ย่างก้าวของปัญญาชนปลายด้ามขวาน

 

ย่างก้าวของปัญญาชนปลายด้ามขวาน

เล ลิกอร์

  

 

   ช่วงสายวันอาทิตย์สุดท้ายปลายเดือนมกรา พลพรรครักสันติภาพมาร่วมวงปาตานีคาเฟ่ กันอีกครั้งในร้านหนังสือบูคู กลางเมืองปัตตานี ร้านที่มีเจ้าของร้านใจดีเอื้อเฟื้อเก้าอี้และบรรยากาศพร้อมบริการอย่างเป็นกันเอง

  ครานี้มีพี่น้องมาร่วมพูดคุยกันสิบกว่าคนกับเรื่องราว “ มี ดอน ปาทาน เอกรินทร์ ต่วนศิริ และซอเร เด็ง ร่วมเปิดประเด็น “ย่างที่ 9 ของไฟใต้ ก้าวที่เดินของปัญญาชน”

   ดอน ปาทาน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหนของคนกลุ่มน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำในเขตแดนพม่า จีน ไทยจนถึงภาคใต้ของไทย เปิดประเด็นถึงทิศทางการก้าวเดินของปัญญาชนในดินแดนแห่งนี้ว่าจะไปพร้อมกับจังหวัดอื่นหรือจะแยกออกมา

   “ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน พลังนักศึกษาหดหายไปมาก บรรยากาศและการต่อสู้ของนักศึกษาในอดีตเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นแนวทางในการทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัย เรื่องเช่นนี้ต้องมีใจที่พร้อมจึงจะสำเร็จ”

    เอกรินทร์ ต่วนศิริ บอกกล่าวถึงเรื่องการต่อสู้ของปัญญาชนมุสลิมในไทยที่เขาสนใจว่า “มีการพูดถึงและเก็บเอกสารเกี่ยวกับการต่อสู้ของปัญญาชนมุสลิมในไทยน้อยมาก พวกเขาร่วมในขบวนการต่อสู้แต่ไม่ได้รับการกล่าวถึง แทบไม่มีงานเขียนเกี่ยวกับบาทบาทนักศึกษามุสลิมเลย จากการต่อสู้ของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนมาถึงการก่อตั้งสนนท.ขึ้นมา มีการก่อตั้งกลุ่มสลาตัน(นักศึกษามุสลิม) ที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลสมัยนั้นให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์และบริการสาธารณะมากขึ้น ช่วงนั้นมุสลิมขออะไรก็ได้หมด จนมีการขอโควต้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจและในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในการรวมกลุ่มก็อาศัยบรรยากาศตอนนั้นเพื่อเรียกร้องเรื่องของตัวเอง ไม่มีการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปภาพใหญ่ของสังคมไทย ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับปัญหาของสังคมใหญ่ ทำให้มีการมองว่ามลายูสนใจแต่เรื่องของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน”

    ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ เอกรินทร์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายทำให้ต้องมาขบคิดกันให้ละเอียดว่าสิ่งใดที่เหมาะสมกับที่นี่จริงและสถานการณ์ที่มีความแหลมคมเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือการบริหารความรู้สึก อย่าด่วนตัดสินคนอื่น ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ มากที่สุด ไม่ใช้สภาวะอารมณ์ในการเคลื่อนไหว ลดความเร่าร้อนในจิตใจให้เคลื่อนไหวไปอย่างมีคุณภาพ”

     ขณะที่ ซอเร เด็ง อดีตนักศึกษาและนักกิจกรรมของรั้วศรีตรังที่ทำงานอิสระในพื้นที่บอกให้นักศึกษารู้จักคุณค่าของตัวเอง การเคลื่อนไหวและร่วมกิจกรรมขณะกำลังศึกษาอยู่เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้เพราะเป็นชนที่มีปัญญา

     “การเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมตอนกำลังเรียนอยู่จะไม่ถูกฝ่ายไหนทำอะไร อย่าคิดว่าจบไปแล้วจึงจะมาทำกิจกรรม เมื่อนั้นที่มีเรื่องเงิน เรื่องอื่นเข้ามาจะทำได้ไม่เต็มที่ ปัญญาชนต้องเชื่อมกับการศึกษาและศาสนาให้มากขึ้น ประโยชน์ที่ได้จากการทำกิจกรรมมีมากมายที่หาไม่ได้ในห้องเรียน จิตสำนึกจึงต้องสร้างกันตั้งแต่เด็กให้มองเห็นทุกอย่างรอบตัวเป็นเรื่องที่น่าสนใจใคร่รู้ นำมาขบคิด ไม่ใช่ทำกันตามกระแสของสังคม สิ่งสำคัญคือใจที่เปิดกว้างอย่างไม่มีอคติทำให้การทำงานทุกอย่างไปได้ด้วยดี”

     ทวีศักดิ์ ปิ นักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ม.อ.ปัตตานี บอกว่า กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยมีมาก หากด้อยประสิทธิภาพเพราะส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่บังคับด้วยชั่วโมงกิจกรรม 

     ในสถานการณ์ความเป็นจริงของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีทุกวันนี้มีการจัดกิจกรรมกันเยอะมาก แต่ผลที่ได้รับมีน้อยเพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจหรือตั้งใจที่จะเข้าร่วมจริงจัง เพียงแต่ไปนั่งฟังหรือนั่งให้ครบตามที่ชั่วโมงกิจกรรมบังคับเพราะต้องเข้าร่วมกิจกรรมตามกฏมหาวิทยาลัย ใครไม่เข้าก็ไม่ผ่าน อาจดีสำหรับเด็กเรียนแต่ไม่ดีสำหรับคนที่อยากทำกิจกรรมจริง บางกิจกรรมอาจเห็นว่ามีคนเยอะแต่อาจจะไม่ประสพความสำเร็จอะไรเลยก็ได้ ยิ่งการทำกิจกรรมระหว่างนักศึกษาด้วยกันยิ่งมีน้อยและมีปัญหาด้วยเหตุผลเช่น เพื่อนศาสนาพุทธกับมุสลิม ขนาดมุสลิมด้วยกันเองยังมีปัญหา อย่างเพื่อนมุสลิมที่มาจากภาคใต้ตอนบนจะคิดกันคนละอย่างกับเพื่อนมุสลิมจากชายแดนใต้ พูดกันคนละภาษา หลายประเด็นจึงยังไม่สามารถร่วมมือกันได้ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญ อย่างนักศึกษาใต้ตอนบนเคลื่อนไหวในเรื่องโรงไฟฟ้า เมื่อชวนนักศึกษามุสลิมที่นี่ไปเข้าร่วมก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าไหร่ทั้งที่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน อยากให้นักศึกษาที่นี่ติดตามข่าวสารและสื่อสารร่วมมือกับสังคมภายในและนอกมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ เมื่อจบออกไปจะได้ปรับตัวและความคิดได้ตามทันโลก”

    ไม่ว่าจะปีไหน ก้าวย่างที่เท่าไหร่ พลังนักศึกษายังเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ หากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มองเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นเรื่องราวของตัวเอง ใส่ใจกับผู้คนรอบข้างมากกว่าที่เป็นอยู่ สังคมคงจะได้ต้อนรับคนดีมีคุณภาพอีกมากหลายเข้าร่วมโอบอุ้มโลกใบนี้ให้น่าอยู่และสงบสุข