอด" หรือ "ทางตัน" ของชุมชน” โดยจากหัวข้อแผนพัฒนาภาคใต้นั้น กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจโดยทั่วไปทั้งในส่วนของภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคประชาชน ได้ให้ความสนใจในเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ ด้วยจากว่า แผนดังกล่าวนี้ เป็นตัวชี้วัดอนาคตของชุมชนท้องถิ่นว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ในการจัดเสวนาในครั้งนี้ นำโดย ปรัชญา โต๊ะอิแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม พร้อมด้วย ดร.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการและอาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์, อ.วิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์ท่าศาลา และ อับดุลเลาะ หมาดอาด้ำ นิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและคนทำงานเพื่อชุมชน ร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงานที่เดินทางมาจากปัตตานีและนครศรีธรรมราช งานนี้จัดขึ้นที่ ร้านเดอดูลู หน้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

การเสวนาในครั้งนี้เริ่มต้นที่ ดร.เลิศชายได้กล่าวที่มาและความเป็นไปของแผนพัฒนาภาคใต้ว่า  “โดยส่วนตัวไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้เพราะไม่เชื่อ แผนพัฒนาภาคต่างๆ ทำคู่กันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เรื่องของแผนพัฒนาภาคใต้น่าจะเกิดจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ถกกันเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ที่มองไปถึงพื้นที่นี้ว่าจะกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักเพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของทุนนิยมโลก โดยในมุมมองของอาจารย์ได้กล่าวว่าแผนพัฒนามีสองอย่างคือ เป็นของแท้ และเป็นยุทธวิธีที่ไม่สามารถฝากความหวังได้ว่าจะเกิดผล”

“ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่รัฐเข้ามาควบคุมฐานทรัพยากร เป็นเรื่องที่ชุมชนต่างๆ รู้ดี ส่วนการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มีตะวันตกเปป็นตัวแบบต้องใช้เงินเยอะโดยการเอาทรัพยากรมาแปรรูป โลกกำลังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการทำลายทรัพยากร มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มทุนที่กุมเศรษฐกิจโลกมีการผูกขาดอยู่ไม่กี่กลุ่มทุน เขาต้องทำรอบการเอากำไรคืนให้เร็วที่สุด โดยมีการผนวกทุกส่วนให้เป็นส่วนเดียว มีการข้ามพรมแดน เชื้อชาติ วัฒนธรรม โลกาภิวัฒน์ไม่มีสัญชาติ อย่างห้างบิ๊กซี ปัตตานี เป็นการแย่งชิงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนปัตตานีและใกล้เคียง เป็นการครอบงำทางวัฒนธรรมอย่างแนบเนียนโดยไม่รู้ตัว ต้องเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยได้เคลื่อนไหว ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน เกิดพลังเสรีนิยมใหม่ก็จะเกิดแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับชุมชนได้

การรู้เท่าทันโลกคือสร้างภูมิคุ้มกันและมีทางเลือก ประชาชนไม่มีอำนาจในการใช้แผนพัฒนา ขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจแค่ไหน สภาพัฒน์ฯ ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้สำรวจ ประชาชนต้องต่อสู้บนพื้นที่สาธารณะ บรรยากาศแบบการพูดคุยวันนี้ยังจุดประกายได้ไม่มากเพราะยังมีคนให้ความร่วมมือน้อย”

ดร.เลิศชายยังได้บอกถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า ต้องหลุดจากกับดักความคิดที่มีอยู่เสียก่อน

“ปัญหาความรุนแรงไม่ใช่ปัญหาหลักของคนในพื้นที่ มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นเยอะ ผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย หากเรายังอธิบายภาพแทนความจริงก็ยังหาทางออกไม่ได้ ยังเป็นสังคมปิดอีกมากที่ไม่ได้ปรับตัวไปปรึกษากับที่ไหน การพูดในเวทีวิชาการมีแต่นักวิชาการกับผู้นำศาสนาและยังขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ ผมคิดว่าความรุนแรงแก้ไม่ได้เพราะปัญหาใหม่มีมากมาย ต้องหลุดพ้นกับดักความคิดทั้งสองฝ่าย มองแบบเดิมไม่ได้ การเรียกร้องสันติวิธี เรียกร้องจากใคร ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการสร้างที่ไม่มีวิธีชัดเจนว่าใครสร้าง มีความซับซ้อน ใครถูกใครผิดค้นหาให้ตายก็ไม่เจอ แนวทางที่ช่วยได้คือสร้างพื้นที่ให้คนที่ไม่มีความหายมารวมกลุ่มพูดคัย ปรึกษา ทำมาหากิน ให้มีที่ยืนในสังคม ไม่ยึดติด สร้างเครือข่าย สร้างอัตลักษณ์และความหมายใหม่ๆ”

ด้าน อับดุลเลาะ หมาดอาด้ำ นิสิตปริญญาโท ม.อ.ปัตตานี บอกว่าสิ่งที่สังคมชายแดนใต้และภาคใต้มีเหมือนกันคือทะเล เป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านจำนวนมาก

“ทุกวันนี้มีการตื่นตัวของคนในพื้นที่ชายแดนเพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของอุตสาหกรรมฮาลาลเช่น กลุ่มแม่บ้านบ้านปาตาบาระ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้มีการรวมตัวกันขึ้นเพื่อผลิตกือโป๊ะ (หัวข้าวเกรียบ) ส่งออกไปยังมาเลเซีย ในต.ทุ่งนเรนทร์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กำลังจะมีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กกล้าหรือโรงกลั่นน้ำมัน ในจ.สงขลามีโครงการสร้างเขื่อนลิกไนท์ที่อ.สะบ้าย้อย โครงการท่าเรือน้ำลึก อ.จะนะ และโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ อ.นาทวี ท่ามกลางไฟใต้ที่คุกรุ่น อนาคตยังมีโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จ.ปัตตานีอีก หากเป็นอย่างนั้นจะมีการผันน้ำจากเขื่อนบางลาง ดึงทรัพยากรจากแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรีมาใช้ เกิดผลกระทบจากการวางแนวท่อ การอยู่อาศัย ขาดแคลนน้ำ แต่ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบทำให้ประเด็นเหล่านี้ขาดหายไปหรือเบาบางมากในพื้นที่ จึงต้องให้ชุมชนจัดการตัวเองได้ สร้างงานสร้างเงิน เลือกทางเดินของตัวเองมากกว่าเดินไปตามแผนพัฒนา”

อ.วิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์ท่าศาลา กล่าวถึงอดีตที่สังคมเกษตรกรรมมักฝากความหวังไว้ที่ผู้แทนราษฎรหรือส.ส. แล้วมีการเสนอให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรม

“ความจริงเราอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรม เวลาทำแผน สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ได้ลงมาสำรวจความเห็นของชาวบ้าน เขาอยู่ยอดตาล ชาวบ้านอยู่ใต้ตาลก็เลยไม่เจอกัน ขอบคุณรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีวันนี้ ความเป็นมนุษย์อยู่ได้เมื่อมีทรัพยากรที่สำคัญ ในท่าศาลาเองมีกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาเกยหัวหาดทั้งเชฟรอน โลตัส และอื่นๆ มีธุรกิจพลังงานที่ต้องมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากพลังงาน ไม่ใช่เขาลงทุนครั้งเดียวแล้วจบ อย่างน้อยก็ 30 ปีแล้วไป เขามองไม่เห็นความสำคัญของมนุษย์ พยายามบอกว่าทะเลไม่มีคุณค่า ต้องเอาอุตสาหกรรมเข้ามา กลุ่มทุนที่น่ากลัวและกำลังจะยึดอาชีพยึดวัฒนธรรมของเราคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซี.พี. ที่เกษตรกรจะกลายเป็น “กรรมกรการเกษตร” กลายเป็นลูกจ้าง เหมือนยุคค้าทาสสมัยโบราณ เป็นทาสของพระเจ้าองค์ที่ 4  คือ ทาสของเงินตรา

เราทำเรื่องท่าศาลา เมืองน่าอยู่ ถ้าคนท่าศาลาเป็นคนหิวโหย กฟผ.และเชฟรอนคงสบายไปแล้ว ผู้นำชุมชนก็ไม่ยอมเพราะรู้ว่าภูเขาและทะเลที่มีลม 8 ทิศพัดวนตลอด ที่นี่มีผลกระทบเร็วกว่าที่อื่น หากเกิดมลพิษของระบบนิเวศที่ใดที่หนึ่งจะทำให้พื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบด้วย จึงต้องให้ชาวบ้านรู้จักตัวตนของตัวเองแล้วเขาจะหวงแหนแผ่นดินเกิดเอง ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เข้ามาจะสร้างความสูญเสียอย่างไร มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าคนที่นี่จะมีงานทำ เมื่อรับเข้ามาทำสักพักก็จะหาทางไล่ออกเพราะกลุ่มทุนบอกว่าคนท้องถิ่นปกครองยาก จึงเหมือนมุ่งทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สูญพันธุ์”

อ.วิชาญบอกว่า ความจริงของคนหนึ่งไม่ใช่ความจริงของทุกคน การต่อสู้ของท่าศาลาก็อยู่ใต้เงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งผลประโยชน์นำมาซึ่งความเลวร้าย ชาวบ้านไปสู้กับกลุ่มทุนไม่ได้

“สิ่งที่จะใช้ในการต่อสู้ของชาวบ้านคือ ความมั่นคงของปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต อากาศดี ความั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เรากินข้าวไม่ใช่เหล็กกล้า ท่าศาลาเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนไทยและต่างประเทศ  เราขอสงวนพื้นที่ท่าศาลาด้วยคำว่า “อ่างทองคำ” ในทะเล ส่วนบนบกเป็นเขตเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลิตได้กินได้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”

แผนพัฒนาภาคใต้ที่มีอยู่ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด จะเป็น “ทางรอด” หรือ “ทางตัน”ของชุมชน เป็นเรื่องที่ทุกคนในชุมชนต้องตระหนัก รับรู้ กรองข้อมูล ทั้งเชิงบวกและลบ ศึกษาข้อมูลอย่างรู้เท่าทัน แล้วเราจะรู้ว่า สิ่งใดที่มีประโยชน์ต่อพี่น้องและชุมชนอย่างแท้จริง

ข้อเสนอจากเวทีเสวนา ประเด็นสำคัญจากเวที “จากตานีถึงเมืองคอน แลหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ "ทางรอด" หรือ "ทางตัน" ของชุมชน” ทางออกที่ไม่ตันจากข้อเสนอในครั้งนี้ เสียงจากชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่อย่างใด เพียงแต่ความต้องการของพวกเขาเหล่านั้น อยากจะให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม เช่น ผลผลิตทางการเกษตร การประมง รวมถึงวิถีชุมชน ให้มีคงอยู่ต่อไป แทนการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่จะมาพร้อมกับกระบวนการกลืนกลายวิถีชุมชน กระทั่งนำไปสู่ การเป็นลูกจ้างในพื้นที่ทำกินของตนเอง